สะพานบุญสู่โรงพยาบาลปากช่องนานา...ถึงชมกล้วยไม้หวายแดงป่าเขาใหญ่ (๑)


เมื่อไม่นานมานี้ทำตัวเป็นสะพานบุญ เชื่อมคนงามด้วยภูมิธรรมและความรู้ คือ คุณศิลา กับทีมงานของคุณหมอและพยาบาลกลุ่มเล็กๆแห่ง โรงพยาบาลปากช่องนานา นำโดย พญ.รัตนา ยอดอานนท์ หรือ คุณหมอรัตน์ (เจ้าบ้าน)และ อีกคณะนำโดย พญ.รุจิรา มังคละศิริ หรือ คุณหมอตุ๊ (เจ้าภาพอาหาร และ ของว่าง)จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้ทุกท่านได้มาพบกันด้วยจิตอันเป็นกุศล มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันเพื่อการพัฒนาตนจากภายในให้ทำงานอย่างมีความสุขยิ่งขึ้น ด้วยศาสตร์แห่งนพลักษณ์ ธรรมะ และ การจัดการความรู้

เจ้าบ้าน...คุณหมอรัตน์

คุณศิลา คงจะได้เล่าถึงกระบวนการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบล็อกของเธอ

ผู้เขียนจะขอเล่าถึงที่มาที่ไป ซึ่งเป็นความสุขจากการที่รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์แม้เล็กน้อย ทั้งจะได้ถือโอกาสขอบคุณ มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ ที่ถือได้ว่าเป็นผู้ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักผู้คนเหล่านี้ จากได้ร่วมงานกันในโครงการสองโครงการของมูลนิธิฯ แม้ว่าโครงการอย่างเป็นทางการได้จบไปเรียบร้อยแล้ว แต่สายสัมพันธ์ความรู้สึกดีๆที่สัมผัสบุคคลผู้ทำงานด้วยหัวใจยังคงมีอยู่ ผู้เขียนจึงมองหาช่องทางที่ตัวเองจะทำประโยชน์ให้ได้อีกต่อไป จากต้นทุนที่ตัวเองมีอยู่

จากความรู้ ความชำนาญในการเขียน จึงอาสา คุณหมอตุ๊ ที่มีโครงการจะเขียนหนังสือถอดประสบการณ์การจัดค่ายใช้ธรรมะกับผู้ป่วยเบาหวาน ที่เรียกว่า “ใช้ยาใจ ไม่ใช้ยากิน” ผู้เขียนได้ฟังคุณหมอตุ๊เล่ารู้สึกชอบและคิดว่าจะมีประโยชน์มาก จึงรับว่าจะช่วยเรียบเรียงเรื่องราวให้เป็นหนังสือที่คิดว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้เป็นหนังสือที่อ่านง่าย และ น่าอ่าน

ผู้เขียนได้เดินทางไปปากช่องได้พูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ได้เข้าค่ายธรรมะกับเบาหวาน คุณหมอตุ๊ และ คุณหมอรัตน์ คุณนู๋แหม่ – สุมาลัย  โรงพยาบาลชุมชนหนองสาหร่าย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องราว ได้พบทีมงานของคุณหมอที่ตนเองยังไม่เคยพบ

นอกจากคุยเพื่อเก็บข้อมูลเพื่อนำไปเขียนหนังสือ ก็ทำให้ได้เห็นเลยไปถึงมิติของการสร้างสุขจากภายในของคนทำงาน ประจวบกับทราบว่าคุณหมอรัตน์กำลังอยากจะทำกิจกรรมพัฒนาทีมงานของตัวเอง

ผู้เขียนจึงเกิดความคิดพุ่งไปถึง คุณศิลา เพราะได้ติดตามไปเรียนรู้การจัดกิจกรรมการใช้นพลักษณ์ในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรต่างๆสองสามครั้ง รู้สึกประทับใจในวิธีการ และ ทึ่งในตัวคุณศิลาที่นำศาสตร์แห่งนพลักษณ์มาใช้อย่างผู้เข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์ได้เหมาะสมกับบริบทต่างๆ ไม่ใช่การไปสอนเรื่องนพลักษณ์ ทว่ามุ่งให้แต่ละคนได้มองกลับเข้าไปภายในตนเอง เรียนรู้ ยอมรับ เพื่อพัฒนาตนเอง และเห็นในความแตกต่างหลากหลายของบุคคลอื่น สามารถทำงานผนึกกำลังกันได้อย่างมีความสุขในการทำงาน

เมื่อโทรศัพท์คุยกันว่ามีบริบทที่คุณหมอและพยาบาลกำลังทำเรื่องอย่างนี้ๆ กำลังต้องการอย่างนี้ๆ และส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม หรือสนใจธรรมะเบื้องต้นเป็นพื้นฐานการใช้ชีวิต คุณศิลาสนใจมากและยินดีเป็นวิทยากรไปจัดกิจกรรมที่เป็นจิตอาสานี้ พากันไปไม่มีเรื่องค่าตอบแทน

ผู้เขียนจึงโทรศัพท์ไปถามทางคุณหมอรัตน์ คุณนู๋แหม่ม ว่าสนใจไหมหากเราจะไปจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาภายในของแต่ละบุคคลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทีมงาน โดยใช้ศาสตร์นพลักษณ์ งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เราอยากไปทำให้เฉยๆ อย่างนั้นแหละ และเราจะถือโอกาสไปเที่ยวด้วย เพราะจะให้คุณหมอรัตน์นำเราเดินป่าชมดอกไม้ที่เขาใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหมอทำประจำอยู่แล้วและเคยชวนไว้

คุณหมอรัตน์ดีใจมากและตอบตกลง คุณนู๋แหม่มมาบอกในตอนหลังว่า รู้สึกงงว่าทำไมอยู่ๆผู้เขียนถึงเสนอเรื่องนี้และทำตัวเป็นสะพานบุญให้

ผู้เขียนตอบและใช้เหตุผลเดียวกันนี้ในการชักชวนคุณศิลา คือ ตอบว่า เห็นสิ่งดีงามที่คุณหมอและทีมงานกำลังทำอยู่ หากมีสิ่งน้อยนิดที่ทำให้ทีมคุณหมอมีความสุขยิ่งขึ้น อันเป็นความสุขที่เกิดจากภายใน จากการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เมื่อคนทำงานมีความสุขมากขึ้น ผลนั้นย่อมส่งไปถึงคนไข้ เท่ากับเราได้สร้างกุศลสองต่อ และเรายังได้ถือเป็นโอกาสได้พบกัน ได้ไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกันอีกด้วย(ผู้เขียนและคุณศิลา กลายเป็นญาติธรรมที่สนิทสนมกันไปแล้ว) เป็นช่วงพวกเสื้อแดงเดินทางเข้ากรุงเทพพอดี แต่เราก็ไม่ได้วิตกอะไร

บรรยากาศทำงาน และคนผมสั้นเสื้อชมพูถือไมค์คือ คุณหมอตุ๊ - รุจิรา

ขอกล่าวสรุปสั้นๆถึงความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นั่นคือ

  • ได้เห็นความลุ่มลึก ความสามารถของคุณศิลาในการบูรณาการศาสตร์นพลักษณ์ โดยใช้ธรรมะมาอธิบายอย่างเข้าใจง่าย ละมุนละม่อม แต่ละลักษณ์มองเห็นตนเอง มองเห็นจุดที่ต้องพัฒนา จุดที่ต้องก้าวข้ามให้พ้น มองเห็นการนำจุดแข็งของลักษณ์อื่นมาเสริมจุดอ่อนของลักษณ์ตนเพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลย์ของชีวิตให้มีความสุขจากการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
  • ได้เห็นกระบวนการ และวิธีการใช้นพลักษณ์ กับ ธรรมะ อย่างผู้เข้าใจจากการปฏิบัติ ทำให้เรื่องของ การฟังด้วยหัวใจที่ใคร่ครวญ – Deep listening หรือ ฟังอย่างลึกซึ้ง การมีสุนทรียสนทนา – Dialogue  การแบ่งปันเรื่องราวของตน – Sharing การซักถามอย่างรับรู้ซึมรับรู้คุณค่าเรื่องราวที่ได้ฟัง – Appreciative Inquiry เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในบรรยากาศเช่นนี้

สิ่งที่เห็นในกระบวนการนี้น่าสนใจมากเพราะผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ เห็นคนทำงานด้านการจัดการความรู้ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบางที่ ที่ไปหากรอบมาจำกัดตนเอง ทำงานด้วยความกลัวผิดตำรา หรือ ผิดไปจากกรอบของตน ทำด้วยความคาดหวังว่าจะเอา “How to” เร็วๆ จึงมักจะเร่งร้อนให้ผู้เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าเรื่องเร็วๆ คาดหวังให้ทุกคน “เล่าเรื่องเป็น” ลืมไปว่าคนเราแตกต่างกันในความเป็นตัวเขา จึงมีวิธีแตกต่างกันในการเล่าเรื่อง กระบวนกร หรือ Facilitator จึงต้องเข้าใจและใจเย็น ให้เรื่องราวเปิดเผยออกมาตามจังหวะที่สมควร อีกทั้งยังต้องใส่ใจกับอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เล่าอีกด้วย

งานนี้จึงขอขอบคุณคุณศิลาอย่างยิ่ง ที่ทำให้ได้มีโอกาสสร้างกุศลร่วมกัน ชื่นชมในความรู้ ความสามารถ และ ความงามทั้งกายและงามด้วยธรรมะ ขอให้บุญรักษามีความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไปทั้งทางโลกและทางธรรมค่ะ

หมายเลขบันทึก: 347037เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2010 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ต้องขออภัยครับ ที่ไม่ได้ไปด้วย อยากไปมากครับ โดยเฉพาะ ทริปเดินป่าสั้นๆ

ผมขอเป็นโอกาสหน้า ...งานที่รัดตัว ให้คลี่คลาย ไปได้หมดครับ :)

สวัสดีค่ะคุณเอก ดีใจจังที่เห็นหน้า นึกว่างานทับสลบไปซะแล้ว เอ้า รีบๆสะสางงาน ให้พี่กลับจากชมซากุระแล้วเรามาชวนกันทำอะไรดีๆ เบิกบานใจกันนะคะ

มาติดตามเรื่องราวของคนจิตใจดีค่ะ

ได้บุญกุศลและได้พักผ่อนจากบรรยากาศเครียดๆใน กทม

 

หมอตุ๊..รุจิรา มังคละศิริ

ขอบคุณสำหรับสะพานบุญคนสวยและวิทยากรคนเก่งค่ะ คนโคราชมีบุญที่ได้พบกัลยาณมิตรน่ารักแบบนี้

เรายังคุยหาวันไปเป็นทีมเยือนที่อยุธยากันบ้าง กลับจากชมซากุระเมื่อไร ส่งข่าวมานะคะ

หมอตุ๊

  • อิ่มบุญอย่างมากค่ะ ขอบพระคุณจริง ๆ ค่ะสำหรับสะพานบุญสู่การพัฒนาจิตผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดด้วยเช่นกัน  ยิ่งเวทีที่มีกลุ่มผู้เรียนรู้ซึ่งมีความพร้อมแห่งการเป็นผู้ปฏิบัติมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการปฏิบัติของผู้ถ่ายทอดด้วยเช่นกัน  ยังประทับใจมิรู้ลืมค่ะ
  • ชอบมากเลยค่ะสำหรับบทสรุปต่อไปนี้ อิอิ

สิ่งที่เห็นในกระบวนการนี้น่าสนใจมากเพราะผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ เห็นคนทำงานด้านการจัดการความรู้ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบางที่ ที่ไปหากรอบมาจำกัดตนเอง ทำงานด้วยความกลัวผิดตำรา หรือ ผิดไปจากกรอบของตน ทำด้วยความคาดหวังว่าจะเอา “How to” เร็วๆ จึงมักจะเร่งร้อนให้ผู้เข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าเรื่องเร็วๆ คาดหวังให้ทุกคน “เล่าเรื่องเป็น” ลืมไปว่าคนเราแตกต่างกันในความเป็นตัวเขา จึงมีวิธีแตกต่างกันในการเล่าเรื่อง กระบวนกร หรือ Facilitator จึงต้องเข้าใจและใจเย็น ให้เรื่องราวเปิดเผยออกมาตามจังหวะที่สมควร อีกทั้งยังต้องใส่ใจกับอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เล่าอีกด้วย

ขอบคุณค่ะคุณแก้ว..อุบล จ๋วงพานิช เบิกบานกันทั่วหน้าด้วยความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันค่ะ แถมได้ชมธรรมชาติอีกด้วย

ขอบคุณคุณหมอตุ๊ ..รุจิรา มังคละศิริและทุกท่านที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันค่ะ เราคงต้องเคยสร้างบุญกุศลร่วมกันมาจึงได้มาเป็นกัลยาณมิตรกันเช่นนี้ค่ะ

เตรียมเมนูสุขภาพไว้ต้อนรับทุกท่าน กลับมาจะรีบส่งข่าวค่ะ ที่จริงก็ว่างอยู่เกือบทุกวันหลังวันที่ 10 เมษายน ค่ะ ยกเว้น 23 เมษายน วันเดียวค่ะ คุณหมอตุ๊วางแผนกับคณะได้เลยค่ะ มาเสาร์อาทิตย์ก็ดี จะชวนไปชมการแสดงเวทีกลางแจ้งในน้ำที่ตลาดน้ำคลองสระบัวค่ะ มาสบายๆไม่ต้องรีบกลับ ชวนลูกหลานมากันได้นะคะ

ขอบคุณคุณศิลาSila Phu-Chaya นั่นแหละค่ะ อิ อิ ให้ไปทำงานแล้วยังพาสาวชาวกรุงไปเดินป่าให้เหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ต่อไปคุณศิลาคงหาคิวยาก แต่ก็หวังว่าธรรมะคงจัดสรรให้มีโอกาสอยู่บ้างที่จะทำกิจกรรมเช่นนี้อีกนะคะ

สวัสดีค่ะคุณนายด้อกเตอร์...ยายธีมาไปไม่ได้ร่ำลา..เพราะเราไม่ได้จากกันไปจริงๆ..คิดอย่างนั้น...ฝากชมดอกไม้บานในแดนซากุระ..ยายธืเดินชมดอกดิน..บานในฮัมบรูกร์รอคุณนุช..อิอิ..ตอนไปฝรั่งเศส...เย้

สวัสดีครับ พี่นุช

อ่านบันทึกแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจครับ

ไปอ่านบันทึกต่อจากตอนนี้มาแล้วก็ยิ่งอิ่มครับ

มิได้ร่วมงานกันพักใหญ่แล้ว ชักเริ่มจะคิดถึงแล้วครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท