Mini_UKM 5 เหล่านักอาสาเรียนรู้ผู้จุนเจือ...เหลือน้อย


สามัคคี คือ พลัง

Mini_UKM 5 เหล่านักอาสาเรียนรู้ผู้จุนเจือ...เหลือน้อย

            เมื่อหนุ่มน้อยน่ามนคนบริการวิชาการ นามเรียกขาน “สุดปฐพี”จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต้องถูกส่งลงสนามร่วม ลปรร.(ลากไปรื่นเริง) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหมู่มวลสมาชิกจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในประเด็นการพัฒนาหน่วยงานสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือเรียกง่ายๆว่า KM To LO (Knowledge management to Learning Organization แต่ผมชอบ Live and Learn Organization มากกว่า) นับเป็นความท้าทายใคร่รู้ของผู้มีความรู้และสติปัญญาน้อยๆอย่างผมเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างน้อย ยังมีจิตยึดมั่นความเชื่ออยู่อย่างว่า ความรู้เล่าเรียนเท่าเทียมทันกันหมด เอาล่ะเป็นไงเป็นกัน

พิธีเปิด Mini_UKM ครั้งที่ 5

            บรรยากาศของการแบ่งกลุ่มนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี “เจ้าภาพ”จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม นำเราให้ไขว่ขว้าหาคนที่อยากรู้จักและต้องการรู้จักจากกิจกรรมนาฬิกา นับว่าละลายใจไปได้มากพอดู แต่เวลาอาจจะน้อยเกินกว่าจะจดจำกันได้อย่างซาบซึ้งใจ เพราะสำรวจตรวจสอบจากการพบกันครั้งแรก ณ กลุ่มย่อยบรรยากาศยังคงเงียบเหงา ตามแบบมวยไทย Footwork มองตาไปมา สงวนวาจา ท่าทีกันพอสมควร แต่ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับคนอยากเรียนอยากรู้ อย่างน้อย บทเรียนบทที่หนึ่งก็สอนเราจากอวจันภาษาว่า หากเราต้องการพูดคุยกับใครคนหนึ่งคนใด ต้องคำนึงถึงความแตกต่างอันหลากหลาย คือ การพยายามลดกำแพงกั้นหัวใจ เพื่อ  เปิดใจ ยอมรับฟังกันและกันอย่างสุนทรียสนทนา

           และแล้ว ประหนึ่งมีตีนตบสบช่องสองมือตบแบบสอดประสาน สยบความอาย ไล่ล่าความฝันดันผมอาสาดำเนินรายการอย่างไม่สงวนมาดแมนแต่อย่างใด หวังใจเดียวว่า อยากเห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างเมามันส์และเร้าพลังมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มของเราที่มีสมาชิกน้อยอย่างน่าใจหาย จนเป็นที่มาของชื่อกลุ่มว่า เหลือน้อย แทนที่จะเป็น 7 นรก หมวยยกล้อตามผมเสนอและตั้งใจไว้ เพราะเกรงใจท่านประธานเป็นอย่างยิ่ง

           เราเริ่มกระบวนการแนะตัวตนให้ทุกคนรู้จักอย่างสั้นๆ ใครเป็นใครและทำอะไรมาบ้าง ถือเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนตามติดด้วยการละลายใจ เลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ โดยไม่เน้นอะไร นอกจากความเฮฮา งานนี้ อาจารย์ชีวินแห่งมหาวิทยาลัยอีสานได้ใจพวกเรารับตำแหน่ง ประธาน เพราะความนิ่ง สุขุม คัมภีรภาพ เต็มเปี่ยมด้วยพลังศรัทธาเข้มแข็ง และผมได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งเลขานุการหน้าลาวชาวดอย จนเวียนวนในตำหน่งต่างๆ  ไม่น่าเชื่อ นักวิชาการศึกษาก็บ้าตำแหน่งเป็นกับเขาเหมือนกัน โอ้แม่เจ้า

 

           ทีมงาน “เหลือน้อย”คุณภาพคับพื้นที่ของเรา ต่างประกอบด้วยเหล่านักจัดการความรู้ที่มีความตั้งใจเรียนรู้ ร่วมแลกเปลี่ยน เขียนอ่านบทเรียน เพื่อหวังจะนำไปปรับใช้กับองค์กร โดยมาจากหลากหลายสถาบัน พอจะแนะนำและขอเสียงปรบมือดังๆ ดังนี้

           อาจารย์ชีวินแห่งมหาวิทยาลัยอีสาน อาจารย์หนุ่มใหญ่สายเลือดประชาสัมพันธ์ที่มีอุดมการณ์ว่า พี่คนนี้นั้นมีแต่ให้ หรือยุทธการใจชนะใจ เป็นประธานที่น่ารักมากๆคนหนึ่ง ร้องเพลงไม่เน้น แต่เต้นไม่มีหยุด

           ปุกกี้และน้องปู สองสาวที่มีความมาดมั่น น่ารัก มีน้ำใจจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความรู้ และความจริงใจที่อยากจะให้ ให้ และให้ “เก่งจริงๆเลยนะ ตัวแค่เนี้ย”

           พี่ตุ๋ย เจ้าหน้าที่หุ่นนักกีฬาแห่งสุรนารี หนุ่มยิ้มง่าย อารมณ์ดีที่ขออาสามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสุดท้ายกลายเป็นกำลังสำคัญของความสนุกสนาน เฮฮา

          พี่ชุ แห่งส่วนการเงินและบัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สาวใหญ่ใจดี มีความสนุกสนาน น่ารักสมวัย เข้าใจคน และเปี่ยมล้นด้วยมาดแห่ง Cow Girl จนไม่เชื่อว่า นี่หรือคือนักบัญชี

          พี่อึ่งแห่งส่วนพัสดุ มหาวิทยาลัยเจ้าภาพอีกคน มีแต่รอยยิ้ม แก้มน่าหยิก เป็นกำลังสำคัญที่เต็มเปี่ยมด้วยใจบริการ เพราะเตรียมการนำเสนองานวันสุดท้าย พี่อึ่งผสานพลังพี่ชุ สร้างสรรงานเอกสารจนบรรลุผลจนสำเร็จ ขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูง

          น้องหนึ่ง สาวมั่นประกันคุณภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาวงาม น่ารัก สดใส ชายใดอยู่ใกล้แทบจะละลายในบัดดล แต่เธอเป็นคนที่มีใจมุ่งมั่น รักองค์กร และพยายามจะเปิดใจให้แก่เราทุกคน

          และสุดท้าย นายสุดปฐพี แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่มีแต่เสียงหัวเราะ และแรงกระตุ้น ให้กลุ่มเราลุ้นแล้วลุ้นอีกว่า ประเด็นการเรียนรู้จะอยู่ตรงไหน แล้วจะจบลงอย่างไรในฐานะ FA อาสา อ่ะฮ้า อีกหนึ่งท่านไม่เอ่ยเสียใจยิ่งกว่าเป็นหวัด พี่นิวัฒน์ ผอ.การเจ้าหน้าที่ มหาสารคามที่เป็นผู้แนะแนวและแนะนำการเรียนรู้

 

           และแล้ว บทสรุปจาก Reality ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายส่งใจให้เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เปี่ยมมิตรจิตมิตรใจ ยิ่งใหญ่กว่าถนนสายกรุงเทพฯถึงสุไหง-โกลก หรือมิตรภาพ ทุกคนมีแต่ได้กับได้ ไม่มีใครเสียบ้างอาจจะได้แนวทางการจัดการความรู้มากขึ้น บ้างก็เข้าใจการถอดบทเรียน และเข้าใจคำว่า Key Success Factor หรือ KSF และ How to คือ กิจกรรม โครงการมากขึ้น บ้างก็ได้แนวทางที่จะทำให้ KSF ประสบผลสำเร็จ เสร็จสมอารมณ์หมาย ตามสไตล์จิตสำราญ งานสัมฤทธิ์

           พระเจ้า!!!ไม่น่าเชื่อว่า สุดท้าย ผมจะได้รับโอกาสจากเพื่อนสมาชิกเลือกให้ Good Practice ของ “เหลือน้อย” กลายเป็น Best Practice แห่งการพัฒนาหน่วยงานสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอสู่สายตาชาวโลก และผมกับปุ๊กกี้ คู่หูคู่ฮาที่หลายคนเชียร์ว่า น่าจะเกิดมาคู่กันก็ไม่ทำให้เหล่าสมาชิกผิดหวัง เพราะนำเสนอด้วยพลังเฮฮา และมีเหตุผลอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือ Impossible is possible

 

อ่านแล้วถูกใจให้กำลังคนเขียนด้วยนะครับ

ติดตามบรรยากาศเย็นย่ำก็ฮัมเพลงต่อไป

หมายเลขบันทึก: 347316เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2017 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ว๊ากๆๆๆเม้นคนแรก โอเคเลยครัยพี่ กลุ่มพี่เอ๋นี้สุดยอดไปเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท