๓๐.การผสมผสานวิธีการต่างศาสตร์ : Art-Science-Social-Health-Education


  Well-being  Health

ปัจจุบัน กระบวนทรรศน์สุขภาพแบบสร้างนำซ่อม จะมุ่งเน้นความมีสุขภาพดีและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งมุ่งสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมให้เป็นทั้งเป้าหมายของสุขภาวะสังคมและเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความอยู่ดีมีสุข เพิ่มขึ้นจากเน้นการรักษาความเจ็บป่วยแบบตั้งรับอย่างในอดีต มากขึ้น

นอกจากนี้ เชื่อกันว่าบทบาทของแพทย์และบุคลากรทางด้านสุขภาพในอนาคต จะใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันและใกล้ชิดกับการพัฒนาเชิงระบบการจัดการชุมชนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการรักษา รวมทั้งผู้คนในสาขาอื่นก็ขยายกรอบทรรศนะสามารถเข้ามาสร้างความหมายให้กับความเป็นสุขภาพในฐานะเป็นสุขสาธารณะและความเป็นชีวิตส่วนรวมอย่างหนึ่ง 

ปัจจัยด้านสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (Socio-Economic and Cultural Determinants in Health) รวมทั้งปัจจัยด้านการให้การศึกษาเรียนรู้ สื่อ (Education and Social Leraning for Health) และสภาพแวดล้อม เหล่านี้ ก็จะมีความรู้ที่เข้าใจกันได้มากขึ้นว่าเป็นองค์ประกอบของความมีสุขภาพดีทั้งระดับปัจเจกและชุมชน  รวมทั้งจะมีส่วนทำให้วาระทางสุขภาพผสมผสานเข้าสู่การดำเนินชีวิตในทุกมิติ จึงมีความสำคัญต่อการที่จะต้องเรียนรู้ไปกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อบุกเบิก ริเริ่ม พัฒนามิติใหม่ๆในการทำงานทั้งการศึกษาวิจัย และการส่งเสริมการพัฒนาของสังคม ซึ่งหลายด้านจะเป็นองค์ความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นตามความจำเป็นและจะมีทักษะการทำงานอย่างใหม่อีกหลายอย่าง

                             อธิบายภาพ : Primary Care Unit ศูนย์สุขภาพชุมชนและหน่วยสุขภาพปฐมภูมิ ตลาดโรงเกลือ คลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เข้าไปกลมกลืนกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนในเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะของท้องถิ่น

 แพทย์และนักวิทยาศาสตร์  จะเก่งในการทำงานสุขภาพบนปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คนทำงานด้านพัฒนาปัจจัยสนับสนุนก็เชื่อว่าจะเก่งในการบูรณาการความเชี่ยวชาญอย่างในอดีตเข้าสู่การทำงานสร้างเสริมสุขภาพในแนวทางที่หลากหลาย ผมมีตัวอย่างงานที่เพิ่งจัดแสดงเดี่ยวที่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมามาเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นกรณีศึกษาและพิจารณาให้เห็นถึงแง่มุมพัฒนาการทำงานในมิติใหม่ๆที่เป็นการระดมวิทยาการสาขาต่างๆเข้าสู่การแก้ปัญหาต่างๆได้ดีมากยิ่งๆขึ้น การพัฒนาทางวิธีวิทยาทั้งการวิจัยและการแก้ปัญหาต่างๆที่ใช้ความรู้เป็นปัจจัยชี้นำการทำงาน จะเป็นบทเรียนและการค้นพบจากการทำงานที่ควรมีการสร้างความรู้สะสมและนำมารายงานเผยแพร่ไปด้วย

                             อธิบายภาพ : สุขภาพประชากรในวัฒนธรรมการเกิดของชุมชน การคลอดและอนามัยแม่และเด็ก จัดว่าเป็นสุขภาพของหน่วยสังคมสุขภาพที่ใหญ่กว่าความเป็นปัจเจกที่สำคัญที่สุด ชุมชนจะมีการเรียนรู้และก่อเกิดภูมิปัญญาไปกับปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นบนขั้นตอนพัฒนาการของชีวิต จึงมีมิติประวัติศาสตร์พัฒนาการสุขภาพของชุมชนและมิติอื่นๆมากกว่าที่จะเป็นเรื่องสุขภาพอย่างเอกเทศ วิธีศึกษาวิจัยสุขภาพและปฏิบัติการชุมชนสร้างสุขภาพด้วยกระบวนทรรศน์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาระเบียบวิธีที่บูรณาการและซับซ้อนให้มากขึ้น

ในอดีตนั้น หลังคลอดชาวบ้านจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้รวกที่เตรียมไว้อย่างดี จากนั้นก็อาบน้ำล้างคราบไขออกจากตัวเด็กแล้วให้นอนในกระด้ง สตรีหลังคลอดก็จะนอนอยู่ไฟและใช้ชีวิตภายใต้การดูแลของญาติพี่น้องอย่างใกล้ชิด งดการอาบน้ำและต้องนอนบนซีกไม้ซึ่งจะวางแผ่นสังกะสีก่อฟืนไฟให้ความร้อนเพื่อการอยู่ไฟ หากจะเช็ดเนื้อตัวก็ต้องต้มสมุนไพรในหม้อดินด้วยไพล ข่า ใบมะขาม รวมทั้งใช้ดื่มและเช็ดตัว ข้างๆก็เจาะพื้นบ้านด้วยสังกะสีสำหรับถ่ายหนักเบาอยู่บริเวณใกล้ๆ

หลังคลอด ๓ วัน ก็จะมี พิธีกรรมแม่ซื้อและขึ้นอู่  โดยชาวบ้านจะปั้นคำข้าว ๑ ปั้น พร้อมกับเตรียมกล้วยน้ำว้า อู่ และของเล่น จากนั้น ก็จะวางเด็กทารกบนกระด้ง หมุน ๓ รอบเป็นที่หมายดังการทำกริยาบูชาพระรัตนตรัยและเป็นการแสดงว่าเวลาผ่านไป ๓ วันแล้ว พร้อมกับร้องบอกว่า ...ลูกใครหนอ หากเป็นลูกใครก็มาเอาไปเสีย หากไม่ใช่ลูกใคร พ้น ๓ วันนี้แล้ว ก็ขอเป็นลูกคนเน้อ...(การร้องจะไพเราะและอ่อนโยนเหมือนบทกวี) ข้อมูลชุมชนอย่างนี้ หากงานศิลปะและการวิจัยชุมชนบูรณาการเข้าด้วยกัน การศึกษามิติสังคมวัฒนธรรม การนำเสนอข้อมูล และการเรียนรู้สุขภาพ ก็จะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญและน่าสนใจมาก การสื่อสารและการศึกษาเรียนรู้สุขภาพจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับชุมชนแต่ให้พลังการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการพัฒนามิติอื่นไปด้วยมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้พลเมืองและชุมชนเป็นหมอและพึ่งตนเองทางสุขภาพได้ทุกคนอย่างในอดีต ทว่า ด้วยทักษะและภูมิปัญญาที่ผสมผสาน ก้าวหน้า และทัดเทียมกับปัจจัยความซับซ้อนได้ดีกว่าในอดีต  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  อ้างอิงภาพและบทความ : http://gotoknow.org/blog/wirat/291923

                             อธิบายภาพ : ส้วมหลุมและสุขาภิบาลชุมชนก่อนยุคสาธารณสุขมูลฐาน ส้วมหลุมของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ การวาดภาพเพื่อศึกษาชุมชน เก็บบันทึกข้อมูล และนำเสนอข้อมูลชุมชน ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้สามารถแสดงรายละเอียด ให้ความเข้าใจ และสามารถนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆได้ดีมากกว่าการพรรณารายละเอียดด้วยข้อความหรือการวิเคราะห์และนำเสนอด้วยตารางตัวเลขอย่างเดียว สามารถวิเคราะห์และแสดงให้เห็นถึงปัจจัยการแพร่ระบาดและกระทบต่อสุขภาวะชุมชน  ขณะเดียวกัน ก็สามารถแสดงนัยะที่เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรม เห็นด้านที่เป็นความเข้มแข็งและสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิมของชุมชน วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  อ้างอิงภาพและบทความ  :  http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004  

                             อธิบายภาพ : การระดมพลังชุมชน และการร่วมกับโรงเรียนของชุมชนขุดสระสร้างแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคก่อนยุคสาธารณสุขมูลฐาน โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว นครสวรรค์  แสดงการวาดภาพเพื่อศึกษาชุมชน เก็บบันทึกข้อมูลและนำเสนอผลการวิจัยด้วยการแสดงงานทางศิลปะวิชาการ  วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  อ้างอิงภาพและบทความ :  http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004

  ลักษณะการบูรณาการ   ศิลปะ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข สังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมชุมชนและมิติอื่นๆ ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะเห็นว่ามีความน่าสนใจและมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมไทยนั้น แม้มีข้อจำกัดในแง่ที่วัฒนธรรมหนังสือและการอ่านยังไม่เข้มแข็ง แต่ก็มีกระบวนการเรียนรู้และการสร้างสะสมภูมิปัญญาต่างๆไว้อย่างเข้มแข็งบนพื้นฐานอย่างอื่น โดยเฉพาะผ่านความเป็นกลุ่มก้อนและความเป็นชุมชน การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน การวาดรูปและศิลปะการแสดง หากมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่เสริมทุนทางสังคมด้านนี้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่สามารถสร้างโอกาสการพัฒนาได้มากยิ่งๆขึ้น

การวิจัยและวิเคราะห์ชุมชนโดยผสมสานวิธีการทางศิลปะเข้าไปในลักษณะนี้ รวมทั้งการใช้ศิลปะเป็นอีกมิติหนึ่งของการสร้างความรู้และนำเสนอผลการวิจัย จะทำให้การเข้าถึงความเป็นจริงอย่างเป็นองค์รวม มีความลึกซึ้งรอบด้าน ตลอดจนสร้างการเรียนรู้ความเป็นจริงเพิ่มขึ้นอีกหลายด้านที่ภาษาถ้อยคำ คำพูด การพรรณาด้วยข้อความ การวิเคราะห์ด้วยตัวเลขและสัญลักษณ์เชิงนามธรรมอย่างอื่น อาจจะไม่เพียงพอต่อการนำเสนอและให้ประสบการณ์เพื่อการเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความรู้ระดับการเห็นเป็นภาพ ความสัมพันธ์เชิงมิติ สัดส่วน ดุลยภาพ ความพอดีและความลงตัวขององค์ประกอบส่วนย่อยกับความเป็นส่วนรวม

กระบวนการสร้างความรู้ในลักษณะดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และวางแผนชุมชน ตลอดจนการวางแผนตนเองของปัจเจก ได้มากขึ้น ทำให้เรื่องสุขภาพและการใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาเข้าถึงและกลมกลืนกับชีวิตประจำวันของประชาชนได้มากขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 347752เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2010 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท