ประสบการณ์อาจารย์ที่ปรึกษาตอนที่ 1 - email address


ประสบการณ์เล็กๆ จากการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ภารกิจหลักของอาจารย์มหาวิทยาลัยคือ การสอน การสอนในที่นี้นอกจากการยืนบรรยายหน้าห้องแล้ว ยังรวมถึงการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำวารสารสัมมนาและการทำภาคนิพนธ์ การทำสัมมนาเป็นอ่านวารสารภาษาอังกฤษ เขียนบทคัดย่อ และนำเสนอหน้าห้อง ใช้เวลาประมาณเดือนแล้วก็จบกันไป แต่งานอาจารย์ที่ปรึกษาภาคนิพนธ์นั้นใช้เวลาเป็นปี เพราะเริ่มตั้งแต่หาเรื่องมาทำ เขียนโครงร่างการวิจัย ลงมือทำ เขียนรูปเล่มจนเตรียมจบ ขบวนการนี้ใช้เวลาเป็นปี ซึ่งในหนึ่งปีที่นักศึกษาได้ใกล้ชิดอาจารย์ได้ทำงานร่วมกันนอกจากงานวิชาการที่ต้องทำแล้ว ยังเกิดการเรียนรู้นอกตำราทั้งอาจารย์และนักศึกษา  สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในคู่มือทำภาคนิพนธ์ แต่อยู่ในใจของอาจารย์ที่ปรึกษาคะซึ่งเข้าใจว่าหลายๆ ท่านที่เป็นอาจารย์คงมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน ขอเริ่มด้วยเรื่องที่อาจไม่เป็นเรื่องของคนอื่นคือ เรื่องของ email address แต่ตัวเองคิดว่ามันมีประเด็นน่าคิดเี่กี่ยวกับเรืองนี้อยู่เหมือนกัน

                การติดต่อระหว่างอาจารย์และนักศึกษาก่อน สมัยก่อนต้องนัดเวลาเข้าพบ ไม่ก็นักศึกษาต้องอยู่ในห้อง standby ไว้ อาจารย์ว่างเมื่อไหร่จะเข้ามาคุย  แต่ในสมัยนี้เทคโนโลยีก้าวไกลการติดต่อระหว่างอาจารย์และนักศึกษานิยมใช้ email เพราะสะดวกรวดเร็ว อาจารย์ทำงานที่บ้านได้ นักศึกษาทำงานจากหอพักได้ ตามธรรมดานั้นในแวดวงอาจารย์เมื่อใช้ email address เรามักจะสื่อถึงตัวคน พออ่านเสร็จจะรู้ว่าเป็นใคร แต่สำหรับนักศึกษาแล้วไม่สามารถเดาได้ว่าเธอคือใคร เช่น suzei223, puipuipokpak, yayaying เป็นต้น ก็เข้าใจว่าวัยรุ่น แต่ให้มันสื่อบ้างได้ไหม เพราะถ้าติดต่อกันครั้งแรกไม่รู้จักเราก็ไม่อยากเปิด การติดต่อกันครั้งแรก เมล์พวกนี้จะตกไปอยู่ที่ junk mail  กว่าจะเข้าที่เข้าทางต้องหลังจากผ่านนัดคุยกันครั้งแรกไปแล้วและมาจัดการ save address แปลกปลอมพวกนี้

ในขณะที่นักศึกษามาในนามแฝง แต่อาจารย์ใช้ชื่อจริงสกุลจริงเป็น address  (ด้วยวัยขนาดนี้คงไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ได้แล้ว)   ความที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีข้อเสียเหมือนกัน เพราะถ้าเห็นชื่ออาจารย์ใน inbox  รู้ว่าอาจารย์มาอีกแล้ว ตามงานแล้ว สั่งงานอีกแล้ว แก้งานอีกแล้ว งานเดิมยังไม่เสร็จ และยังไม่อยู่ในอารมณ์จะทำงานเลยขอเวลาหน่อย นักศึกษาบางคนอาจเลือกไม่เปิดหรือเปิดช้าหน่อย รอบิลว์อารมณ์ก่อน รอว่างงงงงงงงจริงก่อน เป็นต้น  ในกรร๊นี้ขอให้เข้าใจอาจารย์บ้างว่าบางทีคิดงานนักศึกษาได้ตอนหัวว่างๆ  เราก็อยากรีบสั่ง รีบถ่ายทอดออกไปเพราะกลัวลืมหรือจะไปทำอย่างอื่น  เราก็ต้องรีบเขียนสั่งงานทาง email สั่งเสร็จก็อยากทราบว่าเด็กเข้าใจหรือเปล่า แต่คอยหาย คอยหาย แบบนี้ก็มีบ้าง

อันนี้เป็นเรื่องของ email address มีอีกอย่างที่สงสัยแต่ไม่ได้ถามนักศึกษา คือ address พวกนี้มันเปิดเฉพาะกิจเพื่อใช้กับอาจารย์หรือเปล่า เพราะหลังจากจบไปแล้ว จะถามอะไรนิดหน่อยเกี่ยวกับงาน บางคนไม่เคยติดต่อได้เลย เราก็สงสัยว่าเขียนถูกหรือเปล่า หรือมันปิดไปแล้วหลังจากจบ ถือว่าจบแล้วจบกันไป หรือนักศึกษามีหลายที่อยู่  ทำเรื่องนี้กับคนนี้ใช้ชื่อนี้ พอไปทำเรื่องโน้นใช้ชื่อโน้นหรือเปล่า ไม่เข้าใจและสงสัย???

 อีกอย่างคือ เรื่องของ social network ที่เป็นสมาชิกลูกโซ่ เพราะสังเกตว่าหลังจากติดต่อกับนักศึกษาได้สักพัก มันมาแล้วบนหน้าจอ    ...(address นักศึกษา)… ได้เชิญให้เข้าร่วม  Hi5 บ้าง  facebook บ้าง  fanbox  บ้าง ซึ่งก็ delete ไปทุกราย เพราะทุกวันนี้ก็อ่านหนังสือไม่ทันแล้ว ปล่อยป้าไปเถอะ แล้ววันดีคืนดี network เหล่านี้จะสรุปให้ฟังว่าคุณได้ปฏิเสธการเข้าร่วมไปแล้ว  15 ราย 20  ราย – เฮ้อ ช่างนับจริงๆ

          จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะโลกเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน เราเองถึงถึงแม้จะมีช่องว่างระหว่างวัยของอาจารย์ที่อายุมาก (แต่หน้ายังเด็กอยู่จะเล่าตอนต่อไป) และนักศึกษาประมาณ 20 ปี แต่ถ้าเรา young at heart สามารถเรียนรู้จากเด็กได้ไม่รู้จบ

หมายเลขบันทึก: 355243เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

สื่อสาร บอกเล่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยประหยัด ได้ประโยชน์หลายอย่าง ผมก็ชอบใช้ติดต่อกับนักศึกษา ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท