เรียนรู้จากประสบการณ์ CEO คนเก่ง วิกรม กรมดิษฐ์ (ตอนที่ 7-8)


Put the right man on the right job

ก่อร่างสร้างธุรกิจ วิกรม กรมดิษฐ์ (ตอน 7)

 
ชื่อดีมีชัย ไปกว่าครึ่ง” ประโยคสั้นๆที่อธิบายแนวคิดของวิกรม  กรมดิษฐ์ที่ให้ความสำคัญของการตั้งชื่อเป็นอย่างมาก  เพราะเขาคิดว่าการตั้งชื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน รวมทั้งเป็นการกำหนดภาพลักษณ์ เป้าหมาย และกรอบของงานชิ้นนั้นไปด้วยในตัว

 
เมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาที่ดินทำนิคมอุตสาหกรรมแล้ว  วิกรมได้เลือกที่จะตั้งชื่อนิคมอุตสาหกรรมนี้ว่า “บางประกง”  ด้วยเหตุผลที่ว่าทำเลของโครงการนี้อยู่ใกล้แม่น้ำบางปะกง  เวลาดูในแผนที่ประเทศไทยก็จะเห็นชื่อ “แม่น้ำบางปะกง” และ “อำเภอบางปะกง” อย่างชัดเจน  ทำให้เชื่อได้ว่าผู้ที่จะไปนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ไม่มีทางที่จะหลงทางแน่นอน  ด้วยเหตุนี้ผู้ถือหุ้นทุกคนจึงเห็นด้วยว่าเหมาะสมแล้วที่จะใช้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง” ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2531  เป็นต้นมา

 

แต่แล้วในปี 2532 ก็มีเหตุนำพาให้เขาคิดที่จะเปลี่ยนชื่อนิคมอุตสาหกรรม  เมื่อมีลูกค้าในนิคมคนหนึ่งเข้าใจผิดว่าโรงนวดที่ชื่อ “บางปะกง” ก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเขาเช่นกัน  นอกจากนี้ยังมีโครงการเขตส่งออกที่ปิดร้างไว้  โรงกลึงและหมู่บ้านข้างนิคมอุตสาหกรรมบางปะกง II  ที่ล้วนแล้วแต่ชื่อ “บางปะกง”เช่นกันทำให้เขาไม่สามารถปล่อยให้ผู้คนเกิดความไม่แน่ใจและนึกว่าโครงการของเขาเป็นโรงนวด โรงกลึง หมู่บ้านจัดสรรหรือเขตส่งออกที่ล้มเลิกไป  เขาจึงรีบคิดหาทางแก้ไขโดยด่วน  ไม่นานเขาจึงประกาศกับพนักงานของบริษัทว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทและชื่อ โครงการ ขอให้ทุกคนส่งชื่อเข้าประกวด โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ชื่อต้องมีความเป็นไทยแท้ๆ สะกดเป็นภาษาอังกฤษได้ง่าย และไม่เกิน  3 พยางค์ ชื่อของใครที่ได้รับคัดเลือกจะได้รางวัล 50,000 บาท แต่จนแล้วจนรอดชื่อต่างๆที่ถูกส่งเข้ามาเป็นจำนวนมากก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจ

 
กระทั่ง วันหนึ่งในช่วงที่เขาเดินทางไปศึกษาโครงการก่อตั้งนิคมฯใหม่ที่ เซี่ยงไฮ้ ระหว่างที่นั่งรถกลับโรงแรม  เพื่อนของเขาที่ชื่อจิตรกรก็คุยกับเขาถึงเรื่องโรงแรมอมารีที่ประตูน้ำ  แต่ในขณะนั้นเขาก็กำลังคิดไปถึงเรื่องชื่อโครงการที่จะตั้งอยู่ จึงประมวลคำว่าชื่อ “อมารี” มาเป็นคำว่า “อมตะ” ซึ่งเขาคิดว่าดูดีมาก  หลังจากนั้นวิกรมจึงนำชื่อ “อมตะ” ไปเช็คในเยลโล่เพจเจสแล้วพบว่าชื้อนี้ยังไม่มีใครใช้  เขาจึงรีบดำเนินการต่อโดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรายชื่อนิติบุคคลที่กระทรวงพาณิชย์ทันที  และแล้วก็เหมือนฟ้าประทานชื่อ “อมตะ” นี้ให้มาเพื่อเขา  หลังการตรวจสอบแล้วยังไม่มีใครจดทะเบียนในชื่อนี้  เขาจึงให้เจ้าหน้าที่ไปที่สำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท  กระทรวงพาณิชย์เพื่อจองชื่อไว้ก่อนและดำเนินการขอชื่อใหม่ตามกฎหมายทันที 

บริษัท บางปะกงจึงได้ฤกษ์เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด” นับตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน  2543  เป็นต้นมา

http://www.thaipurchasing.com/News/images/amata2009/road-show-amata-2009.jpg

“อมตะ”
ในความคิดของวิกรมแล้วนั้น เป็นคำสั้นๆที่เปี่ยมด้วยความหมาย  นอกจากจะเป็นคำที่มีความเป็นไทย  เรียกง่าย  จำง่ายแล้วยังเขียนง่ายทั้งคำไทยและภาษาอังกฤษ “AMATA” เพราะมีเพียง 3 พยางค์อีกด้วย  คนญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้าจำนวนมากของบริษัทฟังแล้วนึกถึงภาษาญี่ปุ่น  ส่วนคนในภูมิภาคนี้ฟังแล้วเข้าใจทันที ว่าหมายถึง “ไม่ตาย – มีความยั่งยืนชั่วนิจนิรันดร์”  และชาวฝรั่งทั้งอ่านทั้งสะกดก็ไม่มีผิดเพี้ยน  เมื่อนำชื่อนี้ไปใช้ในการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็มีความเป็นสากล  ไม่ประสบกับการเรียกหรือสะกดชื่อผิด ๆ ถูก ๆ อีกต่อไป

 

หลังจากนั้นชื่อโครงการนิคมอมตะทั้งหมด  รวมไปถึงบริษัทลูกๆในเครือก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อที่มีคำว่า “อมตะ” เป็นคำยืนพื้นประกอบด้วย  โดยเริ่มจาก “นิคมอุตสาหกรรมบางปะกง 2” เป็น “นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร”  และ “ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้”  ที่จังหวัดระยอง ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามก็ใช้ชื่อ “อมตะซิตี้ เวียดนาม”  และบริษัทในเครือ เช่น “อมตะพาวเวอร์”  “อมตะวอร์เตอร์”  และ “อมตะสปริง”  โดยโลโก้ของบริษัทจะใช้แบบเดียวกัน  เพียงแต่เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ก่อนหลังเท่านั้น  สิ่งเหล่านี้สร้างความเป็นครอบครัวเดียวกันในความรู้สึกให้กับทุกคน  สร้างความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นสามัคคี   และแสดงความเป็นอัตลักษณ์ขององค์กร “อมตะ” อย่างชัดเจน

 
นอกจากนี้ในครอบครัวอมตะยัง มีเรื่องสนุกเล็กๆ น้อย ๆ ที่ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกถึงความมีสิ่งที่เหมือนกันพันผูกกันทั้งบริษัท  นั่นคือ  ชาวอมตะจะมีเบอร์โทรศัพท์ทั้งของบริษัทในเครืออมตะ  สำนักงาน  และทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของพนักงานที่ลงท้ายด้วย 0007  และทะเบียนรถของบริษัทที่ใช้0007 หรือ 7 โดดๆ  ซึ่งนั่นคล้ายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของคนอมตะไปเลยทีเดียว

 
เขาเคยตั้งคำถามถามตัวเองเล่นๆว่า “ทำอย่างไรจะให้องค์กรอมตะมีความเป็นอมตะ สมกับชื่อที่เขาได้ตั้งเอาไว้”  ทุกวันนี้เวลาที่พูดถึง “อมตะ” คนจะนึกถึง “วิกรม  กรมดิษฐ์” แล้วเมื่อพูดถึง “วิกรม  กรมดิษฐ์” ก็จะนึกถึง “อมตะ” เหมือนเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก  เขาหวังให้คนในองค์กรไม่คิดยึดติดกับผู้ที่เป็น “ผู้นำ” ว่าจะต้องมาจากคนตระกูลกรมดิษฐ์เท่านั้น

 
แม้ว่าตัวเขาเองจะบริหารงานและปฏิบัติตนแบบ “เถ้าแก่” มานานก็ตามที...  แต่เขากลับคิดว่าการทำงานที่ไม่พึ่งพา “ระบบ” แต่ให้ความสำคัญในการพึ่งพาที่ตัว “บุคคล” นั้นเป็นรากฐานที่สั่นคลอนของเส้นทางขององค์กรในระยะยาว   หนทางแห่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างมั่นคงและถาวรที่แท้จริงนั้นควรจะเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติในสายธารระบบขององค์กร  เขาจึงให้ความสำคัญกับบุคคลากร ว่าพนักงานต้องได้รับความสุขกายสบายใจในการทำงาน  ใช่เพียงการทำงานราวกับถูกตั้งระบบไว้ แต่เป็นการทำงานที่นึกถึงใจเขาใจเรา....  เขาเน้นความสำคัญในการสร้างโอกาสให้แก่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้สามารถแสดง ฝีมือของตนเองอย่างแท้จริงในองค์กร  ราวกับนิยามที่เขามักกล่าวในกรณีที่พูดถึงการจัดการระหว่างตัวเองกับลูกน้อง ว่า “ถ้าผมไม่ไว้ใจลูกน้องแล้วผมจะไว้ใจใคร”, “Put the right man on the right job” หรือ “ ถ้าเขาทำได้ดีอยู่แล้วผมจะไปแย่งเขาทำงานเพื่ออะไร”

http://www.voicetv.co.th/thumb/1_8886.jpg

ตั้งแต่เมื่อครั้งที่วิกรมอายุครบ 48 ปี  เขาก็วางบทบาทของตนในองค์กรเป็นเพียงผู้ตั้งเป้าหมายและวางนโยบาย ช่วยคิด ช่วยวางแผนและช่วยแก้ไข  คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนโดยให้แนวคิดกับพนักงานว่าอย่ากลัวว่างานที่ทำจะผิด  เพราะคนที่ไม่เคยทำผิดคือคนที่ไม่เคยทำงาน  เคล็ดลับในการมีลูกน้องดีนั้นเขาคิดว่าปัจจัยสำคัญนั้นขึ้นอยู่ที่ตัวตนของผู้บริหารว่าเป็นอย่างไร  หากต้องการหรือคาดหวังให้เจ้าหน้าที่เป็นคนทำงานที่ดีอย่างไร  ผู้นำก็ควรที่จะเป็นต้นแบบที่ดีมีคุณธรรม  มีเหตุผลอย่างนั้น  คนที่เป็นผู้นำควรต้องวางตนทุกอย่างให้ถูกต้องในชีวิตการทำงาน  รวมถึงวินัยด้านการใช้เงิน  เวลาทำงาน  ความซื่อสัตย์  และความจริงจังต่อหน้าที่  ถ้าทำได้ดังนั้นแล้วลูกน้องหรือผู้ตามจึงจะสามารถยึดถือตามแบบอย่างได้อย่างถูกต้อง  และเป็นขั้นเป็นตอน  พนักงานมากกว่าครึ่งของ “อมตะ” ในปัจจุบันทำงานกันมาตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว  จะมีเพียงหนึ่งในสามของพนักงานที่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นกอง หลังเสริมทัพในอนาคต  ซึ่งพนักงานแต่ละคนเมื่อทำงานกันไปนาน ๆ เข้าก็มีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น ไม่ค่อยมีใครจากไปไหนยกเว้นเสียชีวิตหรือเกษียณอายุ   เขามองทุกคนที่มาร่วมงานเป็นเหมือนญาติในครอบครัวเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของ ชีวิต

 
ผู้บริหารในองค์กรอมตะนั้นหากไม่นับตัวเขา  ในแต่ละรุ่นจะมีคนจากตระกูลกรมดิษฐ์เข้ามาบริหารเพียงสองคนเท่านั้น  ส่วนพนักงานที่เป็นดั่งลูกหม้อทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เข้าใจในปรัชญาการทำงานแบบ “อมตะ” เป็นอย่างดี องค์กรอมตะจึงเกิดการกระจายอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไปแต่ละระดับอย่างเป็นขึ้นเป็นตอน  เพื่อให้ทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจและสามารถทำงานกันได้อย่างคล่องตัว  เมื่อสามารถวางเข็มทิศกำหนดบทบาทและหน้าที่ได้อย่างชัดเจนแล้วสายเลือดอมตะก็จะสามารถที่จะถ่ายทอดสืบไปจากรุ่นสู่รุ่นไม่จางหายไป

 

(ตอน 8)

จากเด็กน้อยเมืองกาญจน์ที่เติบโตมาจากครอบครัวคนจีนขนาดใหญ่ที่รายล้อมไป ด้วยปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ ชีวิตในวัยเด็กของเขานั้นแสนสบาย มีเพียง กิน, เล่น, เที่ยว, นอน, และพอโตขึ้นอีกหน่อยก็เพิ่มเรื่องเรียนหนังสือ  และช่วยที่บ้านทำงานขึ้นมา  การหล่อหลอมของสภาพแวดล้อมในวัยเด็กนี้จึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลส่งผลต่อการดำเนินชีวิต  ความคิด  การทำงานและการกินอยู่ของเขาในวิถีของ “เถ้าแก่”  หากแต่สำหรับวิถีการบริหารจัดการของเขานั้นกลับหาใช่วงจรแบบเถ้าแก่ไม่  เขาเห็นว่าการบริหารจัดการแบบเถ้าแก่นั้นไม่เป็นการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับองค์กรในระยะยาวเลย  เขาจึงคาดหวังให้องค์กรอมตะนี้ดำรงอยู่ในวิถีความเป็นระบบอย่างกลมกลืนกับวิถีทางธรรมชาติ  ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรมีความเป็นอมตะสมกับชื่อ

 
ในการที่จะทำให้องค์กรหนึ่งๆนั้นเป็นที่กล่าวขานและรู้จักไปทั่วนั้น  คงไม่สามารถที่จะปฎิเสธได้เลยว่า “สื่อสารมวลชน” เป็นตัวกลางที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด  ดังที่เคยมีผู้วิเคราะห์กล่าวไว้ว่ามีซีอีโอเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และหนึ่งในซีอีโอเหล่านั้นวิกรม  กรมดิษฐ์ก็ได้รับเกียรติให้เป็นคนนึงในกลุ่มคนเหล่านั้น  ที่สื่อจะติดตามความเคลื่อนไหว  ทำให้อมตะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปโดยไม่ต้องลงทุนโฆษณามากมาย

 

หลังจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ  ก็สร้างแรงดึงดูดให้วิกรม  กรมดิษฐ์นักธุรกิจ นักพัฒนา ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง  เป็นที่จับตามองของผู้คนมากหลาย  ทำให้เป็นที่สนใจอยากสัมภาษณ์มาก  สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา  10 กว่าปีที่ผ่านมา  สังคมมองเขาในเชิงสร้างสรรค์และให้การยอมรับเป็นอย่างดี  และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ  ทุกครั้งที่มีคนมาขอสัมภาษณ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ ฯลฯ เขาก็จะให้ความร่วมมือด้วยดีอยู่เสมอ

 

และแล้ว เขาก็ก้าวเข้าสู่การเป็นวิทยากรทางสถานีวิทยุครั้งแรกโดยการ ทาบทามของคุณสุภาพ คลี่ขจาย  พิธีกรผู้จัดรายการร่วมกับคุณนราพงษ์ ไวยวรรณ  ในรายการของทาง F.M. 97  ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2546   เป็นต้นมา  เขากลายมาเป็นผู้ที่จะต้อง “ถ่ายทอด” ความคิด ความรู้จากประสบการณ์ตรงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมบ้าง  โดยในระยะเริ่มต้นก็ก้าวเข้ามาในฐานะแขกรับเชิญ  และค่อยๆผันตัวมาเป็นนักพูดหน้าใหม่  โดยรับจัดรายการในวันจันทร์ หลัง 9 โมงเช้า ประมาณ 15- 20 นาที  มีคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ และการศึกษามาช่วยเตรียมข้อมูลให้กับเขา  ซึ่งรายการของเขาก็ได้รับผลตอบรับจากผู้ฟังเป็นอย่างดีเพราะฟังง่ายและ ประกอบด้วยสาระมากมายทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากมุมมองของเขา  ดังนั้นหลังจากจัดรายการได้เพียงครึ่งปีจึงต้องขยายเวลามาเป็นหนึ่งชั่วโมง  บางโอกาสเขาก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ฟังรายการได้โทรศัพท์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามปัญหาในรายการด้วย

 
นอกเหนือจากนี้แล้ว  ข้อมุลที่นำมาจัดรายการแล้ว  เขายังสามารถที่จะนำมาเรียบเรียงเพื่อเขียนลงในคอลัมน์ “มองโลกแบบวิกรม” ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  สัปดาห์ละครั้งอีกด้วย  ซึ่งเรียกเสียงตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดีเช่นกัน  จากความนิยมที่ล้นหลามทำให้หนังสือ “มองโลกแบบวิกรม” ได้มีการตีพิมพ์ออกมาปรากฎแก่สายตานักอ่านทั้งหลาย  ซึ่งหนังสือขนาดพ็อคเก็ตบุ๊ค  ที่ประสานเรื่องราวสถานการณ์บ้านเมืองหลายด้าน  กับวิธีคิดทัศนะมองโลกในความเป็นตัวตนแบบวิกรมเข้าด้วยกัน  มียอดตีพิมพ์กว่า 100,000 เล่มแล้ว  และยังมีผู้คนให้ความสนใจซื้ออ่านกันอย่างต่อเนื่อง

http://www.khayadeet.com/catalog/p_45633.jpg

 
หลังจากทำรายการได้ปีหนึ่งแล้ว  ก็มีเหตุสุดวิสัยจากทางสถานีวิทยุ  ทำให้เขาต้องหยุดการออกรายการอย่างกระทันหัน  อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงทำหน้าที่จัดรายการในคลื่นนี้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะ ทำได้จนถึงวันสุดท้าย  หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ถัดมาทาง คลื่นวิทยุ 96.5 ก็ติดต่อทาบทามให้เขามาเป็นผู้ดำเนินรายการให้  หลังจากที่เขาได้คุยกับคุณวิสุทธิ์ คมวัชระพงษ์ซึ่งเป็นผู้จัดการคลื่นอยู่หลายครั้ง  ก็ทำให้เขายอมที่จะจัดรายการวิทยุนี้  โดยใช้ชื่อรายการว่า“CEO VISION”  ซึ่งจะออกอากาศทุกวันศุกร์  วันละหนึ่งชั่วโมง  โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมา  หลังจากนั้นประมาณสองเดือนก็มีการปรับผังรายการใหม่  ด้วยความนิยมจากผู้ฟังผลักดันให้เรตติ้งรายการของเขาขึ้นสูงมาก  ทำให้มีการเพิ่มวันออกอากาศเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน  เป็นทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เวลาตั้งแต่ 9.00-10.00 น. โดยหัวข้อสนทนาในวันพฤหัสบดีเป็นเรื่องของชีวประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ  ทั้งคนสำคัญของไทยและของโลก  ส่วนในวันศุกร์จะเป็นการพูดคุยตอบคำถามที่บรรดาแฟนรายการถามไถ่เข้ามา  มีทั้งเกี่ยวกับเศรษฐกิจ  การทำธุรกิจการงาน  ปัญหาชีวิต  ครอบครัว  การศึกษา  และอื่นๆมากมายหลายประเด็น

 

ในช่วงนั้น หลังจากที่วิกรมเขียนคอลัมน์มองบุคคลโลกให้หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์มาได้สักครึ่งปีกว่า  คณะผู้บริหารของสำนักพิมพ์และเขาก็ได้คุยกันเกี่ยวกับแผนการจัดพิมพ์หนังสือ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของบุรุษโลก  โดยนำรายละเอียดข้อมูลที่เคยถูกออกอากาศทางรายการ “CEO VISION” มาเขียนรวมกันประมาณ 20 คนต่อเล่ม  หนังสือชุด มอง CEOโลก จึงคลอดออกมาสู่ตลาดหนังสือให้ปัญญาชนได้อ่านกันอย่างแพร่หลาย  โดยเล่มหนึ่งๆจะมีความหนาเกือบ 500 หน้า  ตีพิมพ์ออกมาปีละ 2 เล่ม  ซึ่งเขาได้วางแผนจำนวนหนังสือชุดนี้ไว้เป็นจำนวน 10 เล่ม

จากนักธุรกิจ  วิกรมผันตัวมาเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว  เขาใช้เวลาในการอ่านและเขียนไม่ต่ำกว่าวันละ 10ชั่วโมง  แม้งานเขียนจะล้นมืออย่างไรก็ตามเขาก็มีความสุขที่ได้เห็นผู้อ่านมีความสุข และได้รับความรู้ผ่านจากผลงานที่เขาเขียน

 
นอกจากงานเขียนแล้ว  ยังมีอีกสิ่งหนึ่งพ่วงมาจากการทำรายการวิทยุ“CEO VISION”  ด้วย  นั่นคือ  รายการ “หมุนตามโลกกับวิกรม” ทาง UBC 7 ที่คุณเทพสิทธิ์ ประวาหะนาวิน  เป็นผู้ดำเนินรายการ  รายการนี้ก็จะเป็นการนำเอาเรื่องที่พูดในรายการ CEO VISION เกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลโลกที่น่าสนใจ มาสรุปในรายการโทรทัศน์อีกครั้ง  ซึ่งเสียงตอบรับกลับมาก็ยังไม่มีท่าจะลดลง  มีคนโทรศัพท์มาขอซีดีกันเป็นจำนวนมาก 

 
นอกจากนี้ แล้ววิกรมก็ยังเป็นวิทยากรรับเชิญพิเศษตามมหาวิทยาลัย องค์กรต่าง ๆ หรือในงานทั่วไป  เป็นคอลัมน์นิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์อยู่อีกราวๆ 4- 5 ฉบับ  เขียนพ็อคเก็ตบุ๊คขนาด 500 หน้าอีกปีละ 2  เล่ม  และยังมีโครงการมูลนิธิโครงการอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “นักเขียนอมตะ”  โครงการศิลปกรรม อมตะ อาร์8 อวอร์ด,โครงการก่อสร้างอมตะ คาสเซิล... ในเดือนมิถุนายน 2551 เขาก็ได้รับเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทยอีกด้วย  เพื่อเป็นการชักชวนให้ผู้โทรศัพท์ไปต่างประเทศบริจาคเงินจำนวน 81 สตางค์ ต่อหนึ่งนาทีทุกจำนวนครั้งที่ใช้  เพื่อเป็นทุนในการรณรงค์แก้ปัญหาวิกฤติน้ำที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องภาวะโลกร้อน แล้วทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา โดยการทาบทามจากคุณบุญชัย โชควัฒนา

 

เบื้องหลังของ ความสำเร็จในวันนี้ของวิกรม  กรมดิษฐ์นั้นประกอบขึ้นมาด้วยความพากเพียร  อุตสาหะ  และอดทนต่อทุกอุปสรรคที่รุมเร้าอย่างไม่ย่อท้อ  ดั่งคติคำสอนเตือนใจจากนิทานทศชาติชาดกเรื่องพระมหาชนกที่มหาชนกกุมารทรงตอบ นางมณีเมขลาขณะที่ทรงแหวกว่ายลอยตัวอยู่ในทะเลนานถึง 7 วัน ว่า "ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง"  "คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว " และ "แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เรา กำลังกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายามแต่กลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวันบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นได้ตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามสุดกำลัง เพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้"

 

ที่มา http://www.doohoon.com/smf/index.php?topic=23186.0

หมายเลขบันทึก: 351406เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2010 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านจบแล้วได้สาระความรู้และประสบการณ์ มุมมองของคนประสบผลสำเร็จในชีวิต เห็นถึงความมุ่งหมั่นและพากเีพียร ขอบคุณมาก ๆ

นะครับ สำหรับเจ้าของบทความนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท