รางวัลสุดคะนึง…มอบให้จากใจแก่ สกว. , ศตจ. และ หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มวล.


ในการทำงานร่วมกันต่อไป ถ้ามีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น ผู้วิจัยก็จะขอยอมตายและจะหันหลังให้กับอุดมการณ์ของตัวเองที่ครูบาอาจารย์เคยอบรมสั่งสอนเอาไว้ว่าเราคือคนที่มีโอกาสในสังคม อย่าทิ้งคนที่เขามีโอกาสน้อยกว่าเรา คนที่ทุกข์ยากกว่าเรา
ผู้วิจัยคิดอยู่นานมากว่าจะเขียนเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 17-19 มิถุนายน 2549 ซึ่งทีมกลาง ประกอบด้วย คุณภีม ภคเมธาวี และ อ.ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์ ให้ความกรุณามาช่วยผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ในการลงพื้นที่พบปะ พูดคุย รวมทั้งจัดเวที กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม ในโครงการวิจัย “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง” หรือไม่ ผู้วิจัยได้มีโอกาสอ่านบันทึกของคุณภีมที่เขียนเกี่ยวกับทีมลำปางแล้ว คุณภีมได้บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นๆว่าผู้วิจัยคงจะเข้ามาเล่าเรื่องราวต่างๆให้กับผู้ที่สนใจ (อ่าน) เอง ผู้วิจัยยอมรับว่าตอนแรกก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้ผู้วิจัยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าจะไม่เล่าข้อเท็จจริงต่างๆแล้ว “อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิดไปเถอะ ผู้วิจัยเพียงคนเดียวคงจะไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ดั่งที่ควรจะเป็นไปทั้งหมด เราก็เพียงผงธุลีดินเท่านั้น” ในวันนี้ผู้วิจัยขออนุญาตผู้อ่านทุกท่านเขียนถึงความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อต้องมารับผิดชอบในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยชิ้นนี้ ผู้วิจัยขอสรุปสั้นๆว่า ในการรับงานชิ้นนี้ สำหรับผู้วิจัยแล้วตั้งความหวังไว้มากว่าจะเข้ามาศึกษาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เข้ามาช่วยเสริมกระบวนการต่างๆ ให้กับกลุ่มและเครือข่ายฯ แม้จะแทนตัวเองว่าผู้วิจัยมาตลอด แต่ในความรู้สึกจากส่วนลึกแล้ว ผู้วิจัยไม่ต้องการที่จะเรียกงานชิ้นนี้ว่างานวิจัยเลย ผู้วิจัยเห็นว่างานชิ้นนี้คืองานพัฒนา แต่ (อาจ) แตกต่างจากงานพัฒนาอื่นๆก็ตรงที่ว่า มีการบันทึกและเขียนออกมาอย่างเป็นระบบเท่านั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ผู้วิจัยจะพูดคำว่า “การจัดการความรู้” , “งานวิจัย” กับชาวบ้านน้อยมาก ถ้าไม่จำเป็นจะไม่พูดคำเหล่านี้เลย เมื่อแรกที่เข้ามาทำงานชิ้นนี้ ผู้วิจัยหลงทางอยู่นาน อาจเพราะอ่อนด้อยด้วยประสบการณ์ หรือ อาจเป็นเพราะเราไว้ใจคนอื่นมากเกินไป เชื่อใจคนอื่นมากเกินไป และที่สำคัญ คือ เรามองแต่โครงสร้าง แต่ไม่มองรายละเอียด ผู้วิจัยก็เลยเหมือนกับคนทั่วๆไปที่มองอะไรดีไปหมด สวยงามไปหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆเริ่มปรากฎ ทั้งที่ผู้วิจัยก็คิดว่าตัวเองพยายามทำดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ พยายามทำใจและให้อภัย เพราะคิดเสมอว่า “ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ไม่มีใครที่ไม่เคยโกหก ไม่มีใครที่จะมีคนรักร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครที่จะมีคนเกลียดร้อยเปอร์เซ็นต์” แม้แต่ตัวเราเองก็หลีกหนีสัจธรรมของชีวิตเหล่านี้ไปไม่พ้น ผู้วิจัยเชื่ออย่างสนิทใจว่า “คนเรานั้นเปลี่ยนได้” แม้จะมีมิตรรักเคยให้ข้อคิดว่า “คนบางคนตลอดทั้งชีวิตเขาก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าจะเปลี่ยนตัวเอง” แต่ผู้วิจัยไม่เคยเชื่อคำเตือนสติของมิตรรักผู้นั้น ที่ไม่เชื่อเพราะผู้วิจัยเชื่อตัวเอง เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานว่าขนาดเรายังเปลี่ยนได้ แล้วคนอื่นทำไมจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่มา ณ วันนี้ ผู้วิจัยเชื่อแล้วว่า “คนบางคนต่อให้เห็นโลงศพก็คงไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเอง” เมื่อต้องตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งและความไม่เข้าใจ สิ่งที่ผู้วิจัยคิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว คือ “การยกมือไหว้ขออโหสิกรรม” แม้ว่าตัวเองจะนั่งคิดทบทวนอยู่หลายตลบว่าเราไม่ได้ทำอะไรเขาก่อนเลย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะ เรายังมี “เส้นความกตัญญู” เชื่อมกันอยู่ แม้ว่าเส้นอื่นๆจะขาดไปหมดแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกที่จะ “ไม่ใส่ใจ” กับคนเหล่านั้น และพยายามก้มหน้าก้มตาทำงานกับคนที่คุยกันได้ นี่คือ หนทางที่ตัวเองกำลังทำอยู่ หากแต่เหตุการณ์ในวันที่ 19 ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 20 และวันที่ 21 ทำให้ผู้วิจัยรู้สึกว่า “แม้เราจะไม่ยุ่งกับเขา แต่เขาก็สามารถทำให้เราเสียใจได้” มีบุคคลหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คนที่พยายามประนีประนอมกับทั้ง 2 ฝ่าย ถูกต่อว่าอย่างรุนแรงว่า “นก 2 หัว” คนที่เป็นที่รักนับถือของคนในอำเภอและต่างอำเภอ ถึงขนาดต้องหลั่งน้ำตากับตัวเองหลายครั้ง และไม่สามารถข่มตาหลับได้ คนที่เหมือนทำใจได้ในระดับหนึ่งต้องนอนฝันร้ายทั้งคืน คนที่ใจเย็นปานน้ำแข็ง ตั้งคำถามว่า “เขาเป็นใคร พ่อแม่เรายังไม่เคยพูดและทำอะไรกับเราอย่างนี้เลย” คนที่มุ่งมั่นจะทำงานเพื่อชุมชนถึงกับถามตัวเองว่า “เราเดินมาถูกทางหรือเปล่า” ผู้วิจัยตั้งทำถามกับตัวเองว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ เราทำให้คนดี คนที่เรารักทุกข์ได้ขณะนี้เลยหรือ?” ที่ผ่านมาเราอาจมุ่งไปที่งานวิจัยมากเกินไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เราถึงทำร้ายคนที่เรารัก คนที่เขารักเรา คนที่ดีกับเราได้ถึงขนาดนี้ กี่ครั้งแล้วที่เราทำคนเหล่านี้ให้เสียเวลา เสียความรู้สึก และเสียน้ำตา ต่อจากนี้ไป ผู้วิจัยจะไม่บังคับ อ้อนวอน ขอร้อง อะไรกับคนที่เรารักเหล่านี้ต่อไปอีกแล้ว แต่ผู้วิจัยจะมุ่งมั่นทำงานกับคนเหล่านี้ต่อไป ผู้วิจัยขอยกคำพูดของ อ.ธวัช ที่ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมาว่า “แม้จะแยกกลุ่มออกไปแล้วทดลองทำ หากไม่สำเร็จ กองทุนต้องล้ม พวกเราก็จะยอมให้ชาวบ้านกระทืบตายคาชุมชน” สำหรับผู้วิจัยก็เช่นเดียวกัน “ในการทำงานร่วมกันต่อไป ถ้ามีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น ผู้วิจัยก็จะขอยอมตายและจะหันหลังให้กับอุดมการณ์ของตัวเองที่ครูบาอาจารย์เคยอบรมสั่งสอนเอาไว้ว่าเราคือคนที่มีโอกาสในสังคม อย่าทิ้งคนที่เขามีโอกาสน้อยกว่าเรา คนที่ทุกข์ยากกว่าเรา” สุดท้าย ท้ายสุด ผู้วิจัยขอยอมรับแต่โดยดีว่า งานวิจัยชิ้นนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หากเทียบกับความมุ่งมั่นและตั้งใจของผู้วิจัย ผู้วิจัยไม่ขอแก้ตัวใดๆทั้งสิ้น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ผู้วิจัยคงกล่าวได้เพียงประโยคเดียวว่า “สิ่งที่ผู้วิจัยคิดว่าตัวเองทำได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และอยากมอบเป็นของขวัญให้กับแหล่งทุน ซึ่งได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) , ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) และหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ให้ความไว้วางใจผู้วิจัยในการทำโครงการวิจัยชื้นนี้ คือ รางวัลสุดคะนึง ประจำเดือนมีนาคม 2549” ขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่อุตส่าห์เสียเวลานั่งอ่านความรู้สึกของผู้วิจัย ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้อะไร ขอบพระคุณ สคส. ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้วิจัยได้เสนอมุมที่คนนอกไม่เคยเห็น
คำสำคัญ (Tags): #รางวัลสุดคะนึง
หมายเลขบันทึก: 35281เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้เชื่อ...และศรัทธา ในเจตนาที่ดีงาม...ที่เราทำ นิ่ง สติ ทบทวน...มุ่งมั่น สักวันเราจะผ่านพ้นไป... มืดฝนที่ตั้งเค้ามา... พัดหายไป...แสงตะวันสาดส่อง...แทนที่.. เป็นกำลังใจ..ให้นะคะ

แม้จะไม่ค่อยเข้าใจเหตุกาล แต่รับรู้ได้ถึงความรู้สึกกดดันที่คุณวิไลลักษณ์ได้รับอยู่ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะั เชื่อว่าความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นสร้างสิ่งที่ดีให้แก่สังคมของคุณวิไลลักษณ์ที่ตัวเองยังสัมผัสได้ (ขนาดไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย เพียงแต่อ่านจากการเขียนบล็อกและได้ฟังน้ำเสียงจากตัวจริงในงานวันเกิด GotoKnow) จะเป็นแรงพลังนำไปสู่ solution ที่เหมาะสมได้

ธรรมย่อมชนะอธรรม (แม้บางครั้งจะต้องรอคอยแสนนาน อย่างอดทนก็ตาม) เชื่อเช่นนั้นและขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ งานล้มเหลวหนึ่งชิ้น ถ้าใจเราเข้มแข็งไม่ล้มเหลวตามไปด้วย ยังมีวันหน้าค่ะ สักวันหนึ่งต้องเป็นวันของเราหากไม่ยอมแพ้ สู้ สู้นะคะ

เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง ค่อยย่างต่อ ใจอย่าท้อ ก่อกำลัง ระวังใจ ต่างมนุษย์ ต่างความคิด ต่างจุดหมาย หากถอยท้อ ต่อไป ใครจะทำ..........

สงบจิต เรียบเรียงคิด ฉบับใหม่ เติมต่อใจ ด้วยกำลัง ที่ยังเหลือ มองสิ่งดี มุ่งหน้าเดิน เป้าหมายเพื่อ สิ่งใดกัน หากว่าเมื่อ หมดสิ้นหวัง......

กว่าจะเสร็จ กว่าจะสิ้น ระบิลชื่อ เกียรติงามคือ ความสวยสด ความสดศรี เหล่าขวากหนาม สัตว์ป่าบรรดามี ต่างหล่นร่วงบนปฐพีไปตามกัน.....

นางราคะ นางตัณหา นางอรดี ประโลมจิต ไพรีพุทธองค์ หากแพ้พ่าย ชีวิตยามผุยผง คงแต่เหลือ แค่องค์ฝุ่นธุลี............

มหาตมะคานธีผู้ลือชื่อ อหิงสานั้นคือเครื่องมือมั่น แม้ต้องตายเจ็บปวดร้าวรวดพลัน อินเดียเปลี่ยน...แปลงนั้นหนึ่งคือใคร..................

เป้าหมายการทำงานคืองาน ร้อนรนเช่นไฟ เผาผลาญเหล็กให้แหลกเหลว เยือกเย็นดั่งน้ำแข็ง มีแต่ละลายและละลาย เป้าหมายของฉันคืออะไร

  ขอเป็นกำลังใจแด่ผู้มุ่งมั่นในการทำงานด้วยความสะอาด

ขอความสวัสดีจงมีแด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บัลดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน

 

แม้ผมจะอยู่ไกลเหตุการณ์ แต่ก็รู้สึกเห็นใจคนทำงานจริงๆ บทกลอนข้างบนคงจะสร้างพลังใจได้บ้าง ขอเป็นกำลังใจให้ ให้ทำงานอย่างผู้มีอุดมการณ์อันสูงส่งต่อไป นะครับ

"จงมองแต่แง่ดีเถิด" ท่านพุทธทาสภิกขุ

ขอเป็นกำลังใจให้คะ คิดว่าทำดีย่อมได้ดี ทำในสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อสังคม ย่อมเกิดผลดีแน่คะอ.อ้อม

     ไม่มีอะไรสำเร็จและล้มเหลวอย่างสัมบูรณ์ เรียนรู้กับมัน (อย่างไม่อคติ) ซะว่า จะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้กลับมาดีที่สุด และจะให้เกิดผลกระทบ (ด้านลบ) ต่ออนาคตน้อยที่สุด
     ผมเชื่อและเห็นว่าหากเราเอา "ทำเพื่อใคร" มาถามตัวเองก่อน หากได้คำตอบว่า "ไม่ใช่เพื่อตนเอง" ท่านเหลียวฝาน บอกว่านี่แหละ "ดีแท้ ประการแรก"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท