เหยื่อมาร.... ที่โรงพยาบาลจุฬา


มารด้านสุขภาพ

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่เคยมีใครคาดคิด แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วกลางใจเมืองหลวงของประเทศไทย

เหยื่อมาร

เรื่องต่อไปนี้  ไม่ใช่ละครหลังข่าว  แต่เป็นเรื่องของพี่ชาย (ลูกผู้พี่) ของดิฉัน  เรทติ้งของการรับฟัง  คือ  เป็นประเภท ที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี  ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ

รู้จักกับพี่ชายคร่าวๆก่อน

พี่ชาย  ชื่อ คุณ ณรงค์ (ขอปกปิดนามสกุล)  วัย 63 ปี ระสบอุบัติเหตุจากการขับรถชนกับรถอีกคันหนึ่ง  พี่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย  จึงเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง  มี maxillofacial injury, brain contusion, fracture ทั้งแขนและขา  ต้องผ่าตัดและทำ internal fixation แรกรับที่ รพ มหาราชนครราชสีมา  เมื่อ 13 เมษายน 2553 และพี่ๆ  น้องๆ  พยายามหาเตียงใน กทม  แต่ช่วงแรกยังไม่ได้เตียง  จึงรักษาที่ รพ บำรุงราษฎร์ อยู่ 3 วัน  จากนั้นพยายามย้าย  มี สอง โรงพยาบาลที่ครอบครัวพยายามติดต่อ  คือ รพ เจริญกรุงประชารักษ์  และ รพ จุฬาลงกรณ์  ซึ่งทีมแพทย์  ทีมพยาบาลทั้งสองแห่ง  ให้ความช่วยเหลือเรื่องการย้ายเป็นอย่างดี  บังเอิญ  ได้ห้องกึ่งวิกฤต  ของ รพ จุฬาก่อนในช่วงสายๆ ของวัน 19 เมษายน 2553  ขณะที่ รพ เจริญกรุงฯ ได้เตียงสามัญแต่ต้องรอ ICU ว่างก่อน  ญาติๆส่วนใหญ่ตัดสินใจนำไปจุฬา  เพราะเคยรักษาด้วยโรคประจำตัวอื่นๆ  ที่ รพ จุฬามาก่อน  และด้วยที่คิดว่า  ต้องการรีบย้ายมายังหน่วยบำบัดเฉพาะ  พวกเราลืมไปว่า  มีการชุมนุมทางการเมืองบริเวณแยกราชประสงค์  และบริเวณอนุสาวรีย์พระบรมรูปรัชกาลที่ 6   และอีกประการหนึ่ง  เรามั่นใจว่า  เขาชุมนุมกันนอกโรงพยาบาล  ไม่ควรมีผลกระทบต่อคนไข้ในโรงพยาบาล  ครอบครัวเราประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างแรง 

จากวันนั้น  ครอบครัวของเราก็ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆมากมาย  ที่ต้องการแบ่งปัน  ให้คนไทยทุกคน  โดยเฉพาะท่านที่เป็น พยาบาล  เป็นแพทย์  หรือบุคลากรสุขภาพ  ได้รับรู้

1.การถูกล่วงละเมิดจากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่  ทุกครั้งที่เราขับรถผ่านจุดที่  ผู้ชุมนุมตั้งเป็น “ด่านตรวจ”  พวกเราถูก screen เหมือนเวลาตำรวจตั้งด่านตรวจ  เมื่อ ผู้ชุมนุม  เห็นว่า  หน้าตาของเราไม่ใช่ปฏิปักษ์ของเขา  กล่าวคือ  ไม่ใช่ทหาร  ไม่ใช่คนในเครื่องแบบ  ไม่มีท่าทีกระด้าง  กระเดื่อง  อ่อนน้อม  ถ่อมตน  เขาก็จะโบกรถให้สัญญาน  และพยักเพยิดกับทีมรักษาความปลอดภัยของเขา  หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อเป็นภาษาสากลว่า GUARD น ป ช  อนุญาต  ว่า “เข้าไปได้” 

2.การฝึกความอดทนอดกลั้นให้ตนเองและสอนให้พี่ชายซึ่งใช้เครื่องช่วยหายใจและมีอาการสมองบวมรู้จักอดทน  คำว่า patient  แปลว่า  ผู้ป่วย  และสามารถแปลได้ว่าการมีน้ำอดน้ำทน ช่างตรงและเหมาะกับเหตุการณ์นี้มาก  ช่วง  วันที่ 19 – 23 พี่ชายอยู่ตึกฉุกเฉินชั้น 3 ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤติ  พี่ชายรวมทั้งผู้ป่วยทุกคนต้องสะดุ้งเป็นพักๆ  จากเสียงปรบมือ  โห่ร้อง ปราศรัย  การเดินเข้า  เดินออกของผู้ชุมนุมบางส่วนที่เข้ามาเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่เป็นเพื่อนหรือญาติ  เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมอุดมการณ์ของเขา  หากจะเปรียบกับประวัติศาสตร์ทางการพยาบาล  ท่านฟลอร์เรนซ์ ไนติงเกล ได้ช่วยให้ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ  และมีบาดแผลจากการสู้รบในสงครามไครเมีย  ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น  โดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด  สงบ  ช่วยประคับประคองให้จิตใจไม่กังวล  ปรากฎการณ์ที่ผู้ป่วยในหอผู้ป่วยได้รับจากมลภาวะทางเสียงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในขณะนั้น  น่าจะเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจศึกษาในเชิงลึกว่า  ช่วยส่งเสริมการ recover ของผู้ป่วยได้หรือไม่ 

3.ระเบิด 1 ลูก คร่าชีวิตพลเมืองที่ไม่ได้มีส่วนกับการชุมนุม  และพรากโอกาสการรักษาตัวในหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตของผู้ป่วยอาการหนักอีก 18 คน  และแล้วโศกนาฎกรรมก็มาเยือน  เมื่อคืนวันที่ 23 เมษายน 2553  เกิดระเบิดที่บริเวณสีลมมีผลให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ  การคาดการณ์ของรัฐบาล  คือ  การเตรียมพร้อม  เพื่อรับผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน  สิ่งที่โรงพยาบาลจำเป็นต้องปฏิบัติ  คือ  ดึงเตียงออกไป 18 เตียง  เหลือ คนไข้หนักที่สุด  ไว้ 2 เตียง  คือ  พี่ชายของดิฉัน  และ คนไข้อีก 1 คน  หากรัฐบาลจะประเมินความสูญเสียส่วนนี้  อย่านับเฉพาะ  จำนวนของคนตาย  คนเจ็บ  แต่ควรนับจำนวนคนไข้ที่ต้องขาดโอกาสในการรักษาในหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต  ซึ่งโดยสภาพปกติ  ทั้ง 18 คนนี้  ต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วยแห่งนี้ก่อน  แต่  ต้องระหกระเหเร่ร่อน ไปอยู่  ตรงโน้นบ้าง  ไปฝากตรงนั้นบ้าง  ทางการพยาบาลถือว่ามีผลต่อความต่อเนื่องของการรักษาพยาบาล  ซึ่งมีหลักฐานจากงานวิจัยยืนยันว่า  อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อน  ติดเชื้อ  ในส่วนนี้  พยาบาลและแพทย์ทุกคนที่รับผิดชอบ  พยายามเต็มที่  และปฏิบัติการตามมาตรฐานการดูแลท่ามกลางสถานการณ์ที่สับสน  วุ่นวาย  และมีกลิ่นอายของการใช้ความรุนแรง

4. นิ่ง (แล้ว) เสียตำลึงทอง หลังเหตุการณ์ระเบิด มีผู้บาดเจ็บหลายกลุ่มที่ต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วยที่พี่ชายรักษาตัวอยู่  ในจำนวนนี้  มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้ารักษาตัวด้วย  พยาบาล แพทย์  และเจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยนี้ทุกท่าน ให้การดูแล  ทุกๆคน  โดยมาตรฐานเดียวกัน  และแล้วปรากฏการณ์อันทำลายสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล  และส่งเสริมการแพร่กระจายเชื้อก็เกิดขึ้น  กล่าวคือ  ห้องน้ำทุกห้องของตึกฉุกเฉิน  ซึ่งอยู่ด้านติดถนน  ตรงข้ามกับพระบรมรูปรัชกาลที่ 6   เป็นแหล่งปลดทุกข์อันสะดวกสำหรับผู้ชุมนุม    ด้วยความใจกว้าง  และความมีมนุษยธรรมของโรงพยาบาล  จึงบันดาลให้  ห้องน้ำทุกชั้น  เป็นแหล่งพึงพิงเพื่อการปลดทุกข์  และการชำระล้างร่างกายบางส่วนของผู้ชุมนุม  ที่มีความเป็นอิสระ  และมีสำนึกที่ลึกล้ำอันเป็นวิสาสะ  เดินเข้า  เดินออก  วิ่งไป  วิ่งมา  เสมือนเป็นเรือน (บ้าน)เกิดแห่งตน    มีผลให้กลุ่มครอบครัวของดิฉันและครอบครัวของผู้ป่วยอื่นๆ รู้สึกเกรงใจมากๆ  ไม่กล้าไปแย่งเขาใช้  เข้าทำนอง  พูดไปสองไพเบี้ย  นิ่ง (แล้ว)  เสียตำลึงทอง  ในที่สุดทางโรงพยาบาลคงจะทนให้ผู้ป่วยต้องเสี่ยงกับสภาพแวดล้อมของตึกฉุกเฉินไม่ได้  จึงได้ปิดตึก  และย้ายผู้ป่วยทั้งหมดไปตึกอื่น  พี่ชาย  ได้ย้ายมา  ตึก ICU สูติ  ซึ่งอยู่ติดกับถนนอังรีดูนังต์  ที่นี่  สงบ  สะดวก  พี่ชายได้รับการดูแลอย่างดีเข่นเดิม  ครอบครัวของเรา  ไชโยพร้อมกันด้วยความดีใจ  โล่งใจ  สบายใจ  เฝ้ามองการฟื้นตัวของพี่ชาย เราคิดผิดไปเองว่านี่คือตอนจบแบบไม่มีหักมุม

5. มารด้านสุขภาพ  ดิฉันให้นิยามได้คำเดียวจริงๆ  เมื่อ GUARD น ป ช  เข้าค้นตึก  ภายในโรงพยาบาลจุฬา เมื่อคืนวันที่ 29 เมษายน 2553 วันรุ่งขึ้น  แพทย์ที่ดูแลพี่ชาย  บอกกับพวกเราว่า  ต้องย้ายโรงพยาบาล  เพราะโรงพยาบาลต้องปิดหอผู้ป่วยในหลายๆส่วน  เช้าวันนั้น 30 เมษายน 2553 ขณะที่ดิฉันประชุมอยู่  หลานชาย (ลูกของพี่ชาย)  โทรมาหาไป  ร้องไห้ไป  บอกว่า ป๊าต้องย้าย  ภายใน 24 ชั่วโมง  เพราะจุฬาต้องปิดโรงพยาบาล  ดิฉันนึกถึงคุณหมอที่ รพ เจริญกรุงฯที่เคยติดต่อขอเตียงเอาไว้  จึงได้โทรและขอให้ลูกศิษย์ที่เป็นพยาบาลที่นั่น  ช่วยหาเตียง  อีกสักพักใหญ่ๆ หลานชายโทรมาให้ดิฉันคุยกับคุณหมอเจ้าของไข้ที่จุฬา  คุณหมอให้ความกรุณามากๆ  ประสานงานให้เพื่อย้ายไป  รพ วชิระ พี่ชายได้ย้ายในช่วงบ่ายนั้น  ท่ามกลางความเสี่ยงด้านสุขภาพ  เพราะพี่ยังหายใจเองไม่ได้  ใช้เครื่องที่เป็น volume control  ระหว่าง refer ต้องบีบ bag พี่ชายต้องใส่ collar  เพราะแพทย์ไม่แน่ใจว่ามี fracture C spine หรือไม่ แต่ดิฉันบอกหลานว่า  ย้ายไปก่อนเถอะตุ๊ (หลานชื่อตุ๊)  เพราะที่นั่น  หมอเขาติดต่อ  และส่งต่ออาการและการรักษากันแล้ว  เมื่อเข้าในโรงพยาบาลวชิระ  ต้องอยู่ ตึกสามัญ  และเปลี่ยนมาใช้ Bird ซึ่งเป็น pressure control ซึ่งหมายถึง  การเกิดความไม่ต่อเนื่องในการรักษา  ยืดระยะเวลาการฟื้นตัว  เสี่ยงต่อการติดเชื้อ  และภาวะแทรกซ้อนอีกมากมาย  พี่ชายของฉัน  เป็นเพียงตัวอย่างของเหยื่อมาร รายหนึ่งเท่านั้น  คืนนั้น  ดิฉันดู TV  มี ผู้ป่วยเด็กรายหนึ่ง  ต้องย้ายจาก รพ จุฬา  ไป รพ สวรรค์ประชารักษ์  จังหวัดนครสวรรค์  ท่านลองวาดภาพการเดินทาง  แค่นึกถึงระยะทางก็เสี่ยงมากแล้ว   เด็กอ่อนรายหนึ่งสำลักน้ำคร่ำระหว่างการคลอดโดนย้ายไป รพ ปู่เจ้าสมิงพราย  คุณปู่ของเด็กเสียใจ  และเป็นห่วงหลานมาก โดยสรุป  คำว่า  มารสุขภาพน่าจะเป็นความหมายที่แคบไป  ควรใช้คำว่า  มารสังคม จะเหมาะสมกว่า

6. บทสรุปของการตกเป็นเหยื่อมาร ดิฉันมีความเห็นว่า  ปัจจุบัน  สังคมไทยตกอยู่ในเงื้อมมือของมารกลุ่มนี้ case ของพี่ชาย  เป็นเพียงส่วนประกอบในการเล่าเรื่อง  แต่ท่านลองถามตนเองว่า  เราทำอะไรกันบ้างหรือยัง  หรือเรามัวแต่สร้างเกราะกำบังกาย  หรือแทงกั๊ก  แบบท่าน ว วชิระเมธี  ท่านว่าเอาไว้ว่า คนที่บอกว่าฉันเป็นกลาง คบไม่ได้  เพราะเป็นพวกแทงกั๊ก  ใครชนะก็จะได้เกาะชายผ้าเขาไป  คนที่บอกว่า ไม่อยากสู้กับคนพาล  ก็คบไม่ได้  เพราะขี้ขลาด  กลัวเจ็บ  กลัวตาย  พวกนี้จัดว่าเห็นแก่ตัวอย่างแรง  แต่หาเหตุมาอ้าง 

หมายเลขบันทึก: 355804เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเป็นครู ปีที่มีการลอบเผาโรงเรียนปล่อยข่าว สารพัด ว่าจะเผาที่โน่นที่นี่ นอนเฝ้าโรงเรียน 24 ชั่งโมง เกิดเหตุ กลัวถูกสอบวินัย (นี่ก็คือ สาเหตุ)จากการเมือง นี่เข้าถึงโรงพยาบาล อื้อฮือ ก้าวหน้าจัง ประชาธิปไตย คงรักประชาธิปไตย นะครับ แม้แต่พระยังไปถือ ไม้หลาว แล้วหลวงพี่ท่าน จะกล้าแทงคนรึครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท