ครูหยุยพาเด็กเดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง


พึ่งตนเอง

 

 

 

ครูหยุยพาเด็กเดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

               เรานัดพบกับครูหยุยที่”บ้านสร้างสรรค์เด็ก” ซึ่งอยู่แถวๆ คลองสาม  จังหวัดปทุมธานี เพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจศึกษาเกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่นั่น.....
             “ผมทำงานที่นี่ก่อนทำงานการเมือง” ครูหยุยกล่าวทักทาย ก่อนจะเสริมว่าได้ทำงานการเมืองควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อเด็กในมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  เมื่อตำแหน่งทางการเมืองของเขาหมดวาระลง ก็มีเวลากลับมาทุ่มเทชีวิตอยู่ที่กับเด็กๆด้อยโอกาสในแง่มุมต่างๆ เหมือนเดิม
             ครูหยุยยังคงเป็นครูหยุยไม่เปลี่ยนแปลง ดวงตาในกรอบแว่นส่อแววมุ่งมั่น คิด ทำและต่อสู้เพื่อเด็กๆอย่างที่เป็นมาตลอดชีวิต แหละนี่....ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง....
   
             ผืนดินสิบไร่ริมบึงใหญ่ มีอาคารสองชั้นสร้างเป็นแนวยาวไว้ เห็นพืชบางชนิดกำลังเติบโตภายใต้การดูแลที่มุ่งมั่น เลี้ยงสัตว์ซึ่งสามารถให้ผลผลิตอันเป็นประโยชน์  และเด็กชายอีกกว่าหกสิบชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันกับครูผู้ดูแล  
           “พูดง่ายๆ เด็กที่อยู่ที่นี่มาจากสองแบบ” ครูหยุยชี้แจง “บางคนกำพร้าไม่มีบ้านเลย ไม่รู้หรือจำไม่ได้ว่าบ้านอยู่ไหนหรือมีสภาพเป็นอย่างไร  บางคนเติบโตในชุมชนสลัมเล็กๆ ชาวบ้านก็ช่วยกันให้ข้าวให้น้ำ พอโตเขาเลี้ยงไม่ไหวก็พามาฝากที่นี่  อีกแบบคืออยู่บ้านไม่ได้ บ้านอาจจะยากจนไม่มีปัญญาเลี้ยงให้มีคุณภาพ อยู่บ้านไม่ได้เพราะถ้าอยู่ก็คงไม่ได้เรียนหนังสือ ป่วยก็จะไม่มีคนพาไปหาหมอ หรือบางคนหนักกว่านั้น อยู่ที่บ้านก็อาจจะโดนละเมิดในรูปแบบต่างๆทั้งทางกายและทางเพศ อย่างรุนแรง และบางคนก็หนีออกมาจากบ้าน มาเร่ร่อนบนถนน ซึ่งทางมูลนิธิฯมีรูปแบบครูข้างถนนจัดทำกิจกรรมรุกไปพบปะเด็กเหล่านั้น จนเขาไว้วางใจและยอมติดตามเข้ามาอยู่ที่บ้ายหลังนี้  ตอนนี้ก็มีเด็กอยู่กับเราร้อยกว่าชีวิต แยกบ้านหญิงชายหลังละกว่าหกสิบคน บ้านเด็กผู้หญิงชื่อบ้านอุปถัมภ์เด็ก อยู่ที่หลักสี่ ส่วนบ้านเด็กชายที่นี่ เรียกว่าบ้านสร้างสรรค์เด็ก”
 
          “พอเด็กๆมาอยู่ร่วมกัน หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องสำคัญมันก็เกิดขึ้นท้าทายเรา ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเด็กดำเนินไปได้กับครู และไปได้ดีด้วย ผมหมายถึงความอยู่รอดของเราของมูลนิธิฯแล้วก็ของเด็กๆ ในอนาคต  ให้เขาได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ แล้วมูลนิธิฯก็สามารถเติบโตเป็นที่พึ่งให้เด็กๆรุ่นต่อไปได้ มันก็เลยออกมาในรูปแบบนี้ คือยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง”  ครูหยุย กล่าวย้ำและอธิบายเพิ่มเติม.....
           ประสบการณ์สามสิบปีของครูหยุยในรูปแบบงานพัฒนาเด็กด้อยโอกาส บอกกับเราว่ามูลนิธิฯช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย มีการทำงานอยู่สองลักษณะ อย่างแรกคือเน้นเรื่องของการระดมทุนหาเงิน  กล่าวคือการเปิดสำนักงานขึ้นมา บอกสังคมให้รับรู้ถึงปัญหา แล้วรณรงค์ระดมทุนมาให้ได้มากๆส่วนหนึ่งหักเป็นค่าบริหารจัดการ ที่เหลืออีกส่วนนำไปมอบกับเด็กๆในกลุ่มเป้าหมายเป็นครั้งคราว โดยงานลักษณะนี้ไม่ได้มีเด็กอยู่ในการดูแล   ส่วนของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กทำอีกแบบ ก็คือรับเด็กที่ประสบปัญหาเข้ามาดูแล ให้อยู่เติบโตไปกับเราจนกระทั่งเขาดูแลตัวเองได้” ครูหยุย อดีตสว.กทม.กล่าวเสริม
  
            “เหตุที่ต้องเปิดบ้านขึ้นรองรับเด็กๆ ก็เพราะเด็กไม่มีที่อยู่ แล้วบางรายอยู่ที่บ้านของเขาไม่ได้จริงๆ ถ้ามีเวลาผมจะพาคุณลงชุมชน ไปดูบ้านเด็กๆ เราเชื่อว่าอย่างไรก็ตามบ้านที่เรามี ก็ดีกว่าบ้านที่เด็กๆอยู่  เราก็ต้องเปิดบ้านขึ้นรองรับเขา แยกหญิงชาย ”
               แหละนั่นก็หมายถึงภาระและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยงได้ “ครูต้องทำงานหนักทั้งกลางวันและกลางคืนทุกวัน เหมือนบ้านที่มีลูก บ้านอื่นๆอาจจะมีลูกสองสามคนซึ่งมีที่มาที่เดียว แต่ของมูลนิธิฯคือบ้านที่มีลูกร้อยคน ที่มาก็ร้อยแบบ ยังไม่ต้องพูดว่าก่อนจะมาถึงเรา เขาเผชิญอะไรมาบ้าง
 ครูหยุยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ซึ่งเราก็ต้องคิดต่อไปอีกว่าจะหาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูเขา” 
              แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริจึงถูกยกมาเป็นธงนำให้เด็กและครูในบ้านสร้างสรรค์เด็กเดินตาม “เราน่าจะเป็นองค์กรด้านเด็กองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ทำงานโดยไม่ได้อาศัยเงินจากต่างประเทศเลย ทั้งหมดได้มาจากการบริจาคโดยคนไทย” อดีต สว.กทม.กล่าวด้วยความภาคภูมิ “ซึ่งถ้าถามว่าทำได้อย่างไรก็ต้องบอกว่า งานช่วยเด็กอยู่ได้ความศรัทธาในการทำงานที่ทุ่มเท ทำให้เห็น ให้จริง คุณมาที่นี่เมื่อไหร่ก็ได้  พบคุยกับเด็ก ถามเขาได้ว่าอยู่ที่นี่ดีไหม มีความสุขไหม คำตอบอยู่ที่เด็ก  ไม่ต้องนัดล่วงหน้า อยากมาเยี่ยมเด็ก มาเลี้ยงอาหารกลางวัน มาบริจาคเงินบริจาคสิ่งของ มาได้เลย เด็กๆอยู่ที่นี่ โตที่นี่”
              “พอเศรษฐกิจโลกและไทยมีแนวโน้มทรุดลงแบบนี้ เงินบริจาคก็ลดลง แต่เด็กๆที่เราต้องรับมาดูแลไม่ได้ลดลงด้วย เราปิดบ้านไม่ได้แน่ๆ ถ้าไม่มีมูลนิธิฯเด็กกว่าร้อยคนไม่มีที่อยู่แน่นอน เราก็ต้องหาทาง ดูแลแบบพึ่งตนเองและประหยัดให้มากที่สุด ต้องลดรายจ่ายลง ลดอย่างไรไม่ให้กระทบมาก ผมคิดว่าคงต้องพึ่งตนเองมากขึ้น เรามีที่ดินสิบไร่ ทำอะไรได้มากมายบนแผ่นดินของเรา ก็เริ่มเลี้ยงไก่....”
              เรือนเลี้ยงไก่ไข่ตั้งอยู่บนหนองน้ำซึ่งเลี้ยงปลาประเภทปลานิล ปลาทับทิม ปลาช่อน  ยังมีเรือนเพาะเห็ดอยู่เคียงกันถัดมาเป็นคอกเป็ด คอกไก่บ้าน ไกลไปอีกด้านผักสวนครัวเริ่มผลิดอกออกผลอยู่ใต้หลังคาพลาสติกโปร่ง ต้นกล้วย ชะอมเพิ่งลงดินพร้อมกับการมาถึงของแพะสองตัว บึงเล็กๆถัดมาทำกระชังเลี้ยงปลาดุก ซึ่งอีกไม่นานจะมีฝูงกบตามมา ……… 
 
               นอกจากได้เรียนหนังสือในโรงเรียน ได้กินอาหารถูกสุขลักษณะ ได้คิด ฝัน และมีความสุขภายใต้กิจกรรมอย่างสร้างสรรค์โดยมีครูเป็นผู้ส่งเสริม เด็กๆบ้านสร้างสรรค์เด็กยังมีหน้าที่เฉพาะตน ต้องดูแลงานเกษตรตามที่สนใจ  หลังกลับจากโรงเรียนเราจะเห็นบางคนให้อาหารไก่และเก็บไข่ เก็บเห็ด เก็บผักบุ้ง เพาะถั่วงอก ดูแลแพะ ไก่บ้าน บางคนรดน้ำผักพรวนดิน หลายคนช่วยกันให้อาหารปลาและควบคุมสภาพน้ำ “ผมคิดว่าเป็นอีกวิธีที่ทำให้เด็กๆไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง และของเราทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย มูลนิธิฯมุ่งหวังจะสร้างพวกเขาเป็นยุวชนเกษตรให้ได้  ครูหยุยกล่าวย้ำ   “ผมอยากจะให้เขารู้ว่า ที่สุดแล้วการเกษตรเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนแล้วก็งดงาม ทำอยู่ทำกิน พึ่งพาธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียน ลงแรง อดทน เฝ้ารอ เรียนรู้ไปกับแผ่นดินที่เราอยู่ ผลผลิตที่ได้มาก็นำมาใช้ดำรงชีวิตแบบไม่ฟุ่มเฟือย เราจะอยู่ได้ แล้วก็มีความสุขด้วย”
 
              สำหรับผลผลิตที่ได้มา หากคำนวณเป็นตัวเอง ไข่ไก่เดือนละกว่า 3,000ฟอง  เห็ดนางฟ้าเดือนละกว่า 50 กิโล  ถั่วงอก ผักบุ้ง กระเฉด กินได้ทุกมื้อที่ต้องการ  อีกไม่นานนักเราไม่ต้องซื้อเนื้อเพราะมีปลาหลากหลายชนิดที่โตขึ้นมาเป็นอาหาร  เขาย้ำอีกครั้ง พลางกล่าวต่อ “อื่นๆก็ได้ผลผลิตดี  มีปัญหาอยู่บ้างคือเรื่องพืชสวนครัว อาจจะยังไม่ค่อยงอกงาม เพราะดินที่นี่ดินมันเค็ม เราก็พยายามปรับอยู่....”
              ครั้นถามถึงความฝันของครูหยุยและมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กว่าด้วยเรื่องในอนาคตกับผืนดินแห่งนี้ซึ่งยังมีส่วนที่ว่างเปล่า “ผมคิดว่า...ผมอยากเปิดบ้านอีกสักหลัง รับเด็กด้อยโอกาสเข้ามาเพิ่มมาก สร้างเป็นยุวชนเกษตร มีกิจกรรมในบ้านอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ แล้วก็ช่วยกันทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ ขยายฐานงานเกษตรเพิ่มขึ้น อันนี้คิดเร็วๆนะ ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เรายังมีที่ดินว่างอยู่ คิดถึงว่าเด็กๆปลูกข้าวเป็น นำข้าวนั่นมาแบ่งปันกัน ใช้ชีวิตอยู่กินไปกับผลผลิตที่เราดูแลเอง มูลนิธิฯคงเป็นองค์กรที่อยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง เด็กๆเติบโตภายใต้สิ่งแวดล้อมซึ่งผมคิดว่างดงามและอ่อนโยน เราคงคืนชีวิตดีๆให้กับสังคมของเราได้....และเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะกลับไปพึ่งตนเองได้ ในผืนดินเล็กของเขาเองต่อไป”ครูหยุยกล่าวในที่สุด
             มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยเล็กๆที่มีเด็กต้องดูแล ดูแลให้สังคมก่อนที่พวกเขาจะเติบใหญ่ มีครูผู้เสียสละ ทุ่มเทและมุ่งมั่น ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนาน เด็กๆรุ่นแล้วรุ่นเล่าอาศัยแล้วเติบโตก่อนจะจากไปใช้ชีวิตในสังคม  เด็กรุ่นใหม่ๆก้าวเข้ามาแทนที่
             พวกเขาพึ่งพาตนเองโดยมิได้เรียกร้องใดๆให้โลกได้รับรู้ ทำงานหนักเงียบๆจนถึงเวลาหันกลับมาทบทวนวิถีแห่งตน มีผืนแผ่นดิน มีชีวิต และมีความฝันอยู่ในหัวใจกล้า จึงได้ก้าวเข้าสู่มิติใหม่แห่งการทำงาน อยู่ได้ เลี้ยงตนเองได้ มีประโยชน์ และมีความสุข 
………..เปรม  ยุวชน..............

 

 
หมายเลขบันทึก: 347939เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ผมขอรายงานความคืบหน้าในการพึ่งตนเองของ "มูลนิธิสร้างสรรค์เด้ก"นะครับว่า ที่บ้านสร้างสรรคืเด็กซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิฯ ตั้งอยู่ย่านคลอง 3 รังสิต(ทางไปนครนายก) ที่สำเร็จได้ผลไปแล้วคือ "ไก่ไข่"ที่ได้ไข่วันละ 120 ฟอง เห็ดนางฟ้าวันละ 3 กิโล ถั่วงอกได้กินทุกวัน แพะตกลูกแล้ว 1 ตัวเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่เปิดและไก่บ้านขยายพันธ์ได้ลูกเจี๊ยบหลายตัว ส่วนปลานิล ปลาทับทิมและปลาดุกได้กินไปหลายรุ่นแล้ว

สำหรับพืชเกษตรนั้น มีปัญหาดินเปรี้ยว แก้ไขมาหลายรอบแล้ว ยังแก้ไม่ตก ผลผลิตทางเกษตรจึงยังไม่ได้ดังใจ ต้องพยายามกันไป ท่านใดมีข้อคิดเห็นดีๆ เชิญนำเสนอนะครับ จะได้นำไปพัฒนาต่อยอด เพราะที่ผ่านมานั้นพึ่งตนเองโดยลดค่าอาหารลงได้มากพอสมควร

นอกจากนี้ บ้านสร้างสรรค์เด็ก ยังเน้นกระบวนการรีไซเคิล ทั้งกระดาษ ขวดพลาสติค เด็กๆ รวบรวมขายและเก็บออมไว้เป็นระยะๆ ยอดรวมเงินของเด้กๆ หมื่นเศษแล้วครับ เด็กๆ พอเห็นยอดเงินโตขึ้นก็มีกำลังใจกันมาก เพราะเป็นเงินที่พวกเขาสามารถนำไปทำกิจกรรมของพวกเขาเองได้

เหล่านี้คือพัฒนาการในทางที่ดี ที่ขอบอกเล่าเก้าสิบมายังท่านทั้งหลายที่ต้องการเห็นเด้กไทยเติบโตไปในทางที่ดี หากมีเวลาว่างไปเยี่ยมพวกเขาบ้างนะครับ โทรติดต่อบ้านได้ที่ 02-152-3565 ครับ

ขอคุยกับครูหยุย เรื่องพลังอันบริสุทธิ กับพันธมิตร

พธม.การกระทำมีทั้งดีและเสีย แต่คิดว่าดีมากกว่าเสีย

ความตั้งใจที่จะทำเพื่อบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องของสถาบันจะต้องมีที่หนึ่ง

ความเสียสละพวกเราไม่ได้เงินค่าจ้าง มีีงานบุญ งานกุศลจะร่วมกันทำเสมอ

การที่เราไปร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงความรักชาติ

แต่กลับถูกกีดกันให้ออกมา เสียใจ จึงขออยู่กับบ้านเฉย ๆ ตั้งแต่ 21/4/53

ชอบครูหยุยมาก ขอเป็นกำลังใจให้นายกต่อไปเงียบ ๆ ขอให้ชาติกลับมาสงบสุขโดยเร็ว

ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระเทพฯ ทรงพระเจริญ

พูดถึงพลังบริสุทธิ์ นี่คือสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผมเดินทางไปร่วมกับกลุ่มหลากสี ผมสัมผัสพบว่าส่วนใหญ่ไม่เคยออกมาชุมนุม ไม่มีประสบการณ์ใดใด หากเกิดอะไรขึ้นปัจจุบันทันด่วน จะน่าห่วงมาก เมื่อผมได้รับฟังว่าจะนำพลังเหล่านี้ไปรวมกับพันธมิตร ผมต้องทักท้วง ไม่ใช่เพราะรังเกียจพันธมิตร ในใจชื่นชมด้วยซ้ำว่าเป็นหลักสำคัญในการพิทักษ์ชาติแผ่นดินและสถาบันสำคัญของชาติ แต่การประกาศจะนำกลุ่มไปร่วมชุมนุมกับใครนั้น น่าจะเกินเลย (ผมให้สัมภษณ์โดยละเอียดในแทบลอยด์ไทยโพสต์ไปแล้ว) คุณจิตราพครับ แม้บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่เราต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยเพื่อลูกหลานของเราครับ อย่าเพิ่งท้อและหมดกำลังใจนะครับ

ศรัทธาและสู่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเสมอ ครูหยุย

ก่อนหน้านี้หลายวัน คลองที่ขุดไว้สองคลองที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก รังสิต เริ่มแห้งจนน่าใจหาย เพราะคลองทั้งสองนี้ ผมได้ทำกระชังเลี้ยงปลาไว้มาก ทั้งปลาดุก ปลากนิล ปลาทับทิม ขนาดกำลังโต โดยเฉพาะปลาดุกที่กระชังอยู่ใต้กรงไก่ไข่ อาหารจึงสมบูรณ์มากเลี้ยงไม่นานก็โตเกือบเท่าฝ่ามือแล้ว ส่วนหญ้าที่ปลูกไว้ก็เริ่มแห้งกรอบ จักรยานถีบสูบน้ำโดยใช้แรงปั่นจากเด็กๆ ก็สูบน้ำขึ้นมาสู้ไม่ทันแดดที่ร้อนเปรี้ยงๆ โชคดีมากที่ฝนตกมาหนักๆ สอง-สามครั้ง น้ำในคลองเริ่มจะเต็ม หญ้ากลับมาเขียวอีกครั้ง

แต่ฝนมาพร้อมลมแรง ทำเอาหลังคามุงจาคฟาร์มไก่หลุดลุ่ยตามแรงลม ครูและเด็กๆ ต้องช่วยกันซ่อมแซมเป็นการใหญ่ ได้บรรยากาศความร่วมไม้ร่วมมือที่ดีไปอีกแบบ คือซ่อมไปสนุกสนานหัวเราะกันไป

ผมรีบเร่งพิมพ์ความคืบหน้าในเช้าวันนี้ เพราะอีกไม่ถึงชั่วโมงผมก็จะเดินทางไปที่นั่น ด้วยมีนัดกับครูเกี่ยวกับการดูแลและเพิ่มแนวทางการพึ่งตนเองให้หลากหลายยิ่งขึ้น แล้วได้ความคืบหน้าอะไรๆ ที่น่าสนใจ ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟ้งต่อไป

ขอบคุณครับสำหรับการติดตามศึกษาบทบันทึกของผม

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ เรื่องของครูหน่อง-ธีระพันธ์ ศุกระกาญจนะ

พอดีว่าอ่านหนังสือ ฝนกลางฝุ่น

ครูหน่อง หรือนายธีระพันธ์ ศุกกระกาญจนะ ร่วมทำงานกับผมมาแต่ครั้งอยู่ที่มูลนิธิเด็กร่วมกัน พอผมแยกออกมาทำมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ครูหน่องก็ตามมาช่วยงานผมด้วย กรณีชีวิตครูหน่องน่าสนใจมาก เพราะร่วมกับผมคิดงาน "ครูข้างถนน"และอาสาเป็นครูข้างถนนคนแรกออกไปทำงานข้างถนน อยู่กินนอนกับเด็กข้างถนนหลายวันเพื่อให้ทราบชีวิตที่แท้จริงว่าเด็กข้างถนนกินอยู่หลับนอนกันอย่างไร เรียกว่าเป็นคนทำงานหนัก เอาจริงจนเป็นที่รักของเด็กๆ ข้างถนนมาก รวมถึงครูข้างถนนคนอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทั้งรักทั้งศรัทธาในตัวครูหน่อง เมื่อผมเปิดบ้านสร้างสรรค์เด็กสำหรับเด็กเร่ร่อนขึ้น ก็ได้ครูหน่องรับภาระเป็นผู้บุกเบิกและดูแลบ้านหลังนั้นมานานหลายปี

ต่อมา ครูหน่องไม่สบายและตรวจพบว่าตนเองเป็น "มะเร็ง" ก็รักษาตัวและทำงานหนักไปพร้อมๆ กัน แต่ก็สู้โรคร้ายไม่ไหว จึงเสียชีวิตลงท่ามกลางความเสียใจของคนทำงานและเด็ก เรื่องราวการอุทิศตัวของครูหน่องจึงเป็นเรื่องที่เล่าขานต่อมาจนรับรู้ไปถึงนักเขียนดังคือ พี่กฤษณา อโศกสิน ที่สนใจมากถึงกับลงมาเก็บข้อมูล ลงพื้นที่พูดคุยกับเด็กๆ ข้างถนนตามพื้นที่ต่างๆและลงมือเขียนเป็นสารคดีชีวิตลงในนิตยสาร "แพรวว" ทำให้ผู้คนรู้จักครูหน่องอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ครับนี่คือเรื่องราวโดยสรุป หากสนใจชีวิตครูหน่องเพิ่มขึ้น น่าจะลองไปพบพูดคุยกับ "ครูเล็ก"ภรรยาครูหน่องที่ทำงานสืบทอดอุดมการณ์ของครูหน่องอยู่ที่บ้านสร้างสรรค์เด็กที่ครูหน่องบุกเบิกขึ้น จะได้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก นะครับ

ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้ค่ะ..

เพื่อประเทศชาติ และในหลวงของเราค่ะ..

ขอบคุณมากมายค่ะ..^^

ไม่ทราบว่าปัญหาดินเปรี้ยวได้รับการแก้ไขหรือยังครับ แล้วแก้ไขได้หรือไม่

หากแก้ไขยังไม่ได้ อยากทราบว่าได้ทำการแก้ไขด้วยวิธีใดไปแล้วบ้างครับ

ลองดูที่เว็บนี้นะครับ

http://r02.ldd.go.th/cco01/problem/problem_02-2.html

http://r02.ldd.go.th/cco01/problem/problem_02-2-1.html

เท่าที่อ่าน ดินบริเวณโครงการน่าจะเป็นดินชุดรังสิต ซึ่งเปรี้ยวมากนะครับ

คุณครูแอ้วครับ ใช่ครับเพื่อในหลวงของพวกเราทุกคนครับ

yuth ครับ ปัญหาดินเปรี้ยวยังแก้ไม่ตกครับ แม้แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรมาแก้ให้แล้ว ยังแก้ไม่ได้ ขณะนี้จึงเน้นปลูกกล้วย กระถิน ไม้ล้มลุกกินได้และเลี้ยงสัตว์นานาชนิดครับ

แคทจะคอยเป็นกำลังใจให้ครูหยุยตลอดไปนะคะ และขอขอบพระคุณที่คุณครูพยายามทำทุกสิ่งที่ดีๆ เพื่อเด็กๆ เพื่อสังคมตลอดมาค่ะ ^_^

วันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค. นี้ แคทและเพื่อนๆ ชาว fb จะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนน้องๆ และคุณครูที่บ้านสร้างสรรค์เด็กแล้ว ดีใจมากๆ เลยค่ะ ถ้าแคทโชคดีคงได้มีโอกาสเจอครูหยุยตัวเป็นๆ ก็คราวนี้เพราะชื่นชมมานานแล้วค่ะ ^_^

หนูแคช ดีใจมากที่ได้ทราบข่าว ไม่ทราบหนูไปเวลาไหน เพราะเวลาเที่ยง ครูต้องเดินทางไปสนามบิน ถ้ามาช่วงเช้าจะได้พบกันครับ

แคทไปถึงที่บ้านประมาณ 11.00 น.ค่ะ ไม่รู้ว่าจะทันครูหยุยหรือเปล่านะคะ ^^

หนูแคชครับ ขณะนี้เวลา 11.05 น.ผมยังนั่งอยู่มูลนิธิฯ ครับ จะออกไปประมาณ 11.20 น.ครับ อาจเจอนะครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ ผมชอบเรื่องเกษตรพอเพียง เพราะพื้นฐานเราเป็นประเทศเกษตรกรรรม ถ้าปลูกฝังให้เด็กทุกคนมีแนวคิดนี้เป็นพื้นฐานเด็กๆคงจะเอาตัวรอดได้ทุกคน ประเทศเราก็จะอยู่อย่างสงบสุขไปด้วย

ขวัญชัยครับ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เป็นเพียงทางรอดของไทยเท่านั้น ผมว่าเป็นทางรอดของโลกใบนี้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท