การบริหารความเสี่ยง


ความเสี่ยงของคนหรือความเสี่ยงของใคร

ไหนๆ วันนี้ก็ทำแผนบริหารความเสี่ยงองค์กรไปแล้วหันมาทำการบริหารความเสี่ยงตัวเราเองมั่งดีกว่า  เคยได้ยินกันไหมคำนี้ Personal Risk Management

อ๊ะอ๊ะ...อย่าเพิ่งตกอกตกใจกับศัพท์หรูๆ อย่าเพิ่งหยิบยาแก้ปวดหัว การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่เป็นพื้นฐานของการประกันภัยไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากเลย พูดแบบย่อๆ ก็หมายถึงการหาวิธีป้องกันความเสี่ยงที่จะนำความเสียหายมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินของเราอย่างมีประสิทธิภาพ

คำว่า “ของเรา” นี่แหละที่กลายมาเป็นศัพท์ทางเทคนิคว่าการบริหารความเสี่ยงส่วนบุคคล หรือ Personal Risk Management ที่เรานึกกันไม่ค่อยออกว่าจะบริหารความเสี่ยงส่วนบุคคลที่ว่านี้ได้อย่างไร

หลักการง่ายๆ คือต้องเข้าใจว่าในชีวิตนี้ (ของเรา) จะต้องพบต้องเจอความเสี่ยงแบบใดบ้าง ระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงไรและมีวิธีใดบ้าง ที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้มีศัพท์เฉพาะว่า “การวิเคราะห์ความเสี่ยง” (Risk Analysis) เมื่อวิเคราะห์ได้แล้วก็มาถึงขั้นที่สองคือ “การประเมินความเสี่ยง” (Risk Evaluation) โดยเราต้องประเมินทั้งสาเหตุที่ (อาจ) ทำให้เกิดเหตุ (ร้าย) และความสามารถรับมือกับเหตุ (ร้าย) ที่อาจเกิดขึ้นของเรา

เทคนิคการบริหารความเสี่ยง (ส่วนบุคคล)

เอาละ เมื่อผ่านสองขั้นตอนเบื้องต้น คือทั้งวิเคราะห์และประเมิน เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงเทคนิคในการบริหารความเสี่ยงกันเลยนะคะ เริ่มต้นด้วย

- การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avokdance)  คือ  หลักพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยง  อาจจะฟังดูกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธใช่ไหมละคะว่า  การลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด  ก็คือการหลีกเลี่ยงสาเหตุของความเสี่ยง  อย่างเช่น  ลดโอกาสเสี่ยงในอุบัติเหตุรถชนด้วยการไม่ขับรถ (เสียเลย)  หากตัวอย่างนี้ไม่เป็นที่พอใจ  ฉันจะยกตัวอย่างที่ปฏิบัติได้จริงก็ได้ค่ะ  นั่นคือ  ลดโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดด้วยการเลิกสูบบุรี่

- การลดหรือควบคุมความเสี่ยง (Risk Reduction or Damage Control) วิธีนี้เน้นไปที่การลดโอกาส ความถี่  ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น  ตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวที่สุดคือ  ดื่ม (เหล้า) ไม่ขับ  โทรไม่ขับหรือจะละเอียดขึ้นไปอีกขั้นก็อย่างเช่น  เก็บสารไวไฟเอาไว้นอกบ้าน  เพื่อลดโอกาสและความเสียหายจากเหตุไฟไหม้บ้านได้

- การประคับประคองความเสี่ยง (Risk Retention)  พูดตรงๆ ก็คือทำใจยอมรับความเสี่ยงที่เกิดจากสงคราม  การก่อการร้ายหรือการจราจล  เพราะแม้แต่บริษัทประกันเองยังไม่รับประกันความเสี่ยงประเภทนี้เลยนะคะ

- การโอนถ่ายความเสี่ยง (Risk Transfer)  โดยผลักภาระความเสี่ยงไปให้กับผู้อื่น  และนี่ก็เป็นหลักอีกอย่างในการทำประกันภัยนั่นเอง  เพราะผู้ซื้อประกันจะถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้บุคคลที่สาม  ซึ่งในที่นี้ก็คือ  บริษัทประกันภัย  ผู้ซื้อประกัน(ยอม) จ่ายค่าเบี้ยประกัน  ส่วนบริษัทรับประกันเองก็อาจโอนภาระการรับประกันความเสี่ยงของลูกค้า (ผู้ซื้อประกัน) ไปให้บริษัทอื่น(อีกต่อหนึ่ง) ได้บ้างเป็นบางส่วน

ควรหรือไม่ควรซื้อประกัน

อาจมีคุณบางคนคิดไม่ตกว่าความเสี่ยงระดับไหนและ (หรือ) ความเสี่ยงแบบใดที่ควรเสียเงินซื้อประกัน ในกรณีนี้ คงต้องหาอัตราส่วนมูลค่า ความเสี่ยงซึ่งฉันมีสูตรการคำนวณมาฝากค่ะ

อัตราส่วนมูลค่าความเสี่ยง = มูลค่ารวมของสิ่งที่เสี่ยง / มูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น คุณมีบ้านมูลค่า 6 ล้านบาท มีทรัพย์สินรวมทั้งหมด 9 ล้านบาท อัตรามูลค่าความเสี่ยงของบ้านคือ 6:9 หรือเท่ากับ 2 ใน 3 จัดว่ามากอยู่

หากเสียบ้านไปไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามย่อมกระทบกับฐานะการเงินของคุณแน่นอน เพราะฉะนั้นกรณีนี้ทำประกันบ้านของคุณเถอะค่ะ นอกจากนี้การตัดสินใจว่าคุณควรทำประกันทรัพย์สินชิ้นใดสามารถคำนวณได้ด้วยการหาอัตราส่วนมูลค่า ความเสี่ยงอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “หลักการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่” (Large-loss Principle) ที่ควรคิดถึงในการทำประกันทรัพย์ประเภทนี้คือ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นหาใช่โอกาสปัจจัยและความถี่ที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง

ส่วน ลด (Deductible) : ใครได้ประโยชน์?

คุณอาจสงสัยว่าทำไม ประกันบางประเภทจึงมีเงื่อนไขให้เราผู้ซื้อประกัน (ต้อง) จ่ายค่าเสียหายในส่วนแรกเอง

คำตอบก็คือ นี่เป็นการประสานประโยชน์ของสองฝ่ายสำหรับบริษัทประกัน ข้อกำหนดนี้ถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ส่วนเราผู้ซื้อก็จะได้ส่วนลดค่าเบี้ยประกันโดยได้รับประโยชน์เท่าเดิม

ด้วยเหตุนี้เองที่ในการทำประกันภัยรถยนต์ ผู้ซื้อบางรายจึงเลือกซื้อประกันที่จ่ายค่าเสียหายส่วนแรก 5,000 บาท แทนที่จะเป็น 2,000 บาท แลกกับมูลค่าประกันที่เพิ่มขึ้นจาก 200,000 บาทต่อครั้งเป็น 400,000 บาท โดยเสียค่าเบี้ยประกันเท่าเดิม

พื้นฐานในเรื่องการประกันภัยที่คุยให้ฟังกันในครั้งนี้คงจะช่วยให้เข้าใจได้นะคะว่าจริงๆ แล้ว การประกันเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่คุณควรศึกษากันอย่างถี่ถ้วน เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับการบริหารการเงินส่วนตัวของคุณได้นะคะ

เฉลี่ยภาระความเสี่ยง

อัคคีภัย อุบัติเหตุ โจรกรรม พิการ เสียชีวิต เรื่องร้ายๆ เหล่านี้ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเองหรอกค่ะ แต่เราต่างก็รู้ดีว่ามีโอกาสมากเหลือเกินที่เหตุร้ายเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเรา (หรือคนที่เรารัก)

และโอกาสที่จะมีวันร้ายคืนร้ายที่เหตุร้ายมาเยือนชีวิตทุกคนได้ทุกเมื่อนี่เองที่นำมาสู่หลักการพื้นฐานของการประกัน อีกข้อหนึ่งนั่นคือการเฉลี่ยภาระความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยต่างๆ โดยจะเฉลี่ยความเสี่ยงกันอยู่ในกลุ่มผู้ซื้อประกัน ตัวอย่างเช่น คนอายุ 35 ปี 1,000 คน ประกันชีวิตในวงเงิน 400,000 บาท ทุกคนตกลงจ่ายเงินคนละ 800 บาท เป็นเงินทุนเพื่อจ่ายให้กับญาติผู้ที่อาจเสียชีวิตในปีนี้ สมมติว่าอัตราการเสียชีวิตของคนอายุ 35 อยู่ที่ 2 จาก 1,000 คนก็เท่ากับว่าโอกาสที่กองทุนจะต้องจ่ายเงินเท่ากับ 800,000 บาทพอดี

การซื้อประกันด้วยเงินเพียง 800 บาท แทนที่จะเสีย (ทีเดียว) 400,000 บาท เมื่อเกิดเหตุซึ่งเท่ากับว่าลดภาระการเงินของเราเอง  คุณอาจแย้งว่าถ้าไม่มีเหตุร้ายก็ (ขาดทุน) เสียเงิน 800 บาท ไปเปล่าๆ แต่ถ้าเกิดเป็นไปในทางตรงข้ามล่ะ? ไม่เคยมีใครรู้มติของสวรรค์นะคะ ดังนั้น ในกรณีนี้เราควรมองในแง่บวกว่า การซื้อประกันถือเป็นการซื้อเกราะป้องกัน (ภัย) ความเสี่ยงให้ตัวเองยังไงละคะ

พร่ำพรรณามาตั้งนาน ตัวเองก็อยู่ในช่วงของการตัดสินใจซื้อเบี้ยประกันเพิ่มเหมือนกัน เพราะด้วยเหตุผลหลายอย่างและผลตอบแทน เงินปันผลที่ทำให้น่าคิด อืมม...ตัดสินใจกันให้ดีนะคะ  อย่าให้กระทบเงินในเป๋าตังค์ตัวเอง...

คำสำคัญ (Tags): #สาระดีดี
หมายเลขบันทึก: 345118เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท