การเป็นผู้ให้และผู้รับที่สง่างาม รับผิดชอบ สืบทอดความเป็นมนุษย์


การเป็นผู้ให้และผู้รับที่สง่างาม รับผิดชอบ สืบทอดความเป็นมนุษย์

ครั้งหนึ่งเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับลูกๆของพวกเราที่โรงเรียน วันนั้ันลูกกลับมาบ้าน ก็เอายางลบใหม่มาอวด พ่อก็ถามลูกว่า "นั่นยางลบใหม่นี่ ไปเอามาจากไหนล่ะลูก?"

"เพื่อนให้มาค่ะ" ลูกตอบ

"อยู่ดีๆทำไมเพื่อนถึงให้มาล่ะ? ไม่ได้ไปขอเขาใช่ไหม" พ่อสงสัย และคิดว่าเด็กอนุบาลมักจะมีเรื่องแบบนี้ คือขอของ แลกของ ให้ของกันเอง

"เปล่่าค่ะ หนูไปสอนการบ้านเพื่อน แล้วเขาให้มาค่ะ"

"เหรอ แหมที่จริง แค่สอนการบ้าน ไม่ต้องไปเอาของเขามาก็ได้นิ" พ่อสอน ไม่อยากให้ลูกทำดีอย่างมีเงื่อนไข

"ที่จริงก็จะไม่เอาค่ะ แต่คุณแม่ของเพื่อนยืนยันว่าต้องให้ บอกว่าจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณกันต่อไป!!!"

 


 

ฟังแล้วอึ้ง....

ตกลงการทำอะไรตอบแทนนี่ คือการ "ล้างบุญคุณ ล้างหนี้" หรอกหรือนี่? ผมคิดว่าหลักการนี้ค่อนข้างจะไม่เหมือนสิ่งที่เคยคิดเกี่ยวกับกตัญญู เกี่ยวกับกตเวที ที่ตนเองเคยเข้าใจมาก่อน จริงๆแล้วกลับหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียว เรียกว่าวูบแรกเกือบจะหลุดการ "ห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน" ไปแล้ว แต่พอเราชะลอ หยุดคิด ก็รำพึงในใจ "นี่อาจจะเป็นร่องรอยของพยาธิกำเนิดของสิ่งที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบันนี้ก็ได้"

ประจวบเหมาะกับเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไปคุยสาระวิชาการเรื่องจริยธรรมที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ มีการพูดถึง conflict of interest ที่นับวันจะคืบคลานเข้ามาในวงการวิชาชีพ เลยเข้ามาในมโนสำนึก (conscience) และพฤติกรรมของเราเข้าไปทุกทีๆ ก็มีคำถามประเภท "เราผ่าตัดคนไข้แล้ว ภายหลังคนไข้ใส่ซองมาให้โดยที่เราไม่ได้เรียกร้อง จะรับหรือไม่รับ?" ก็มีการวิเคราะห์ อภิปราย ถกเถียงกันพอสมควร

  • ไม่รับ เพราะเราทำตามหน้าที่
  • ไม่รับ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเราทำเพื่อเงิน
  • ไม่รับ เพราะคนไข้เป็นอาจารย์เรา รับไม่ได้แน่นอน
  • ไม่รับ เพราะจะเกิดครหาว่าเราไม่ได้ทำเพราะหน้าที่ 
  • ไม่รับ บอกคนไข้ว่าอยากจะให้จริง ก็ให้ไปบริจาคให้การกุศลแทน
  • ไม่รับ บอกว่าตนเองไม่ได้เป็นเพียงผู้เดียวที่ทำ มีคนอีกมากมายช่วยด้วย
  • ไม่รับ บอกว่าจะเป็นการทำให้ตนเองเสียจริยธรรม เสียจรรยาบรรณ
  • รับ เพราะคนไข้ยืนกราน
  • รับ เพราะคนไข้บอกว่าขอให้ในฐานะเป็นลูกศิษย์ เป็นลูกหลานก็แล้วกัน
  • รับ เพราะคนไข้บอกว่าถ้าไม่รับจะโกรธมาก
  • รับ เพราะเห็นว่าคนไข้อยากจะตอบแทน และนี่เป็นวิธีของเขาที่จะตอบแทน
  • รับ แต่ตอนแรกปฏิเสธไม่เอา แต่ถ้าคนไข้ยืนกรานก็รับ
  • รับ แล้วนำเงินไปบริจาคการกุศล
  • รับ แล้วนำเงินไปเลี้ยงทีมงานทุกคนที่ช่วยดูแลคนไข้
  • ฯลฯ

ถ้าจะเขียนเป็นวิชาการ ก็เอา "นิยาม" ก่อนว่า conflict of interest คืออะไร เรื่องนี้ conflict of interest (ภาษาไทยว่า "ผลประโยชน์ขัดแย้ง") เกิดขึ้นเมื่อไรก็ตามที่ผลประโยชน์หลัก (ต่อส่วนรวม ต่อผู้อื่น ต่อหน้าที่ ต่อคุณธรรม) ถูกเบียดบัง หรือโดนอิทธิพลจากผลประโยชน์รอง (ต่อส่วนตัว ต่ออะไรที่เป็น secondary ต่อผลประโยชน์หลัก) ซึ่งอาจจะเห็นชัดๆ เช่นการหาเงินให้ตนเอง จนกระทั่งมีการกระทำที่ขัดแย้ง มีผลเสียต่อผู้อื่น หรืออาจจะไม่ชัดมาก ตัวอย่างในกรณีหลักก็เช่น นักวิจัย ซึ่งผลประโยชน์หลักคือ "ความรู้" แต่บางทีพอหมอเป็นนักวิจัย ก็อาจจะจะเกิด conflict ได้ เพราะผลประโยชน์หลักของงานหมอคือ "คนไข้" ดังนั้นหมอนักวิจัยต้องระวังให้ดี ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้น เน้น "ความรู้" หรือเน้น "well-being" ของคนไข้กันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้า "ความรู้" ที่ได้มา เราอยากทำเพราะเราเองก็จะได้มีชื่อเสียง มี publications มี sponsor อันนี้ยิ่งทำให้ผลประโยชน์ความรู้ ลดขั้นมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวลงไปเลย

ถ้าพิจารณากรณีข้างต้น สำหรับตัวหมอเองก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะการรักษาพยาบาลนั้น "สิ้นสุด" ไปแล้ว ไม่ได้มีผลอะไรต่อการตัดสิน การวางแผน การรักษาพยาบาล เรียกว่าหมอนั้น "มโนสำนึกกระจ่างใส" หรือ clear conscience แต่สำหรับ conflict of interest นั้น ประเด็นไม่ได้อยู่แค่เพียงเจตนา หรือเราคิดอย่างไร แต่ "การรับรู้โดยสาธารณะ" ก็ควรนำมาคิดคำนึงด้วย พูดง่ายๆก็คือ ถ้าคนทั่วๆไปรู้เข้า เขาจะคิดยังไงต่อตัวเรา หรือที่สำคัญกว่าคือ ต่อองค์กร ต่อสถาบัน ต่อวิชาชีพโดยรวม

มาถึงตอนนี้ผมก็เกิดสงสัยจริงๆ หลังจากที่ไม่ได้เคยคิดใคร่ครวญลงลึกมาก่อนว่า หากมีคนทราบว่าคนไข้รายนึงมอบเงิน เอาเป็นว่าจำนวนมากให้หมอภายหลังการรักษา จะมีการแปลไปในทางไม่ดี คือ คิดว่าหมอเป็นคนเรียก คิดว่า รพ.เป็นคนตั้งราคา หรือไม่ และมากน้อยเพียงไร?

ก็น่าสนใจมาก

และทำไมคนกลุ่มนี้ถึงได้สรุปไปในแง่ลบ หรือแง่นี้ได้?

ประเด็นที่คิดต่อไปก็คือ ถ้าหากหมอปฏิเสธไป แล้วพอวันปีใหม่ หรือทุกๆเทศกาล คนไข้มาเยี่ยมที่ OPD ที่ Ward นำเอาของฝากมาให้ตามเทศกาลเพราะเขารู้สึกว่ายังไม่ได้ให้ตอบแทนอย่างที่ตั้งใจ เราจะยืนยันไม่รับไหม? หรือถ้าจะยกตัวอย่างให้ extreme เช่น วันงานแต่งงานลูกสาวเรา ปรากฏว่าเขาสอด cheque เงินสดจำนวนมาก มาให้เป็นของขวัญ พอเราพบ เราจะยืนยันว่าไม่เอา และคืนเงินของขวัญให้เขาไปหรือไม่

 


 

ผมใคร่ครวญดู แล้วก็พบว่า การเป็นผู้รับที่สง่างาม ก็สำคัญไม่แพ้การเป็นผู้ให้ที่เมตตา

และทำให้กระบวนการ ให้/รับ สมบูรณ์ครบวงจรแห่งความสำคัญและนัยของพฤติกรรมนี้ด้วย

ลองพิจารณาดู "สมมติ" คนไข้ซึ่งได้รับการดูแลจากเรา (โดยหน้าที่ของเรานี่แหละ) เกิดอยากจะตอบแทน นั่นคือ "ความดี" ของเขาที่เขาถูกอบรมสั่งสอนมา ปรากฏว่า หมอไปบอกว่าถ้ารับของๆเขา จะทำให้หมอเป็นคนเลว เขาจะรู้สึกอย่างไร? และเราก็จะยืนยันรักษา integrity ว่าเราจะไม่รับแน่นอน 100% ไม่ว่าคนที่อยากจะตอบแทนรู้สึกอย่่างไรนั้น ตกลง เรา care หรือ ไม่care well-being ของคนไข้ เรากำลังทำเพื่อ "ตนเอง" หรือ "เพื่อคนอื่น"? กันแน่ ในกรณีนี้?

.ในตัวอย่างข้างต้น เชื่อว่าหมอหลายๆท่านก็จะเคยมีประสบการณ์คล้ายๆกัน และการตอบสนองก็คงจะมีมากมายนอกเหนือไปจากที่ยกตัวอย่างมา แต่สิ่งสำคัญก็คือ "เรายังคง integrity หรือยึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อ เราศรัทธา สอดคล้องกับพฤติกรรมของเราหรือไม่?" จากการสะท้อนหลายมุมใน workshop วันนั้น ก็มีทั้งคนรับและไม่รับ มีทั้งคนไข้ที่ทรงบารมีและความมั่นใจดันจนหมอต้องรับ มีทั้งคนไข้ที่ถูกหมอ "สั่งสอน" ว่าสิ่งที่เขาเสนอเป็นเรื่องไม่ดี และถอยกลับไปอย่างเสียใจ เพราะตั้งใจจะกตัญญูแต่กลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามไปได้อย่างไรไม่ทราบ

การให้และการรับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะที่เรารับก็อาจจะกำลัง "ให้" อยู่ก็ได้ เคยมีแม่บางคน เมื่อเจ็บป่วย ไม่อยากรบกวนหรือเป็นภาระ มีอะไรก็ไม่ยอมปรึกษาลูก ไม่ยอมขอความช่วยเหลือ ด้วยศรัทธาและความเชื่อในการเป็นตัวของตัวเอง แต่ทำอย่างนั้น อาจจะเป็นการปฏิเสธโอกาสของคนรอบข้าง ที่พึงเข้ามาช่วยเหลือ ปรนนิบัติตามหน้าที่ของลูก ของสามี ภรรยา ของญาติและเพื่อนบ้านที่ดีไปก็ได้ การยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเป็นภาระอย่างเดียวเสมอไป แต่เป็นการ "สานความดี" ของสังคมให้สืบเนื่องต่อไป เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม ที่สามารถ "หยิบยืม" พลังจากคนรอบๆข้างมาเสริมพลังชีวิตตนเองตลอดเวลา ปฏิเสธความสัมพันธ์เยี่ยงนี้ก็เท่ากับเราริดรอนลดศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเราเอง

เราเคยรณรงค์ "การให้" มาเยอะ ตอนนี้เพื่อจะดูแลผู้ที่ "ติดดี" ในการให้ แต่ยังเคอะเขินที่จะเป็นผู้รับ เราอาจจะต้องรณรงค์ "การรับ"​ ที่ดีไปด้วย เหมือนกับการเป็นผู้นำที่ต้องเป็นผู้รับใช้ที่ดีฉันใด การจะเป็นผู้ให้ที่ดีนั้นจะต้องสามารถและเป็นผู้รับที่สง่างามได้ฉันนั้น

หมายเลขบันทึก: 354622เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2010 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีคะอาจารย์ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้ามา พอเข้ามามีบทความดีๆ เพิื่่มมาเยอะทีเดียว

เป็นอีกหนึ่งบทความที่ทำให้ฉุกคิด " ขณะที่กำลังรับ เป็นการให้"

แม้กับคนใกล้ตัว

..หนูเคยรู้สึกหงุดหงิด เวลาแม่เรียกให้กินข้าวเช้า ( อายุขนาดนี้แล้ว ยังโดนเรียกกินข้าวยังกับเด็กอนุบาล)

รู้สึกว่า เราหาเงินเองได้ ก็ไม่อยากรบกวนพ่อแม่แล้ว

แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า การมองลูกๆ กินข้าวฝีมือของท่านเป็นความสุข

ในตอนที่..อีกไม่กี่เดือน ก็ไม่มีใครทำข้าวให้กินแล้ว...

    ที่น่าสนใจ คือ การรับรู้โดยสาธารณะ  นี่แหละครับ  มีผลมากๆ ต่อการตีความ

        และ  เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมไทย  มักไม่ค่อยตีความไปในทางบวก

                           ประมาณว่า  ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง

                     เขาให้  ถ้าคุณไม่รับเสียอย่าง  เขาก็ให้ไม่ได้

                  ถึงแม้จะให้ จะรับ ด้วยเจตนา ดี   แต่ สังคม เขาตีความอีกอย่างครับ

สังคมที่หมกมุ่นและโง่เขลาเช่นนั้น เป็น good หรือ bad influence ต่อระบบความคิด พฤติกรรม และสิริมงคลต่อตัวเรา น่าจะเป็น koan อันดับต่อไปที่เราจะใช้โยนิโสมนสิการ

พบอีกเหมือนกันว่า เวลาเราพูดว่า "สังคม" นั้น น่าสนใจว่าทำไมเราถึงใช้คำๆนี้ เพราะมี poll มาก่อน? เพราะเราได้ survey มาจำนวนหนึ่ง? และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ในบริบทที่พูดๆกัน "เรา" มักจะไม่ได้อยู่เป็นหนึ่งในคำ "สังคม" ที่ว่านี้ด้วย

และที่น่าสนใจ (อีกนิด) ก็คือสังคม 100% ไหมที่ตีความแบบที่ว่า ถ้ามีสองแบบ เราจะตัดสินสังคม (ส่วนน้อย) นั้นว่าอย่างไร? แปลก? ดี? ไม่ดี?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท