บันทึกตอบความเห็นเกี่ยวกับรูปภพ อรูปภพ


จากบันทึกที่แล้ว คุณกาญจนาได้ทิ้งคำถามไว้ว่า

.......แต่พี่ข้องใจอยากถามจากอุปทาน เป็นเหตุให้เกิดภพ การกำหนดของจิตให้เกิดการกระทำแบบรูปภพหมายถึงการกระทำอย่างไร? และการกระทำแบบอรูปภพหมายถึงการกระทำอย่างไร?

ขออนุญาตตอบความเห็นด้วยการนำการให้ความหมายของคำต่างๆจากพระคุณเจ้าท่านเหล่านี้มาร้อยเรียงกันนะคะ เพื่อที่ว่าจะได้สามารถใช้อ้างอิงในเวลาต่อไปได้ค่ะ

แผนภูมิแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิกับจิต

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร) พุทธจักรวาลวิทยา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (หน้า57)

ภูมิ 4 ชั้นแห่งจิต,ระดับจิตใจ,ระดับชีวิต

1 กามาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม, ระดับจิตใจที่ยังปรารถนากามเป็นอารมณ์ คือยังเกี่ยวข้องอยุ่กับกามคุณ, ระดับจิตใจของสัตว์ในกามภพทั้ง 11 ชั้น.....

2 รูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้ฌานหรือผู้อยู่ในรูปภพทั้ง 16 ชั้น......

3 อรูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ระดับจิตใจของท่านผู้ได้อรูปฌาน หรือผู้อยู่ในอรูปภพทั้ง 4 ชั้น......

4 โลกุตตรภูมิ (ชั้นที่พ้นโลก, ระดับแห่งโลกุตตรธรรม, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้าอันพ้นแล้วจากโลกิยภูมิ 3 ข้างต้น ...... ข้อนี้ในบาลีที่มาเรียกว่า อปริยาปันนภูมิ (ขั้นที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏะ, ระดับที่ไม่ถูกจำกัด.....

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลธรรม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (หน้า 127)

คำว่า สังสารวัฏฏ์ นั้น หมายถึง สงสารว่าที่ท่องเที่ยว, วัฏว่าที่วน,รวมความหมายว่าที่วนท่องเที่ยว คือภพที่เวียนว่ายตายเกิด

สังสาร ภพ หรือภูมิ ตามที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานั้นมี 3 ภพ หรือภูมิด้วยกัน กล่าวคือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ ซึ่งในแต่ละภูมิก็จะมีลักษณะทางจิตแตกต่างกันออกไป

จากนัยของ วัฏฏะ 3 กล่าวคือ กิเลส กรรม และวิบากนั้น จะเห็นว่า จากการที่มนุษย์แต่ละคนนั้นดำรงอยู่ในสถานะของความเป็นปุถุชน ซึ่งมีสภาพจิตที่ถูกปกคลุมไปด้วยกิเลสในลักษณะต่างๆ (กิเลส) และในขณะเดียวกัน กิเลสที่ดำรงอยู่ภายในจิตของมนุษย์นั้น ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ต้องสร้างกรรมในลักษณะต่างๆกัน (กรรม) และผลอันเนื่องมาจากการกระทำกรรมนั้นเอง ก็จะส่งผลให้มนุษย์ไปเกิดในภพ หรือภูมิต่างๆ (วิบาก) ฉะนั้น มนุษย์ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพ หรือภูมิต่างๆ จากบนลงล่าง จากล่างไปหาข้างบน วนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะเข้าถึงโลกุตตรภูมิ

จะเห็นว่า การที่พระพุทธเจ้า และบรรดาสาวกของพระองค์ได้พูดถึงภพ หรือภูมิในบริบทต่างๆ หรือการที่พระอรรถกถาจารย์ได้นำเสนอภพ หรือภูมิ จากฐานรากของภูเขาสิเนรุไปจนถึงยอดเขาสิเนรุ ผ่านทะลุเมฆหมอกขึ้นไปนั้น ได้กลายเป็นเครื่องมือ หรือสัญลักษณ์ทางรูปธรรมและนามธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ในอันที่จะชี้ให้พุทธศาสนิกชนได้มองเห็นรูปแบบการเวียนว่ายตายเกิดของตัวในภูมิต่างๆ ซึ่งการใช้ภพ หรือภูมิ เป็นสื่อนี่เองจะมีผลในทางจิตวิทยาอย่างยิ่งใหญ่ต่อพุทธศาสนิกชนและศาสนิกในศาสนาอื่นๆ เมื่อมองเห็นรูปลักษณ์ของ 31 ภูมิในแง่มุมต่างๆแล้ว มนุษย์ที่เพียบพร้อมไปด้วยสัมมาทิฏฐิก็จะมีแรงจูงใจที่จะไปสู่ภพภูมิต่างๆที่ดีและละเอียดมากกว่า

การนำเสนอโลกทัศน์ที่ว่าด้วยภพภูมิในลักษณะต่างๆ ทำให้มนุษย์มีทางเลือกของตนเองมากยิ่งขึ้น การเลือกนั้น ไม่ได้เกิดจากการบังคับบัญชาของใคร หรือการสร้างของใคร หากแต่เกิดจากการตัดสินใจของมนุษย์เอง

จะอย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนานั้นก็ไม่ได้มุ่งสอนที่จะให้มนุษย์ติดอยู่ในภูมิทั้ง 3 เท่านั้น แต่มนุษย์ควรที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนตามหลักการของพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาคุณภาพจิตของตนให้ข้ามพ้นภูมิทั้ง 31 เพื่อเดินทางไปสู่ภูมิสุดท้ายคือ โลกุตตรภูมิ ให้ได้ อันเป็นการนำพาตัวเองให้ข้ามพ้นจากภูมิต่างๆประดุจการชักพาตัวเองออกจากที่คุมขัง คือ สังสารวัฎฎ์

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร) พุทธจักรวาลวิทยา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (หน้า50-51)

ภพ โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์ ภาวะของชีวิตของสัตว์ มี 3 คือ

1 กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ

2 รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน

3 อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน

พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (หน้า 168)

กามาวจรภูมิ ภูมิที่ยังเกี่ยวอยู่กับกาม เรียกว่ากามาวจรภูมิ ภูมิต่ำที่สุดก็หมายถึง ธรรมะหรือความรู้สึกในจิตใจก็ตาม ที่ยังเกี่ยวเกาะกับกาม นี้มันก็ได้แก่สัตว์ทั่วไป ทั้งสัตว์มนุษย์ สัตว์เดียรฉาน

พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา (หน้า 12)

รูปโลก โลกสำหรับสัตว์ที่ติดข้องในรูป หมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นกาม เป็นรูปบริสุทธิ์

รูปโลก คือโลกสำหรับสัตว์ที่มีจิตอยู่เหนือกาม แต่ยังติดอยู่ในสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกาม

รูปาวจรภูมิ ได้แก่ฐานะของจิตที่ไม่ต่ำจนถึงกับว่าพอใจในกาม แต่ว่ายังพอใจในความสุขที่เกิดมาแต่สมาบัติ ที่มีอารมณ์เป็นรูปธรรม สิ่งใดๆก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับกาม

รูปาวจรภูมิ ภูมิที่เกาะเกี่ยวอยู่กับรูปบริสุทธิ์ไม่มีกาม เมื่ออย่างแรกหมายถึงความสุขที่เกิดมาจากกามแล้ว อย่างที่สองนี้หมายถึงความสุขที่เกิดมาจากสมาธิที่มีรูปบริสุทธิ์ มันไปเกี่ยวกับเอาสิ่งที่มีรูปมาทำสมาธิให้เกิดความสุข แล้วก็มาเกี่ยวอยุ่กับความสุขชนิดนี้ เขาถือหัวใจอย่างนี้ มันสูงกว่าหัวใจที่ไปเกี่ยวเกาะอยู่กับ กาม เพราะฉะนั้นจึงเป็นระดับที่สอง มันได้แก่จิตใจของพวกฤาษี มุนี โยคี ระดับต้น ระดับแรก ลุ่มหลงอยู่ในความสุขที่เกิดจากสมาธิ เหมือนบทสวดที่ว่า เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกวันคืน ตามหนังสือเก่าๆ จำศีลกินวาตา นี้มันก็บอกอยู่แล้วว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับกาม เข้าฌานนานนับเดือน ก็ไม่ได้ไปยุ่งกับกาม แต่มันหลงอยู่ได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่สัตว์ธรรมดาไปหลงอยู่กับกาม

พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา (หน้า 211-212)

อรูปโลก สภาพของจิตที่ลุ่มหลงอยู่ในสมาธิที่ไม่มีรูปร่างเป็นอารมณ์

อรูปโลก โลกสำหรับสัตว์ที่มีจิตใจอยู่เหนือกาม และอยู่เหนือการติดอยู่ในรูป แต่ว่าไปติดอยู่ในสิ่งที่ไม่มีรูป ซึ่งบริสุทธิ์ยิ่งไปกว่ากามหรือรูป

อรูปาวจร จิตที่ท่องเที่ยวไปในสิ่งที่ไม่มีรูป หมายถึงอรูปฌาน

อรูปาวจรภูมิ ได้แก่สถานะของจิตที่ยังพอใจในความสุข หรือความสงบอันเกิดแต่สมาบัติ ที่มีสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์

พุทธทาสภิกขุ พจนานุกรมธรรมของท่านพุทธทาส ธรรมสภา (หน้า 332-333)

หมายเลขบันทึก: 348826เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณค่ะ..เห็นเป็นวงจรที่ชัดเจนมากค่ะ..

ขอขอบคุณมากนะค่ะ

สำหรับธรรมเรื่องรูปภพ อรูปภพ ที่ละเอียดและชัดเจนค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง แผนภูมิแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิกับจิต

ขอบคุณค่ะ

สาธุครับ

  • เป็นข้อธรรมที่ตอบได้ชัดเจนยิ่งแล้วครับ

Lotus_09

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดามาเรียนรู้ค่ะ..คงต้องศึกษาไปเรื่อยก่อนที่จะถึงเวลาของการสงบจิตทำสมาธิต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ณัฐ

ไม่ได้เข้าไปชมภาพสีน้ำงามๆ นานแล้วค่ะ เพิ่งสะสางงานแล้วเสร็จเมื่อวานนี่เองค่ะ

ตอนนี้จึง โปล่ง โล่ง ว่าง สบายๆ ... นี่ธรรมะขั้นสูง เลยนะคะเนี่ยปูยังเข้าไม่ถึงค่ะ ;)

สุขสันต์เทศกาลปีใหม่ไทย วันครอบครัว สุข สงบดั่งใจปรารถนานะคะ

ขอบพระคุณมากครับ ที่ช่วยจุดประกายด้วยบทความดีๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท