pom
นาย พัฒนศักดิ์ พลอยสมบูรณ์

อยู่อย่างไรให้เป็นสุข...?


การอยู่อย่างเป็นสุขในทุกวันนี้ยากยิ่งนัก...
     ในสภาวะปัจจุบันคนไทยตกอยู่ในสภาพความกดดันหลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง บางครั้งก็ก่อให้เกิดความบั่นทอนทางสุขภาพจิต สุขภาพกายและหลาย ๆ อย่าง คนที่จะอยู่ในสังคมทุกวันนี้ได้อย่างมีความสุขนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่เรียนรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเพื่อเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด โดยส่วนมากก็อาศัยหลักการทางพระพุทธศาสนาในการดำรงชีวิต ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอยากจะขอแนะนำข้อปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างสุขภาพจิต เพื่อใช้เป็นวัคซีนดำรงชีวิตประจำวัน
แนะนำว่าชีวิตควรดำรงด้วยหลักการ 5 พ.ดังนี้
1.อยู่อย่างพอเพียง เป็นปรัชญาของโลกตะวันออก ที่แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำริให้คนไทยทุกคนดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งมีด้วยกัน 5 ประการ คือ พอเพียงด้านจิตใจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ
2.อยู่อย่างเพื่อนพ้อง เป็นการอยู่อย่างมิตรภาพ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เกื้อกูลต่อกันและความสามัคคีต่อกัน ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศ ตลอดจนระดับโลก ในหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาราณียธรรม ประกอบด้วยหลัก 6 ข้อ คือ เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคี สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญตา
3.อยู่เพื่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมชั้นสูงที่กรอบทางความคิดไม่ยึดติดอยู่ที่ตัวเองเป็นหลัก แต่เป็นการคิดเพื่อผู้อื่น ซึ่งหมายถึงเพื่อนมนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยต้องรู้จักการให้และการเสียสละเป็นหลัก มิใช่การรับหรือเห็นแก่ตัว ดังที่ไอน์สไตน์บอกว่า "คุณค่าของมนุษย์อยู่กับสิ่งที่เขาให้ ไม่ใช่ความสามารถในการแสวงหา"
4.อยู่อย่างพรหม พรหมในพุทธปรัชญาคือเทพหรือเทวดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดสำหรับผู้ที่กระทำความดี ประกอบด้วยการให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติภาวนา การอยู่อย่างพรหมคือการตั้งมั่นอยู่ในพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา คือ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณา คือปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา คือ ยินดีปรีดาในคุณงามความดีต่อผู้อื่น และอุเบกขา คือ การวางเฉยในสิ่งที่ควรเฉย ไม่กระทำการใดๆ ให้เกิดความเดือดร้อนยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางเฉยต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
5.อยู่อย่างพระ หมายถึงการอยู่อย่างสงบ รักษาศีลและเข้าถึงหลักธรรมคำสอนของศาสดา พระในที่นี้หมายถึงนักบวชในศาสนาที่ตนเองนับถือ หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็คือ การเดินทางสายกลาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น ยึดมั่นในความสุขที่เกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง อย่างสุดโต่ง วิธีการปฏิบัติที่จะทำให้เข้าถึงทางสายกลางอย่างแท้จริง ชาวพุทธควรฝึกปฏิบัติสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอยู่เป็นนิจ ชีวิตจะสงบสุขได้
      ข้าพเจ้าขอสรุปในตอนท้ายว่า การดำรงชีวิตให้มีความสุขในความเป็นปุถุชนนั้น หากนำหลักการ "5 พ." มาเป็นหลักในการกำกับความคิดแล้ว น่าจะทำให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้ตามอัตภาพแบบสมมติสุขที่เข้าใจและรู้เท่าทัน หากมีความเข้าใจและรู้เท่าทัน พร้อมพากเพียรปฏิบัติอยู่เสมอความสงบสุขก็จะปรากฏในใจของเราได้ในที่สุด
เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน pom
คำสำคัญ (Tags): #โคราช12
หมายเลขบันทึก: 349543เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2010 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น้องว่าการที่เราสามารถปฏิบัติตามหลัก 5 พ. นี้เป็นหลักสู่การเป็นอริยะบุคคลเชียวละ ไม่ใช่แค่เป็นแนวทางปฏิบัติให้ถึงความสุขของปุถุชน ทำได้ครบก็นับว่าโชคดี ไม่เสียชาติที่เกิดมาชาติหนึ่งที่ได้เป็นมนุษย์ ซึ่งไม่มีแค่การ เกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน มีครอบครัว เลี้ยงหลาน แก่ แล้วตาย ความสมบูรณ์ของชีวิตไม่ได้มีอยู่แค่นั้นหรอก จริงๆ นะ

ขอบคุณที่ช่วยเสนอแนะเพิ่มเติมนะครับคุณพ.สมบูรณ์

หวังว่าคงมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากกว่านี้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท