เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา


ภูมิบ้านภูมิเมือง-เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นการสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของโลกในทางการเมืองและการปกครอง

ภูมิบ้านภูมิเมือง-เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

ข่าววันที่ 22 เมษายน 2553 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

 

 

ภูมิบ้านภูมิเมือง

บูรพา โชติช่วง

 

เพลงยาว

พยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

            ถึงแม้วรรณกรรมเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา กลอนเพลงเนื้อหาทำนายเหตุการณ์บ้าน เมือง ณ ช่วงเวลาหนึ่งได้ล่วงเลยมานับร้อยปีแล้วก็ตาม ทว่ายามใดที่สังคมบ้านเมืองเกิดอาการวิกฤติรุนแรง คำพยากรณ์นี้มักจะได้รับการกล่าวอ้างถึงและยกมาให้ผู้คนในสังคมเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ

นักประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมและวรรณคดีหลายท่าน ต่างก็ให้ความสนใจเนื้อหากลอนเพลงยาว พยากรณ์กรุงศรีอยุธยา มีการตีความหมายของลางบอกเหตุภัย 16 ประการที่อยู่ในเนื้อหาบทกลอนดังกล่าว

แม้คำทำนายเป็นในยุคกรุงเก่า ทว่ายามใดสังคมและบ้านเมืองมีอาการเข้าขั้นวิกฤติ ผู้สนใจคำพยา กรณ์บ้านเมืองก็มักจะคำนึงถึงคำทำนายกรุงเก่า ยิ่งเมื่อเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งด้วยแล้ว ก็ทำให้ใครหลายท่านแลเห็นความกระจ่าง เห็นสมดังพยากรณ์ ทำให้เพลงยาวบทนี้ดูศักดิ์สิทธิ์ และมาบัดนี้มีการพูดถึงอยู่อีกเช่นกัน

บทเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา มีการถอดความเอกสารเก่าและบันทึกไว้อยู่ไม่น้อย และนี่ก็เป็นอีกสำนวนหนึ่งในหนังสือนามานุกรรมวรรณคดีไทย ชุดที่ 1 ชื่อวรรณคดี พิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดา (ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

ในนามานุกรมฯ บท “พยากรณ์กรุงศรีอยุธยา, เพลงยาว” เบญจมาส แพทอง เป็นผู้เรียบเรียง ข้อมูลจากเอกสารอ้างอิง “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 63 ต่อเรื่องกรุงเก่า) พระนคร : องค์การค้าของครุสภา. 2512” ภูมิบ้านภูมิเมืองนำมาถ่ายทอดบางช่วงบางตอน

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นวรรณกรรมที่แต่งในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่กล่าวอ้างกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากในตอนจบของเรื่องระบุว่า จบเรื่องพระนา รายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนายกรุงแต่เท่านี้

นักวรรณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า วรรณกรรมเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา น่าจะแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะสมัยนั้นนิยมแต่งกลอนกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งถือว่าเป็นยุคแห่งความเจริญทางการแต่งกลอน

            อนึ่ง สำนวนโวหารของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยายังคล้ายกับบทละครครั้งกรุงเก่า ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลายด้วย

            ส่วนในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า มีเนื้อความตอนหนึ่งเป็นคำทำนายเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาเช่น เดียวกัน เนื้อหาของคำทำนายอย่างเดียวกัน แต่แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้ว ระบุว่าผู้พยากรณ์คือ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระพุทธเจ้าเสือ) เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เพลงยาวพุทธทำนาย”

            เกี่ยวกับเรื่องผู้แต่งเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์และสันนิษฐานไว้ในวิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 63) ว่า

ผู้แต่งเรื่องนี้น่าจะอ้างตามคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้วในมหาสุบินชาดก เพราะมีข้อความตรงกัน ในมหาสุ บินชาดก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์จากสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทีโกศลแห่งเมืองสาวัตถี ในข้อ 12 และ 13

            พระเจ้าปเสนทีโกศล ทอดพระเนตรเห็นน้ำเต้าเปล่า (น้ำเต้าแห้งที่เหลือแต่เปลือก) ซึ่งโดยปกติจะลอยน้ำแต่กลับจมลงในน้ำ และหินก้อนใหญ่เท่าเรือนกลับลอยน้ำ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า

“เมื่อถึงยุคเข็ญ จะมีผู้ใหญ่ชุบเลี้ยงแต่คนเสเพล ถ้อยคำของคนเหล่านั้นเลื่อนลอยเหมือนน้ำเต้าเปล่าที่ลอยน้ำอยู่ แต่กลับมีน้ำหนักเป็นที่เชื่อถือเหมือนน้ำเต้าที่จมและตั้งอยู่ในน้ำได้ ส่วนคนดีมีตระกูล ซึ่งมีถ้อยคำน้ำหนักแน่นเหมือนศิลาทั้งแท่งนั้น ผู้ปกครองเมืองกลับไม่เชื่อฟัง ถ้อยคำต่างๆ จึงเหมือนศิลาล่องลอยไปในน้ำ”  

            ซึ่งตรงกับเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม”  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เห็นได้ชัดว่าผู้แต่งคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาเอาความในมหาสุบินชาดกมาแต่ง แต่มีผิดกันเป็นข้อสำคัญอยู่ 2 แห่ง

            แห่ง 1 ในมหาสุบินชาดก พระพุทธเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์ว่า ยุคเข็ญนั้นจะเกิดในประเทศใด เป็นแต่ว่าจะเกิด แต่ในคำพยากรณ์เจาะจงว่าจะเกิด ณ กรุงศรีอยุธยา

            อีกแห่ง 1 ในพระพุทธพยากรณ์มิได้กล่าวว่า ยุคเข็ญจะเกิดเมื่อใด เป็นแต่ว่ายังอีกช้านานในภายภาคหน้า แต่ในคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอ้างว่า จะเกิดยุคเข็ญเมื่อศักราชได้ 2000 ปี

            สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดแต่งก็ตาม น่าจะแต่งขึ้นจากเหตุ การณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้นโดยนำพุทธพยากรณ์มาเปรียบเทียบ ดังข้อความว่า

            สำหรับพระนครศรีอยุธยาผู้แต่งเพลงยาวนี้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม หรือมิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็ตาม น่าจะปรารภความวิปริตอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความกลุ้มใจ บางทีจะเอาศักราช 2000 อันตั้งใจว่าจุลศักราชเขียนลงเพื่อจะมิให้คนทั้งหลายตกใจว่าถึงยุคเข็ญแล้ว เมื่อเวลาแต่งเพลงยาวนี้ เห็นจะมีใคร่มีใครถือว่าสลักสำคัญ มาจนเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดเห็นสมดังพยากรณ์ เพลงยาวบทนี้ก็เลยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

            เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงยาวพุทธทำนาย ประพันธ์ด้วยกลอนเพลง เนื้อหาเป็นการทำนายเหตุการณ์บ้านเมือง ให้ภาพบ้านเมืองยามยุคเข็ญ กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยามีความอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองทางการค้า พระมหากษัตริย์ทรงปกครองดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทรงปราบปรามอริราชศัตรู บ้านเมืองมีอาณาเขตกว้างขวางปรากฏชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ

            บรรดาประเทศราช ต่างแต่งเครื่องบรรณาการมาถวาย จนถึงศักราช 2000 เป็นเหตุให้บ้านเมืองต้องประสบเหตุภัยถึง 16 ประการ เช่น อากาศจะวิปริตผิดฤดู เกิดโรคภัยไข้เจ็บทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะมีรสชาติแปรเปลี่ยนไป เกิดข้าวยากหมากแพง

            แผ่นดินแห้งแล้งทุกหัวระแหง บ้านเมืองเกิดกลียุค คนชั่วจะครองเมือง คนดีจะหนีหาย ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน มิตรจะเป็นศัตรู ศิษย์จะคิดล้างครู คนพาลจะมีอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำ โจรผู้ร้ายชุกชุม อาณาประชาราษฎร์จะเดือดร้อนไปทั่ว จะรบราฆ่าฟันกันล้มตายเป็นจำนวนมาก

            ในที่สุด กรุงศรีอยุธยาก็จะถึงกาลพินาศล่มสลายไปตลอดอายุพระพุทธศาสนา 4000 ปี ดังตัวอย่างบทกลอนซึ่งแสดงให้เห็นเหตุการณ์ร้าย ดังนี้

            คือดาวเดือนดินฟ้าจะอาเพด            อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทีศาน

            มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล             เกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเรือน

                                    -           -           -

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ                   นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย                  น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

                        -           -           -

            ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง            สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่

            จะบังเกิดทรพิศม์มิคสัญญี               ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน

                                    -           -           -

            จะร้อนนอกสมณาประชาราช            จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย

            จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย                  ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ

                                    -           -           -

            กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว                 จะลบรัดสมีแก้วเจ้าทั้งสาม

            ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม               จนสิ้นนามศักราชห้าพัน

            เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของโลกในทางการ เมืองการปกครอง เมื่อใดที่ผู้ปกครองประพฤติตนไม่เหมาะสม ขาดคุณสมบัติของนักปกครองที่ดีจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชาติบ้านเมืองได้ คำพยากรณ์ดังกล่าวมักจะได้รับการกล่าวอ้างถึงและยกมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ

มาบัดนี้ก็เป็นอุทาหรณ์เช่นเดียวกัน

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 353531เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท