ความเป็นครูอยู่ที่จริต


ความเป็นครูที่แท้จริงนั้นไม่สามารถที่จะไปร่ำ ไปเรียนในมหาวิทยาลัยในโรงเรียน หรือจะไปอบรมสัมมนาที่ไหนแล้วกลับมาจะกลายเป็น "ครูที่ดี" ได้

ความเป็นครูนั้นขึ้นอยู่ที่จิตที่ใจ อยู่ที่จริต อยู่ที่สันดาน

คนที่จะเป็นครูได้นั้นจะต้องมีธรรมที่เรียกว่า "พรหมวิหาร ๔" เป็นหลักคุ้มครองใจเสมอ

คนเป็นครูจะต้องมีความเมตตาต่อศิษย์อย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ครูคือผู้ให้ ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

เพราะระบบความคิดของคนที่เป็นครูนั้น ถ้าหากคิดว่าจะให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแล้ว การกระทำไม่ว่าจะในห้องหรือนอกห้องเรียนก็จะเป็นแบบหนึ่ง แบบที่ดี

แต่ถ้าหากครูคิดหวังแต่ว่าจะมากอบโกยเอาผลประโยชน์กับลูกศิษย์ การกระทำที่ออกมานั้นจะเป็นการกระทำที่ไม่ดี เป็นการกระทำที่เลว

ดังนั้น ครูจักต้องเป็นผู้ให้เสมอ ครูดี ครูเพื่อศิษย์ : ให้อย่างที่สุด ไม่มีประมาณ...

ถ้าใครคิดจะมาเป็นครูเพื่อหวังผลประโยชน์ทางด้านตัวเงินและทรัพย์สินแล้วนั้น บุคคลผู้นั้นไม่ได้ชื่อว่าครูดังแต่ต้นแล้ว

คนที่จะมาเป็นครูต้องให้ชีวิต ให้ร่างกายและจิตใจของตนเองเป็นลำดับแรก นำร่างกายนี้ อัตภาพอันประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ ทุ่มเทเพื่อที่จะปลูกฝังความรู้ดี ๆ "ความรู้ที่ถูกต้องตามธรรม" ให้กับลูกศิษย์

การปลูกฝังโดยคำพูดที่ทำ ๆ กันอยู่นั้น ไม่มีคุณค่าใด ๆ เลยที่จะเทียบเท่าการปฏิบัติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เป็นปูชนียบุคคล ให้ศิษย์สามารถนำวิถีชีวิตที่ดี ที่ดี ที่ประเสริฐ ไปวางแผนรูปแบบชีวิตของตนเองได้

สังคมครูในปัจจุบันนั้นผิดเพี้ยน เพราะคนส่วนใหญ่ไปนิยม "ครูเก่ง" ทอดทิ้ง "ครูดี"

ครูคนไหนพูดเก่ง สอนเก่ง บรรยายเก่ง จะมีลูกศิษย์ลูกหามาก เพราะเด็กอยากเก่งแบบนั้น เด็กรู้ว่าถ้าเก่งแบบนั้นแล้ว อนาคตจะมีอาชีพที่ดี รายได้งาม

ครูในปัจจุบันจึงปลูกฝังนิสัยแห่งความโลภ และการมุ่งแต่ที่จะหาผลประโยชน์โดยผ่านการกระทำของตนเอง

ความคิดของคนที่มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง คำพูด แววตา การกระทำก็จะชี้นำไปในทางที่ผิด ทางที่เลว เด็กสัมผัสได้ รับรู้ได้

แต่ครูที่ดี ท่านจะอาจหาญและร่าเริงในธรรม ไม่มีกินก็อยู่ได้ อยู่ได้เพราะ "เสพสุข" สุขที่ได้เห็นศิษย์เจริญ ก้าวหน้า ในแนวในทางที่ถูกต้อง

ครูอัตราจ้างก็เป็นครูที่ดีได้นะ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น "ข้าราชการครู" แต่เพียงอย่างเดียว เพราะครูที่ดีนั้นอยู่ที่ตนเอง อยู่ที่การประพฤติ การปฏิบัติ อยู่ที่นิสัยแห่งความเป็นครู

ถ้าใครตั้งใจที่จะทำงานเพื่อที่ให้กับลูกศิษย์แล้ว บุคคลนั้นไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใด อาชีพใด บุคคลนั้นไซร้ได้ชื่อว่า "ครู..."

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓


ที่มาจากบันทึก ครูอัตราจ้าง

หมายเลขบันทึก: 355237เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน ท่านอาจารย์ ครู แท้ ต้องพัฒนา จริต ของครู ก่อน ครับ

การพัฒนาจริตคือการพัฒนา "จิตสำนึก" ต้องระลึกไว้เสมอในทุก ๆ ลมหายใจว่าเรามิใช่ใครเราคือ "ครู"

กาย วาจา และใจ ต้องระลึกไว้เสมอว่าคนในสังคมนี้เขาสมมติให้เรานั้นเป็น "ครู"

"ครูคือผู้ให้..." ให้ตัวอย่างที่ดี ๆ ดีทั้งกาย ดีทั้งวาจา ดีทั้งใจ ดีทั้งในและนอกห้องเรียน

ครู จึงเป็นอาชีพที่ประเสริฐ

ครู เป็นบุคคลที่สามารถเจริญกุศลได้ในทุกขณะจิต

จิตที่คิดดี พูดดี ทำดี นั้นคือ "ครูดี ครูเพื่อศิษย์"

แล้วเราจะสร้างจิตสำนึกนั้นได้อย่างไร

การอบรม สัมมนา หรือการพัฒนาทางวิชาการใด ๆ ไม่สามารถพัฒนา "จริต" ได้

การพัฒนาจริตต้องเริ่มต้นจากพัฒนาตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์

คนที่จะสมบูรณ์ได้นั้นจะต้องมี "ศีล ๕" เป็นพื้นฐานของชีวิต

อย่างน้อยที่สุดไม่ขโมยเวลาของนักเรียนโดยการส่งจิต ส่งกาย ส่งวาจาออกไปนอกโรงเรียนในขณะที่ทำงาน

การประพฤติที่ดีนั้นครูจะไม่ต้องไม่มีชู้สาว ไม่ดื่มเหล้าเมายาแล้ว เดินขาปัดขาเป๋เข้ามาสอนหนังสือ

ทุก ๆ การกระทำของครูนั้นจะถูกเรียนรู้โดยลูกศิษย์

ครูดี ศิษย์ดี ครูเลว ศิษย์เลว

ดังนั้นครูจึงต้องพัฒนาตัวเองด้วยศีล

ก่อนจะไปเป็นครูสอนใครจักต้องสอนตัวเองให้ได้เป็นลำดับที่หนึ่ง

สอนคนอื่นได้สอนง่าย แต่ตอนตัวเองนั้นสอนยาก การสอนคนอื่นนั้นส่วนใหญ่จะสอนกันด้วยปาก แต่การสอนตัวเองนั้นยากลำบากเพราะต้องสอนด้วยใจ...

ในอดีตนานมากแล้วเคยตอบเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งที่ถามตอนไปสัมภาษณ์ว่าไม่ได้เรียนวิชาครูมาแล้วจะเป็นครูได้หรือ ก็ได้ตอบเขาไปว่า "หนูเป็นครูด้วยใจ" และตั้งแต่ได้เป็นครู(ในมหาวิทยาลัย) ก็แทนตัวเองว่า"ครู"มาโดยตลอด และเชื่อมั่น ภูมิใจในความเป็นครูมาก เพราะเป็นได้ไม่ยากเลยถ้าเป็นด้วยใจ ใจที่จะให้ทั้งความรู้และคุณธรรม และที่สำคัญคือดำรงชีวิตให้เป็นแบบอย่าง (ไม่ซื้อหวยเล่นพนัน ไม่เข้าในที่อโคจรสถาน รับผิดชอบในหน้าที่สอน ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอรับชั่นเงินแผ่นดิน ฯ) เท่านี้ก็เป็นครูดีได้แล้ว หากครูทุกคนเป็นครูด้วยใจ เราคงจะได้ผลผลิตศิษย์ที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม สังคมคงจะพัฒนา และก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

วิทยาศาสตร์ สอนคนให้เชื่อผลอะไรต่ออะไรที่เป็น "รูปธรรม"

ดังนั้นใครทำอะไรดีแค่ไหน เสียสละเท่าไหร่ นักวิทยาศาสตร์หน้าไหน ๆ ก็มองเป็นเพียง "นามธรรม"

ปริญญาบัตร เกียรติบัตร วุฒิบัตร คือ สิ่งที่วิชาการที่แนวความคิดทางวิทยาศาสตร์สมมติให้นามธรรมให้เกิดเป็น "รูปธรรม"

ดังนั้นคนฉลาด ๆ แต่ขาดศีลธรรมในสมัยนี้จึงแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม และละเลยความดีใจดวงใจนั้นไว้ให้กลายเป็น "นามธรรม"

นามธรรมใครล่ะจับต้องได้ เวลาจะคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานที่ไหน ใครจะไปสนใจ "นามธรรม"

เขาดูกันแต่ว่า คุณเรียนจบที่ไหน มหาวิทยาลัยเกรดไหน มหาวิทยาลัยเมืองนอกก็เกรดหนึ่ง มหาวิทยาลัยเมืองไทยก็เกรดหนึ่ง

จบเมืองนอกก็ว่ากันที่ทวีปไหน ประเทศไหน แบ่งเกรด คัดเกรดกันไป แต่จะมีบริษัทหน้าไหนที่คัดเกรดคนที่ "หัวใจ"

ยิ่งคนเป็นครูนั้น เป็นอาชีพที่ใช้ใจนำ เพราะเป็นอาชีพที่ต้อง "เสียสละ"

ปัจจุบันเราคัดเลือกคนที่จะมาเป็นครูด้วยเกรด ด้วยระดับของมหาวิทยาลัย เด็กไทยจึงกลายเป็นเด็กแข่งเกรด เด็กแข่งมหาวิทยาลัย เพราะครูไทยถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น

ครูที่ดีมีอยู่ใน "อุดมคติ"

ขอจงใช้อุดมคตินั้นสร้างสรรค์ตัวเองให้เป็น "ครูดี"

ครูที่ดีเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ต่อสู้ ฟันฝ่า เพื่อที่จะพิสูจน์ให้ได้ว่าความดีในดวงใจนั้นเป็น "รูปธรรม"

เพื่อธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้องเป็นสิ่งที่สัมผัสได้

ขอให้ครูยึดมั่นต่อความถูกต้อง ให้เหนือต่อความถูกใจ อีกไม่นานในอนาคตไม่ไกลความดีนั้นย่อมเป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างแน่นอน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท