การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับชาวต่างประเทศ


การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับชาวต่างประเทศ

 

 

 

"การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

สำหรับชาวต่างประเทศ"

 

๑. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เสนอขอพระราชทาน

          ๑.๑ สำหรับชาวต่างประเทศที่เป็นข้าราชการ ข้ารัฐการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือลูกจ้างของรัฐบาลไทยเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยโดยเริ่มต้นขอพระราชทานชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) เลื่อนได้ถึงชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก(ป.ช.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้อ ๒๙
ประกอบบัญชีที่ ๒๐ ท้ายระเบียบ ฯ

          ๑.๒ สำหรับชาวต่างประเทศที่มิใช่ข้าราชการ ข้ารัฐการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือลูกจ้างของรัฐบาลไทยเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ โดยเริ่มต้นขอพระราชทานชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.) เลื่อนได้ถึงชั้นตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)      ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์  พ.ศ. ๒๕๓๘ มาตรา ๓๒ ประกอบบัญชีที่ ๒ ท้ายพระราชกฤษฎีกา ฯ

๒. ขั้นตอนการเสนอขอพระราชทาน

          ๒.๑ ให้กระทรวง ทบวง กรม ที่ได้รับประโยชน์หรือเกี่ยวข้องมากที่สุดเป็นผู้พิจารณาเสนอขอพระราชทาน เมื่อชาวต่างประเทศ นั้นได้กระทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งหรือกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน

          ๒.๒ ให้กระทรวง ทบวง กรมที่เสนอขอพระราชทานแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะเสนอขอพระราชทาน

          ๒.๓ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาเห็นสมควรเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใดและชั้นตราใดแล้ว  ให้กระทรวงการต่างประเทศทาบทามรัฐบาลแห่งประเทศที่ชาวต่างประเทศนั้น  ถือสัญชาติว่าจะขัดข้องการขอพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวหรือไม่ แล้วแจ้งให้กระทรวงทบวง กรม ที่เสนอขอพระราชทานทราบ   เว้นแต่ในกรณีที่มีธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่อกันกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่จำเป็นต้องทาบทาม  ขอความเห็นชอบจากรัฐบาลดังกล่าว

           ๒.๔ เมื่อรัฐบาลแห่งประเทศที่ชาวต่างประเทศนั้นถือสัญชาติไม่ขัดข้องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวแล้วให้กระทรวง ทบวง กรมที่เสนอขอพระราชทานแจ้งผลการพิจารณา
ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  เพื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเสนอความเห็นก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา

           ๒.๖ เมื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเสนอชื่อชาวต่างประเทศดังกล่าวไปยังสำนักราชเลขาธิการเพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่อไป

           ๒.๗  เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและประกาศชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาพร้อมทั้งส่งประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เสนอขอพระราชทาน  เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

   

ที่มา  :  สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

  

 

 

หมายเลขบันทึก: 353933เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือเป็นปัจจบันมากกว่านี้ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท