“วันนี้ทำไมไม่ไปโรงเรียน เป็นหวัดยังไม่หายเหรอ” ผมถามเด็กชายชาวไทใหญ่ไร้สัญชาติข้างบ้าน เขาก็ตอบว่า “ ยังไม่ไปครับ กลัวจะเอาเชื้อโรคไปแพร่ที่โรงเรียน ” ........................................................................................................................................................
ผมอึ้ง กับคำตอบของเด็กชายวัยสิบสี่ปีผู้นี้ และมองเห็นด้านลึกที่เขามีจิตสังคม (Social mind)
........................................................................................................................................................
แรกทีเดียว ผมคิดว่าเขาน่าจะไปเพราะมันเป็นสิทธิและหน้าที่ที่เขาควรจะไป เพื่อไปศึกษาหาความรู้ ซึ่งผมก็มองเขาว่าควรได้รับประโยชน์แบบปัจเจก แต่ในแง่ของความป่วยไข้นี้ ตัวเขากลับมองกว้างกว่า เพราะคิดเผื่อถึงคนอื่นด้วยกลังโรคจะแพร่ระบาด
........................................................................................................................................................
ผมเองเพิ่งเริ่มทำงานกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพื้นที่ปางมะผ้าได้ไม่นาน สิ่งสำคัญที่พบ ก็คือ เด็กๆให้ความรู้เราหลายเรื่อง ถึงจะเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ยากจน ถ้าถามเรื่องวิชาเรียนก็ดูหัวทื่อๆ แต่พอถามชื่อแมลง ชื่อต้นไม้ แม่น้ำลำธารอะไรอยู่ตรงไหน เด็กจะบรรยายได้เป็นคุ้งเป็นแควอย่างออกรสชาติเลยทีเดียว
........................................................................................................................................................
อันนี้เป็นเรื่องน่าสนใจมาก สำหรับผม ก็คือเด็กรู้จักบ้านเกิดและสิ่งแวดล้อมของตัวเองผ่านวิถีชีวิตในวัยเยาว์ พวกเขามีความผูกพันกับ ดิน น้ำ ป่า สัตว์เล็กๆอย่างแมลง กุ้ง หอย ปู ปลา สิ่งของเครื่องใช้ ของเล่นที่พวกเขาทำมากับมือ นี่เป็นห้องเรียนชุมชนที่ใหญ่มาก
........................................................................................................................................................
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า หากวันข้างหน้า เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเขาคิดถึงสังคม ชุมชนบ้านเกิดของพวกเขา มโนภาพเหล่านี้จะผุดขึ้นมาอย่างชัดเจน และเป็นความรู้สึกที่ละเอียด สวยงาม เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ อย่างเวลาที่พวกเขากระโดดจากหน้าผาลงเล่นน้ำกับเพื่อน
........................................................................................................................................................
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผมกลับสู่เมืองใหญ่ สถานที่สำหรับวันหยุดของเด็กๆก็มักจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ภาพของเด็กเล็กๆที่พ่อแม่เอานั่งในรถเข็นขณะไปจับจ่ายสินค้า ในชุดสวยงามนั้น น่ารักไม่หยอก แต่ในอีกด้าน ผมก็เห็นว่า การมาห้างสรรพสินค้านี่ก็เป็นห้องเรียนชุมชนของเด็กเมืองเหมือนกัน แต่เนื้อหาและคุณค่าทางจิตวิญาณต่างจากเด็กบ้านป่ามาก
........................................................................................................................................................
คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ และพาคุณลูกออกไปช้อปปิ้งบ่อยๆด้วยความเคยชินนั้น อาจจะไม่เห็นว่าจะมีผลกระทบอันใดกับเด็กๆ แต่ผมเห็นว่า มันเป็นการปลูกฝังให้เด็กจดจำสินค้า เลียนแบบวิธีการใช้จ่ายเงิน ในขณะที่พวกเขาไม่ได้เรียนรู้ถึงวิธีหาเงินของพ่อแม่ว่ากว่าจะหาเงินมาได้นั้นยากลำบาก
........................................................................................................................................................
สิ่งที่เขาคุ้นตาก็คือ ภาพแห่งความสุขของการไปเดินห้าง จับจ่ายสินค้า และรับสื่อโฆษณาจากป้ายและแคมเปญต่างๆครั้งแล้ว ซึ่งเป็นความสุขที่ฉาบฉวย ครั้งเล่า
........................................................................................................................................................
ผมคิดว่านี่เป็นอีกด้านของการบ่มเพาะนิสัยฟุ้งเฟ้อและติดวัตถุที่ผู้ใหญ่ในเมืองพึงระวัง ปัจจุบันพ่อแม่ส่วนหนึ่ง เริ่มเห็นว่าโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลเชิงลบต่อเด็กแล้ว แต่ยังไม่ใคร่มีใครเห็นอีกด้านของห้างสรรพสินค้าในฐานะที่เป็นสถานที่ปลูกฝังการบริโภคนิยม การแข่งขัน ประกวดประชัน และให้ความหมายของการจับจ่าย มากกว่าการอยู่อย่างสงบ พอเพียง
........................................................................................................................................................
มิเพียงเท่านั้น หากวันข้างหน้า เขาจะต้องกลับมามีส่วนพัฒนาชุมชนของพวกเขา เขาจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์แบบใด ก็น่าจะมีคำตอบได้ไม่ยาก
........................................................................................................................................................
แต่ด้วยวิถีชีวิตคนกรุงที่พ่อแม่ลูกจะพบปะกันพร้อมหน้ายากขึ้นเรื่อยๆ รัฐเองก็ไม่ได้สร้างพื้นที่ที่สะดวกสำหรับวิถีครอบครัวเช่นนี้ไว้อย่างเพียงพอ บริษัทข้ามชาติเข้าใจจุดนี้ดี การสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อตอบสนองประชาชนที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กันดังกล่าวให้เกิดมีขึ้นในห้างจึงได้รับกระแสตอบรับจากผู้คนยุคใหม่เป็นอย่างดี และถูกขับเคลื่อนด้วยการสร้างภาพว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงความศิวิไลซ์ โดยไม่ต้องตั้งคำถามใดๆ
........................................................................................................................................................
เราจะหลีกหนีวิถีชีวิตดังกล่าวได้อย่างไร ผมเองก็คงเป็นแค่คนสะท้อนความหมายจากมุมมองนักวิชาการชายขอบ ด้านหนึ่ง ผมเห็นว่า การพาเด็กมาเหยียบดิน มาเยือนธรรมชาติ เป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นในวิถีชีวิตที่รุมเร้าให้เด็กมีจิตใจหยาบกร้านอย่างทุกวันนี้ การสอนให้เด็กรู้จักสัมผัสธรรมชาติ และผู้คนที่หลากหลายชนชั้นวรรณะ หลากหลายฐานะ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม ด้วยความเชื่อมโยงและอ่อนโยน มิเพียงแต่จะเกื้อหนุนต่อการเติบโตทางความคิดของเด็ก มิให้ตกเป็นทาสของระบบทุน หากแต่ยังเป็นการเสริมสร้างระบบคุ้มครองเด็กในอีกรูปแบบหนึ่ง
........................................................................................................................................................
และหากจำต้องพาพวกเขาไปห้างสรรพสินค้า ผู้ใหญ่เองอาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ก็คือสอนให้เด็กๆเรียนรู้ชีวิตทางสังคมในห้าง ชี้ให้เห็นถึงกลไกของการบริโภคนิยม และเชื่อมโยงถึงการทำงานของพ่อแม่ ไปจนถึงอีกหลายชีวิตในสังคมทั้งเมืองและชนบท กว่าสินค้าจะส่งมาถึงชั้นวางในห้องแอร์เช่นนี้
........................................................................................................................................................
บางที เด็กๆอาจจะเริ่มเรียนรู้ บ่มเพาะความเข้าใจว่าไฟฟ้า และสาธารณปโภค สินค้าราคาถูกมากมายในห้าง มันวางอยู่บนการเบียดบังคนชนบท เด็กวัยเดียวกับพวกเขาที่ยากจนอยู่ในชนบทอย่างไรบ้าง หรือผู้ใหญ่บางคน อาจจะคิดอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะแยะ ตัวผมเป็นเพียงไม้ขีดไฟก้านน้อยๆ คอยแค่อยากจุดประกายให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้นครับ
ประทับใจ บันทึกนี้มากค่ะ ดิฉันมีลูกสาว 2 คน อายุ 8 ขวบกับ 4 ขวบ ด้วยความฉาบฉวยของการเป็นแม่ของตัวเองเมื่อเป็นแม่ใหม่ๆ ลูกคนโตจึงถูกเลี้ยงดูแบบคนเมือง ผลพวงคือ "สำอาง" ชอบซื้อของเล่นในห้าง ชอบเล่นบ่อบอลที่แสนสกปรก "ตามความคิดเห็นของน้องสาว" น้องสาวจะร้องยี้เมื่อพี่สาวรบเร้าพ่อแม่ ว่าขอไปเล่น สถานบันเทิงของเด็ก ที่อยู่ในห้าง น้องก็จะบอกว่า "แม่ไปเล่นทรายที่ทะเลดีกว่า"
ล้วนเป็นสิ่งที่โดนปลูกฝังทั้งสิ้น ยืนยันได้ ขอบคุณค่ะ