ต่างชน ต่างชาติ ไม่ต่างใจ


ทุกครั้งที่คนไข้ต่างประเทศมาใช้บริการ ประโยคสุดท้ายที่ผมจะพูดกับเขาคือ Goodluck Goodtrip

          “ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าแบ่งชนชั้น วรรณะ เพื่อให้ตัวเองดูสูงส่ง เพราะมันมีแต่จะทำให้เราดูต่ำลงในสายตาคนอื่น ในทางกลับกันหากเราอยู่แบบเท่าเทียมกัน มีแต่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ สร้างสรรค์ ความรัก ความผูกผันที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

          ผมทำงานอยู่ในห้องยา  ซึ่งเป็นด่านสำคัญด่านหนึ่งที่คนไข้เกือบทุกคนมาใช้บริการ ซึ่งคนไข้ก็ไม่ได้มีเฉพาะคนพื้นที่เกาะยาว  แต่ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ  รวมทั้งแรงงานต่างชาติ พม่า มอญ ลาว ฯลฯ  ที่มาใช้บริการอยู่เป็นประจำ   ดังนั้นเราจึงต้องมีเทคนิค ต้องฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อสามารถบริการได้ด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เชื่อถือได้ และที่สำคัญเขาจะได้รู้สึกไว้วางใจและประทับใจในบริการของเรา

          บ่อยครั้งที่คนไข้แรงงานต่างชาติ  ต้องเสียเวลานานเมื่อมาใช้บริการที่ห้องยา  ไม่ใช่เพราะเราจัดยาหรือจ่ายยาช้า  แต่เพราะต้องการความแน่ใจว่าคนไข้เมื่อกลับไปบ้านแล้วจะกินยาได้ถูกต้องทุกคน  และทุกครั้งที่พวกเขามาใช้บริการ  ผมจะให้เขาเขียนภาษาพม่าหรือมอญ กำกับไว้บนฉลากยาทุกครั้งว่า...เป็นยาอะไร....กินอย่างไร.....ต้องระวังอะไรบ้าง   คำพูดทุกคำ กิริยาท่าทางทุกอย่าง  เราก็ทำเหมือนคนไข้อื่นๆ เหมือนญาติพี่น้องเราเอง  พูดนิ่มๆ ไม่ใช้โทนเสียงสูง  ตะคอกให้เขากลัวหรือเกรง ดังนั้นพวกเขาก็เลือกที่จะทำตามด้วยใจ  และสิ่งที่ผมเห็น  สัมผัสได้  คือ พวกเขาเข้าใจมากขึ้นกว่าการยืนฟังแล้วรับยากลับบ้านเหมือนก่อนหน้านี้ที่เคยทำกันมา

          เมื่อเลิกงานหรือมีเวลาเราจะขับรถจักยานยนต์ไปในชุมชน  ตลาด  เพื่อพักผ่อนหรือจับจ่ายใช้สอย  เมื่อมีรถจักรยานยนต์วิ่งสวนมา  สิ่งที่เราต้องทำทุกครั้ง คือ ผงกหัว ยิ้ม และพูดทักทายสั้นๆ เพราะพวกเขาก็ทำแบบนั้นกับเราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน พม่าหรือมอญ  ที่เคยมาใช้บริการ โดยเฉพาะครั้งใดก็ตามที่เขาทักทายเราก่อน  เราก็จะแอบดีใจอยู่ลึกๆว่า  “พวกเขา จำเราได้”

          ด้วยความที่เด็กไทย  หรือคนไทย  ได้เรียนภาษาอังกฤษเฉพาะในชั้นเรียน ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน  เมื่อเจอฝรั่งตัวเป็นๆ เลยพูดไม่ถูก  ยืนอ้ำอึ้งกันยกใหญ่ ที่นี่ก็เช่นเดียวกันที่ รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์  บางครั้งเมื่อคนไข้ต่างประเทศมาใช้บริการ เป็นใบ้รับประทานกันไปหลายคน หากมีโอกาสผมก็จะไปช่วยพูด  ช่วยอธิบายตามความเหมาะสม  แม้ว่าผมเองก็ไม่ได้เก่ง ฟังไม่ค่อยทัน แปลไม่ค่อยถูกในบางครั้ง  แต่ความเอาใจใส่  และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจถึงความไม่สบายกาย ไม่สบายใจของเขา ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อให้เราได้รู้โดยอัตโนมัติ  และสิ่งที่ทำให้เราได้รู้ว่าเขาพอใจ สบายใจภายหลังการใช้บริการก็คือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ (สองอย่างนี้ไม่ว่าชนชาติไหนก็แสดงออกและสื่อความหมายแบบเดียวกัน) และบางครั้งก็เป็นเงินค่าทิป  แต่ผมเลือกที่จะใส่ตู้บริจาคของโรงพยาบาลทุกครั้ง (นี่คือโชคชั้นที่สองคือนอกจากอิ่มเอมใจแล้วยังได้ทำบุญอีกด้วย)

          ทุกครั้งที่คนไข้ต่างประเทศมาใช้บริการ ประโยคสุดท้ายที่ผมจะพูดกับเขาคือ Goodluck Goodtrip  แต่หากเป็นคนไข้ต่างประเทศที่ประสบอุบัติเหตุหรือมีแผล  ผมจะถามพยาบาลแทนพวกเขาทุกครั้งว่า  “เขาสามารถเล่นน้ำได้มั๊ย?”  เพราะพวกเขาทุกคน ส่วนใหญ่เลือกมาพักผ่อนที่เกาะยาว เพราะอยากสัมผัสธรรมชาติ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำทะเล  เมื่อเราบอกเขาว่า “You can swim but be careful” พวกเขาจะยิ้มรับและกล่าวขอบคุณพร้อมยกมือไหว้ ผงกหัวหลายๆครั้ง เขาดีใจ เราก็ดีใจด้วย

                                                                            

                                                                                ล.ป.ญ.

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 343322เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • เป็นการปฏิบัติที่ดีมากๆๆค่ะ
  • ขอให้บุญเกื้อหนุนค่ะ

ขอบคุณครับ จะตั้งใจทำงานต่อไปครับ

pa_daeng ครับ ผมคนเดียวกันกับที่เขียนเรื่อง "ทันตกรรมแยกส่วน" งัยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท