ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>5ข้อตกลงเบื้องต้นก่อนเป็นนักศึกษา กศน.


ข้อตกลง

5 ข้อตกลงเบื้องต้นก่อนจะเป็นนักศึกษา กศน.
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กพ.กศน.

      การศึกษานอกโรงเรียน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนไทยในการที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกโรงเรียน ซึ่งออกมาจากระบบโรงเรียนด้วยเหตุผล ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความยากจน เพราะข้อจำกัดทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม รวมทั้งอยู่ ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล กลายเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสไม่ได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน การศึกษานอก โรงเรียนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ชดเชยโอกาสที่ขาดหายไป

      ความจริงแล้ว กศน. มีหลักสูตรมากมายหลายหลักสูตร โดยเฉพาะเป็นหลักสูตรประเภทการศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่จัดในหลักสูตรระยะสั้นต่อเนื่องจากการศึกษาที่ผู้เรียนเคยเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก ดังนั้น จึงมีหลักสูตรที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรเพื่อการพัฒนาอาชีพ หลักสูตรเพื่อการพัฒนาทักษะชีวิต ตลอดจนกิจกรรม หรือโครงการต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แต่กระนั้นสังคมส่วนใหญ่ซึ่งมักเห็นแต่ผู้เรียนที่เป็นนักศึกษาผู้ใหญ่ที่เรียนหลักสูตรเทียบเท่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นส่วนมาก ก็ยังเข้าใจว่าเรียน กศน. คือเรียนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับที่สอนในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป แต่จัดด้วยวิธีการ กศน. ซึ่งมักเข้าใจว่าเรียนจบเร็ว ใช้เวลาน้อย สามารถเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์ได้ ความเข้าใจนี้ถูกต้องเพียงบางส่วน แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงหลัก และวิธีการเรียนแบบ กศน. ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในระบบ โรงเรียนเสียก่อน

      ในระยะนี้เป็นช่วงเวลาของการเตรียมการที่จะรับสมัครนักศึกษาการศึกษานอก โรงเรียน เช่นเดียวกับที่รับสมัครนักเรียนในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป แต่การมาเป็นนักศึกษา กศน. นั้น ไม่เหมือนกับการเป็นนักเรียนในโรงเรียนแน่นอน จึงต้องเข้าใจข้อตกลงเบื้องต้นก่อนที่จะตัดสินใจมาเรียน กศน. กล่าวคือ


1. หลักสูตร กศน. ออกแบบไว้สำหรับผู้ใหญ่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธีเรียนการศึกษานอกโรงเรียนที่สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนจัดนั้น ได้ออกแบบไว้สำหรับผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น วิธีเรียนจึงปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นผู้ใหญ่ คือ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต และการประกอบอาชีพมาพอสมควร มีวุฒิภาวะ รับผิดชอบตัวเองได้ สามารถจัดให้เรียนไปทำงานไป แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้ สามารถเอาความรู้และประสบการณ์จากการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนได้ด้วย ดังนั้น จึงไม่จัดเวลาให้เรียนทั้งวัน เนื้อหาสาระจะใกล้เคียงกับชีวิต และการทำงาน จึงไม่ค่อยจะเหมาะสำหรับผู้เรียนที่เป็นเด็กยังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ กระบวนการเรียนใช้หลักการ และจิตวิทยาผู้ใหญ่เป็นหลัก โดยการเรียนการสอนจะต้องเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างครู และผู้เรียน ร่วมกันจัดวิธีการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่ม แต่ละคน ซึ่งผู้เรียนต้อง รับผิดชอบตัวเองจนตลอดหลักสูตร


2. กศน. ไม่ใช่การศึกษาที่ใช้เวลานิดหน่อย เพียงสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง ตามที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่ผู้ที่จะตัดสินใจมาเป็นผู้เรียน กศน. ต้องจัดเวลาไว้สำหรับการเรียนของตนเองในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ไว้ด้วย หลักคิดง่าย ๆ ก็คือ ผู้เรียนต้องใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 40 ชั่วโมง ต่อ 1 ภาคเรียน (ประมาณ 20 สัปดาห์) จึงจะมีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต สมมุติว่าใน 1 ภาคเรียน ต้องลงทะเบียนเรียน 12 หน่วยกิต ก็ต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 480 ชั่วโมงต่อ 1 ภาคเรียน ซึ่งหมายความว่า 1 สัปดาห์ ต้องจัดเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ถ้ามาพบกลุ่มสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 21 ชั่วโมง ต้องเป็นเวลาเรียนด้วยตนเองเฉลี่ยอีกวันละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังไม่รวมเวลาสำหรับทำกิจกรรมการเรียนอื่น ๆ อีก เช่น ต้องมีเวลาทำโครงงานซึ่งเป็นการศึกษาเจาะลึกในบางเนื้อหา ในแต่ละหมวดวิชา และยังต้องจัดเวลาไว้สำหรับทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ กพช. อีก 100 ชั่วโมงต่อหลักสูตรด้วย สรุปก็คือใช้เวลาเรียนแทบจะไม่ต่างไปจากเรียนในโรงเรียนนัก เพียงแต่ยืดหยุ่นปรับให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนเท่านั้น ดังนั้น ถ้าจัดเวลาเรียนสำหรับตนเองไม่ได้ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างมีคุณภาพ และทำให้เสียหายต่อสถาบันการศึกษานอกโรงเรียนด้วย

 

3. วิธีเรียน กศน. ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนต้องเรียนด้วยตนเอง ต้องควบคุมตนเองให้เรียนอย่างจริงจัง จะไม่มีใครมาจ้ำจี้จ้ำไช มาตามให้เรียน ต้องมีแผนการเรียน และเอาจริงกับการเรียนจึงจะได้ความรู้ ดังนั้นผู้เรียนจะต้องตั้งใจจริง มีเป้าหมายของการเรียนที่ชัดเจน มีวิธีการเรียนเฉพาะของตนเอง เช่น อาจเรียนคนเดียว หรือจับคู่ หรือรวมกลุ่มเล็ก ๆ ช่วยกันเรียน ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบตนเองได้ มีวินัยในตนเอง ดังนั้นจึงหวังไม่ได้ว่าถ้ามาเรียน กศน. แล้วจะต้องมีครูมาสอน เพราะผู้เรียนจะต้องแสวงหาความรู้จากที่ต่าง ๆ จากผู้รู้ จากห้องสมุด หรือแหล่งการเรียนรู้ จากสื่อที่หลากหลาย ทั้งหนังสือ ตำรา หรือรายการวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าผู้ที่จะมาสมัครเรียน กศน. ไม่สามารถดูแลตัวเองให้เรียนด้วยตนเอง หรือจับกลุ่มเพื่อช่วยกันเรียนไม่ได้ ก็จะเรียนโดยไม่ได้อะไรจริง ๆ คือ มาก็ว่างเปล่า กลับไปก็ว่างเปล่าวิธีเรียน กศน. ได้ออกแบบไว้ให้มีความหลากหลาย นอกเหนือจากการเรียนด้วยตนเองแล้ว ยังจะต้องมาพบกลุ่มเพื่อทบทวนรายงานผลการศึกษาค้นคว้า แก้ปัญหาการเรียน หรือ แม้แต่ทดสอบย่อย ๆ นอกจากนั้นจะต้องทำโครงงาน ซึ่งเป็นการประมวลความรู้ที่เรียนมาแต่ละหมวดวิชาทำเป็นโครงงานเพื่อศึกษาเจาะลึก ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการของการพัฒนาการทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักการวางแผนการทำงาน การพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ นักศึกษา กศน. จะ ได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับพัฒนาผู้เรียนให้มี คุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนดด้วย วิธีเรียนที่หลากหลายนี้ใช้เวลาในการเรียนในแต่ละสัปดาห์ไม่น้อย เพียงแต่สามารถปรับให้ยืดหยุ่น เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าจะตัดสินใจมาเป็นนักศึกษา กศน. ต้องตกลงกันก่อนว่าจะมีวิธีเรียนที่หลากหลาย ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนพอสมควร จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ข้อสำคัญอย่าหลงเชื่อว่าเรียน กศน. ใช้เวลานิดหน่อย สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง 20 สัปดาห์ก็จบ


4. ครู กศน. ไม่ใช่ผู้สอนหลัก แต่จะเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ช่วยเหลือนักศึกษา กศน. ให้เรียนด้วยตนเอง จึงมักจะเห็นได้ชัดเจนว่าครู กศน. เป็นคนหนุ่มสาว อายุไล่เลี่ยกับผู้เรียนเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อดีคือ เขาจะเข้าใจความคิด อารมณ์ ความรู้สึก สังคมของคนวัยใกล้เคียงกัน ครู กศน. จะเป็นผู้จัดการและประสานงานที่ดี จะสอนกระบวนการเรียนรู้มากกว่าสอนเนื้อหา แต่กระนั้นครูพวกนี้จะสามารถไปหาผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหานั้น ๆ มาสอนให้เป็นครั้งคราว หรือจะแนะนำให้ไปศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้อื่น ๆ ผู้เรียนจะต้องเข้าใจบทบาทของครู กศน.ก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเรียกร้องให้ครู กศน. สอนทุกเรื่องทุกวิชาซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ การมีครู กศน. ก็เพื่อให้มาจัดการ มาอำนวยความสะดวก มาเป็นผู้แนะนำการเรียนที่ผู้เรียนต้องเรียนด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่นักศึกษา กศน.เองก็เข้าใจผิด คิดแต่ว่าจะให้ครูสอนเพราะเราเคยชินกับการมีครูสอน ทั้ง ๆ ที่ความจริงการที่คนเราจะเรียนรู้ได้นั้นอยู่ที่ตนเอง ไม่ใช่เพราะมีใครมาสอนมิใช่หรือ

5. การเทียบโอนผลการเรียนไม่ใช่ทางลัด มีผู้ที่ต้องการจะเรียนด้วยวิธีเรียน กศน. จำนวนมากเชื่อว่า การเทียบโอนผลการเรียนจะช่วยให้จบเร็วขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด การเทียบโอนนั้นมีขึ้นเพราะเห็นว่าผู้เรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยถูกให้ออก หรือมีความจำเป็นที่จะต้องลาออกจากระบบการศึกษาในโรงเรียนกลางคัน หากมีความประสงค์จะเรียนต่อด้วยวิธีเรียน กศน. ก็สามารถนำผลการเรียนมาเทียบโอนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้เรียนได้ต่อเนื่องไปเป็นการชดเชยโอกาสที่เสียไปต่างหาก แต่กระนั้นสะพานที่ทอดไว้สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสก็มักจะถูกแย่งจากผู้ฉวยโอกาสเสมอ ๆ เช่น อยากจบเร็วก็ลาออกจากโรงเรียน เอาผลการเรียนที่เรียนอยู่มาเทียบโอนเรียนในวิธีเรียน กศน. พวกนี้มักอ้างสิทธิ และละทิ้งการทำหน้าที่ หลายคนเอาบารมีพ่อแม่ผู้ปกครองมาเบ่งกับสถานศึกษา กศน. ซึ่งเป็นการเอาเปรียบคนด้อยโอกาส ซึ่งมีให้เห็นเสมอ ๆ และพวกนี้เองที่มักดูถูกและโจมตีว่า กศน. ไม่มีคุณภาพ จบง่าย ๆ แค่หลอกล่อข่มขู่นิดหน่อยก็ได้แล้ว

       ข้อตกลงเบื้องต้นก่อนที่จะมาเป็นนักศึกษา กศน. นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องเข้าใจเบื้องแรก เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจในการที่จะใช้ชีวิตเป็นนักศึกษา กศน. แต่อย่างไรก็ดี ทั้งคน กศน. เอง และผู้สนใจจำนวนมากยังไม่เข้าใจ หรือยังสับสนปะปนวิธีเรียนแบบที่สอนกันในโรงเรียน กับวิธีเรียนแบบการศึกษานอกโรงเรียน แล้วเอามาปนกันโดยไม่เข้าใจ จึงกลายเป็นวิธีการเรียนที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกัน เช่น อยากให้เด็กวัยเรียนลาออกจาก โรงเรียนมาเรียนด้วยวิธี กศน. อยากให้เด็กที่มีปัญหาบ้าง เรียนไม่เก่งบ้าง มาเรียนเพื่อผลักปัญหา และลดความเสี่ยงที่จะถูกประเมินว่าไม่มีคุณภาพบ้าง บางคนอยากเทียบโอนให้จบเร็ว ๆ และบางครั้งจะได้ฟอกเกรดเสียด้วย อยากให้ครู กศน. สอนเป็นวิชา ๆ ไปบ้าง อยากให้วิธี กศน. เหมือนกับวิธีเรียนในโรงเรียน แต่ใช้เวลาน้อย ๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากหลักการของวิธี กศน. บางครั้งเลยเถิดไปถึงว่าไม่ต้องมี กศน. โรงเรียนก็ทำได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดีอยากจะทำความเข้าใจว่า การเรียนรู้เรื่องใด ๆ ก็ตามจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรในการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาไม่ว่าจะเป็นวิธีเรียนในระบบ หรือ วิธีเรียน กศน. เพราะฉะนั้นอย่าหลงเชื่อใครก็ตามที่ขอให้มาเรียน กศน. แล้วจบเร็วภายในเท่านั้น เท่านี้เดือน และในขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นผู้เรียน กศน. แล้วก็ต้องรักษาสิทธิ์ของตนเอง ต้องเรียกร้องให้
     

     ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และครู กศน. จัดการเรียนการสอนวิธี กศน. ให้อย่างเต็มที่อย่าขาด ๆ เกิน ๆ หรือหลงใช้ผิดวิธี และระวังอย่ายอมให้มีพวกฉวยโอกาส ทั้งที่มีโอกาสเรียนในโรงเรียนอยู่แล้วมาเบียดเบียนปลอมปนในสถาบัน กศน. ข้อตกลงเบื้องต้นนี้ ถ้ายอมรับได้และมาเรียนด้วยกัน ก็จะเรียนอย่างมีความสุขและจบ กศน. อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นการศึกษาสำหรับคนนอกโรงเรียนแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #เบื้องต้น
หมายเลขบันทึก: 356571เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท