สอนนักศึกษาแพทย์: ภาวะใกล้ตาย ความตาย และการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย


วันที่ ๒๐ เมษายน ที่ผ่านมา ผมต้องไปสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีท่ี ๓ จำนวน ๔๘ คน ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในรายวิชา ระบบวงจรวิวัฒน์แห่งชีวิต หัวข้อ ภาวะใกล้ตาย ความตาย และการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย

ผมเอาวัตถุประสงค์ที่ท่านอาจารย์มยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ส่งมาให้เป็นแนว มาเขียนเป็นวัตถุประสงค์การสอนของตนเองดังนี้

เมื่อเสร็จสิ้นการ เรียนการสอน นักศึกษาแพทย์สามารถ
๑. อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสภาพจิตใจของมนุษย์ในภาวะใกล้ตายได้
๒. อธิบายเกณฑ์การวินิจฉัยการตายทางการแพทย์ได้
๓. อธิบายปัจจัยที่มีผลต่อมุมมองเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตายในมิติทางการ แพทย์ สังคมและวัฒนธรรมได้
๔. เปรียบเทียบและยอมรับความแตกต่างของมุมมองเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตาย ของตนเองและผู้อื่นได้
๕. อธิบายหลักการของ palliative care การดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายได้
๖. อธิบายการบูรณาการความรู้ทางการแพทย์และภูมิปัญญาทางสังคมวัฒนธรรมในการดูแล คนไข้ระยะสุดท้ายได้
๗.​ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตของตนเอง และกับผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้ตายและเสียชีวิตในสถานการณ์ต่างๆในอนาคตได้
 
เนื้อหาวิชา
๑. ชีวิตและความตาย
๒. การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสภาพจิตใจของมนุษย์ในภาวะใกล้ตาย
๓. ประกาศแพทยสภาเรื่อง เกณฑ์กาารวินิจฉัยสมองตาย
๔. ความแตกต่างและปัจจัยที่มีผลต่อมุมมองเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตายในมิติ ทางการแพทย์ สังคมและวัฒนธรรม
๕. หลักการของ palliative care การดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย
๖. การบูรณาการความรู้ทางการแพทย์และภูมิปัญญาทางสังคมวัฒนธรรมในการดูแลคนไข้ ระยะสุดท้าย

การ จัดประสบการณ์การเรียนรู้

สถานที่

ผมขออาจารย์ไม่ใช้ห้องบรรยายแบบนั่งเรียงหน้ากระดาน เพราะชั่วโมงสอนช่วงบ่าย มาเจอเสียงบรรยาย..นุ่มคงที่..ของผม คงหลับยกชั้น อาจารย์เลยกรุณาเลือกห้องโถงใหญ่ในศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาที่ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษา แล้วนั่งกับพื้นแทน

ก่อนชั่วโมงสอน

ผมแจกเอกสารประกอบการสอนเรื่อง ประกาศ แพทยสภาเรื่อง เกณฑ์กาารวินิจฉัยสมองตาย ให้นักศึกษาอ่านก่อนเข้าห้อง และบอกให้นักศึกษาทุกคนทบทวนความรู้สึก ความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับความตาย เตรียมมานำเสนอให้กลุ่มย่อยฟัง อาจเป็นการเล่าเรื่อง อ่านบทกวี แสดงภาพถ่ายหรือสิ่งของที่เป็นสัญญลักษณ์ก็ได้

ในชั่วโมงสอน

ผมเกริ่นนำด้วยเรื่อง เหตุการณ์สวรรคตของพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อโยงให้เห็นมุมมองต่อความตายและภูมิปัญญาของคนโบราณเกี่ยวกับเรื่องนี้ สั้นๆ

แล้วแบ่งนักศึกษาเป็น ๔ กลุ่มโดยมีคณาจารย์จากม.วลัยลักษณ์ รวมทั้งท่านคณบดีเองนั่งอยู่ในกลุ่มด้วย ตอนนี้ผมใช้กระบวนการสุนทรียสนทนา (dialogue) ซึ่ง อ.สกล และทีมงานเคยไปปูพื้นฐานให้แล้วตั้งแต่ปี ๑ ให้ทุกคนนำเสนอความรู้สึก ความคิดเห็นของตนเองต่อความตายให้กลุ่มฟัง ทีละคนจนครบทุกคน

นักศึกษาบางคนทำการบ้านมาดีมาก เอารูปที่พิมพ์ออกมาแสดงให้เพื่อนดูประกอบการเล่า บางคนเอาหนังสือสวดมนต์มาแสดง บางคนก็แต่งกลอนมาอ่านให้เพื่อนฟัง


หลังจากนั้นผมขอให้นักศึกษานั่งเป็นวงกลมใหญ่วงเดียว แล้วให้สะท้อนสิ่งที่คุยกันในกลุ่มย่อย

ประเด็นหลักๆ สำหรับนักศึกษาที่ยังอยู่ในวัยรุ่น คือ รู้สึกว่าความตายดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว ยังไม่พร้อม ยังไม่ถึงเวลา ถ้าเพื่อนตายก่อนได้ก็จะดี ..เออแหนะ แต่ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งที่อ้างคำถามที่พระพุทธองค์ถามพระอานนท์ ที่ว่า ควรคิดถึงความตายบ่อยแค่ไหน    เป็นไงครับ..เด็กสมัยนี้เยี่ยมจริงๆ

ความรู้สึกอารมณ์หลัก คือ ความพลัดพราก สูญเสีย ความเศร้า เสียใจ ผมก็ถามว่า มีใครที่รู้สึกแตกต่างจากนี้หรือไม่ ก็มีเพื่อนพยักเพยิดกันให้คนหนึ่งพูด เขาบอกว่า มันขึ้นกับว่า คนตายเป็นอย่างไร ถ้าเป็นญาติเราหรือคนที่เรารัก เราก็เสียใจ แต่ถ้าเป็นคนชั่วตาย บางทีเราก็รู้สึกสะใจ  น้องเขาตอบถูกใจผมนัก โดยประโยคตั้งต้นที่ว่า ..มันขึ้นกับว่า... ดูดีมีสกุลมากเลย  ผมก็เลยยกตัวอย่าง ญาติคนไข้ที่ดูแลคนไข้อย่างดีจนเสียชีวิต แล้วเกิดความรู้สึกโล่งใจ แอบดีใจลึกๆ ซึ่งบางคนก็รู้สึกผิดกับความรู้สึกนั้นด้วยซ้ำให้ทั้งกลุ่มฟัง เพื่อให้เห็นความแตกต่างของอารมณ์ที่หลากหลาย

ผมปิดท้ายด้วยคำสรุปที่ว่า ใครจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่อง ความตาย เราคาดเดาไม่ได้ และไม่สามารถทึกทักหรือเหมารวมได้
 
ผมให้เวลากับการแลกเปลี่ยนทั้งกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่นี้นานมาก รวมแล้วประมาณ ๑ ชั่วโมง เพราะผมอยากให้นักศึกษาได้ลองพูดถึงเรื่องนี้กับแบบสบายๆ ซึ่งก็ทำได้ดีมาก

หลังจากนั้นผมตัดมาบรรยายเดี่ยวในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสภาพจิตใจของมนุษย์ในภาวะใกล้ตาย อันนี้ก็ว่าตาม Module: Last Hour of Living ของ EPEC: Education for Physicians on End-of-Life Care เป็นส่วนใหญ่ สอดแทรกเปรียบเทียบกับความเชื่อเรื่องความตายของคนโบราณเกี่ยวกับ การดับของธาตุ ๔ ที่สอดคล้องกันเป็นอย่างดี  โดยแตะเรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยการตายทางการแพทย์ เปรียบเทียบกับของคนทั่วไปเป็นการปิดท้ายช่วงนี้ ใช้เวลารวม ๓๐ นาที

ผมต่อด้วยการให้นักศึกษานั่งดูวิดิทัศน์ความยาวประมาณ ๓๐ นาที เรื่อง มรณานุสรณ์ สุภาภรณ์ พงศ์พฤกษ์ ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตและความตายของคนๆหนึ่งที่สามารถออกแบบได้

แล้วต่อด้วยการตั้งคำถามในวงใหญ่อีกครั้งเกี่ยวกับ ความตายที่พึงและไม่พึงปรารถนา อีกประมาณ ๓๐ นาที ช่วงนี้น้องนักศึกษาแสดงความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการตายอย่างสนุกสนานว่า อยากตายแบบไหน ไม่อยากตายแบบไหน

เราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ไม่ว่าอยากหรือไม่อยากอย่างไร สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ คือ ตัวของเราเอง การเตรียมตัวเตรียมใจของตนเองเมื่อถึงวันนั้น เพื่อจะโยงถึง การมีชีวิตที่ดี ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถกำหนดได้ ต้องพึ่งพาคนอื่ เช่น ครอบครัว หมอ พยาบาล หรือคนอื่นจัดให้ ซึ่งผมก็โยงมาถึงเรื่องที่ผมจะบรรยายต่อ คือ หลักการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ซึ่งผมใช้เวลาช่วงนี้อีก ๓๐ นาที

ปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามที่ผมแอบตั้งเป้าในใจว่า จะใช้คำถามของนักศึกษาช่วงนี้เป็นการประเมิน ปรากฏว่า นักศึกษาช่วยกันตั้งคำถามกัน ไม่เงียบฉี่เหมือนการบรรยายหลายๆครั้ง และคำถามแต่ละเรื่องก็น่าสนใจและเป็นคำถามดีๆด้วย เช่น ประเด็นการบอกข่าวร้าย ความเหมาะสมของการุณฆาต เป็นต้น

หลังชั่วโมงสอน

ในการสอบผมจะประเมินนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย ข้อเขียนแบบบรรยาย ซึ่งน่าจะดีกว่าทำข้อสอบแบบตัวเลือกในเรื่องแบบนี้ และได้เขียนบันทึกแยกต่างหากที่นี่ เมื่อตรวจข้อสอบเสร็จแล้ว

อาจารย์มยุรีโทรศัพท์มาแจ้งว่า มีนักศึกษาคนหนึ่งอยากได้วิิดิทัศน์คุณสุภาภรณ์เอาไปให้ญาติซึ่งกำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายดู ผมไปหาก็พบว่ายังมีแผ่นจริงเก็บไว้อยู่ ก็รีบจัดส่งไปให้ เพราะคิดว่า น่าจะเกิดประโยชน์มากว่าแจกกระจายไปเรื่อยๆ

หมายเลขบันทึก: 354786เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2010 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (45)

อรุณสวัสดิ์กับมรณานุสติ ยามเช้ากันเลยทีเดียวนะคะท่านอาจารย์หมอเต็ม

ได้อมยิ้มกับมุมคิดของวัยรุ่น อย่างนี้เพื่อนอาจมีสวนกลับไปว่า หากฉันตายก่อนจะมาหลอกเธอ ;) เหมือนในหนังเรื่อง คนกลาง ...

หากเป็นคู่รัก ต้องได้ยินประมาณว่า ผมไม่อยากลาโลกไปก่อนเพราะเกรงจะไม่มีใครดูแลคุณ อีกฝ่ายก็ ฉันอยากจากไปก่อนเพราะคงทำใจไม่ได้หากคุณจะจากไป ...

ไว้จะมาใหม่นะคะ ... หากแต่ก็ยังไม่อยากตายค่ะ เพราะโลกนี้ช่างมหัศจรรย์และรื่นรมย์อีกเยอะค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาฝึก มาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

เศร้าใจค่ะ บ้านเมืองไม่สงบสุขค่ะ

สวัสดีครับ คุณหมอเต็มศักดิ์

ผมเห็นว่าเราควรเตรียมสภาพจิตใจ ชำระจิตอย่างเนืองๆ เพราะความตายอยู่กับเราตั้งแต่เราเกิด

ควรเจริญมรณานุสติเพื่อระลึกทบทวนถึงความตายของผู้อื่น และ ตนเองอย่างมีสติ ว่าเป็นการเกิด-ดับ ตามธรรมชาติ ของธาตุ ของขันธ์

บางท่านมีโอกาสดดีได้ระลึกรู้ถึงความตายอย่างช้าๆ ถ้าป่วย หรือ ชราแล้วตาย

แต่ในกรณีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ เพราะมันเกิดเร็วมาก เช่น กรณีของพ่อผมที่เพิ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

พอเห็นคนที่รู้จักตายแต่ไม่ใช่คนในครอบครัว ความรู้สึกผมมันจะรูสึกได้แค่ผิวๆ ไม่เสียใจมาก แต่ก็ได้เห็นว่าความตายเกิดได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

แต่พอเวลาตอนพ่อตาย ความรู้สึกถึงการตายมันได้เข้ามาจับขั้วหัวใจ ทฤษฏีต่างที่เคยอ่าน เคยศึกษาจากหนังสือธรรมะแทบจะใช้การไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เคยผ่านมันมาด้วยใจของเราเอง เพราะเราไม่เคยเรียนรู้มันจากเหตุการณ์ของจริง ต้องใช้กำลังสติอย่างมากเพื่อจะยอมรับ และ เป็นกำลังใจให้ครอบครัว

ผมเลยมองว่าควรฝึกสภาพจิตอย่างเนืองๆครับ เพราะจะช่วยให้เรายอมรับความจริงอย่างมากเมื่อมันเกิดใกล้ตัวเรามากๆครับ...

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกนี้อย่างมากครับ...

สวัสดีค่ะ  คุณหมอ เต็มศักดิ์

  • คุณหมอค่ะ วันนี้นอกจากได้ความรู้ในบันทึกแล้วสุดยอดของบันทึกที่ดิฉันสะกัดได้ตามนิสัยของครูคือวิธีการเรียนการสอนของคุณหมอค่ะ   มันยอดเยี่ยมจริงๆ คิดว่านักศึกษาแพทย์รุ่นนี้คงจะจำไม่รู้ลืมเลย วิธีการสอนแบบนี้จะสามารถล้วงลึกวิธีการคิดของนักศึกษาและสามารถมองเห็นคุณธรรม จริยธรรมที่แฝงเร้นที่มิดเม้นอยู่ออกมาได้อย่างที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย...
  • ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน
  • พบกันในงาน GOTOKNOW FORUM  ครั้งที่ 2 ค่ะ

เป็นการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์มากๆ ครับ

น่าเอาเป็นแบบอย่างครับ

ได้ทำการใคร่ครวญ (Reflection) และ พลังปัญญาระดับกลุ่มเลยครับ

นักศึกษาโชคดีมากครับ

อยากให้การเรียนการสอนแบบนี้มีในทุกสาขาวิชาเลยครับ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สำหรับ อาหารปัญญา นะครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านและรู้สึกเลยค่ะว่าน่าจะเป็นชั้นเรียนที่ไม่น่าเบื่อหรือน่ากลัว เหมือนหัวข้อการเรียน

ขอแอบจิ๊กเทคนิคน่าสนใจ เช่นการจัดที่นั่งอย่างผ่อนคลายไปใช้บ้างนะคะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะ..อาจารย์หมอเต็มศักดิ์

เข้ามาดูแล้ว แอบถ่ายติดกลุ่มของหนูด้วย (กลุ่มที่อยากให้เพื่อนตายก่อนนั่นแหละค่ะ)

เดี๋ยวจะบอกเด็กๆ นศพ.ให้เข้ามาดูค่ะ

ดีใจนะคะที่วันนั้นได้มีโอกาสฟังอาจารย์บรรยายหัวข้อ palliative care

ถึงแม้ที่บ้านหนูจะไม่มีผู้ป่วยต้องดูแล

แต่ก็ทำให้หนูทราบวิธีการพูด การดูแล การให้กำลังใจผู้ป่วย ซึ่งเป็นใครก็ได้

หนูยังแอบเล่าเรื่องที่อาจารย์สอนให้เพื่อนหนูฟังเลยค่ะ...ด้วยเหตุผลที่เพื่อนถามว่า palliative care เนี๊ยะ ...เค้าทำอะไรกันหรอ???

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสหน้าอาจารย์จะมาให้ความรู้ดีๆ กับ นศพ.มวล. อีกนะคะ

สิริรักษ์

สวัสดีค่ะอาจารย์เต็มศักดิ์

ได้อ่านแล้วประทับใจจัง

และดีใจมากที่ได้เรียนกับอาจารย์นะค่ะ

และที่หนูชอบมากคือวิดีโอของคุณสุภาภรณ์อ่ะคะ

ทำให้มีกำลังใจสู้และเรียนต่อไป

เพระเทียบกับคนที่เค้าป่วย เค้ายังสู้ขนาดนั้น แล้วเราที่สุขภาพดีก้อควรสู้ไม่ถอยเหมือนกัน

และหวังว่าจะได้รับความรู้ดีดีจากอาจารย์อีกนะคะ

ขอบคุนค่ะคุณครู ^^

สวัสดีค่ะอาจารย์เต็มศักดิ์

หนูขอขอบคุณอาจารย์มากที่เสียสละเวลามาเพื่อให้ความรู้และเล่าประสบการณ์ดีๆ

หนูมีความรู้สึกว่า คนเราพร้อมที่จะตายได้เสมอ มันขึ้นกับเวรกรรมหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้

อนาคต หรือแสงตะวันของวันพรุ่งนี้ จะยังคงมีให้เห็นรึปล่าว

มันเหมือนเป็นเรื่องเศร้า แต่ถ้าเราทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก็คงไม่มีอะไรต้องเสียดาย ใช่มั้ยคะ

และจากการเรียนในรายวิชานี้ ได้ประโยชน์อย่างมากที่จะนำไปใช้ในการเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ เต็มศักดิ์

หนูเข้ามาดูว่าจมีประโยคของหนูบ้างรึเปล่า(ที่บอกว่าอยากให้เพื่อนตายก่อน)

ขอบคุณอาจารย์มากสำหรับการมาสอนครั้งนี้

ทำให้หนูได้เห็นมุมมองที่แตกต่างที่สามารถสร้างชีวิวตที่ดีได้

สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น

และเห็ฯถึงน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

และหวังว่าอาจารย์คงจะมีโอกาสที่จะมาสอนพวกหนูอีกสักครั้งนะค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

P

  • ผมก็ยังไม่อยากตาย และยังกลัวตายนะครับ
  • ก็คนนะครับ
  • ผมชอบนักศึกษากลุ่มนี้ กล้าพูดกล้าแสดงออกดี แล้วก็มีความสนใจเรื่องราวกว้างกว่าในตำรา

P

  • เอาสถานการณ์ไม่สงบ เป็นโอกาสได้ติดตามความรู้สึกของตนเอง และพัฒนานะครับ

P

  • เราไม่รู้จริงๆครับว่า เมื่อถึงวันของเรา เราจะพร้อมแค่ไหน
  • หลวงพี่ไพศาลสอนว่า มันเหลือนสอบไล่ครั้งสุดท้าย ที่ไม่มีโอกาสสอบซ่อม
  • ก็ต้องเก็บสะสมคะแนนเตรียมความพร้อมไปเรื่อยๆนะครับ
  • ขอบคุณนะครับ สำหรับประสบการณ์ที่ทำให้ได้ฉุกคิด

P

  • ผมก็ไม่รู้ว่านักศึกษาจะจำอะไรได้บ้างหรือเปล่า เมื่อผ่านไป ๑ ปี ๒ ปี หรือจบเป็นหมอแล้ว แต่ผมมั่นใจอยู๋อย่างว่า น่าจะจำได้มากกว่าฟังผมบรรยายทั้ง ๓ ชม. แน่
  • เดี๋ญวนี้เราพยายามเน้นการเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่ คือ adult learning ที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของนักศึกษาแต่ละคนมากขึ้นครับ
  • ด้วยวิธีนี้ ผมในฐานะอาจารย์ก็ได้เรียนไปพร้อมๆกันด้วย
  • แต่เราต้องออกแบบประสบการณ์การเรียนการสอน ซึ่งผมว่า นั่นละครับ หน้าที่สำคัญของอาจารย์
  • บางคนชอบค่อนขอดว่า สอนแบบนี้ง่ายไม่ต้องเตรียมมาก ผมต้องค้านหัวชนฝา ผมว่า ไอ้บรรยายซ้ำๆ นั่นแหละ ไม่ต้องเตรียมมาก พูดไปเรื่อย

P

  • ใน G2K มีผู้รู้ทางการศึกษาหลายท่าน
  • นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมเขียนบันทึกนี้ เพราะอยากได้รับคำวิพากย์เพื่อปรับปรุงการจัดประสบการณ์ของนักศึกษาให้ดีขึ้นครับ
  • ช่วยหน่อยนะครับ อาจารย์

P

  • ผมเชื่อว่า สำหรับนักศึกษาที่ใผ่รู้และเป็นผู้ใหญ่พอ บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ทำให้คนเราสามารถเปิดหูเปิดตารับฟังได้ดีกว่า ดีกว่าการสอนที่มีอาจารย์จะคอยจ้อง..กินหัว.. นักศึกษาอยู่นะครับ
  • แต่ถ้าเป็นนักศึกษาที่ค่อนข้างเฉื่อย ผมอาจต้องแปลงกายเป็น จอมมารกินหัว เหมือนกัน

30 สิริรักษ์

  • ถ้าชอบ อยากแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกแล้วเปิดบันทึกเพื่อแลกเปลี่ยนเลยนะครับ ผมก็ได้เรียนจากใน G2K นี้มากเลยครับ
  • พรุ่งนี้อยากจะรบกวนฝากบอกถึงนักศึกษาให้เข้ามาอ่านเฉลยข้อสอบและร่วมแลกเปลี่ยนกันในบันทึกถัดไปของผมด้วยนะครับ

30 นศพ.กรัยพร

  • ผมก็ดีใจ ที่ได้ไปสอนน้องๆนะครับ
  • ต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นนักศึกษากลุ่มที่เยี่ยมมาก เป็นความหวังของชาตินะครับ
  • ตอนผมดูแลพี่สุภาภรณ์ ผมกลับรู้สึกว่า คุณภาพชีวิตผมแย่กว่าพี่เขา ที่กำลังใกล้ตายด้วยซ้ำไป
  • ถ้ามีเวลาว่าง อยากให้ช่วยพิมพ์เรื่องที่น้องเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟังวันนั้นใส่ในบันทึกนี้ด้วยนะครับ คงมีคนอีกหลายคนจะได้เรียนจากน้องครับ

30นศพ.ธนิฏฐา

  • เห็นด้วยครับว่า ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
  • ถ้ามีเวลาว่าง อยากให้ช่วยพิมพ์เรื่องที่น้องเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟังวันนั้นใส่ในบันทึก นี้ด้วยนะครับ คงมีคนอีกหลายคนจะได้เรียนจากน้องครับ
  • แล้วพรุ่งนี้อย่าลืมแวะมาอ่านเฉลยข้อสอบนะครับ

สวัสดีค่ะอาจรย์

ชอบที่อาจารย์นำกระบวนการสอนที่นศ.มีส่วนร่วม

การนำสุนทรียสนทนามาใช้คงจะทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนและไม่รู้สึกเบื่อ

(เคยนำมาใช้ในกิจกรรมของผู้ป่วยก็ได้ผลดีค่ะ)

30นศพ.นิลุบล

  • ต้องขอบคุณน้องมากที่กล้าเล่าความรู้สึกจริงๆออกมา ผมชอบนะครับ
  • ผมอยากไปสอนอยู่แล้วครับ ถ้าอ.มยุรี เชิญอีกผมไปแน่
  • ถ้ามีเวลาว่าง อยากให้ช่วยพิมพ์เรื่องที่น้องเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟังวันนั้นใส่ในบันทึก นี้ด้วยนะครับ คงมีคนอีกหลายคนจะได้เรียนจากน้องครับ
  • แล้วพรุ่งนี้อย่าลืมแวะมาอ่านเฉลยข้อสอบนะครับ

P

  • ขอบคุณครับ ผมก็อยากเอามาใช้กับคนไข้เหมือนกัน น่าสนใจนะครับ
  • แต่ผมมองว่า สุนทรียสนทนา มีข้อจำกัด ที่ต้องใช้เวลา และต้องอาศัยสมาชิกในกลุ่มมากๆ น้องกลุ่มนี้เขามีประสบการณ์มาแล้ว เลยง่าย แต่ถ้าคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือพวกประสบการณ์สูงส่งจนไม่ฟังใคร ก็จะไม่สำเร็จครับ

แอบมาดู lesson learned อีกรอบค่ะอาจารย์ ... เดี๋ยวนี้ครู อาจารย์ต้องเป็น facilitator > teacher ค่ะ ... จากปสก. แขวนชุดนิสิตไม่นาน อิ อิ การเรียนแบบนี้น่าค้นหา และจำได้แม่นกว่าค่ะ

เคยมีปสก. ช่วงที่ทำกิจกรรมกลุ่มระดมความเห็น ควรต้องส่งฟลิปชาร์ทหรือผลงานไปหน้าห้องก่อน เพราะถ้าไม่ถึงคิวกลุ่มเอง ก็มัวแต่จะแก้ ปรับ เตรียมนำเสนอ จนไม่ได้ตั้งใจฟังเพื่อน ขอบคุณค่ะ

... ปล. อ้ะ เจอกลุ่มคห. เด็ดที่โอนมรดกมรณาให้เพื่อนไปก่อนแล้ว ๕ ๕ ยังมาแสดงตัวเนาะ อิ อิ ;)

ควรต้องส่งฟลิปชาร์ทหรือผลงานไปหน้าห้องก่อน เพราะถ้าไม่ถึงคิวกลุ่มเอง ก็มัวแต่จะแก้ ปรับ เตรียมนำเสนอ จนไม่ได้ตั้งใจฟังเพื่อน

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ หรือไม่ก็ขอนำเสนอกลุ่มแรกซธเลย จะได้พ้นๆ แล้วตั้งใจฟังเพื่อนต่อ

น้องตัวจริงเสียงจริงเข้ามาเองเลยครับ คนนี้แหละ

สวัสดีค่ะ อ่านแล้วรู้สึกว่าประเทศไทยมีความหวังขึู้้นมาทีเดียวค่ะ พอดีทำงานในรพ. รู้สึกว่าแพทย์ที่จบมารุ่นใหม่ๆสนใจผู้ป่วยลดลง สนใจเพียงเงิน มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรอกค่ะ ผู้ป่วยทั่วๆไปก็ไม่สนใจ เกี่ยงกันตรวจ มาทำงานสาย บ่ายหายหัวหมด ผู้ป่วยทำได้เพียงรอ ว่าเมื่อไหร่จะมีแพทย์มาเหลียวแล เจอแบบนี้ทุกรุ่นๆก็รู้สึกว่า ความเอื้ออาทรในเพื่อนมนุษย์มันหายไปไหนเสียหมดหนอ ทำไมแพทย์จึงเพิกเฉยต่อความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์ได้ขนาดนี้หนอ แต่พอได้เข้ามาอ่าน สิ่งที่อาจารย์เขียน รู้สึกว่า ต่อไปนี้ผู้ป่วยคนไทย จะมีความหวัง มีคุณหมอที่เอื้ออาทร ห่วงใย เห็นในคุณค่าของชีวิตคน มาช่วยดูแล ยิ่งได้มาเห็นน้องแพทย์ที่น่ารัก ตั้งใจขนาดนี้ ก็ถือว่าเป็นบุญของผู้ป่วยค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะคะ

P

  • ได้ยินบ่อยครับว่า หมอรุ่นใหม่พฤติกรรมแย่
  • ผมยังเชื่อว่า นั่นเป็นหมอกลุ่มน้อยครับ
  • เพียงแต่ว่า มันกระทบใจคนแรงกว่า เวลาที่หมอรุ่นใหม่ทำดีๆ ก็เฉยๆกัน และไม่ค่อยเป็นข่าวครับ
  • ถ้าหมอรุ่นใหม่แย่ ก็ต้องโทษอาจารย์อย่างพวกผมนี่แหละ  เราก็พยายามกันเต็มที่นะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูดีใจมากเลยที่ได้เรียนกับอาจารย์

มันทำให้ได้รู้อีกในหลายแง่มุมเกี่ยวกับความตาย

ทำให้หนูมีกำลังใจที่จะตั้งใจเรียนต่อไป VDO ที่อาจารย์ได้ให้ดูนั้น

มันทำให้หนูรู้ว่าหนูยังมีชีวิตที่ดีกว่าอีกหลายๆคน

เพราะฉะนั้นหนูควรใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับโอกาสที่หนูได้มีร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์ \

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

^________________^

30Suparat

  • ดีใจครับ
  • เอ้า.. อ่านเฉลยข้อสอบด้วยนะครับ ไม่รู้จะยังดีใจอยู่อีกหรือเปล่า

สวัสดีค่ะอาจารย์

วันนั้นหนูก้อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความตายไปว่า

ถึงแม้จะรู้ว่าความตาย เป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน มันเป็นธรรมชาติ

แต่ก้อยังเก็บอารมณ์ ความรู้สึกกลัวไม่ได้ กลัวมากๆ

คิดว่า คงเป็นเรือ่งที่น่ากลัวมาก ตายไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหน จะเจอผีมั้ย(เป็นคนกลัวผีมาก)

อารมณ์ก่อนตายคงกลัวมาก และอีกอย่าง

ไม่อยากให้คนที่เรารักต้องจากเราไปกอ่น คงทำใจไม่ได้

แต่พอได้ดูวิดีโอของคุณสุภาภรณ์ ทำให้ได้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตก่อนความตายมากมาย

ได้มุมมองของคนที่เข้าใกล้ความตาย แบบเค้ารู้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดกับเค้าในไม่ช้า

แต่เรือ่งนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเค้าแย่ลงเลย นับถือจริงๆค่ะ

และหนูก้อทิ้งท้ายไว้อีกนิดว่า

ถ้าจะตายจิงๆๆ ก่อนตายก้อขอไปเที่ยวก่อนนะคะ

ชอบเที่ยวมากมาย

ขอบคุนค่ะคุณครู ^^

นศพ.วิชชุตา แทนสุวรรณ

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ

วันนั้นหนูก็เล่าให้เพื่อนๆฟังว่า

ถ้าหนูต้องตายตอนนี้ หนูคงเสียใจมาก

เพราะยังไม่ได้ทำอะไรหลายๆอย่างที่อยากทำ

เช่น เรียนจบเป็นหมอ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่งงานมีครอบครัว ไปเที่ยวกับครอบครัว

หนูเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่กลัว และฉุกคิดถึงคนที่เขารักเรา เช่นแม่ พี่สาว คุณครูที่รักเรา เขาคงเสียใจมากกับการกระทำของเรา

หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีความคิดนั้นอยู่ในหัวเลย

แต่ว่า ถ้า ต้องตายตอนแก่ๆ หนูก็คงทำใจได้ เพราะมันก็ถึงเวลา และหนูก็คงรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการใช้ชีวิตแล้ว

ทุกคนเกิดมาก็ต้องมาถึงวันนั้นเข้าสักวัน

หนูคงสงบและ ทำใจได้

30นศพ.กรัยพร

  • ขอบคุณครับ ที่ร่วมแสดงความเห็น
  • ผมเองก็ยังกลัวตาย ขนาดอายุปูนนี้แล้ว
  • ความกลัว เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ โดยเฉพาะกับสิ่งที่เราไม่รู้ ความตาย คือความลับที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ความกลัวก็เป็นกลไกป้องกันตัวสำคัญของมนุษย์ เราจึงขวนขวายหาทางระงับ รู้จักกับมันมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น
  • ความอยาก ก็เป็นเรื่องของมนุษย์อีกนะครับ น้องอยากเที่ยว ผมอยากนอน แตพอเวลาเปลี่ยน น้องอาจจะอยากนอน ผมอาจจะอยากเที่ยว แล้วใครจะไปรู้ละครับ ว่าใครอยากอะไร ถ้าไม่ถามเขา

30นศพ.วิชชุตา แทนสุวรรณ

  • ขอบคุณครับ ที่ร่วมแสดงความเห็น
  • แก่ของน้อง นี่มันอายุเท่าไรนะครับ
  • ความคิดฆ่าตัวตาย สำคัญนะครับ ถึงเราจะเลิกคิดไปแล้ว ก็น่าจะทบทวนดูว่า เราคิดได้อย่างไร สถานการณ์มันเป็นอย่างไร เราจะได้ไม่เดินตามร่องเดิมนั้นอีกในอนาคต และมีสติพอจะรู้ทันมัน

สวัสดีค่ะอาจารย์

เมื่อวานพอได้อ่านเฉลยของอาจารย์ทำให้หนูนึกถึงที่อาจารย์สอนและนึกไปถึงเหตุการณ์ที่เคยเจอ

เช่น คุณยายตอนท่านเสียตาไม่ปิด ก้อได้คำตอบว่าทำไม

คุณตาตอนท่านเสียก้อได้เห็นตอนท่านอยู่ในระยะ sphincter relax ซึ่งตอนนั้นก้อตกใจ แต่ตอนนี้ก้อรู้ว่าทำไม

ส่วนคุณทวด ก่อนเสียท่านก้อขอให้บรรดาลูกหลานเหลน ได้สวดมนต์ให้ฟัง เพราะบอกว่าอยากฟังคำพระ

ซึ่งพวกเราก้อร่วมกันสวดให้ท่านฟัง อย่างเต็มใจและทำใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ตอนนั้น ไม่มีสายใดๆอยู่ในตัวท่าน เพราะท่านขอไว้

หนูจึงคิดว่า ตอนนั้นพวกเราคงได้ใช้การ Palliative care อย่างไม่รู้ตัวรึป่าวค่ะ

ส่วนที่อาจารย์ตอบเรือ่งความอยากมา

สงสัยพอได้ทำงาน หนูคงเปลี่ยนความอยากเป็นความอยากนอน พักผ่อน เหมือนอาจารย์ว่าจิงๆ ^^

ขอบคุนค่ะคุณครู ^^

P

  • ดีมากครับ ที่น้องสามารถโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในชั่วโมงกับประสบการณ์เดิม อันนี้ละครับ เป็นกระบวนการสำคัญ ที่ทำให้เราจำอะไรบางอย่างได้ไม่ลืม มันจะผุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อชาติต้องการ

สวัสดีค่า...อาจารย์

วันนั้นหนูไม่คิดว่าหนูจะได้พูดออกไมค์ให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกัน...รู้สึกตื่นเต้นมาก หนูได้เล่าให้เพื่อน ๆ ฟังว่า....

สำหรับตัวหนูเอง ถ้าจะถามถึงความตายนั้น..ความตายมันมีหลายแบบค่ะ ถ้าตายด้วยอุบัติเหตุหรือตายด้วยโรค หนูคงกลัวกับความตายนั้น แต่ถ้าตายแบบสงบโดยที่ก่อนจะตายนั้นเราได้ทำอะไรที่เราคิดว่าดี มีความสุข อยากทำ ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทำตามความฝันของเราแล้ว หรือทำทุกอย่างให้คนที่เรารักและคนที่รักเราเขามีความสุข ให้เขาไม่ต้องห่วงว่าเราจะเป็นยังไงต่อไป หนูก็ไม่กลัวกับการตายแบบนี้เลย...ถึงตายก็ยอม

และหนูก็มีกลอนเกี่ยวกับความตายให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกัน.....(สงสัยเพื่อน ๆ คงชอบเลยให้หนูพูดออกไมค์ค่ะ^^)

"เรื่องความตายอยูู่ที่ไหนหนีไม่พ้น

ต่ออยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสุโข

หรืออยู่กลางใต้สุดสมุทรโธ

ยังถูกโซ่ความหายลากกายมา

อยู่หุบเขาพงไพรยังไม่วาย

เจ้าความตายยังตามมาถามหา

รู้อย่างนี้ยังไม่คิดอนิจจา

เอาเวลาสร้างกรรมกันทำไม"

หลังจากที่หนูพูดจบ อาจารย์ก็ชมด้วยว่า"ดีมาก...ทั้งหมดก็คือที่อาจารย์จะสรุปให้ฟังในวันนี้"หนูถึงกับอึ้งไปเลย แต่ก็ภูมิใจตัวเองค่ะที่พูดแล้วมีคนชมด้วย อิอิ!! ขอบคุณอาจารย์มาก ๆ นะค่ะที่ทำให้หนูได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่าง

แต่หนูเคยคิดเหมือนกันนะค่ะว่า "หนูอยากลองตายดูสักครั้งว่ามันเป็นยังไง"อยากลองดูว่าเราจะได้ไปอยู่ที่ไหนกัน อยากรู้ว่าถ้าหนูสามารถเดินทะลุกำแพง สามารถหายตัวไปที่ไหนก็ได้ที่อยากไป(เหมือนในหนัง) อยากทำอะไรตามใจชอบแล้วได้ทำแล้วมันจะเป็นยังไง มันน่าสนุกนะค่ะ แล้วถ้าตื่นขึ้นมาแล้วชีวิตหนูจะเปลี่ยนไปมั๊ย?อยากลองดูสักครั้ง...อาจารย์คิดว่ามันตลกมั๊ยค่ะ?อิอิ^^

30จุฑามาศ

  • ถ้าน้องรู้สึกดีที่ได้อ่านออกไมค์ ก็ทำให้ผมสบายใจขึ้น ผมกลัวอยู่ลึกๆว่า การให้น้องและคนที่เตรียมตัวมาก่อนได้นำเสนอต่อกลุ่มใหญ่ อาจถูกมองเป็นการทำโทษ เพราะความกลัวการนำเสนอต่อคนหมู่มาก แต่ผมคิดว่าน้องที่นำเสนอในกลุ่มใหญ่ทำได้ดีทุกคนครับ
  • สำหรับคนที่เตรียมตัวมาดีตามแผนการสอนของผม ผมอยากให้กำลังใจและแสดงนักศึกษาคนอื่นเห็น นอกจากจะให้คะแนนจิตพิสัยเพิ่มอย่างเคยๆ ครั้งนี้ผมอยากให้กำลังใจผ่านการแสดงออกในกลุ่มครับ ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ขอบคุณครับน้อง เพราะผมอยากสื่อถึง อยู่ดีจึงตายดี ตามเนื้อหาที่กำหนดไว้ในแผนการสอนที่แจกครับ
  • พออ่านมาถึงย่อหน้าสุดท้าย ต้องบอกว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อน น้องถูกผม..กินหัว ไปแล้ว เอาเป็นว่า น้องลองอ่านการพัฒนาเรื่องมุมมองต่อความตายของเด็กที่ผมแนบมาแล้วกัน โดยเฉพาะตรงแถวๆ early childhood นะครับ อ่านแล้วก็อย่าคิดอะไรมาก ถือว่าอาจารย์หยอกเล่น..
  • จาก Oxford Textbook of Palliative Medicine 2004

ขอบคุณค่ะ...อาจารย์

อยากให้อาจารย์ช่วยแปลให้หน่อยได้มั๊ยค่ะ?หนูแปลแล้วมัน งงๆ ค่ะ...แล้วที่อาจารย์บอกว่าอาจารย์หยอกเล่นนี่หมายความว่าไงค่ะ?หนูมีความคิดเหมือนเด็กรึเปล่าค่ะเนี่ย??

ว้าวววว..ได้มาพบ resource ในการจัดเรียนการสอน Palliative care อย่างดีเลยคะอาจารย์

ตอนจะจัดชั่วโมงให้ปี 4 ก็ปวดหัวคะว่าจะสอนอะไร แต่อาจารย์สอนปี 3 ได้เลย

เปิดดูเกณฑ์แพทยสภา นั้นมี เรื่อง diagnostic of death กับ Ethic in end of life แต่ส่วน Palliative แท้ๆ ยังไม่ชัด

พอมาดูจุดประสงค์ที่อาจารย์สอนก็เกิด idea ขึ้นมากคะ

ปล.ขอบคุณมากคะสำหรับบทความของอาจารย์

30จุฑามาศ

  • เอาสั้นๆตรงจุดสำคัญนะครับ
  • มุมมองต่อความตายในเด็กฝรั่งช่วงอายุ ๒ ถึง ๗ ขวบ จะคิดว่าตายแล้วฟื้นได้ เหมือนการจากไป ถูกกักตัวหรือหลับไปชั่วคราว

P

  • เป็นครั้งแรกที่ผมสอนหัวข้อนี้ ท่านคณบดี..อ.มยุรี เอาวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ผมดู ผมก็ตีโจทย์ตามนั้นครับ
  • สอนเป็นยังไงบ้างก็เขียนเล่ามาแลกเปลี่ยนนะครับ
  • ผมทดลองเฉลยข้อสอบผ่านบันทึกด้วย ได้ดูผลลัพธ์อีกทางหนึ่ง ได้เรียนรู้ไปในตัวครับ

ขอบคุณค่ะ...อาจารย์

แสดงว่าหนูเป็นเด็กอายุ 2-7 ขวบใช่มั๊ยค่ะเนี่ย?

อาจารย์รู้มั๊ยค่ะว่าทุกวันหนูคิดแต่ว่า....ทำไมหนูถึงไม่ถามความรู้สึกคุณยาย มันฝังหัวหนูไปแล้วนะค่ะเนี่ย!!อิอิ

30จุฑามาศ

  • ต้องใช้ทักษะ การแปลผล เอาเองครับ
  • จำไว้ดูแลคนไข้ต่อนะครับ

ทราบว่ามีหลักสูครการเตรียมตัวตาย ไม่แน่ใจของพระไพศาลหรือของแพทย์แผนปัจจุบันคะ

สนใจเพราะไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาก่อนค่ะ

เข้ามาอ่าน ได้ความเข้าใจชีวิตดีขึ้นค่ะ

การดูร่างกายเป็นธาตุ 4 ดูไม่ค่อยเห็นค่ะนอกจากคิดๆเอา

P

  • workshop เผชิญความตายอย่างสงบของหลวงพี่ มีทั้งส่วนศาสนา การแพทย์และพยาบาลครับพี่
  • ความเห็นเรื่อง ธาตุทั้งสี่ กับ การเปลี่ยนแปลงร่างกายทางการแพทย์ ที่ผมให้ความเห็นไป ก็เกิดจากการที่ได้ไปช่วยหลวงพี่ทำ workshop ข้างบนนั่นแหละครับ ตอนหลวงพี่อธิบายเรื่องธาตุ ผมก็อธิบายเรื่องทางการแพทย์ แล้วมันก็สอดคล้องกันได้อย่างดีครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท