นาค-สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์


การเรียนรู้บางประการความหมายของสัตว์ที่ถูกอ้างถึงในวรรณคดี

ศิลปะยืนยาว-นาค สัญลักษณ์อุดมสมบูรณ์

ข่าววันที่ 9 เมษายน 2553 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

 

 

เนติ โชติช่วงนิธิ

 

นาค

สัญลักษณ์อุดมสมบูรณ์

            นาค หรือ พญานาค งูใหญ่มีหงอนบนหัว ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังมิเคยมีใครเห็นรูปร่างหน้าตาแท้จริงของสัตว์ประเภทนี้ ที่มีการทึกทักกันว่าน่าจะใช่นั้นก็มองความน่าจะเป็นไว้ก่อน ทั้งส่วนมากที่เราๆ ท่านๆ เห็นนาคหรือพญานาคนั้นปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ รวมถึงนาคปั้นเชิงราวบันไดวิหาร หรือตามโบราณสถานโบราณวัตถุทั้งหลายที่เรียงร้อยมาจากตำนาน

            เผ่าพันธุ์มนุษย์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและลึกเข้าไปในแผ่นดิน มีความเชื่อพญานาคในเรื่องเดียวกันมาแต่โบราณ ของสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ในเรื่อง “น้ำ” ดังที่ว่านาคเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ และบางแห่งว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า ซึ่งสัตว์ในตำนานนี้ได้กล่าวขานบนแผ่นดินนี้มานานกว่า 1,000 ปี         

นักประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมหลายท่าน ระบุเรื่องนาคประการหนึ่งมีเค้าแหรกมาจากอินเดีย “อย่างหนึ่งก็แน่นอนมาจากอินเดีย ซึ่งใช้เป็นคำอธิบายอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับงู เรามักจะเอาคติมาจากอินเดียอธิบายบ่อยๆ อันที่สองเป็นคติที่มีอยู่ในพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว” (ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน “นาค : “คนเปลือย” ดึกดำบรรพ์” เอกสาร “อมตศิลป์ สุวรรณภูมิ” สุจิตต์ วงษ์เทศ จัดพิมพ์)    

ศ.ดร.นิธิ กล่าวด้วยว่า ทั้งสองแนวคิดนี้ ไม่ว่าจะมาจากอินเดียหรือมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็ตาม มีบางส่วนที่คล้ายกัน แต่ก็มีบางส่วนที่ต่างกันอยู่ด้วย แต่ว่าในตอนหลังมันจะเข้ามาผสมปนเปพัวพันกันไปมาระหว่างอินเดียกับพื้นเมือง จนบางทีเราลืมไปเลยว่ามันยังมีคติเกี่ยวกับงูที่เป็นของพื้นเมืองหรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เองอยู่ด้วย

ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเรื่องนาค ก็มักจะนิยมจากพระไตรปิฎกบ้าง จากคัมภีร์ในศาสนาพุทธอื่นบ้าง จากปุราณะของฮินดูบ้าง เพื่อมาอธิบายเรื่องของงู โดยลืมไปว่ามันยังมีอีกคติหนึ่งคือคติของภูมิภาคอุษาคเนย์

ในทางวิชาการเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่เราพูดถึง อย่างที่คาล ยุงศึกษาก็ตาม หรือที่เฟรเซอร์ศึกษาก็ตาม หรือคนอื่นๆ ศึกษา เขาพยายามไปดูเรื่องสัญลักษณ์ของชาติโบราณต่างๆ เขาพบว่างูถูกใช้ในหลายชาติ หลายวัฒนธรรมมาก เพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของหลายอย่างอีกเหมือนกัน

ถามว่า งู ถูกใช้เป็นตัวแทนของอะไรได้บ้าง ก็จะพบความหลากหลายมากมาย ทั้งในโลกตะวันตกคือฝรั่ง ตะวันออกกลาง และในโลกตะวันออกคือในเอเชียด้วยกัน สัญลักษณ์เหล่านี้บางทีก็ขัดแย้งกันเอง เช่น งู เป็นสัญลักษณ์ของความดีก็ได้ เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วก็ได้

เพราะว่า งู มีความสามารถในการทำตัวให้เป็นรูปคลื่นได้ ก็คือเป็นตัวแทนของคลื่นในทะเลก็ได้ เป็นตัวแทนของน้ำก็ได้ และคลื่นในทะเลหรือน้ำนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ “ในทัศนะของคนโบราณ” ของพลังชีวิตหรือพลังทางโลก เพราะว่ามันสามารถเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเรา เป็นชีวิตของเรา เป็นพลังที่ทำให้เกิดชีวิต และให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นในแง่นี้งูก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังชีวิต เป็นพลังของทางโลก เป็นของดี

ในอินเดีย งูถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพลังชีวิตแน่นอน เพราะว่างูสามารถลอกคราบได้ด้วย คนโบราณรู้สึกว่าทุกครั้งที่งูลอกคราบมันจะเกิดชีวิตใหม่ มีพลังอันใหม่เกิดขึ้น คล้ายๆ กับว่ามันได้ทิ้งตัวเก่า-ความตายออกไป แล้วเกิดชีวิตอันใหม่ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราก็พบงูเป็นพลังของชีวิต หรือพลังทางโลกเหมือน กัน ด้วยเหตุดังนั้นงูจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ด้วย นี่เป็นสิ่งที่พบตรงกันทั้งสองแห่ง

อ.นิธิ ยกตัวอย่าง ถ้าในอินเดียเรื่องที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีก็คือ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังนาค ทำไมพระนารายณ์ถึงได้บรรทมสินธุ์บนหลังนาค เพราะว่าตัวท่านเองจริงๆ แล้วเป็นพระเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ การเกิดความรุ่งเรือง ท่านมีเมียคือพระลักษมี เป็นเทพีแห่งโชคลาภ เทพีแห่งธัญพืชหรือเทพีของทรัพย์ในสังคมเกษตร คือ พระศรี ที่เรารู้จักกันในภายหลัง ด้วยเหตุนี้พระวิษณุจึงต้องนอนบนหลังงู เพราะงูเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันงูเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ความอุดมสมบูรณ์อีกอย่างหนึ่ง

“ในอินเดีย รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบเสมอว่า งู หรือ นาค ก็แล้วแต่ จะเป็นใหญ่ในน้ำเสมอ และตัวน้ำเองก็เป็นความอุดมสมบูรณ์ด้วย ในบ้านเราก็มีตำนานเกี่ยวกับนาคและน้ำอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด แม่น้ำโขงก็เกิดจากการที่นาคชอนไชให้เกิดขึ้นมา อันนี้ก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี อ.นิธิ กล่าวถึงนาคในคติอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนหนึ่งสามารถแปลงตัวได้ “ความต่างตรงที่ว่า นาคแขกชอบแปลงตัวเป็นผู้ชาย (ผมอาจจะอีกเหมือนกัน เท่าที่ผมเห็น) เป็นต้นว่าในพุทธศาสนาในเรื่องนาคไปขอบวช หลังจากที่เสด็จประทับไต้ต้นมุจลินทร์เป็นเวลาเจ็ดวัน ฝนตก นาคแผ่พังพานบังเสร็จ นาคก็แปลงตัวเป็นผู้ชายมาขอบวช แต่นาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแปลงตัวเป็นผู้หญิง

อันนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ค่อยต่างกันเท่าไร เป็นเรื่องของวิธีคิดเกี่ยวกับ gonder หรือเพศสภาพ แต่ละวัฒนธรรมอยากสะท้อนอำนาจออกมาเป็นรูปธรรม วัฒนธรรมหนึ่ง(แขกอารยัน) มองอำนาจเป็นเพศชาย ขณะที่คนแบบพวกเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองอำนาจเป็นเพศหญิง ก็แค่นั้นเอง”

สอดรับที่ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ (เว็บไซต์) กล่าวเรื่อง “แม่สรี–แม่ศรี “ผีบรรพบุรุษ” รากเหง้าเก่าแก่ในวันสงกรานต์ทั่วอุษาคเนย์” ตอนหนึ่ง “แม่ ตรงกับคำเขมรว่า เม หมายถึง หัวหน้า หรือ ผู้เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่น้ำ ฯลฯ สรี เป็นคำเขมรว่า สฺรี อ่าน เซฺร็ย กลายมาจากคำว่า สฺตฺรี หมายถึง ผู้หญิง เมื่อรวมกันเข้าเป็น แม่สรี หรือ แม่สี ก็หมายถึง หญิงผู้เป็นใหญ่ หรือ ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้า

ผู้หญิงที่เป็นใหญ่หรือเป็นหัวหน้า มีทั่วไปทั้งโลกยุคเริ่มแรกเฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์ มีร่องรอยและหลักฐานชัดเจนเป็นที่รู้ทั่วไป เช่น นิทานกำเนิดบ้านเมืองและรัฐทั้งเขมรและมอญ ฯลฯ โดยเฉพาะเขมรมีนิทานเรื่อง นางนาค แล้วไทยรับนิทานเรื่องนี้มา ยังเหลือเค้าอยู่ในกฎมณเฑียรบาลชื่อพระราชพิธีเบาะพก ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องบรรทมด้วย แม่หยัวพระพี่ ก็คือ “นางนาค” อย่างเดียวกับนิทานของนครธม”

นาคในศิลปกรรม อย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นตามภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ นาคปูนปั้นประดับบันไดวิหารวัดวาอาราม โดยเฉพาะเขตลุ่มน้ำโขงนับว่ามีอยู่มาก แม้แต่ตามโบราณสถานโบราณวัตถุทั้งหลายก็ตาม เพียงรายละเอียดของเศียรและลำตัวนาคมีต่างกันออกไปบ้างตามเชิงช่างปฏิมากร แต่คงเค้าโครงรูปลักษณ์ของความเป็นนาคไว้ ให้รู้ว่านี่คือนาค พญานาค งูใหญ่มีหงอนอยู่บนหัวและใต้คางก็มีให้เห็น

นอกจากนี้ เราสามารถพบเห็นนาคสลักหินที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ ไทย ลาว พม่า และเขมร เห็นจะได้แก่ที่นครวัด นครธม ชาวขอมได้ปั้นเทวดากับยักษ์ฉุดนาคตอนกวนเกษียรสมุทรที่ราวสะพานของสะพานหินข้ามคูเข้าปราสาทฝ่ายละข้าง 54 ตน และบริเวณใกล้เคียงอันมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ

ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนใน “ถกเขมร” พ.ศ.2496 ตอนหนึ่ง “ผู้ออกแบบสร้างนครวัดขึ้นนั้นพยายามหาประโยชน์จากน้ำในคูนั้นได้มากที่สุด และเมื่อคิดถึงคูอื่นๆ สระใหญ่น้อย ตลอดจน “บาเรย” หรือทะเล สาบ ซึ่งขุดไว้นอกนครธมแล้ว ก็พอที่จะกล่าวได้ว่าอารยธรรมของขอมนั้นเป็นอารยธรรมน้ำกับหินโดยแท้”

สำหรับในไทย ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมวัน และอีกหลายแห่งแถบชาย แดนไทย-เขมร ซึ่งนอกจากภาพจำหลักพระนารายณ์ พระศิวะ พระพรหม เกี่ยวกับลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ภาพแกะสลักสัตว์ต่างๆ ที่รวมถึงสัตว์ประเภทลำตัวยาว มีลักษณะเช่นเดียวกับงู หรือที่เรียกว่าพญา นาค ปรากฏหลักฐานของผู้คนที่มีความเชื่อในเรื่องพญานาคเมื่อครั้งอดีตกาลนับพันปีมาแล้วเช่นกัน

นาค หรือ งูมีหงอนบนหัว สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 353533เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

น่าสนใจมาก ขออ้างอิงและที่มา ด้วยค่ะ ขอบคุณล่วงหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท