ศูนย์เรียนรู้!โครงการศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านหนองยาง


จุดเริ่มต้น

         เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ผู้เขียนได้เดินทางร่วมกับทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โดยการนำของนายบำรุง  ศรีทองใส เกษตรจังหวัดชัยนาท เพื่อเข้าร่วมโครงการเกี่ยวข้าวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน  อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ บ้านหนองยาง ต.สุขเดือนห้า อ.เนินขาม จ.ชัยนาท  หลังจากการดำเนินงานเสร็จสิ้นโดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท (นายจำลอง โพธิ์สุข) ผู้ซึ่งนำทีมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมเกี่ยวข้าวกับเกษตรกร จนแล้วเสร็จในเวลาเที่ยงวันท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนแรง มีเพียงสายลมเย็นที่พัดผ่านให้คลายร้อนได้บ้างเป็นบางช่วงขณะเท่านั้น  เมื่อปล่อยปลาเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้รับคำจากเกษตรจังหวัดชัยนาทว่า “เราควรน้อมนำโครงการพระราชดำริฯ เผยแพร่สู่ประชาชนให้ได้รับทราบ”

 

ความเป็นมาของโครงการฯ

      ก่อนอื่นมารับทราบความเป็นมาของโครงการศูนย์สาธิตฯ พื้นที่แห่งนี้ แต่เดิมเป็นที่ดินของนายศุภชัย ผดุงเจริญ และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา มีพื้นที่ทั้งสิ้น 41 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งบริเวณพื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หน้าดินตื้น เก็บความชื้นได้น้อยและระบายน้ำไม่ดี นอกจากนี้ ยังมีชั้นดินดาน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้หลักแนวคิดทฤษฎีใหม่ มีการศึกษาทดลองด้านไม้ผล พืชผัก ข้าว รวมทั้งเป็นแหล่งสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน และเป็นศูนย์สาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ขยายพืชพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของท้องถิ่น และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง  ส่งเสริมและขยายผลพันธุ์พืชพันธุ์ดีแก่เกษตรกรและประชาชน ทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกในการปลูกพืชเกษตรอื่นๆ โดยมูลนิธิฯ ได้มีมติให้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นคำมั่นรับพื้นที่ดังกล่าวเป้นของมูลนิธิฯ และโอนให้กับมูลนิธิฯ เดือนเมษายน 2543  เพื่อพัฒนาพื้นที่แปลงดังกล่าวเป็นศูนย์พัฒนาการเกษตรตามพระราชดำริฯ

ตัวอย่างสิ่งดีๆ บางส่วนที่มีในที่นี้

      การ ดำเนินงานในโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของจังหวัดชัยนาทด้วยดีตลอดมา ในการเข้าร่วมพัฒนาบริเวณพื้นที่โครงการ โดยได้สาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ดี การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต และการผลิตข้าวเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ข้าวที่ปลูก คือ ข้าวพันธุ์พิษณุโลก 3 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 500 กก./ไร่ พร้อมทั้งได้สาธิตวิธีการปรับปรุงบำรุงดินก่อนและหลังการปลูกข้าว โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเองในโครงการ รวมทั้งการใช้หญ้าแฝกเพื่อปรับปรุงดิน เพิ่มความชุ่มชื้นในดิน และป้องกันการพังทลายของดินในบริเวณแปลงปลูกพืชไร่ พืชสวน และบริเวณรอบสระน้ำ ซึ่งเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาตะเพียนทอง และปลาม้า

ผลการดำเนินงาน

    นายนพดล   อดิสรณกุล  หัวหน้าศูนย์สาธิตฯ  กล่าวว่า การจัดทำแปลงสาธิตการปลูกพืชไร่พันธุ์ดีและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต เช่นข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์ 3 อ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 80 การปลูกไม้ผล และการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ โดยใช้หลักวิชาการและดัดแปลงจากวิธีการของเกษตรกรดำเนินการควบคู่กันเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปผลผลิต เช่นการสีข้าวด้วยเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก  และการปลูกป่า  ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ของโครงการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเข้ามาขอรับบริการน้ำสกัดชีวภาพและขอรับบริการสีข้าว การนำไปใช้ของเกษตรกรมีผลสัมฤทธิ์ที่น่าพอใจ คือ ในสภาพนาดอน เกษตรกรกรปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 615 กก./ไร่ ในสภาพนาลุ่ม เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 3 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 414 - 712 กก./ไร่ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกอ้อยพันธุ์ดี ได้ผลผลิตสูงถึง 15 ตัน/ไร่ ส่วนการปลูกถั่วฝักยาวและแตงกวาในครัวเรือน สามารถทำให้เกิดรายได้จากพืชผักสวนครัวตลอดทั้งปี  อีกทั้งการที่เกษตรกรนำความรู้ที่ได้จากโครงการ ทั้งด้านพันธุ์พืช ด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิต ระบบปลูกพืช การปรับปรุงดิน รวมถึงการทำการเกษตรผสมผสานไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ทำให้คุณภาพของดินดีขึ้น ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ผลผลิตขายได้ในราคาที่สูงขึ้น จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยินดีต้อนรับเกษตรกรผู้มาเยียนตลอดเวลา ครับ

คำสำคัญ (Tags): #พอเพียง
หมายเลขบันทึก: 348122เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท