รูปแบบชีวิตที่สงบ (Living in Peacefulness)


หยาดเหงื่อของผู้ที่ทำงานเพื่ออุทิศใจและกายน้อมอุทิศถวายเพื่อทำความดีนั้น เปรียบเสมือนน้ำฝนอันฉ่ำเย็นที่แปรเปลี่ยนได้เป็นพลังที่สร้างสรรค์ชีวิตนี้ให้สวยงาม

การดำเนินชีวิตโดยการตัดสิ่งเร้าซึ่งเป็นสิ่งที่มากระตุ้นกิเลสทางกายนั้นสามารถนำความสงบมาได้ระดับหนึ่ง
การดำเนินชีวิตโดยมีวิถีชีวิตซึ่งตัดขาดจากสิ่งเร้าที่จะมากระตุ้นความอยากทางใจได้นั้นคือหนทางที่จะเข้าถึงความสงบที่แท้จริง

วิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรน ขวนขวาย แสวงหาเพื่อความอยู่รอดก็ดี เพื่อเติมเต็มก็ดี หรือเพื่อตอบสนองต่อความอยากอันไม่มีที่สิ้นสุดก็ดี ทำให้ใจของเรานี้เร่าร้อน ทุรน ทุราย
เมื่อใจถูกไฟแห่งความอยากสุมรุมอยู่อย่างนั้น การกระทำทางกายที่มีเหตุมาจากความอ่อนแอของจิตใจจึงต้องเผลอไผลไปตอบสนองความอยากที่เกิดขึ้นในจิตในใจนั้น

เมื่อร่างกายต้องสั่งไปให้ขวนขวายหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะมาสนองตัณหานั้น ร่างกายนี้ย่อมถูกใช้ไปในทางที่เสื่อม
กิเลส ตัณหาและกามราคะเป็นแรงปรารถนาที่ไม่มีจุดไม่มีจบ อัตภาพร่างกายนี้จึงต้องใช้ไปอย่างทุรนและทุราย

แต่ถ้าในอีกทางหนึ่ง ร่างกายของผู้ใดมีผู้อาศัยเป็นจิตใจที่แข็งแกร่งและมี “สติ” รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา จิตใจดวงนั้นก็จะนำพามาซึ่งน้ำธรรมอันฉ่ำเย็นซึ่งแปรเปลี่ยนให้เป็นน้ำทิพย์ชะโลมกาย

หยาดเหงื่อของผู้ที่ทำงานเพื่อตอบสนองความอยากอันเกิดจากกิเลส ตัณหา และกามราคะเปรียบเสมือนน้ำร้อนจากกะทะทองแดงที่แฝงเข้ามาไว้ในร่างกาย
หยาดเหงื่อของผู้ที่ทำงานเพื่ออุทิศใจและกายน้อมอุทิศถวายเพื่อทำความดีนั้น เปรียบเสมือนน้ำฝนอันฉ่ำเย็นที่แปรเปลี่ยนได้เป็นพลังที่สร้างสรรค์ชีวิตนี้ให้สวยงาม

รูปแบบชีวิตที่สงบนั้น เป็นรูปแบบชีวิตที่น้อมนำมาซึ่งการกระทำดี พูดดีและคิดดี
ให้ขออภัยต่อเพื่อมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ต้องวอดวายไปกับภัยในสังสารวัฏ
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา ความสุข และความทุกข์ โลกธรรมทั้ง ๘ นี้เป็นโอกาสที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่จะรังสรรค์ชีวิตนี้ให้สงบได้อย่างแท้จริง

เมื่อเจอทุกข์ให้รู้ทุกข์และดับทุกข์ เมื่อพบสุข อย่าติดสุข ติดสบาย
ได้ทุกข์ก็เพียงรู้ว่านี่คือทุกข์ ได้สุขก็เพียงรู้ว่านี่คือสุข สุขหนอ ทุกข์หนอ...

หากวันใดที่จิตใจต้องหลงไปกับการกระทำที่เรารู้ว่าชั่ว ก็อย่าหลงเพลินเมามัวกับความชั่วทั้งหลายนั้น
หรือวันใดที่จิตใจหลงระเริงอยู่กับความสุขอันเนื่องมาจาก ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็พึงเตือนตนเองไว้เสมอว่าสุขนั้นคือทุกข์อย่างละเอียด

สุขทั้งหลายที่มาฉาบทาชีวิตนี้เป็นฉากหน้าที่รอวันจะนำพามาซึ่งความทุกข์ในภายหลัง

บุคคลที่จะพบความสุขที่แท้จริงได้นั้นจะต้องแปรเปลี่ยนโลกธรรมทั้งหลายให้เป็นพลัง นำโลกธรรมสร้างสรรค์เพื่อเป็นโจทย์ในการ “ภาวนา”

ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ ไม่ว่าอยู่ที่ใดเราย่อมต้องเผชิญโลกธรรมทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา
ขอจงต่อสู้กับโลกธรรมทั้งหลายด้วยธรรมะ การให้อภัยต่อคนที่ทำร้ายทั้งกายและใจของเรา
พึงใช้สติเตือนตนเสมอถึงยศ เกียรติ และทรัพย์สินที่ได้รับมานั้นว่าไม่ใช่ของที่จีรังและยั่งยืน

พึงพิจารณาร่างกายนี้ให้แตก ให้แยกเป็นอาการทั้ง 32
พึงพิจารณาร่างกายนี้ว่ามิใช่ของวิเศษอะไรเพียงแต่เกิดมีขึ้นมาได้ด้วยการประกอบกันของธาตุทั้ง 4

สังขาร ร่างกายนี้ย่อมเสื่อมไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ
พึงใช้ความเสื่อมนี้เพื่อการประกอบคุณงามความดี ด้วยจิตใจที่มีไมตรีและพร้อมด้วยความ “เสียสละ”

วิถีชีวิตใดเล่าจะสวยงามเท่าวิถีชีวิตที่ “สงบ”
พึงนำร่างกายในชาตินี้เข้าน้อมนบ รสพระธรรมนำสุขแท้แก่จิตเอย...

หมายเลขบันทึก: 346625เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2010 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท