ศิลปะยืนยาว-สุสานพิสดาร3500ปีพิธีกรรมความตาย


ศิลปะยืนยาว-สุสานพิสดาร3500ปีพิธีกรรมความตาย

ศิลปะยืนยาว-สุสานพิสดาร3500ปีพิธีกรรมความตาย

ข่าววันที่ 26 มีนาคม 2553 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

 

 

เนติ โชติช่วงนิธิ

 

มิใช่เพียงหลุมฝังศพโบราณ 3500 ปี นักโบราณคดีขุดค้นพบภาชนะดินเผาบรรจุศพรูปทรงคล้ายแคปซูลและผลส้มจำนวนหนึ่ง แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว แหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง อำ เภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อหลายปีก่อน สามปีที่แล้วได้ขุดพบภาชนะดินเผาบรรจุศพที่แหล่งโบราณคดีดอนไร่ (นาหนองเชือก) ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี อีกเช่นกัน

จากเอกสารการขุดพบภาชนะดินเผาบรรจุศพแหล่งโบราณคดีดอนไร่ ของเจ้าของที่ดิน(บัวผัน ชิณกะธรรม ) หน้าวัดภูถ้ำพระศิลาทอง ได้พบภาชนะดินเผาบรรจุศพหรือบรรจุกระดูกขนาดใหญ่จำนวน 4 ใบ และเศษกระดูกมนุษย์จำนวนหนึ่ง

ภาชนะดินเผาดังกล่าวลักษณะทรงกลมบ่ากว้างและสอบแคบลงที่ส่วนก้นมนรี ปากกว้าง คอค่อนข้างยาว ขอบปากม้วนกลม ด้านนอกตกแต่งด้วยลายเชือก เครื่องจักสานทาบ ทุกใบมีฝาปิดลักษณะทรงคล้ายกระทะ ก้นตื้น ด้านนอกตกแต่งด้วยลายเชือก และเครื่องจักสานทาบ

นอกจากนี้มีภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ได้แก่ หม้อก้นกลม ชามมีสัน หม้อมีพวย (กาน้ำ) ชามมีเชิง (พาน) ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เขียนสีและผิวเรียบ

ส่วนเครื่องใช้ทำจากดินเผาที่พบ มีลูกดิ่ง หรือตุ้มถ่วง ลูกแว (อุปกรณ์ใช้ปั่นด้ายทอผ้า) เครื่องประดับทำจากหินหายาก ได้แก่ ลูกปัดหิน คาร์เนเลี่ยน (หินสีส้ม) ทรงกลมและทรงแบน เครื่องประดับทำจากแก้วหลากสีสัน ได้แก่ กำไล ต่างหู ลูกปัดแก้วเม็ดเล็กๆสีแดง (มูติซารา) ลูกปัดแก้วสีฟ้า ลูกปัดแก้วสีเขียว

เครื่องประดับทำจากโลหะสำริด มีกำไลรูปแบบหลากหลาย ตกแต่งลวดลายอย่างประณีตงดงามได้แก่ กำไลแขน (ก้องแขน) ทรงกระบอก กำไลข้อมือทรงกลม ทรงกระบอกสั้น ตกแต่งลวดลายเส้นเชือกและลายขดเป็นก้นหอย กำไลขนาดเล็กลายเปีย กำไลทรงมงกุฎ (ด้านบนคล้ายกลีบดอกไม้ด้านล่างเป็นเปีย) นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับ(สร้อย) ลักษณะพิเศษโดยทำเป็นแผ่นแบนประดับด้วยการห้อยลูกพรวนเป็นแถว

ข้อมูลเอกสาร สันนิษฐานแหล่งโบราณคดีดอนไร่ที่ค้นพบภาชนะและเครื่องประดับต่างๆ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการอยู่ยุคโลหะ (เหล็ก) หรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อกับยุคหัวเลี้ยวต่อประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,300-1,500 ปีมาแล้ว และจากที่พบสิ่งของซึ่งเป็นของอุทิศหรือเครื่อง เซ่นให้กับศพ ตามความเชื่อที่ว่าคนตายจะต้องผ่านเข้าไปสู่โลกหลังความตาย หรือปรโลก ดังนั้นพื้นที่นี้จึงน่าจะเป็นลักษณะ “สุสานโบราณ”  

จากหลักฐาน สันนิษฐานได้ว่า คนโบราณที่เคยอาศัยอยู่บริเวณดอนไร่เมื่อหลายพันปีก่อน เป็นกลุ่มคนที่มีความเจริญมีความรู้และประสบการณ์ มีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกล ดังหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่มีลักษณะโดดเด่น ได้แก่กำไลรูปแบบต่างๆ ผลิตด้วยวิธีการหล่อไล่ขี้ผึ้ง มีการตกแต่งด้วยลวดลายที่สวยงามประณีตโดยเฉพาะลายเส้นเชือกบนเครื่องสำริด เป็นต้น

ทั้งเชื่อว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้มิได้อยู่โดดเดี่ยวลำพัง แต่มีการติดต่อสัมพันธ์มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชุมชนภายนอกในดินแดนที่ห่างไกลออกไปได้แก่ จีน เวียดนาม และลาว ในขณะเดียวกันก็มีเครือ ข่ายความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนถึงลุ่มแม่น้ำมูล

จากเอกสารดังกล่าว สอดรับกับทรรศนะของนักโบราณคดีสาว สุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดีวิชาการชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ผู้ศึกษา “ภาชนะฝังศพ : พิธีกรรมความตายของวัฒนธรรมทุ่งกุลา” ได้เขียนในรายงานวิจัยวิจักขณ์ ครั้งที่ 4 เกี่ยวกับภาชนะฝังศพ ว่า จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้มองเห็นการแพร่กระจายของภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกอยู่ทั่วไป

“นอกจากจะพบร่วมกับแหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นชุมชนโบราณที่ปรากฏคูน้ำคันดินล้อมรอบ และเนินดินที่ไม่มีคูน้ำคันดินแล้ว ยังพบบริเวณแหล่งน้ำสายหลักและลำสาขาต่างๆ แม่น้ำมูล ลำเสียวใหญ่ ลำเสียวน้อย ลำเตา ลำพลับพลา ฯลฯ ซึ่งบางแหล่งปรากฏกิจกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย การทำเกลือ ถลุงโลหะ และศาสถาน”

สุกัญญา กล่าวถึงพิธีกรรมฝังศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลา (สังเขป) จากหลักฐานทางโบราณ คดีพบว่า การฝังศพมีรูปแบบหลากหลายมาก อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมทุ่งกุลาสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความตายของมนุษย์ได้ครบถ้วน ประเภทการฝังศพครั้งเดียว หมายถึงประกอบพิธีกรรมเพียงครั้งเดียวหลังเสียชีวิตโดยฝังทั้งร่าง ในลักษณะ การฝังนอนบนพื้นแบบดั้งเดิม (Primary burial) ยุคแรกๆ ก่อนประวัติศาสตร์ยุคต้นถึงสมัยประวัติศาสตร์

การบรรจุศพทั้งร่างในภาชนะ (Primary jar burial) ในรูปแบบพิเศษ นำศพทั้งร่างบรรจุในภาชนะโดยมัดศพในลักษณะท่าทางต่างๆ เช่น นั่ง นอนชันเข่า นอนหงาย ด้วยเหตุนี้จะพบกระดูกทุกส่วนของร่างกายเรียงไปตามลักษณะกายวิภาค (anatomy) ซึ่งเดิมหลักฐานทางโบราณคดีในไทยจะพบศพทารกเท่านั้น อย่างไรก็ดีภายหลังได้พบศพในวัยอื่นๆ โดยเฉพาะศพผู้ใหญ่มีรายงานว่าแหล่งโบราณคดีโลบัสสันในไต้หวัน ในลักษณะแนวตั้งคล้ายกับอยู่ในท่างอตัว และแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมยาโยอิที่ญี่ปุ่น ภาชนะฝังศพในแนวนอน

การฝังศพครั้งที่สอง (secondary burial) หมายถึงการนำร่างคนตายไปฝังไว้ที่ใดที่หนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยหลุดจากกระดูก และจึงขุดขึ้นมาทำความสะอาด นำมาประกอบพิธีกรรมอีกครั้งหนึ่ง พิธีกรรมที่ว่านี้พบแพร่หลายอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติ ศาสตร์ มีอยู่ 2 แบบ

การเก็บกระดูกวางบนพื้น นำกระดูกมาฝังรวมกันพบทั้งฝังเป็นโครงเดียวหรือหลายโครง ซึ่งอาจจะขุดหลุมฝังหรือไม่ก็ตาม การเก็บกระดูกบรรจุในภาชนะ นำกระดูกส่วนต่างๆ ปะปนกันโดยจะเลือกเก็บส่วนที่สำคัญ เช่นกะโหลก แขน ขา เป็นต้น และจากหลักฐานในแต่ละช่วงสมัยรูปแบบภาชนะฝังศพ การจัดวาง และของอุทิศมีความหลากหลาย

นักโบราณคดีสาว ลำดับพัฒนาการของพิธีกรรมศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ราว 4,000–2,500 ปีมาแล้ว พบหลักฐานการอยู่อาศัยและหลักฐานการฝังศพครั้งแรก (Primary burial) ในภาชนะดินเผา และประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง แบบนี้พบอยู่ร่วมสมัยเดียวกันในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้าน เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

สมัยที่ 2 ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายถึงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ ราว 2,500–1,000 ปีมาแล้ว พบการฝังศพ แบบวางยาวบนพื้น แบบดั้งเดิม (Primary burial) บรรจุศพทั้งร่างในภาชนะ(Primary jar burial) หมดไป ต่อช่วงกลางและปลายหันไปนิยมการฝังศพแบบเก็บกระดูกวางบนพื้นและบรรจุในภาชนะ (secondary jar burial) พบแพร่หลายหนาแน่นในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตลอดจนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูล-ชี

สมัยที่ 3 ประวัติศาสตร์ยุคต้น ราว 1,000 – 700 ปีมาแล้ว ประเพณีการฝังศพในสมัยนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 เป็นต้นมา การฝังศพเปลี่ยนมาเป็นการเผา และเก็บอัฐิบรรจุลงในภาชนะขนาดเล็ก เช่น ตลับ หรือโถเนื้อแกร่ง ฝังไว้กับศาสถาน

นักโบราณคดีสาว สุกัญญา เบาเนิด ขมวดเรื่องราวภาชนะฝังศพฐานคติของกลุ่มคนในวัฒนธรรมทุ่งกุลา “จากหลักฐานโบราณคดีที่สำรวจพบ แสดงให้เห็นถึงความนิยมของผู้คนในวัฒนธรรมทุ่งกุลากำหนดให้ภาชนะฝังศพ เป็นพิธีกรรมนิยมที่ยึดถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นเอก ลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นในระยะเวลาเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 353537เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท