นิยามศัพท์ในการวิจัยคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ


       บทนิยามศัพท์นี้เป็นการกำหนดความหมายและลักษณะความสัมพันธ์ของเรื่องที่ทำการศึกษาเพื่อกำหนดขอบเขตของคำให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องตรงกัน ดังนี้
       “คนไร้รัฐ[1]” (Stateless Persons) หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีข้อเท็จจริงอันทำให้ได้รับสัญชาติของรัฐใดเลย และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยในรัฐใดเลยเช่นกัน อันทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถตั้งบ้านเรือนถิ่นฐานได้โดยชอบด้วยวิธีใด ๆ ในโลกใบนี้ และเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายสำหรับรัฐทุกรัฐ กล่าวคือ เป็น “คนต่างด้าว” (Aliens) สำหรับทุกรัฐ ไม่มีรัฐเจ้าของสัญชาติ (State of Nationality) และไม่มีรัฐเจ้าของภูมิลำเนา (State of Domicile)
       “คนไร้สัญชาติ[2]” (Nationalityless Persons) หมายถึง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่ปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยว่ามีสัญชาติของรัฐอื่น กล่าวคือ เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติขิงรัฐใดเลยภายหลังจากการพิจารณากฎหมายว่าด้วยสัญชาติของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยแท้จริง (Genuinlink) กับบุคคลนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะกล่าวอ้างหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากรัฐได้ เว้นแต่ว่ารัฐนั้นจะยอมรับที่จะให้ “สิทธิอาศัย” แก่บุคคลเหล่านั้น
       “ธุรกรรม[3]” (transactions) หมายความว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญาหรือการดำเนินการใด ๆ กับผู้อื่นทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน
        ธนาคารพาณิชย์[4] หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์
      “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์[5] หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ
      “บัญชีเงินฝาก[6] หมายความว่า การรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีการใดที่สถาบันการเงินได้รับอนุญาตในปัจจุบัน หรืออาจได้รับอนุญาตในอนาคต
      “การรับเงินจากประชาชน[7] หมายความว่า การกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีการใดที่สถาบันการเงินได้รับอนุญาตในปัจจุบัน หรืออาจได้รับอนุญาตในอนาคตในปัจจุบัน หรืออาจได้รับอนุญาตในอนาคต
      “ลูกค้า[8] หมายความว่า บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน หรือเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ในทอดสุดท้ายจากการมีความสัมพันธ์หรือทำธุรกรรม หรือเป็นผู้มีอำนาจควบคุมหรือตัดสินใจในทอดสุดท้าย รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ หรือทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินแทน หรือในนามของผู้อื่น
       “โรงรับจำนำ[9]  หมายความว่า สถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท และหมายความรวมตลอดถึงการรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระ แต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่าจะได้ไถ่คืนในภายหลังด้วย
        “สถานธนานุบาล[10] หมายถึง โรงรับจำนำของเทศบาลในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการจัดการสถานธนานุบาลเทศบาลและคณะกรรมการควบคุมและดำเนินงานสถานนุบาลของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การดำเนินงานของสถานธนานุบาล หมายถึง การบริหารการจัดการด้านการบริการของสถานธนานุบาลเทศบาล ได้แก่ การรับจำนำ การคิดดอกเบี้ย การไถ่ถอน และการจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำ
       “สถานธนานุเคราะห์[11] หมายถึง โรงรับจำนำที่ได้รับเงินทุนจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ รวมกับกำไรสะสมและเงินกู้จากธนาคารออมสินดำเนินกิจการโดยกรมประชาสงเคราะห์
       “บริษัทประกันภัย[12] หมายความว่า บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
       “การประกอบธุรกิจประกันภัย[13]  หมายความว่า การประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย การประกอบธุรกิจว่าด้วยประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และการคุ้มครองผู้ประสบภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
       “บริการธนาณัติ[14]” (Money Order Service) หมายถึง บริการที่ ปณท รับฝากเงินจากผู้ฝากส่งแล้วดำเนินการออกตราสารสั่งจ่ายเงินซึ่งเรียกว่าธนาณัติหรือออกคำสั่งให้ที่ทำการไปรษณีย์แห่งใดแห่งหนึ่งจ่ายเงิน หรือออกตราสารสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับที่มีนามระบุในตราสารนั้น
       “บริการไปรษณีย์[15] หมายถึง  บริการของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่จัดให้ผู้ใช้บริการแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) บริการหลัก คือ บริการที่ไปรษณีย์ จัดให้แก่ ผู้ใช้บริการในการฝากส่งข่าวสาร เอกสารและสิ่งของต่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ โดยมีอัตราค่าบริการและคุณภาพที่เหมาะสม ประกอบด้วย ไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ (2) บริการพิเศษ คือ บริการที่ไปรษณีย์จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้ได้ ประกอบด้วย บริการที่ใช้ควบคู่กับบริการหลัก ได้แก่ ไปรษณีย์รับรอง ไปรษณีย์ลงทะบียน ไปรษณีย์ตอบรับ ไปรษณีย์รับประกัน นำจ่ายด่วน ธุรกิจตอบรับ บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) และบริการ Logispost

[1] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา สายสุนทร นางสาวอัญชลี กิจธนไพบูลย์ นางสาว
อรวรรณ  รอดสังวาล  นางสาวสุวรรณนี  เข็มเจริญ  และนางสาวอารยา  ชินวรโกมล , “รายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการศึกษาปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อคนไร้สัญชาติในประเทศไทย เสนอต่อการประชุมวิชาการ เรื่อง “งานวิจัยของประเทศไทยด้านการย้ายถิ่นระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์” (24 มิถุนายน 2545) , (อัดสำเนา).
[2] อ้างแล้ว 1
[3] มาตรา 3 (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542.
[4] มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551.
[5] มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551.
[6] ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.77/2551 เรื่อง การกำหนดให้สถาบัน
การเงินปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชน ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2551.
[7] ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.77/2551 เรื่อง การกำหนดให้สถาบันการเงินปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชน ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2551.
[8] อ้างแล้ว 7
[9] มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534.
[10] จันทร์เพ็ญ  ตูเทศานันท์ , ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อการดำเนินงานของสถานธนานุบาลในประเทศไทย , คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2542 , หน้า 9.
[11] เศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือ
(ออนไลน์) บทที่ 9 , www.econ.neu.ac.th.
[12] มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550.
[13] มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550.
[14] ข้อ 3 ของคู่มือการใช้บริการไปรษณีย์ (Postal Guide) เล่ม 3 บริการการเงิน , บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด : ธันวาคม 2550.
[15] ศิริพร  ธรรมบำรุง , แนวทางการพัฒนาคุณภาพบริการของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด , คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2551 , หน้า 7.

 

หมายเลขบันทึก: 342992เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2010 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท