เดินทางข้ามวัฒนธรรม ทำอย่างไร?


วันนี้ไปร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการเตรียมตัวกลับบ้าน “Pre-Departure Preparations” จัดโดยศูนย์นานาชาติของมหาวิทยาลัยมาครับ จริงๆ เหตุผลที่อยากไปก็เพราะเขาบอกว่าจะมีแจกเช็คลิส ผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์ดีเพราะทั้งเรื่องเขียนปริญญานิพนธ์ เรื่องทำเรื่องจบการศึกษา เคลียร์ห้องเช่า ข้าวของต่างๆ บัญชีธนาคาร และอะไรๆ จิปาถะ อีกหลายอย่าง ถ้ามีรายการช่วยเตือนว่าจะต้องทำอะไรบ้างก็จะได้ไม่หลงลืม

ช่วงแรกของงานทางผู้ดำเนินรายการพูดถึงความรู้สึกเมื่อครั้งที่เราเดินทางมาต่างประเทศและเจอกับการช็อกทางวัฒนธรรม (culture shock) ครั้งแรก ลองนึกย้อนไปว่าเราใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงปรับตัวได้ ช่วงของการช็อกนั้นแบ่งได้สามช่วงครับ เริ่มจากตื่นเต้น (honeymoon phase) แล้วก็เริ่มมีการต่อรองระหว่างวัฒนธรรมที่ติดตัวเรามากับวัฒนธรรมใหม่ (negotiation phase) และจบลงด้วยการปรับตัว (adjustment phase) ซึ่งจะเป็นไปในทางดีหรือร้ายก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนหลงลืมวัฒนธรรมเก่าไปเลย บางคนปรับเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ไม่ได้ก็ใช้ชีวิตลำบาก แต่มีบางส่วนที่ผสมอัตลักษณ์เดิมของตนเข้ากลมกลืนกับวัฒนธรรมใหม่ได้ กลายเป็นตัวตนที่สมดุล

สำหรับการเดินทางกลับบ้านเกิดแล้วต้องช็อกอีกครั้ง (reverse culture shock) นั้นต่างกันตรงที่แม้เราจะกลับไปสู่วัฒนธรรมเก่าที่เราเคยคุ้น แต่ตัวเราต่างหากที่เปลี่ยนก็เลยกลายเป็นช็อกแบบย้อนศร

ผมลองจินตนาการว่ากลับไปเมืองไทยแล้วจะผ่านสามช่วงของการช็อกรอบสองนี้อย่างไรบ้าง...

อย่างแรกนี่ต้องตื่นตาตื่นใจกับอาหารแน่ๆ เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เจอกันนานแสนนาน แถมยังการงานที่อยากกลับไปทำ เสร็จแล้วช่วงที่สองก็คงเริ่มงงกับระบบระเบียบการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเมืองที่ผมอยู่ตอนนี้ จะไปไหนก็ง่าย เทคโนโลยีทำให้เข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรทางวิชาการต่างๆ มากมายในพริบตา ตรงนี้แหละครับที่จะเป็นช่วงที่จะต้องยอมรับว่าหลายๆ อย่างบ้านเรายังไม่พร้อม และตั้งใจทำงานเท่าที่เราจะทำได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่

มีผู้ร่วมสัมมนาท่านหนึ่ง (หน้าตาออกไปทางยุโรป) ให้ความเห็นได้น่าสนใจว่าการทำงานในวัฒนธรรมอเมริกันกับวัฒนธรรมประเทศเขานั้นต่างกันคือประเทศนี้เน้นความเป็นส่วนตัวและไม่มีระบบอวุโส ด้วยภาษาอังกฤษเองก็เอื้อกับการตัดลำดับชั้นทางอวุโสไปได้แล้วครับ การกลับไปที่บ้านเรา (ในฐานะคนนอก ที่ร่ำเรียนในระบบนอก) แล้วไปตัดสินว่าการไม่มีอวุโสหรือสิ่งที่เราเรียนรู้ที่นี่ดีกว่า ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ผู้ร่วมสัมมนาท่านนี้กล่าวต่อโดยเขาวางแผนว่าจะต้องเริ่มสร้างเครือข่ายเพื่อนร่วมงาน เรียนรู้ระบบงานในวัฒนธรรมนั้นๆ (แม้เราจะเคยคุ้นกับมันมาก่อนก็อาจจะต้องปรับตัวกันอีกรอบ) จากนั้นก็ค่อยๆ เอาความคิดของเราเข้าผสมผสานกับระบบที่มีอยู่เดิม ตรงนี้เขาใช้คำว่า pitch in แปลได้ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ คำนี้น่าสนใจตรงที่มันสะท้อนทัศนคติของการทำงานครับ เขาไม่ได้คิดจะไปสอนว่าสิ่งที่เขาเรียนมานั้นดีกว่าเหนือกว่า แต่ต้องการที่จะเข้าไปใช้ความรู้ที่มีอยู่ปรับเข้ากับระบบงาน ณ ที่ทำงานในวัฒนธรรมนั้นๆ

ผมนึกถึงประโยคทองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า “วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้” ความรู้ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ของตายตัวแต่ดิ้นไปมาตามวัฒนธรรมความเชื่อที่แตกต่างกัน การเอาความรู้จากวัฒนธรรมหนึ่งยัดเข้าไปเข้าไปในอีกวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แม้แต่ในวัฒนธรรมเดียวก็ยังมีระบบความเชื่อที่ต่างกัน (บ้านเราเถียงกันเรื่องประชาธิปไตยกันไม่เลิกก็เพราะความหมายของคำมันดิ้นไปตามความเชื่อและคุณค่าที่ต่างกัน)

แม้จะยังไม่รู้ว่าผลการปรับตัวในขั้นที่สามของการช็อกทางวัฒนธรรมของผมจะออกมาอย่างไร แต่ว่าหนึ่งชั่วโมงที่ได้นั่งฟังและเอากลับมาคิดและเขียนต่อก็พอจะช่วยให้เตรียมใจได้บ้าง

ใครเดินทางข้ามวัฒนธรรมมาแล้วอยากแลกเปลี่ยนก็อย่ารอช้าเลยครับ…

ภาพประกอบ: http://openflights.org/demo/openflights-routedb-2048.png

หมายเลขบันทึก: 349202เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2010 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท