Lucky Man
เวียงชัย นิลดวงดี ชายเวียง นิลดวงดี

เคล็ดลับการจับประเด็นในโน้ตย่อ


การจับประเด็นในการอ่าน
เคล็ดลับวิธีจับประเด็น และจดโน้ตย่อ"

เคล็ดลับวิธีจับประเด็นและ จดโน้ตย่อ นี้เป็นเทคนิคง่ายๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกคน ขอแต่เพียงเข้าใจเคล็ดลับวิธีการเท่านั้นเอง หัวใจสำคัญของการจับประเด็นและ จดโน้ตย่อ คือ หมั่นฝึกจับประเด็นทุกครั้งที่ได้อ่านหรือได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม ควรฝึกบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย

การอ่านเพื่อจับประเด็น เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ทุกคน หากมีความเพียรพยายาม หากท่านสามารถจับหลักนี้ได้ ท่านย่อมพบกับความสำเร็จในการเล่าเรียนศึกษาอย่างแน่นอน

คนเราส่วนใหญ่เมื่ออ่านหนังสือหรือได้ยินได้ฟังอะไรแล้ว มักจะไม่ค่อยรู้จักตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้ความคิดทำงาน หลายๆ คน อ่านหนังสือแล้วก็อ่านไปเลย จำเรื่องราวได้แค่คร่าวๆ ไม่ค่อยแม่นยำ จับประเด็นอะไรไม่ค่อยได้ บางคนถึงกับหลงประเด็นไปเลยก็มี

หัวใจของการจับประเด็น คือ การฝึกหัดตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งที่อ่านหนังสือ หรือ เมื่อได้ฟังเรื่องราวต่างๆ คำถามที่สำคัญ ได้แก่ คำถามว่า "อะไร คือประเด็นสำคัญของเรื่องนี้" หรือ "หัวใจของเรื่องมันอยู่ที่ตรงไหน" หรือ "คนเขียนหนังสือเรื่องนี้เขาต้องการจะบอกอะไรกับเรา" หรือ "สาระสำคัญของเรื่องมันอยู่ตรงไหน" เป็นต้น


  (ถ้าจะฝึกฝนให้จับประเด็นได้แม่นยำยิ่งขึ้น ท่านควรจะเรียนรู้วิธีทำความเข้าใจ และจดจำเนื้อหา ให้คล่องแคล่วเสียก่อน หรือจะฝึกไปพร้อมๆ กันก็ได้)


ท่านสามารถฝึกฝนเทคนิคการจับประเด็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ พิมพ์ หรือบทความต่างๆ หรือแม้กระทั่งบทความในอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่าง เวลาท่านอ่านหนังสือพิมพ์ ก็อย่าเพิ่งไปดูที่พาดหัวข่าว ให้อ่านเนื้อหาของข่าวไปเลย พออ่านข่าวจบ ให้ท่านตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ข่าวนี้ควรจะพาดหัวข่าวว่าอย่างไร" นี้เป็นการฝึกจับประเด็นที่ดีวิธีหนึ่ง

หรือในกรณีที่ท่านได้อ่านบทความที่เป็นข้อถกเถียง หรือข้อโต้แย้ง ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ หรือ จากกระดานข่าวในอินเตอร์เน็ต พอท่านอ่านบทความที่เป็นข้อขัดแย้งนั้นจบและทำความเข้าใจเนื้อหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ท่านตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ประเด็นของปัญหามันอยู่ตรงไหน" คำตอบที่ตอบปรากฏออกมาในใจของท่าน นั่นคือ ประเด็นของปัญหา ทีนี้เมื่อเราจับประเด็นได้แล้ว ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนก็จะมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่หลงประเด็นอีกต่อไป

ในกรณีนักเรียนนักศึกษาที่จะต้องดูหนังสือทบทวนเพื่อเตรียมตัวสอบไล่ ควรฝึกหัด จับประเด็นให้คล่องแคล่ว เริ่มต้นด้วยการฝึกทำความเข้าใจในเนื้อหาตำราให้ได้เสียก่อน เมื่อเข้าใจแล้ว ขั้นต่อไปก็ให้ฝึกตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งที่อ่านหนังสือจบบทว่า "หัวใจสำคัญของบทเรียนแต่ละบทที่อ่านมานั้นมันอยู่ที่ตรงไหน" หรือ ประเด็นที่สำคัญที่สุดของบทเรียนบทนี้คืออะไร"

ทีนี้พอจับประเด็นแล้ว ก็ให้จดโน้ตย่อประเด็นนั้นให้เป็นข้อความสั้นๆ เก็บเอาไว้ ทีนี้เวลาใกล้สอบก็ไม่ต้องไปท่องหนังสือทั้งเล่มอีกต่อไป เพียงแค่ทบทวนประเด็นที่จดโน้ตย่อไว้ในกระดาษเพียงไม่กี่แผ่นก็เข้าใจได้หมดทั้งเล่ม เวลาทบทวน แค่เราดูโน้ตย่อเพียงประโยคเดียว ความจำของเราก็จะทำหน้าที่ขยาย แตกตัวออกเป็นความเข้าใจเนื้อหาได้เป็นหน้าๆ

ทีนี้ถ้าหากมีที่ตรงไหนเราเกิดความรู้สึกคลุมเครือ หรือ ลังเลสงสัย เราก็เพียงแต่หยิบหนังสือมาทบทวนดูเฉพาะตรงบทนั้นอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล เป็นยุคที่ข่าวสารข้อมูลหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศจนท่วมท้นหูตาไปหมด คนที่เข้าใจเนื้อหาสาระและ จับประเด็นแม่น จะเป็นคนที่ได้เปรียบ เพราะสามารถรับข่าวสารข้อมูลได้มากมาย ในขณะที่คนอื่นรับไม่ไหว

สาระสำคัญของบทความนี้ คือ ใครต้องการที่จะเป็นคนยุคข่าวสารข้อมูล คือมีความรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ก็ควรจะพัฒนาตนให้เป็นคนที่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้รวดเร็วและจับประเด็นเรื่องราวข่าวสารต่างๆ ได้แม่นยำ และ "การหมั่นฝึกตั้งคำถาม" คือหัวใจสำคัญที่สุดในการฝึกจับประเด็น

หมายเลขบันทึก: 351430เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2010 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เ็็ป็นบันทึกที่เป็นประโยชน์มาก ๆ ๆ

   

         บันทึกนี้เป็นประโยชน์สำหรับนักอ่านมาก ..ขอบคุณสำหรับสาระ.นานา.ประโยชน์เช่่นนี้...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท