คุณภาพการศึกษาเป็น "ปัญหาโลกแตก...!"


เป็นอาจารย์ก็ขอให้เป็นอาจารย์ที่ดี เป็นผู้บริหารก็ขอให้เป็นผู้บริหารที่ดี เป็นเจ้าหน้าที่ก็ขอให้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดี ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีปัญหาทุกอย่างก็จบ

ปัญหาการพัฒนาการศึกษาของบ้านเราโดยเฉพาะปัญหาคุณภาพของอุดมศึกษานั้นทำไปทำมาก็จะกลายเป็น “ปัญหาโลกแตก”
เพราะคนที่ถกเถียงกันอยู่ก็มีแต่ “คนเก่ง ๆ” ทั้งนั้น
แต่ละคน แต่ละฝ่ายก็อาศัยความเก่งของตนเองค้นหาเหตุผลทั้งมาคัดค้านและสนับสนุน เก่งมากก็เหตุผลมากและเป็นเหตุผลที่ดูดีอีกต่างหาก

ในบันทึกนี้ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็น (ส่วนตัว) ซึ่งเป็นเหตุผลของเด็กโง่ ๆ คนหนึ่งบันทึกไว้เพื่อประมวลความรู้ความเข้าใจของตนเอง

ผมขออนุญาตเปิดประเด็นแรกด้วยวิถีชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการสอนหรือ “อาจารย์” ที่ผมเคยเห็น

อาจารย์ “สบาย” (จนเคยชิน)
อาจารย์เป็นอาชีพที่สบายมาก ยิ่งอยู่มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ยิ่ง “สบายมาก”
สบายในที่นี้ขอนิยามมาจากภาระการสอนที่มีประมาณ 6-12 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่งเวลาที่เหลือจะเป็นเวลาที่จะต้องทุ่มเทสำหรับการวิจจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ทำไมภาระงานสอนถึงน้อยขนาดนั้น...!
ตามหลักการแล้ว อาจารย์ในระดับอุดมศึกษาจะต้องรับบทบาทในการค้นหาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น เวลากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตจึงต้องทุ่มเทในการ “ทำวิจัยและพัฒนา” (Research & Development) ทั้งด้านวิชาการและพัฒนาตนเอง
เมื่อวิจัยหรือได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ จึงเอาความรู้ที่ได้นั้นมาสอน มาบรรยาย ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ที่ตนเองได้ไปศึกษาค้นคว้ามานั้นให้นักศึกษาที่อนาคตจะได้ชื่อว่า “บัณฑิต” นั้นได้ฟัง

แต่ตอนนี้ปัญหาคุณภาพของอุดมศึกษาเกิดขึ้นมาจากสาเหตุที่ว่า มีอาจารย์ส่วนหนึ่งไม่สนใจที่จะทำวิจัย หรือไม่ให้ความสำคัญในการวิจัย แล้วคำถามต่อไป ท่านอาจารย์กลุ่มนี้จะเอาอะไรมาสอน
“อ่านหนังสือมาสอน” หรือที่พวกเรามักแซว ๆ กันว่าอาจารย์ชอบ “สอนหนังสือ”
คืออ่านมา นำ Explicit knowledge ของคนอื่น จัดหา รวบรวมมาแล้วทำหน้าทำตาให้ดีขึ้นมาหน่อย ด้วยการทำเป็นเอกสารประกอบการสอนบ้าง ทำ Power Point ให้สวย ๆ บ้าง แต่ถึงอย่างไรเวลาบรรยายนั้นมัน “ไม่แน่น” ไม่มีพลัง

หากตรรกกะทางวิชาการเป็นอย่างนี้ คือ ถ้าหากอาจารย์มีความรู้ 100 จะสามารถถ่ายทอดความรู้แบบ “สอนหนังสือ” ไปให้ลูกศิษย์ได้แค่ 80 ต่อไป ลูกศิษย์เรียนจบ โตขึ้นกลายมาเป็นมาอาจารย์แล้วนำความรู้ที่ได้มา 80 มาสอน ลูกศิษย์ของลูกศิษย์ก็จะเหลือ 60 ซึ่งตอนนี้ ลูกศิษย์ ของลูกศิษย์ของลูกศิษย์ก็กลายมาเป็นอาจารย์กันเยอะแล้ว ความรู้นั้นอาจจะเหลือ 20 หรือไม่ก็ติดลบไปแล้ว จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ว่าทำไมจึงเกิดปัญหาทางคุณภาพของการศึกษา

ตรรกกะข้างต้นนี้เป็นตรรกกะที่เกิดขึ้นเฉพาะอาจารย์ที่ไม่ยอมทำวิจัย แม้จะถูกบังคับก็ไม่ทำ หรือทำก็ทำไปงั้น ๆ

การประกันคุณภาพฉบับก่อน ที่ผมเคยจำได้จะมีการเร่งรัดให้อาจารย์ทำวิจัยทุก ๆ 3 ปี (ทำวิจัยกันทุกวันไม่ได้เหรอ คาบสอนก็ไม่มี เอาเวลาไปทำอะไรกันหว่า...) ถ้าไม่ทำจะประเมินไม่ผ่าน แต่ก็บังคับได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งบังคับไม่ได้คือจะมีอาจารย์ส่วนหนึ่งที่มีความมั่นคงทางอาจารย์สูง คือ เป็นข้าราชการบ้าง หรือตำแหน่งอะไรต่ออะไรที่เรียกว่า “ประจำ” บ้าง ผู้บริหารก็ไม่รู้ว่าจะไปบังคับท่านทั้งหลายอย่างไร บังคับมากไปเดี๋ยวท่านอาจารย์จะไม่ลงคะแนนเลือกให้เป็นผู้บริหารหรือ “อธิการบดี”

ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในมหาวิทยาลัยที่เมื่อออกนอกระบบก็ทำให้อาจารย์ต้องเล่นการเมืองภายในกันมากขึ้น
ชีวิตที่สบาย ๆ สอนเสร็จแล้วกลับบ้านนอนนั้นจะไปยุ่งวุ่นวายกับท่านทั้งหลายมากก็ไม่ได้
บีบคนไหนได้ก็บีบ บีบคนไหนไม่ได้ก็ต้องปล่อย

แต่ผู้บริหารการศึกษาบ้านเราก็หาทางออกได้สำหรับเรื่องนี้คือ “เพิ่มเงินรายได้” สวัสดิการหรือค่าคุณวุฒิ ค่าตำแหน่งให้ ซึ่งถ้าผมจำได้ไม่ผิดก็จะมีการดับเบิ้ลค่าตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. ให้เป็นสองเท่า
ซึ่งนั่นก็เป็นการแก้ไขปัญหาได้แบบลูบหน้าประจมูก คือ อาจารย์ก็จะหันมาทำวิจัย ปัดฝุ่นการวิจัยกันมากขึ้น เขียนผลงานทางวิชาการกันมากขึ้น แต่ทว่ามีปัจจัยอีกสองตัวที่ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานงานวิจัยได้


หนึ่ง มหาวิทยาลัยสามารถพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้ด้วยตนเอง

ครั้นในอดีต มีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโดยให้คะแนน KPI ในเรื่องตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ค่อนข้างมาก  ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงดันให้อาจารย์ทำผลงานทางวิชาการกันมากขึ้น  "ให้ง่ายและให้มาก" โดยชี้นำด้วยผลประโยชน์ทางด้านค่าตอบแทนดังกล่าว อาจารย์ก็เริ่มทำวิจัยกันจริง เขียนบทความกันจัง ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อพัฒนางานสอนของตนเอง คือ ไม่ได้หวังว่าจะนำวิชาความรู้ที่ได้จากการวิจัยนั้นมาพัฒนาการเรียนการสอน แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ทั้งของตน คือ ค่าตำแหน่ง และผลประโยชน์ของส่วนรวมคือ KPI ของมหาวิทยาลัยที่จะทำให้ผู้บริหารนั้นปลื้มใจ

สอง เมื่อได้ผลงานหรือตำแหน่งทาวิชาการแล้วก็จบ “จบไปเลย”
เมื่อได้ตำแหน่งแล้วถือว่าเป็นเกียรติยศตลอดชีวิต ได้แล้ว ได้ยาว ได้แล้ว ได้เลย
อาจารย์บางท่าน (สอนน้อย) ยึดหลัก “พอเพียง” พอแล้ว ไม่เอาอะไรมาก ทำชีวิตตนเองและครอบครัวให้เป็นสุข อยู่ไป สอนไป สร้างรายได้ สร้างครอบครัว
การแก้ไขปัญหานี้ที่ทราบคร่าว ๆ มา (ซึ่งอาจจะผิด) ก็จะมีการบังคับให้อาจารย์จะต้องทำผลงานในตำแหน่งอย่างสม่ำเสมอ (ในระดับศาสตราจารย์) ซึ่งจะต้องมีงานตีพิมพ์ หรือผลงานวิจัยเป็นระยะ ๆ 3-5 ปี แต่ถ้าใครเป็น ผศ. รศ. ยังไม่ได้มีบังคับไว้เข้มขนาดนั้น

ทำไมถึงต้องบังคับกันอย่างนี้...?
นั่นน่ะสิ ผมเองก็ไม่เข้าใจ อาจารย์น่าจะตระหนักในภาระหน้าที่ของตน ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดภาระงานสอนให้น้อย และไม่ให้มีภาระงานทางด้านธุรการก็เพื่อให้เวลาที่เหลือเยอะ ๆ นั้นไปทุ่มเทพลังในการวิจัยและพัฒนาความรู้ให้แก่ตนเอง

คราวนี้... เมื่อไม่ทำกัน ไม่เห็นความสำคัญกัน ผู้บริหารในกระทรวง หรือหน่วยงานฝ่ายเหนือ ก็ต้องหาเทคนิค วิธี อะไรต่ออะไรมาจัดการกัน ซึ่งทั้งหลาย ทั้งปวงนั้นก็ออกมาในรูปแบบ “เอกสาร” จะต้องกรอกโน่น กรอกนี่ ควบคุมกัน บังคับกัน แล้วคราวนี้คนที่เคยสบายไม่ต้องวุ่นวายกับภาระงานทางด้านเอกสารหรือธุรการมาเจอแบบนี้เข้าก็โวยวาย เพราะความสบายในชีวิตกำลังจะหายไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากอาจารย์รักกันจริงก็ต้องบอก ต้องเตือนกัน ใครผิด ใครไม่ทำวิจัยก็ต้องช่วยเหลือกัน บอกกันให้พัฒนาตัวเอง
เพราะทางผู้บริหารมาเจอปัญหาแบบนี้ก็ต้องจัดการ ต้องแก้ไข บอกกันดี ๆ ไม่ฟังก็ต้องบังคับ

แต่ก็อีกนั่นแหละ...ผู้บริหารก็ต้องเข้าใจอกเขา อกเราด้วย ชีวิตใครใครก็อยากสบาย เพราะผมแน่ใจว่าอาจารย์ที่ไม่ชอบทำวิจัยหรือไม่รักการพัฒนาตนเองนั้นเป็นส่วนน้อยที่พลอยทำให้อาจารย์ส่วนใหญ่นั้น “เน่า” ไปกันหมด มาเล่นหว่านแหให้อาจารย์ทุกคนมานั่งทำเอกสารกันหมดก็ไม่ไหว

อาจารย์นี่เก่งนะ เก่งมาก อัตตา ตัวตนก็มากตามไปด้วยนะ คุณเป็นใครจะมาบังคับชั้นอย่างนี้ได้อย่างไร...!
พอมีอัตตาตัวตนขึ้นมาแล้ว ก็จะแสดงความเก่งเขียนเอกสาร เขียนบทความด่ากันเป็นภาษาวิชาการอย่างกว้างขวาง

ในทางหนึ่งอาจารย์ดี ๆ ที่ต้องทุ่มเทเวลาที่นอกเหนือจากการสอนไปทำการวิจัยก็จะต้องลดเวลานั้นไปเขียนเอกสารทางวิชาการซึ่งนั่นจะไม่เกิดผลดีกับนักศึกษาที่รอความรู้จากอาจารย์ท่านนั้นเลย

ในอีกทางหนึ่งอาจารย์ที่สบาย ๆ จนเคย (ส่วนน้อย) ก็จะต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้น ต้องเจียดเวลาพักผ่อนมาทำงานเอกสาร จากเดิมที่ไม่ต้องเตรียมการสอนอะไรมาก แต่งตัวดี ๆ เดินเข้าห้องไปพูด ๆ ๆ ๆ ฉายหนังซ้ำไป ซ้ำมา เตรียมตัวทีเดียวหากินได้ตลอดชีวิต ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมารับภาระงานที่เพิ่มขึ้นนั้น คงจะเซ็งกันน่าดู

หรือในอีกทางหนึ่งความโชคร้ายทั้งหลายก็จะตกไปที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน ที่ต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คืองานเอกสารที่ต้องรับอยู่เมื่อมีกรอบอะไรใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา โดยทางอ้อมก็ต้องรับภาระจัดประชุมโน่น ประชุมนี่ แล้วต้องรับงานต่อจากผู้บริหารหรืออาจารย์ชั้นผู้ใหญ่มาช่วยทำแทน เป็นลักษณะน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่ากันอีก

ถ้าหากจะว่าง่าย ๆ ผมก็ขอพูดตรง ๆ แบบนี้ว่า ปัญหาอยู่ที่ว่า “การไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง”
เป็นอาจารย์ก็ขอให้เป็นอาจารย์ที่ดี เป็นผู้บริหารก็ขอให้เป็นผู้บริหารที่ดี เป็นเจ้าหน้าที่ก็ขอให้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดี ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีปัญหาทุกอย่างก็จบ

อาจารย์มีหน้าที่ทำวิจัยแล้วนำความรู้จากการวิจัยมาสร้างมาสอนก็ทำให้เต็มที่
ผู้บริหารทำหน้าที่จัดการสิ่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ใครผิด ใครถูกก็ว่าไป ผู้บริหารการศึกษาไม่ไปสวมบทบาทนักการเมืองในมหาวิทยาลัย ที่เวลาจะด่าใครก็ต้องดูว่าเขาเป็นฐานเสียงของเราหรือไม่ ใครผิดก็ว่าผิด ใครถูกก็ว่าถูก เอาคนดีไว้ใกล้ตัว คนชั่วเอาออกไปไกล ๆ
แต่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายสนับสนุนในมหาวิทยาลัยนี่สิ (ขออนุญาตใช้คำตรง ๆ ว่า) ซวยตลอด มีอะไรต่ออะไรก็งานหนัก็ต้องมาลงที่เจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่ต้องตอกบัตรเข้าออกทำงานกันหัวบานไปหมด ทำงานเอกสารและบริการท่านอาจารย์และผู้บริหารทั้งหลาย ชีวิตของบุคลากรฝ่ายสนับสนุนในมหาวิทยาลัยนั้นน่าเศร้านะ เหมือนว่าประเทศไทยยังมีระบบทาสอยู่อย่างไงก็ไม่รู้

ถ้าให้ดีต้องให้อาจารย์มาเรียนรู้วิถีการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น หรือไม่ก็ขอแค่ให้มีเวลาทำงานจริง ๆ ได้สักครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ประจำคณะฯก็ยังดี

ปัญหาของคนที่สบายจนเคยชินนั้นแก้ยาก ในที่นี่ยังไม่ได้พูดถึงการมีอำนาจจนเคยชินของท่านอาจารย์ทั้งหลายที่สวมบทเป็นเจ้านายลูกค้าหรือนักศึกษาได้
ซึ่งคนเราเวลาอยู่ในอำนาจมาก ๆ หรือนาน ๆ นอกห้องก็มีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ ในห้องก็มีอำนาจสั่งการนักศึกษา ชี้เป็น ชี้ตาย อนาคตของนายอยู่ที่ปลายปากกาฉัน
ทำหน้าที่หรืออยู่ในตำแหน่งแบบนี้นาน ๆ มันติดนะ ติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญ อยู่นาน ๆ ทิฏฐิ มานะมาก พอคนขึ้นจะมาสอนหรือมีอำนาจเหนือเราบ้างนั้นไม่ได้ มันอึดอัดเจียนตายเลยแหละ

สรุป


ปัญหาในมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ซับซ้อนมาก ปัญหาติดสุข ติดสบายอย่างเดียวก็แย่แล้ว
ยิ่งตอนนี้ออกนอกระบบเข้าไปอีก ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง ก็เลยเกิดปัญหาการเมืองภายในกันเข้าไปอีก ซึ่งจะทำอะไรก็ต้องมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
ปัญหาหลัก ๆ ทั้งสองนี้ คือ ความสบายของอาจารย์ และผลประโยชน์ของผู้บริหารจึงส่งผลออกมาเป็นความด้อยคุณภาพทางการศึกษา
เมื่อด้อยคุณภาพ ผู้บริหารส่วนกลางก็จัดการเอากรอบ เอานโยบายลงใช้แก้ปัญหา สุดท้ายปัญหาหลักจริง ๆ ก็คือ “ไม่คุยกัน” หรือให้คนคุยไม่เป็นไปคุย คนกับชุมชนนั้นง่ายกว่าคุยกับอาจารย์เยอะ


คนที่จะคุยกับคนที่มีทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนมากนั้นต้องใช้ความจริงใจใส่เข้าไปมาก ๆ คนที่ลงมาทำ ลงมาคุยจริงใจหรือเปล่า มีผลประโยชน์ร่วมหรือเปล่า หรือว่ามีฐานทางการเมืองด้วยหรือเปล่า สุดท้ายปัญหานี้ก็จะกลายเป็น “ปัญหาโลกแตก” ซึ่งคนที่แย่หรือรับเคราะห์กรรมครั้งนี้ก็ได้แค่ “นักศึกษา”
 

ปัญหาแบบนี้จะแก้โดยใช้ TQF ต่อให้เป็น Super TQF ก็แก้ไม่ได้ หรือจะให้ผู้บริหารอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลยก็ทำไม่ได้ ปัญหาการศึกษาไทยนี้ก็เลยต้องกลายเป็น "ปัญหาโลกแตก..."

หมายเลขบันทึก: 347314เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วทำให้หนูรู้สึกว่า

"หนูโชคดีจังเลยค่ะ ที่เจออาจารย์คุณภาพคับแก้ว"

ท่านสอนสั่งลูกศิษย์ด้วยใจที่ปรารถนาให้ศิษย์ได้รับความรู้ สามารถนำไปปรับใช้ได้ สอนแบบให้ปฏิบัติเอง ลุยงานวิจัยเอง เจอปัญหา ท่านก็มาช่วยชี้แนะช่วยมอง ถ้ายากเกินไปในครั้งแรกท่านก็ทำให้ดูก่อน แล้วหลังจากนั้นท่านก็ให้ลุยเอง

ท่านไม่เคยกลัวของเสียหายเลย เพราะท่านกำลังสร้างคน บางครั้งหนูไม่เข้าใจว่าทำไม อาจารย์ถึงต้องทำแบบนี้ ณ ขณะที่คนอื่น ๆ ดูเฉย ๆ แต่อาจารย์ท่านเคี่ยวเข็น ให้โอกาสลูกศิษย์ได้โอกาสฝึกฝนตนเอง

จนมาถึงทุกวันนี้การทำงานแทบทุกครั้ง ระลึกถึงพระคุณของท่าน เพราะสิ่งที่ท่านปูทางมาให้ ช่วยขับเคลื่อนให้การทำงานและการเผชิญปัญหา เป็นเรื่องท้าทาย

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท