Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

วิธีการปฏิบัติอย่างไร จึงจะเกิดสมาธิ


พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท : เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช พระวิปัสสนาจารย์ http://www.veeranon.com/

คำถาม เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเกิดสมาธิ เพราะเวลานั่งสมาธิ จะนั่งไม่ค่อยได้

 

ตอบ ขอถามต่อไปว่านั่งไม่ค่อยได้ หรือกำหนดไม่ได้

 คำถามนี้ไม่ชัดเจน หากกำหนดไม่ได้

ให้พิจารณาดูว่าขณะนั้นกำลังวิตกกังวลเรื่องอะไรอยู่หรือไม่

ผู้ปฏิบัติต้องตัดภาระหรือตัดความกังวลใจทุกอย่าง

โดยให้รู้ปัจจุบันว่าทำอะไร

พยายามปล่อยวางทุกอย่างให้ได้ก่อน

กำหนดดูเวทนาของตนเองตามอาการที่เกิดขึ้น

และสังเกตว่าเรามีสมาธิได้กี่นาที

แล้วค่อยๆ กำหนดเพิ่มเวลาขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้านั่งไม่ได้

เนื่องจากเกิดจากสังขารร่างกายมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น ปวดขา ปวดเข่า

ผู้ปฏิบัติอาจเลือกนั่งอิริยาบถใดก็ได้

แต่ให้กำหนดองค์ภาวนาตามสติให้ทันเท่านั้นเอง

 

คำถาม การกำหนดพองหนอ ยุบหนอนั้นได้เป็นช่วงๆ และเมื่อออกจากสมาธิจะคลื่นไส้ทุกครั้งไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

 

ตอบ อาการคลื่นไส้นั้น ถ้าผู้ปฏิบัติมีสมาธิจริงๆ มันจะเกี่ยวกับระบบของร่างกาย

คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ในร่างกาย

 

ถามว่ามันปกติหรือเปล่า โดยปกติอาการหลังจากออกสมาธิแล้วเกิดอาการคลื่นไส้

อาจจะเป็นอาการของคนง่วงนอน แต่ไม่ได้นอน หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

เมื่อมานั่งสมาธิ จึงทำให้เกิดอาการง่วงคือ ถีนมิทธะ เข้าครอบงำ

เมื่อฝืนอาการนั้นไป เวลาจะออกจากสมาธิ

ลมแปรปรวนในท้องไส้ก็คือธาตุแปรปรวนนั่นเอง

ทำให้รู้สึกอยากจะอาเจียน แต่ก็ไม่อาเจียน

 

การที่กำหนดพองยุบได้เป็นช่วงๆ นั่นแสดงว่ายังมีโอกาสทำได้อยู่

คือกำหนดได้เป็นช่วงๆ ถ้าไม่ได้เลยก็ต้องดูกันนานอีก

ผู้ปฏิบัติจะกำหนดให้ได้ตลอด ก็ต้องใช้เวลาฝึกปฏิบัติกันนาน

ต้องขยันภาวนานานสักหน่อย ขยันดูสภาวะให้ละเอียด

ตรงนี้หากเกิดอาการคลื่นไส้ทุกครั้ง ผู้ปฏิบัติไม่ต้องวิตกกังวลกับสภาวะนั้น

อาการคลื่นไส้เป็นเรื่องปกติของสภาวะของธาตุที่พยายามแปรสภาวะให้มัน

เป็นหนึ่งเดียว ให้เป็นสมาธิ

 

บางครั้งมาปฏิบัติธรรมในห้องแอร์ ผู้ปฏิบัติอาจจะไม่คุ้นเคย

ทำให้เกิดการแปรปรวนของธาตุต่างๆ ในร่างกาย

อาตมาก็ยังเป็นโรคแพ้แอร์ สมัยที่ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหิดล ห้องเรียนเล็กๆ

ก็แพ้แอร์ทุกครั้ง เป็นโรคเมาแอร์

 

วิธีแก้คือการออกมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ขับลมปราณให้เหงื่อออกมากๆ

เมื่อเหงื่อออกมาก อาการดังกล่าวก็หายไปเอง

ยกตัวอย่างเมื่อวานนี้อาจจะเห็นอาตมาหน้าซีดไปนั่นเพราะแพ้แอร์

จึงต้องออกไปปรับตัวก่อน จึงรู้สึกดีขึ้น

นี่ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ยังเห็นอาการพองหนอ ยุบหนอ

เมื่อร่างกายปรับอุณหภูมิได้ปรับธาตุได้ อาการนั้นมันก็จะหายไปเอง

 

คำถาม เวลานั่งสมาธิ สติกำหนดที่หน้าท้องไม่เห็นสภาวะใดๆ ไม่รู้สึกว่าพองหรือยุบ แต่กลับรู้สึกเหนื่อย

 

ตอบ แสดงว่าผู้ปฏิบัติคนนี้ตามลมมากเกินไป ให้ดูอาการของท้องพอง

ดูอาการของท้องยุบ ไม่ต้องไปตามลมเข้า ตามลมออก

 

เหมือนสูบลมเข้ายางรถวิ่งขึ้นวิ่งลง การปฏิบัติเช่นนั้นจะมีอาการเหนื่อย

แต่อาการเหนื่อยจะไม่มากเท่าไรนัก พอสักระยะหนึ่งอาการเหนื่อยจะหายไปเอง

รูปของอาการพองยุบก็ชัดเจนขึ้นมาเองเหมือนกับมันขึ้นตามลม

ชักขึ้นชักลง ตามลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ซึ่งการตามลมหายใจจะรู้สึกเหนื่อยได้

โดยให้กำหนดดูแค่ท้องพอง ท้องยุบเท่านั้นก็พอ

 

หากท้องพองก็กำหนดพองหนอ และท้องยุบให้กำหนดยุบหนอ เหมือนเราดูทีวี

เช่น เขาแสดงเป็นตัวละครบทบาทอะไร เขาจะแสดงเป็นพระเอก

เป็นนางเอก เป็นนางร้าย เป็นลูก เรามีหน้าที่แค่ดูเท่านั้น

เราไม่ได้เป็นผู้กำกับ หรือแสดงเอง แต่หากตราบใดที่เราแสดงเอง เราจะเหนื่อย

เพราะจะต้องร้องไห้บ้าตามตัวละครไป

ฉะนั้นสังเกตดูตามอาการของท้องพอง ท้องยุบเท่านั้นเอง

 

คำถาม เมื่อกำหนดดูลมหายใจ ยุบหนอ พองหนอ จะเร็วมาก ทำให้การหายใจติดจะเร็วไป ควรแก้ไขอย่างไร

 

ตอบ อันที่จริงเขาให้ภาวนาพองก่อนแล้วค่อยยุบ

หายใจเข้าท้องมันพอง หายใจออกท้องมันยุบ

เหมือนการสูบลมเข้ายางรถยนต์ เมื่อฉีดหัวฉีดลมเข้าไปในล้อรถ

ยางรถก็จะพองขึ้น นั่นคือรูปพอง

ฉะนั้นกำหนดว่าพองหนอ ยุบหนอ

ตรงนี้คือต้องกำหนดพองก่อนแล้วค่อยกำหนดยุบ

การหายใจติดจะเร็วนั้น จะหายใจเร็วหรือหายใจช้า

ไม่ใช่ตัวปัญหา มันจะเร็วหรือจะช้าก็ช่างเขา

เรากำหนดดูให้รู้ว่าหายใจเร็วหรือหายใจช้า

หน้าที่ของเราคือดูให้รู้ว่าเร็วหรือช้าเท่านั้น

โดยให้เข้าใจและให้รู้จักว่าเร็วหรือช้า

ไม่ใช่ว่ากำหนดให้เร็วหรือช้าตาม

สภาวะนั้น เราจะให้มันพอใจหรือดีใจก็ไม่ได้

แต่ให้ดูเฉพาะอาการเท่านั้นเอง

ผู้ปฏิบัติอย่าไปกำหนด อย่าไปจับ

ถ้าเราไปจับอาการนั้นแล้วมันจะรู้สึกเครียด

 

อาตมาสังเกตหน้าตาของหลายท่านเครียดเหลือเกิน

เพราะไปจับอาการตามใจตัวเอง สภาวะโดยแท้จริงไม่เป็นตามที่เราคิดว่ามันจะเป็นของมันอย่างนั้น เราจะเป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น รู้แล้วปล่อยวาง

 

ภาษาโบราณพูดว่า  ปลง รู้แล้วปลง รู้แล้วปล่อยไป

 นั่นคือหน้าที่ของเรา

จิตก็ไม่สะสมหมักหมม

เพราะหากเป็นเช่นนั้นจิตจะเน่าข้างในกลายเป็นความเครียด

 

ติดตามอ่านตอนต่อไปที่นี่ค่ะ

 

อิสระแห่งจิต

 

http://gotoknow.org/blog/mindfreedom

 

ขอให้เจริญในธรรมทุกท่าน

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

  

หมายเลขบันทึก: 351993เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

  • มาเรียนรู้ค่ะ
  • จะเพียรพยายามค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอย่างสูง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท