การเล่นคำ-การซ้ำคำ อย่าจำสับสน


การซ้ำคำ - การเล่นคำ อย่าจำสับสน

การซ้ำคำและการเล่นคำเป็นกลวิธีในการแต่งที่กวีนำมาใช้เพื่อให้เกิดความงามแห่งวรรณศิลป์ การซ้ำคำและการเล่นคำนั้นดูเผิน ๆ ไม่พิเคราะห์ให้ดีอาจจะคิดว่าเป็นวิธีการแบบเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การซ้ำคำ เป็นกลวิธีที่ใช้คำคำเดียวกันซ้ำในคำประพันธ์ อาจจะวางไว้ติดกันแบบคำซ้ำ หรือวางไว้แยกจากกันแต่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยความหมายของคำที่ซ้ำนั้นจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง จะมีความหมายเหมือนกันทุกคำ เช่น

รอนรอนสุริยะโอ้อัสดง

เรื่อยเรื่อยลับเมรุลงค่ำแล้ว

รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่

เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้วคลับคล้ายเรียมเหลียว

(กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์)

ห้ามเพลิงไว้อย่าให้ มีควัน

ห้ามสุริยะแสงจันทร์ ส่องไซร้

ห้ามอายุให้หัน คืนเล่า

ห้ามดั่งนี้ไว้ได้ จึงห้ามนินทา

(โคลงโลกนิติ)

สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดิน เป็นสุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด

(มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี)

การเล่นคำ เป็นกลวิธีที่ใช้คำคำเดียวกันซ้ำในคำประพันธ์ แต่ความหมายของคำจะแตกต่างกันไป เช่น

ถีงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิตนิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล

ที่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล ประเดี๋ยวใจพบนางริมทางจร

(เล่นคำว่า พลัด บางพลัด= ชื่อสถานที่ พลัดนาง=พลัดพรากจากนาง)

เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง ทั้งรักแซงแซมสวาทระหลาดเหลือ

เหมือนโศกพี่ที่ระกำก็ช้ำเจือ เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลา

(เล่นคำว่า โศก ระกำ รัก สวาท โดยคำว่าโศก ระกำ รัก สวาทในกลอนวรรคสดับและวรรครับ หมายถึงชื่อต้นไม้ ต้นโศก ต้นระกำ ต้นรัก และต้นสวาท-ตามพจนานุกรมใช้สวาด ในที่นี้ใช้เสียงของคำที่พ้องกัน ส่วนคำว่า โศก ระกำ รัก สวาท ในกลอนวรรครองและวรรคส่งมีความหมายถึงอารมณ์ความรู้สึกโศก ระกำ รัก สวาท)


ได้เวลาทดสอบแล้วค่ะ

๑. ซ่อนกลิ่นกลิ่นแก้วซ่อน นาสา เรียมฤๅ

ตาดว่าตาดพัสตรา หนุ่มเหน้า

สลาลิงเล่ห์ซองสลา นุชเทียบ ถวายฤๅ

สวาดดั่งเรียมสวาทเจ้า จากแล้วหลงครวญ

คำประพันธ์ข้างต้นนี้มีความงามของภาษาตรงกับข้อใด

ก. เสียงสัมผัส

ข. การเล่นคำ

ค. การซ้ำคำ

ง. พรรณนาเห็นภาพพจน์

เฉลย คำตอบที่ถูกคือ ข้อ ข โคลงสี่สุภาพบทนี้เล่นคำดังนี้ ดอกกลิ่น - กลิ่นกายนาง

ตาด(ชื่อต้นไม้)- ผ้าตาด ต้นสลาลิง (หมากลิง) - สลา(หมาก) ต้นสวาด - สวาท(ความรักใคร่เอ็นดู)

๒. กล้าแดดจ้ากล้าพายุกล้าต้นกล้าต้านทนร้อนลมระดมกล้า

ครั้นกล้าแข็งแปลงยัดยิ่งอัตรา ชาวนามาถอนทำกล้ากำไป

ข้อใดใช้กลวิธีการแต่งต่างจากคำประพันธ์ข้างต้น

ก. เพกากาเกาะทุกก้านกิ่ง กรรณิการ์กาชิงกันชมหลง

ข. นางนวลจับนวลนางนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา

ค. ทั้งจากที่จากคลองเป็นสองข้อ ยังจากกอก็มาขึ้นที่คลองขวาง

ง. ทั้งหนาวลมหนาวพรมน้ำค้างพราวไหนจะหนาวซากผาศิลาเย็น

เฉลย คำตอบที่ถูก คือ ข้อ ง ใช้กลวิธีการแต่งแบบซ้ำคำ โดยซ้ำคำว่าหนาว (มีความหมายเหมือนกันทุกคำ) ส่วนคำตอบข้อก - ค ใช้กลวิธีเล่นคำ เล่นความหมาย

หมายเลขบันทึก: 343068เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอนำไปทำการบ้านนะค่ะ....

สวัสดีค่ะ  เฟิร์นสวย

   ยินดีมากค่ะ  ที่บันทึกนี้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนของนักเรียน

ขอบคุณครับ

อธิบายได้เข้าใจดีมาก

^^

รักรักรัก เลิศหรู ดูท่วมท้น
รักเหลือล้น ล่วงเลยกาล นานสมัย
รักเรือล่ม เลยร้าง ต้องห่างไกล
รักรินไหล ระรื่น ก็ชื่นตา

ฤทธิ์รสรักชื่นระรวย ไม่ม้วยมอด
รักตลอด ก็ลุล่วง บ่วงเสน่หา
ระริกรี้ กระปรี้เปร่า เร้าอุรา
รักมารดา กตัญญุตา ฤา รุ่งเรื่อง

ท่านอาจารย์ช่วงวิจารณ์กลอนที่ผมแต่งหน่อยนะครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ คุณสิทธิชัย

  ลักษณะบังคับของกลอนสุภาพคือสัมผัสระหว่างวรรค  สัมผัสระหว่างบท โดยทั่วไปถือว่าถูกต้อง  แต่ถ้าเป็นระดับการประกวดแข่งขันถือผิด  ได้แก่  สมัย - ไกล 

สมัย เป็นคำที่ประสมด้วยเสียงสระ  อะ โดยมี ย เป็นเสียงท้ายพยางค์หรือตัวสะกด 

ไกล เป็นคำที่ประสมด้วยเสียงสระ ไอ

ดังนั้นจึงต้องระวังคำเหล่านี้ให้ดี

ส่วนใจความครูขอแก้ไขวรรคสุดท้ายดังนี้ค่ะ

รักมารดากตัญญุตาพารุ่งเรือง

ฝึกฝนต่อไปนะคะ

ข้อนำไปทำการบ้านน่ะคะ

รบกวนถามหน่อยนะคะ จากคำประพันธ์

กล้าแดดจ้ากล้าพายุกล้าต้น กล้าต้านทนร้อนลมระดมกล้า

ครั้นกล้าแข็งแปลงยัดยิ่งอัตรา ชาวนามาถอนทำกล้ากำไป

ที่บอกว่าเป็นการซ้ำคำ อยากรู้ว่าคำว่า "กล้า" ในที่นี้หมายถึงอะไรหรอคะ?

พอดีได้การบ้านขอนี้มา ต้องตอบพร้อมอภิปราย

ขอบคุณค่ะ

แก้เรปบนนิดนึงค่ะ

ที่บอกว่าเป็นการเล่นคำ คำว่า"กล้า" ในแต่ละที่ หมายถึง กล้า อะไรหรอคะ?

ไม่เข้าใจความหมายจริงๆ

สวัสดีค่ะ

กล้าแดดจ้ากล้าพายุกล้าต้น              กล้าต้านทนร้อนลมระดมกล้า

ครั้นกล้าแข็งแปลงยัดยิ่งอัตรา           ชาวนามาถอนทำกล้ากำไป

คำประพันธ์บทนี้ครูจำได้ว่าเคยเห็นเป็นข้อสอบนะคะ

กลอนบทนี้ใช้คำว่า "กล้า" ถึง 7 แห่ง

แต่คำว่ากล้าที่ใช้นั้นทุกคำไม่ได้มีความหมายดุจเดียวกัน

กลวิธีในการใช้คำเช่นนี้เรียกว่า การเล่นคำ

บางคำเป็นคำนาม มีความหมายว่า ข้าวเปลือกที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น

บางคำเป็นคำกริยา  มีความหมายว่า  ไม่กลัว ไม่ครั่นคร้าม

บางคำเป็นคำวิเศษณ์ มีความหมายว่า  แข็ง  แรง

นักเรียนดูตามสีนะคะ

กล้าแดดจ้ากล้าพายุกล้าต้น         กล้าต้านทนร้อนลมระดมกล้า

ครั้นกล้าแข็งแปลงยัดยิ่งอัตรา     ชาวนามาถอนทำกล้ากำไป

ขอบคุณ ครูแป๊ว กัลยาณี มากเลยค่ะ

อธิบายกระจ่างมาก

ขอบคุณมากค่ะ เอาไปอ่านหนังสือสอบ

เป็นพระคุณอย่างสูงครับ ขอบคุณมากครับ คุณครู

ขอบคุณมากๆเลยค่ะอธิบายดีมากๆตอนแรกเราสับสน. คำซ้ำซ้ำคำพอมาอ่านเลยรู้ว่าที่ควรสับสนจริงๆคือเล่นคำตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะขอบคุณมากนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ!!^^ สำหรับความรู้ดีๆ

การเล่นคำซ้ำอยู๋ในโวหารอะไรหรอคะ

รบกวนถามหน่อยค่ะจากคำประพันธ์นางนวลน่ารัก ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวนแก้วพี่นี้สุดนวล ดั่งนางฟ้าหน้าใยยองที่บอกว่าการซํ้าคำ อยากรู้ว่าคำว่า”นวล”ในที่นี้หมายถึงอะไรหรอคะพอดีว่าได้การบ้านอันนี้มาต้องตอบพร้อมอธิบายน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท