คุณภาพของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ "การวิจัย" ของอาจารย์...


"อาจารย์คือผู้ที่ถูกจ้างให้ปฏิบัติงานสอน โดยมีภาระงานเสริมคืองานวิจัย" ควรจะเปลี่ยนเป็น "อาจารย์คือผู้ที่ถูกจ้างให้ปฏิบัติงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์นำความรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้มานั้นไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา"

ในความหมายของคำว่า “อาจารย์” น่าจะนิยามออกมาว่า “อาจารย์คือผู้ที่มีหน้าที่วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้มาจากการค้นคว้าและวิจัยนั้นมาสอนให้กับนักศึกษา...”

แต่ในปัจจุบันเราให้คำนิยามทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติว่าอาจารย์คือ “บุคคลถูกจ้างมาเพื่อมีหน้าที่สอนหรือให้ความรู้แก่นักศึกษา”
ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครอาจารย์สักคนหนึ่ง ทั้งมหาวิทยาลัยและคนที่จะเข้ามาสมัครเป็นอาจารย์ก็จะเข้าใจว่าหน้าที่หลักของเขาก็คือ “การสอน”
เพราะหลาย ๆ มหาวิทยาลัยรับสมัครอาจารย์มาเพื่อสอนนักศึกษาในกรณีที่ชั่วโมงเรียนหรือนักศึกษามีมากกว่าเวลาหรือภาระงานเดิมของอาจารย์ที่มีอยู่ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเปิดรับอาจารย์เพิ่มมาเพื่อทดแทนหรือเติมช่องว่างให้กับคาบสอนที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนอยู่แล้วนั้น

ดังนั้นอาจารย์จึงมีหน้าที่ตะบี้ตะบันสอนเป็นลำดับหนึ่ง และมหาวิทยาลัยเองก็มีหน้าที่ตะบี้ตะบันจัดการเรียนการสอนเป็นลำดับหนึ่งเช่นเดียวกัน
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่แปลกเลย ที่มหาวิทยาลัยอะไร ๆ ก็จะตั้งเป้าที่การเปิดรับนักศึกษา เพิ่มสาขาวิชาทั้งตรี โท เอก เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรายได้ที่จะมาจุนเจือและเลี้ยงมหาวิทยาลัย

แต่ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วเขามีรายได้หลักมาจากการได้รับงบประมาณการวิจัยจากบริษัทเอกชน ซึ่งอาจารย์ของเขาได้รับมาและมีข้อตกลงกันว่าส่วนหนึ่งของงบประมาณซึ่งอาจจะ 20-30% นั้นจะต้องผันเข้าเป็นค่าบริหารของมหาวิทยาลัย

ดังนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจึงให้ความสนใจกับการที่จะหาทุนวิจัยเป็นหลัก
เมื่ออาจารย์ได้ทำวิจัยมาก อาจารย์ก็จะมีองค์ความรู้มาก นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นนอกจากจะได้รับการบรรยายจากอาจารย์ที่มีองค์ความรู้จริง ๆ จากการปฏิบัติแล้วยังมีโอกาสที่จะเข้าไปส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่ได้สัมผัสงานจริงจนทำให้นักศึกษาได้มีความรู้จริงอันเป็นความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)

ดังนั้นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจึงไม่มีปัญหาด้านคุณภาพของนักศึกษาเมืองไทย เพราะด้วยสาเหตุหลักสองประการคือ 1. อาจารย์เขานำความรู้จากการวิจัยมาสอน และ 2. นักศึกษามีโอกาสได้ร่วมสัมผัสงานวิจัยจริง ๆ จากอาจารย์ผู้สอนนั้น

แต่เมืองไทยนั้นอาจารย์มีหน้าที่สอนเป็นหลัก อ่านหนังสือมาสอนบ้าง ไปฟังบรรยาย ไปอบรม ไปสัมมนา ไปเลคเชอร์มาแล้วนำกลับมาสอนบ้าง ว่าง ๆ จึงจะลงไปทำวิจัย ปีละครั้ง สองปีครั้ง สามปีครั้ง ตามระเบียบ ตามกฎเกณฑ์ที่มีบังคับไว้ บังคับก็ทำ ไม่บังคับก็ปล่อยเลยตามเลย

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอุดมศึกษาไทยถึงไม่มีคุณภาพ
พอสอนนักศึกษาแล้ว นักศึกษาไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีคุณภาพ จบออกไปไม่มีงานทำแล้ว สังคมทั้งในระดับชุมชนของตัวนักศึกษาเอง หรือสังคมภาพใหญ่ของประเทศก็จะบอกต่อ ๆ กันว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่ดี ไม่ได้เรื่อง อย่าไปเรียน


ผู้บริหารจึงต้องดิ้นรน ขวนขวาย เปิดหลักสูตรเพิ่มบ้าง เปิดสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดบ้าง เด็กกำลังเห่ออะไรก็เปิดสาขาตามอกตามใจเด็กนั้น หรือว่าตนเองมีโปรแกรมนี้อยู่ ต้องจ้างอาจารย์อยู่แล้ว ก็ต้องดิ้นรนทำโปรโมชั่น จัดรายการส่งเสริมการขาย จัดอาจารย์ จัดวิทยากรที่มีชื่อเสียง แล้วโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้มีเด็กมาเรียน เพื่อนำค่าเล่าเรียนเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยงสถาบัน

เดี๋ยวนี้อาจารย์เมืองไทยนอกจากมีหน้าที่สอนแล้ว ยังต้องทำหน้าที่นักการตลาดด้วย คือ ทำหน้าที่ชักชวนด้วยเทคนิคทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสนใจเข้ามาเรียน หรือบางมหาวิทยาลัยก็ใช้เด็กเป็นนกต่อ หรือทำการตลาดแบบ MLM (Multi level Marketing) คือ ให้ชวนเพื่อนมาเรียน ถ้าชวนเพื่อมาเรียนได้ 4 คน เขาจะได้เรียนฟรี แล้วคราวนี้ก็จะกลายเป็นชวนกันไปเรื่อย ชวนกันเป็นชั้น เป็นชั้น ซึ่งในที่นี้คงไม่ต้องพูดถึงคุณภาพทางการศึกษา

คราวนี้เมื่อมหาวิทยาลัยไม่มีคุณภาพ ทางกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ก็ต้องเข้ามาใช้ “อำนาจ” ออกรูปแบบการประกันคุณภาพการศึกษาบ้าง หรือในปัจจุบันก็เป็น กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF : Thai qualification Framework for higher education) ออกมาควบคุมมหาวิทยาลัยที่ใช้การสอนเพื่อหารายได้เหล่านั้น

พอออกมาควบคุมทั้งอาจารย์และมหาวิทยาลัยก็โวยวาย อาจารย์ก็มีภาระงานเพิ่ม มหาวิทยาลัยก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม ต่างคน ต่างฝ่ายก็ต่างมีเหตุผลไปคนละด้าน คนละอย่าง
หน่วยงานฝ่ายบริหารก็มีเหตุผลที่ต้องควบคุมการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ
มหาวิทยาลัยเองก็มีเหตุผลทางด้านภาระงานและภาระเงิน

ทางออกของฝ่ายบริหารอีกอย่างหนึ่งก็พยายามแยกมหาวิทยาลัยออกเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” คือเน้นการวิจัยเป็นหลัก กับมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนเป็นหลัก (ขออนุญาตแบ่งแบบคร่าว ๆ) โดยหวังว่า มหาวิทยาลัยวิจัยจะมีอาจารย์ที่ทุ่มเทให้กับงานวิจัยเป็นหลัก เพื่อที่จะนำองค์ความรู้จากการวิจัยนั้นมาสอนให้กับนักศึกษาซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาโลกแตกของวงการการศึกษาได้ในระยะยาว

แต่ถ้าเราเปลี่ยนชื่อแล้ว แยกประเภทของมหาวิทยาลัยแล้ว ผลิตอาจารย์วิจัยสายพันธุ์ใหม่แล้ว แต่ยังคงให้อาจารย์มีงานสอนเป็นภาระงานหลักก็เท่ากับว่าหนีปัญหาไม่พ้น ปัญหาก็จะต้องย้อนกลับมาในรูปแบบเดิม วิจัยครั้งใหม่ ๆ ครั้งเดียวแล้วเลิก จากนั้นอ่านหนังสือมาสอน สอนแล้วเด็กก็ไม่รู้เรื่อง เด็กจบออกไปก็ไม่มีคุณภาพ เด็กไม่มีคุณภาพก็ไม่มีใครมาเรียน พอไม่มีใครมาเรียนก็จัดโปรโมชั่นแข่งกันเพื่อดึงเด็ก แข่งกันมากคุณภาพไม่มี กกอ. ก็ต้องออกกฎ ออกระเบียบ ออกอะไรต่ออะไรมาควบคุมมาตรฐาน พอบังคับใช้ก็ออกมาโวยวาย ลำบากทั้งคนทำ ทั้งคนอ่าน คนทำก็ลำบาก เอกสารเยอะ คนอ่านก็อ่านไม่ไหว มหาวิทยาลัยหนึ่ง ๆ ก็หลายแสนหน้า...

ถ้าจัดระบบใหม่ให้อาจารย์ทำงานวิจัยเป็นหลัก อาจารย์ก็มีองค์ความรู้แบบแน่น ๆ ไปบรรยาย เด็กมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมใน project ได้ความรู้จริง ได้ปฏิบัติจริง จบไปได้คุณภาพ บัณฑิตมีคุณภาพจะประสบสำเร็จในหน้าที่การงาน ระบบศิษย์เก่าจะเข้มแข็ง รักพี่ รักน้อง รักสถาบัน มหาวิทยาลัยระบบนี้ก็อยู่ได้ด้วยสองปัจจัยหลัก คือ รายได้จากงานวิจัย และระบบศิษย์เก่าที่ค้ำจุนสถาบัน

ถ้าจัดระบบแบบเดิมให้อาจารย์สอนเป็นหลัก อ่านหนังสือมาสอน อาจารย์ก็บรรยายแบบเกาเหลา น้ำท่วมทุ่ง เด็กก็ฟังแบบเอ๋อ ๆ ได้ explicit knowledge จากอาจารย์ จบไปได้บัณฑิตด้อยคุณภาพ ต้องไปตกงานบ้าง ได้งานต๊อกต๋อยบ้าง ตัวเองก็แทบเอาตัวไม่รอด จะเข้าชมรมศิษย์เก่าก็ลำบาก ยังไม่ต้องพูดถึงเงินบริจาคเพราะตัวเองก็จะไม่มีกิน เมื่อลำบากก็โทษสถาบัน ต่อว่ามหาวิทยาลัย บอกลูก บอกหลานไม่ให้มาเรียน มหาวิทยาลัยระบบนี้จะอยู่ได้ด้วยสองปัจจัยหลักเช่นกัน คือ หนึ่งเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ป.โท ป.เอก ภาคพิเศษ ค่าเรียนแพง ๆ สอง เปิดหลักสูตรปริญญาตรีที่เอาใจตลาดโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเด็กจบออกไปจะมีงานทำหรือไม่ ขอเพียงแค่มหาวิทยาลัยอยู่ได้ ผู้บริหารมั่นคง มีรายได้ อนาคตของประเทศไทยเป็นอย่างไรก็ช่างมัน

นิยามของคำว่าอาจารย์ที่เคยเป็นว่า "อาจารย์คือผู้ที่ถูกจ้างให้ปฏิบัติงานสอน โดยมีภาระงานเสริมคืองานวิจัย" ควรจะเปลี่ยนเป็น "อาจารย์คือผู้ที่ถูกจ้างให้ปฏิบัติงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์นำความรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้มานั้นไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา"

ถ้ามหาวิทยาลัยเน้นให้อาจารย์บรรยาย เด็กที่นั่งฟังก็ไม่มีคุณภาพ กกอ. ก็ต้องคิดกรอบมาวางมาตรฐาน เมื่อมีกรอบ แทนที่อาจารย์จะมีเวลาไปอ่านหนังสือเพื่อมาสอนนักศึกษาบ้าง กลับต้องเสียเวลาไปทำงานเอกสารตาม KPI ต่าง ๆ อีก คุณภาพของเด็กก็ด้อย คุณภาพของอาจารย์ก็แย่ ประเทศชาติก็สิ้นเปลืองงบประมาณ

ถ้ามหาวิทยาลัยเน้นให้อาจารย์ทำวิจัย เด็กก็จะไปร่วมทำงานวิจัย ได้องค์ความรู้อะไรก็มาแชร์กัน กกอ. ก็ไม่ต้องสร้างกรอบมาตรฐาน TQF การประเมินคุณภาพอะไรต่ออะไรก็ไม่ต้องมี อาจารย์ก็มีเวลาทำวิจัย มหาวิทยาลัยมีความรู้ นักศึกษามีคุณภาพ ประเทศชาติก็เจริญ...

ถ้าเน้นสอนกันอยู่ก็ต้องมี TQF มาควบคุม เพราะการเรียนการสอนนั้นไม่มีคุณภาพ  ถ้าเปลี่ยนเป็นเน้นการวิจัย TQF ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี เพราะคุณภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นมาจากอาจารย์ที่รักและสอนนักศึกษาให้รักการวิจัย...

 

 

หมายเลขบันทึก: 347935เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โดนอีกแล้วครับ

สร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติ แล้ววิธีการสอนจะตามมาเองใช่ไหมครับ

เมื่อมีเหตุย่อมมีผล

เหตุคือการปฏิบัติ ผลคือวิธีการสอนที่ได้เรียนรู้ย่อมเป็นสิ่งที่คู่กันอย่างแยกไม่ออก

การอ่าน การฟังเป็นเหตุเหมือนกัน แต่ผลที่ออกมาจะไม่แน่นเท่ากับการปฏิบัติ

ปฏิบัติให้มากย่อมเรียนรู้มาก เหตุดีผลย่อมดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท