นักเรียนอาสา


กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการกลุ่ม ศึกษาดูงาน

นักเรียนอาสา

           ผมได้รับเชิญไปเป็นประธานเปิดการอบรม “โครงการเยาวชนอาสาสมัครเพื่อเด็กด้อยโอกาสในสังคม” ซี่ง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้จัดขึ้น  มีเด็กนักเรียนระดับมัธยมปลายเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 62 คน  นักเรียนมัธยมเหล่านี้มาจากหลายโรงเรียนด้วยกันคือ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย    โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล  โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2  โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ   เตรียมอุดมน้อมเกล้า  โรงเรียนทวีธาภิเศก  โรงเรียนบางบัวทอง และโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก

          โปรแกรมการอบรมน่าสนใจมากครับ  ผมขออนุญาตนำลงเผยแพร่เพื่อหน่วยงานที่สนใจจะจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนทั้งหลาย  ได้นำไปประยุกต์จัดต่อไปได้ ดังนี้

           ด้านเนื้อหาสาระ   เด็กนักเรียนจะได้รับฟังเนื้อหาเกี่ยวกับ “สถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย” “สิทธิเด็กตามหลักอนุสัญญาของสหประชาชาติ” “หน้าที่ในฐานะเป็นพลเมืองไทย” “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก”  “ปัญหาเด็กเร่ร่อนและการช่วยเหลือ”  “แนวทางช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในสังคม”  โดยการบรรยายของวิทยากรนั้นเน้นกระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นการใช้วิธีการที่แยบคายให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ   

          ด้านการศึกษาดูงาน  เด็กนักเรียนได้แยกกันเป็นกลุ่มๆ  ไปพร้อมกับครูของมูลนิธิฯ โดยวันแรกจะเป็นการแยกย้ายกันออกไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ  ดังนี้  “ภาวะผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล”ที่ตั้งอยู่ในย่านสลัมคลองเตย  ”  “เด็กในสถานพินิจบ้านเมตตา”  “เด็กพิการซ้ำซ้อน ที่สถานสงเคราะห์บ้านเฟื่องฟ้า”  “มารดาท้องนอกสมรส ในโครงการมารดาและทารกบ้านสุขฤทัย”   

         เมื่อศึกษาดูงานกลับมาแล้ว  แต่ละกลุ่มก็จะนำเสนอถึงสิ่งที่ได้พบเห็นมาและสะท้อนความรู้สึกในจิตใจให้เพื่อนๆ กลุ่มอื่นได้ทราบ  บรรยากาศช่วงนี้น่าสนใจมาก เพราะนักเรียนทั้งหลายจะนำเสนอออกมาด้วยความรู้สึกทั้งสะเทือนใจและมีความเห็นอกเห็นใจชีวิตอื่นๆ ที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่ในปัจจุบัน และได้สะท้อนถึงหลักการ วิธีการที่หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการอยู่ว่า น่าสนใจหรือควรแก่การเสริมเพิ่มเติมในด้านใด

         ในวันต่อมา  จะเป็นอีกวันสำหรับการออกไปศึกษา “ชีวิตคนกลางคืน” โดยเฉพาะเด็กเร่ร่อนที่ต้องเร่ขอทานและหาที่ซุกหัวนอนยามค่ำคืน และชีวิตของหญิงและชายค้าบริการตามพัฒพงษ์ และย่านสนามหลวง  เมื่อกลับคืนมาสู่ที่พักและพักผ่อนแล้ว  เช้าวันต่อมาจะเป็นช่วงเวลาแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกที่ได้เข้ารับการอบรมและสิ่งที่ได้พบเห็น

          ผมมีโอกาสได้รับฟังความคิดและความในใจของเด็กๆ ในวันนั้นด้วย  ยอมรับครับว่าความคิดความอ่านของพวกเขานั้นเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากทั้งหลาย ที่สำคัญคือพวกเขาได้ปวารณาตนว่าจะพยายามยังประโยชน์ต่อสังคมส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้มไๆ็  โดยจะกลับไปยังโรงเรียนเพื่อเผยแพร่สิ่งได้รับรู้มาต่อเพื่อนๆ ทั้งหลายและพยายามที่จะรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อไป

          เพียงเท่านี้ ผมก็ปลื้มปิติในหัวใจแทน “มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก”แล้ว ที่สามารถปลุกจิตใจสาธารณะของเด็กนักเรียนเหล่านี้ขึ้นมาได้ในระดับที่ดีทีเดียว  จึงได้ขอให้พวกเขามีกำลังใจพัฒนาอบรมรุ่นต่อๆ ไปให้มากขึ้นเรื่อยไป

                     

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 355565เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีคุณครูและนักเรียนหลายคนมาพบผมที่มูลนิธิฯ ปรารภว่ามีเด็กจำนวนมากที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรม แต่หาทุนสนับสนุนได้ยาก ผมตอบไปว่าการทำความดีนั้น ทุนคงหาได้ไม่ยากนัก ขอเพียงแต่ให้เด็กๆ เขารวมกลุ่ม คิดให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรเพื่อสังคม แล้วเขียนส่งมายังผมที่มูลนิธิฯ ผมจะประสานหาทุนให้ทำกิจกรรมครับ และขอย้ำผ่านมา ณ ที่นี้เช่นกันว่า นักเรียนโรงเรียนใดมีความคิดดีดีจะทำเพื่อสังคม เขียนส่งมาหารือได้นะครับ จะพยายามหนุนเสริมช่วยครับ...............

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท