การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มน้ำมัน


เพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม

เห็ดฟางจากทะลายปาล์มน้ำมัน....อาชีพเสริม เพิ่มรายได้

             ตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ นั้น มีการเพาะเห็ดฟางกันมาก นิยมทำกันมากในพื้นที่ ม.๒ บ้านไสขาม ม.๓ บ้านหัวหมากบน ม.๖ บ้านห้วยด่าน และ ม.๑๑ บ้านต้นหมัก  มีเกษตรกรผู้เพาะเห็ดรวมประมาณ ๗๐ ราย

            จาการสอบถามผู้ใหญ่เดชา  ดำมุณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 บ้านไสขาม มีประสบการณ์เพาะเห็ดฟาง ๑๐ ปี ซึ่งเป็นวิทยากรประจำจุดสาธิตเรื่อง การเพาะเห็ดจากทะลายปาล์มน้ำมัน ได้รวมกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดฟางบ้านไสขาม จำนวน ๔๐ ราย มีการร่วมแรงช่วยจัดเรียงทะลายปาล์มของสมาชิกในกลุ่ม หมุนเวียนกันไป ไม่ต้องจ้างแรงงาน

            ส่วนคุณสุทิน  สุขเผือก เกษตรกรคนเก่งของบ้านหัวหมากบน  ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทำสวนทุเรียน สวนปาล์มน้ำมัน ปลูกพืชผัก เป็นอาชีพเสริม เป็นทั้งอาสาสมัคร GAP ทีม ๖ ของทีมติดตามสถานการณ์ศัตรูพืช ต.ช้างซ้าย  ทำปุ๋ยหมักเข้มข้นผสมกากปู และทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และขณะนี้ได้เพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพเสริม แทนการปลูกพืชผัก  คุณสุทินเล่าให้ฟังว่า ตนเพาะเห็ดฟางในสวนปาล์มน้ำมัน (อายุประมาณ ๖ ปี) การเพาะเห็ดฟางดีกว่าปลูกผักขาย เพราะไม่ต้องใช้ยากำจัดศัตรูพืช การจัดการง่ายกว่า

ต้นทุนการผลิตมีดังนี้

  1. ทะลายปาล์ม ๑๐ ตัน  เป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท
  2. ค่าเชื้อเห็ดฟาง ๑๕๐ ก้อนๆ ๑๓ บาท  เป็นเงิน  ๑,๙๕๐ บาท
  3. อาหารเสริม (แป้ง รำ ข้าวโพดบด)  ๑๕ ถุง เป็นเงิน ๓๕๐ บาท
  4. ผ้ายางพลาสติกสีดำ ๔ ม้วนๆ ละ ๕๐๐ บาท  เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท

วิธีทำ

  1. ทะลายปาล์มจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใกล้บ้าน เมื่อมาถึงต้องทิ้งไว้ให้เย็นก่อน ประมาณ ๗ วัน
  2. นำทะลายปาล์มมาเรียงเป็นร่อง ได้ ๓๐ แถว (ร่อง)  มีการขึงแนว ซึ่งแต่ละแถวกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๑๒ เมตร ใช้เวลาเรียงนานกว่า ๓๐นาที ซึ่งคุณสุทินและภรรยาต้องใช้เวลาทั้งวันจึงเรียงแถวเสร็จ   จึงมีการระดมความคิดชวนเกษตรกรรายอื่นซึ่งเพาะเห็ดฟางเหมือนกัน ช่วยกันและผลัดเปลี่ยนช่วยเหลือกัน เป็นการประหยัดไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง
  3. ผสมหัวเชื้อเห็ดฟางกับอาหารเสริม  และโรยเชื้อเห็ดฟางบนแถวทะลายปาล์ม     ให้ทั่ว
  4. ใช้ผ้ายางพลาสติกปิดไว้ ๓ วัน
  5. วันที่ ๔ เปิดผ้ายางพลาสติก ประมาณ ๓ ชั่วโมง เพื่อระบายความร้อน และขึ้นโครงไม้ไผ่ เป็นรูปโค้ง และใช้ผ้าพลาสติกคลุมไว้
  6. ปิดไว้อีก ๒ - ๓ วัน เปิดผ้าพลาสติก สะบัดน้ำค้างออก ให้หมด
  7. วันที่ ๗ จะเห็นดอกเห็ดฟางเป็นเม็ดเล็กๆ
  8. วันที่  ๘ – ๑๑ เปิดผ้ายางพลาสติก วันละ ๑ ครั้ง สะบัดน้ำค้างออก
  9. สามารถเก็บเห็ดฟางได้ในวันที่ ๑๑  
  10. สามารถตัดเก็บเห็ด ได้ประมาณ ๑๘ – ๒๐ ครั้ง (มีด)  (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศดี แดดไม่จัด เก็บได้ถึง ๒๐ ครั้ง)
  11. เมื่อเริ่มเก็บได้ ๔ กก.  ๕  กก.  ๙  กก. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ สูงสุดประมาณ ๑๐๐ กก. และลดลงเรื่อยๆ  ใน ๑ รอบการผลิตได้ประมาณ ๒๕๐ กก. ๆ ละ ๔๐ บาท  รวมเป็นเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท

ข้อดีของการเพาะเห็ดฟาง

  1. ไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช
  2. พ่อค้ามารับซื้อถึงที่
  3. ราคาคงที่ กิโลกรัมละ  ๔๐ บาท
  4. ทะลายปาล์มที่เหลือจากการเพาะเห็ด สามารถเป็นปุ๋ยหมักปรับปรุงดิน
หมายเลขบันทึก: 349493เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2010 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หวัดดีครับ

  • หน้าแล้งนี้ เห็ดออกดอก ดีมั๊ยครับ
  • ค่าตอบแทนก็ไม่เลวนะ
  • แต่ต้องขยัน นี่ซิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท