การใช้อำนาจและพลังของผู้บริหาร


อำนาจ vs พลัง

การบริหาร     อำนาจ    และ     พลัง     

คำว่าอำนาจ  มาจากคำว่า  Authority ซึ่งหมายถึงอำนาจในการสั่งการ  การออกคำสั่ง  การบังคับให้ผู้อื่นปฏิบัติตามอำนาจที่ตนมี เพื่อให้ผู้อื่นปฏิบัติในสิ่งที่ตนต้องการ  หรือตามความประสงค์ของตนเอง  บุคคลผู้ที่มี Authority  หรืออำนาจดังกล่าว  ต้องเป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ที่สูง  มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ยิ่งใหญ่มีลูกน้องมากมายให้เลือกใช้และเลือกสั่งงาน ตามแต่ความเหมาะสมและความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาว่า  เหมาะกับงานใด 

หากสั่งการอย่างเดียวโดยไม่คิดถึงความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา  ก็จะทำให้ได้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพ  ในทางกลับกันก็จะทำให้ลูกน้องรู้ว่าเรามีความสามารถในการสั่งการและมีวิสัยทัศน์ขนาดไหน

            หากสั่งแล้วยังมีการคาดโทษ หรือสร้างความไม่พอใจแก่ผู้รับคำสั่งก็จะส่งผลต่อคุณภาพของงานเช่นกัน  เนื่องจากผู้รับคำสั่งไม่เต็มใจในการปฏิบัติตามคำสั่งจึงทำงานแบบขอไปที  หรือถ้าไม่พอใจมาก ๆ ก็อาจเป็นโทษและเกิดความลำบากแก่ผู้ออกคำสั่งเช่นกัน  ดังเช่น  เตียวหุย  ในเรื่อง สามก๊ก  ที่ต้องเสียชีวิตเพราะการใช้อำนาจของตนเอง

ผู้ใช้อำนาจสั่งการอย่างเดียว  มักจะเป็นการสร้างกำแพงกั้นระหว่างตนเองกับผู้รับคำสั่งให้มีช่องว่างระหว่างกัน  บางครั้งอาจเพื่อแสดงให้ผู้อื่นได้เห็นความสามารถของตนว่ามากเพียงใด  เขามักมุ่งไปสู่ความมีทิฐิมานะอย่างแรงกล้า  บุคคลดังกล่าวมักทำตัวเหนือผู้อื่น  และกดผู้อื่นให้รู้สึกด้อยกว่า  และมีความรู้สึกว่าตนเหนือกว่าจึงจะพอใจ  ส่งผลให้จิตใจของเขายิ่งต่ำลง  ยากต่อพุทธวิถีหรือยากต่อการเดินทางตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  หรือพูดตรง ๆ ก็ยากต่อการตรัสรู้  

 

 

คำว่า พลัง    มาจากคำว่า  Power  หมายถึง  บารมี  ที่ทำให้เรารู้สึกรัก เคารพ และนึกถึงคนผู้นั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของหรือสถานที่นั้นๆ   มักอยู่ในใจหรือในความทรงจำของเราเสมอ  หรือพูดง่าย  ๆ คือ พลังที่เกิดขึ้นในใจ  เช่น  เมื่อเราฟังเพลงเกี่ยวกับในหลวง  หรือได้ชมวีดีทัศน์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์  เราจะรู้สึกปลาบปลื้มปีติ  และมีความศรัทธาและรักในหลวงมากยิ่งขึ้น  หรือเมื่อเราชมภาพถ่าย  หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเราของพ่อแม่ว่ายากลำบากมากแค่ไหน  เราจะรู้สึกรักท่านมากยิ่งขึ้น  และท่านจะอยู่ในใจของเราตลอดเวลา  

            บุคคล สิ่งของหรือสถานที่ดังกล่าวจะมีอิทธิพลในใจเรา  เมื่อจะพูด คิด หรือทำสิ่งใดที่มีผลกับบุคคลผู้นั้น  หากเป็นผลเสียต่อเขา เราจะไม่ทำ  แต่หากเป็นผลดีต่อเขาเราจะรีบทำ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เราจะเรียกว่า  ปูชนียบุคคล  หรือบุคคลที่เราควรให้ความเคารพบูชา   พลังเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องจาก ปูชนียบุคคล ดังกล่าวได้สั่งสม  หรือทำความดีกับเราอย่างมากมาย  มากพอที่จะทำให้เรามีความรัก และความเคารพในเขาผู้นั้น  เมื่อเขาสั่ง บอก หรือขอร้องให้เราทำสิ่งใด  เรามักจะเต็มใจปฏิบัติตามเขา หรือแม้เขาไม่บอก เราก็จะทำเพื่อเขา   และทำงานให้ปูชนียบุคคลผู้นั้น อย่างเต็มความสามารถ  ทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  เกิดความสำเร็จต่องานและคน  คือคนมีความพึงพอใจในการทำงาน  และงานที่ได้รับมอบหมายมีความสำเร็จอย่างดี  แต่ในทางเดียวกัน  หากบุคคลนึกถึงแต่ประโยชน์ของบุคคลที่ตนรักเคารพ  ก็อาจทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่ที่บุคคลผู้เดียว  อาจมีผลเสียต่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยเช่นกัน  มีผลให้บุคคลผู้ใต้บังคับบัญชา  มีแต่โมหาคติ  หรือความลำเอียงเพราะความหลง  ทำให้จิตใจของผู้มีโมหาคตินั้น  ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  นอกจากปูชนีย-บุคคลของตน  จิตใจของเขาก็จะถูกฝังให้ต่ำลงด้วยความหลง  ทำให้ยากต่อพุทธวิถีหรือยากต่อการเดินทางตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  เช่นกัน

 

 

 

อย่างไรก็ดี  ในการบริหารนั้น  ต้องใช้ทั้งอำนาจและพลังประกอบเข้าด้วยกัน  ไม่สามารถแยกทั้งสองอย่างออกจากการบริหารได้  หรือไม่สามารถตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกได้  ต้องควบคู่ไปด้วยกัน  ขึ้นอยู่กับศาสตร์และศิลปะของการนำมาใช้ของผู้บริหาร  ว่าสมควรใช้แบบใด 

 

1.พลังและอำนาจเท่ากัน

 

2.พลังมากกว่าอำนาจ

 

3.อำนาจมากกว่าพลัง

       โดยใช้อย่างมีสติ  และไม่หลงติดอยู่ในอำนาจ  แต่ก็ไม่ละทิ้งการสร้างพลัง

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ยโสธร6
หมายเลขบันทึก: 343946เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2010 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท