โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑)


           โรงเรียนชาวนาเพิ่งจะได้นำเสนอสมเด็จพระเทพฯ ในงานประชุมวิชาการพิเศษของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๖ สค. ๔๘    และได้รับความนิยมสุดสุด    ซึ่งจะยิ่งช่วยกระพือกระแส การเกษตรปลอดสารพิษ (เคมี) และกระแส KM
         ต่อไปนี้จะเป็นตอนที่ ๑ ของรายงานความก้าวหน้าของโรงเรียนชาวนาระดับมัธยม    เริ่มด้วยบทสรุป     ตามด้วยรายงานเป็นตอนๆ     ท่านที่ตามรายงานนี้มาตั้งแต่โรงเรียนชาวนาระดับประถม คือการดูแลเรื่องแมลงโดยไม่ใช้ยาฆ่า    จะพบว่าราบงานชุดที่สองนี้เขียนได้น่าอ่านขึ้นมาก    แสดงว่าทักษะการเขียนของ “คุณอำนวย” ดีขึ้นมาก    และทักษะการจดบันทึกของนักเรียนชาวนาก็ดีขึ้นมากด้วย    ขนาดสมเด็จพระเทพฯตรัสชมนั่นแหละ

          
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร


                รายงานความก้าวหน้าโครงการ “ส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” ของมูลนิธิข้าวขวัญฉบับนี้ เป็นรายงานของช่วงเวลา 6 เดือน ที่สอง นับจากเริ่มโครงการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547
                กิจกรรมส่วนใหญ่ในช่วง 6 เดือนที่สองนี้ คือ โรงเรียนชาวนาหลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดิน (ในแปลงนา) ซึ่งถือเป็นหลักสูตรขั้นกลางหรือระดับมัธยมศึกษา ต่อจากหลักสูตรการจัดการโรคแมลงศัตรูข้าวโดยชีววิธี อันเป็นหลักสูตรขั้นต้น หรือระดับประถมศึกษา
                หลักสูตรการปรับปรุงดินโดยชีววิธี มีระดับความซับซ้อนและยากกว่าหลักสูตรแรกหรือหลักสูตรการจัดการโรคแมลงศัตรูข้าวโดยชีววิธี เพราะเรื่องดินเป็นหัวใจของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีหลายมิติเกี่ยวข้องกันอยู่ ทั้งมิติทางด้านกายภาพ (วิทยาศาสตร์) ด้านสังคม (วัฒนธรรมประเพณี)  และด้านจิตวิญญาณ (ความเชื่อในระดับเหนือโลกวัตถุ) ชาวนาในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี เกี่ยวข้องกับมิติทางด้านต่างๆ มาแต่เดิม และมีต้นทุนทางสังคม/วัฒนธรรม ในด้านจิตวิญญาณอยู่เป็นพื้นฐานมายาวนานด้วยกันทั้งสิ้น
                การฟื้นฟูคุณภาพดินในนาข้าว ให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องใช้การทำงานในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นที่การนำเอามิติทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมประเพณี (สังคม) ของชาวบ้านแต่ละชุมชนมาเป็นฐาน แล้วเสริมด้วยมิติทางกายภาพ (วิทยาศาสตร์) จากภายนอกที่สอดคล้องและเหมาะสมเข้าไปในหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงในนาข้าวของชาวนาแต่ละราย ในระบบการจัดการความรู้ รูปแบบโรงเรียนชาวนา หลักสูตรระดับมัธยมศึกษา (การปรับปรุงบำรุงดินในนาข้าว)
                รายงานความก้าวหน้าในฉบับนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนชาวนา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เรื่องดิน ด้านธรรมชาติ ศึกษาเรื่องดินจากการสังเกตและทดลองของชาวนาเอง ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวนาแต่ละท้องถิ่น ด้านจิตวิญญาณของดิน (แม่ธรณี) การเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติจริงของนักเรียนชาวนา การสนับสนุนจากภายนอก เช่น นักวิชาการด้านจุลินทรีย์ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  และจากสื่อมวลชน เป็นต้น
                สิ่งที่ยังคงเป็นหัวใจของโรงเรียนชาวนา ที่สืบเนื่องมาจากหลักสูตรแรก ก็คือ การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ความกระตือรือร้นของนักเรียนชาวนา หรือ “คุณกิจ” นับเป็นพระเอก (นางเอก) ตัวจริงของการจัดการความรู้ ในรูปแบบโรงเรียนชาวนา


           โรงเรียนชาวนามุ่งสร้างการเรียนรู้ในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์    จึงใช้หลายยุทธศาสตร์อย่างซับซ้อน    สมเด็จพระเทพฯตรัสชมเรื่องการใช้เรื่องพิธีกรรม จิตวิญญาณ และความเชื่อในการเรียนรู้นี้ด้วย


วิจารณ์ พานิช
๑๗ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3446เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2005 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท