ป้ญหา O-Net


ปัญหานี้สะท้อนหลายอย่างในระบบการศึกษาไทยของเรา อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ทางเลือกทางการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นมีอยู่น้อย 2) ปัญหาเรื่องการสอนให้เด็กคิดเป็น

ช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนนอกจากเรื่องการเมืองในประเทศก็เห็นจะเป็นประเด็นเรื่องข้อสอบ O-Net ที่เด็กๆม. 6 เพิ่งจะสอบกันไป สื่อต่างๆได้หันมาเล่นประเด็นนี้กันอย่างมาก เริ่มตั้งแต่รายการอย่างเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3, รายการคม ชัด ลึก (ที่คุณจอมขวัญเป็นพิธีกร) จนมาถึง วู้ดดี้เกิดมาคุย สัปดาห์ล่าสุด ผมจึงอยากจะเขียนให้ความเห็นบางประการเกียวกับประเด็นนี้ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาการศึกษาไทยที่สะท้อนออกมาจากปัญหาการสอบ O-Net

หลังจากฟังหลายๆรายการ พบว่า ข้อสอบที่มีปัญหา และเห็นพูดกันอยู่แค่ส่วนเดียวคือ ส่วนข้อสอบวิชาสุขศึกษา/พละศึกษา/ศิลปศึกษา และการงานอาชีพ ที่มีจำนวน 16 ข้อ ซึ่งในแทบจะทุกรายการจะมีการยกข้อสอบในส่วนดังกล่าวออกมาเล่าสู่กันฟัง รวมถึงบางรายการมีการลองทำกันให้เห็นจริงๆ และจากเท่าที่เห็นนั้น วิชาในส่วนสุขศึกษากับพละศึกษาดูจะมีปัญหามากที่สุด (โดยเฉพาะคำถามเรื่องเพศศึกษา และทักษะการกีฬา)

ตัวผมที่ได้ดูเต็มๆและมานั่งคิดพิจารณาก็คือรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย ที่ได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน หัวหน้าสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ อันเป็นสถาบันที่รับผิดชอบการออกข้อสอบ O-Net และได้สัมภาษณ์เด็กๆที่เข้าสอบจำนวน 50 คน ในรายการได้นำความเห็นจากเด็กๆมาถามอาจารย์ รวมถึงนำความรู้สึกหลายๆอย่างที่เด็กๆนำเสนอมาแสดงให้อาจารย์ทราบและถามว่าอาจารย์จะทำอย่างไร

จากการได้ฟังคำถามหลายๆคำถามผมคิดว่า คำถามมีความคลุมเครืออยูในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับที่ผมคิดว่าทำให้งงและคิดกันหลายตลบได้ทีเดียว ในบางคำถาม อย่างไรก็ดี มันก็ยังอยู่ในวิสัยที่จะใช้เหตุผลในการตอบข้อสอบได้แม้มันจะทิ้งความรู้สึกไม่แน่ใจเอาไว้เบื้องหลังบ้างนอกจากนั้นข้อสอบหลายข้อยังไม่มีความรัดกุม ซึ่งตรงจุดนั้นผมเองก็เห็นด้วย แต่ก็เข้าใจได้ว่าด้วยวิสัยของข้อสอบปรนัยอาจจะไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากนัก หรือครอบคลุมอุดรูรั่วจินตนาการอันบรรเจิดของเด็กๆไปได้ อย่างไรเสีย ข้อสอบก็น่จาะสามารถคาดเดาความเป้นไปได้ที่เด็กๆจะคิดและอุดรอยรั่วเหล่านั้นไว้ได้บ้าง ส่วนข้อปัญหาเรื่องความชัดเจนของตัวเลือกนั้น เท่าที่มีโอกาสเห็นผมก็คิดว่ามันก็สามารถทำให้ชัดกว่านี้ได้

สิ่งที่ผมสงสัยมากๆคือ ทำไมข้อสอบในส่วนดังกล่าว ที่ดูเหมือนจะมีปัญหามาก (มีข้อที่มีปัญหามากจริงๆแบบที่ถูกยกขึ้นมารวมประมาณ 10 กว่าข้อ ) ถึงถูกยกขึ้นมาบ่อยครั้ง และหลายครั้งถูกทำให้เหมือนกับว่า ข้อสอบ O-Net ทั้งหมดทุกส่วนทุกวิชามีลักษณะเป็นอย่างนั้น หรือว่าทั้งหมดทุกข้อจะมีลักษณะอย่างนั้นผมไม่อาจทราบได้ แต่มันก็ดูไม่สมเหตุสมผล หากมีเพียงส่วนนี้ที่มีปัญหาแล้วเด็กๆจะมาคร่ำครวญบอกว่าจะทำให้หมดอนาคตหรือสอบไม่ได้เลย หากเด็กๆสามารถทำข้อสอบส่วนอื่นได้ ข้อสอบส่วนนี้ที่อาจจะไม่แน่ใจว่าจะทำถูกหรือเปล่าก็ไม่นาจะเป็นปัญหาถึงเพียงนั้น

ในส่วนนี้ผมคิดว่า สื่อทำให้ O-Net ดูมีปัญหาเกินจริง แน่นอนว่า มันไม่ควรจะพลาด แต่เพราะเป็นปีแรก การพลาดก็น่าจะพอเข้าใจได้อยู่ แต่ว่า มันเป็นเพียงส่วนย่อยๆจากข้อสอบทั้งหมด มันไม่ควรจะถูกตีความหรือขยายความว่าจะส่งผลต่ออนาคตของเด็กหรือการศึกษาไทยมากขนาดที่สื่อกำลังกระพือกระแส

อย่างไรก็ดี ปัญหานี้สะท้อนหลายอย่างในระบบการศึกษาไทยของเรา ผมขอยกมาอย่างน้อย 2 ประการที่ผมคิดว่าสำคัญ คือ 1) ทางเลือกทางการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นมีอยู่น้อย 2) ปัญหาเรื่องการสอนให้เด็กคิดเป็น

ประการแรกคือ มันสะท้อนว่า ทางเลือกทางการศึกษาของเรานั้นน้อยเหลือเกิน จริงอยู่โดยหลักการแล้วอาจจะมีมากกว่า 1 คือ มหาวิทยาลัย , ประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) , สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และการเรียนต่อต่างประเทศฯลฯ (ถ้ามี) แต่ว่า เอาเข้าจริงๆมันกลายเป็นว่า ทางเลือกคุณภาพดี (สิ่งแวดล้อมดี และหวังในเชิงรายได้และอนาคตทางการงานได้) และคนทั่วไปพอจะจ่ายได้ มีอยู่เพียงทางเดียวคือ มหาวิทยาลัย ทางเลือกอื่นๆ ถ้าไม่สามารถจ่ายได้ (เรียนต่างประเทศ)​ก็คุณภาพด้อยกว่าไปเลย (ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพการศึกษา และอนาคตในทางการงาน - อย่างน้ยอในมุมมองของผู้คน) กระทั่งในหมู่มหาวิทยาลัยก็ยังถูกบีบแคบลงไปด้วยค่านิยมในสังคมไทย

ผมยังสงสัยว่า ถ้าทางเลือกทางการศึกษาในระดับที่สาม (Tertiary education) มีมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ O-Net จะมีความสำคัญขนาดกำหนดอนาคตของเยาวชนไทย การศึกษาไทยและอนาคตของชาติได้ขนาดนี้หรือ

ประการที่สองคือ ทำให้เห็นว่า การคิดวิเคราะห์ของเด็กไทย ซึ่งเป็นปัญหามานานนับสิบปี บ่นตั้งแต่ก่อนผมเข้ามหาวิทยาลัยจนตอนนี้จะเรียนปริญญาเอกแล้วก็ ยังแก้ไขไม่ได้เสียที เด็กทุกคน ตั้งแต่รุ่นผมก็บอกว่า ต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะให้เป็น มารุ่นนี้ก็ยังปัญหาเดิมๆ และผมรู้สึกว่าเรามีความเชื่อว่า เราจะสามารถให้เด็กคิดอย่างนั้นได้ หาก ข้อสอบมีลักษณะเป็นแบบนั้น คือ ข้อสอบจะเหนี่ยวนำให้เด็กคิดได้เอง ซึ่งจริงๆผมคิดว่ามันไม่ค่อยถูกหรือมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เพราะท้ายที่สุด สอบเสร็จเค้าก็ลืมไปอยู่ดี เพราะมันจะกลายเป็นว่าความคิดของเขาถูกพัฒนามาเพื่อให้ทำข้อสอบได้ มันอาจจะเหลืออยู่ในความทรงจำ หรือเป็นทักษะทางความคิดเล็กน้อย แต่ผมก็สงสัยว่า เขาจะเอามาใช้ต่อได้ขนาดไหน

มันควรจะมีการสอนวิชา “วิธีการคิด” อย่างจริงจังได้แล้ว เรื่องนี้นาย Edword DeBono ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่อในด้านกระบวนการคิดของโลก เขียนหนังสือไว้หลายเล่มเช่น Six Thinking Hat, Lateral Thinking เป็นต้น ได้พยายามผลักดันมาตลอด 20 กว่าปี ผมได้อ่านหนังสือของเขาหลายเล่ม ได้มีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมในแนวๆนี้ และก็ตระหนักกับตัวเองว่า เมื่อเราได้วิธีคิด (คือรู้ว่าควรจะให้ความสนใจกับอะไรเมื่อคิดแต่ละเรื่อง ควรจะตั้งคำถามอย่างไร ฯลฯ) การทำงานการเรียน และการใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไปเลย เพราะเราคิดได้ คิดเป็น จริงๆอาจจะไม่ต้องไปถึงการคิดเชิงระบบ หรือการคิดสร้างสรรค์ก็ได้ การคิดวิเคราะห์ หรือ การให้ความเห็นแบบมีเหตุมีผลเนี่ย เอาให้มันชัด เอาให้มันได้ มันมีวิธีคิดของมันอยู่ ที่ควรจะต้องบอกกล่าว และให้นักเรียนได้ฝึกกันทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน จากที่อ่านหนังสือของ DeBono ผมเข้าใจว่าในหลายประเทศ ได้มีการบรรจุไว้เป็นหลักสูตรด้วย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของปัญหาการสอบ O-Net ที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่า ควรจะมีคณะกรรมการเพิ่มเติมมาช่วยในการปรับปรุงข้อสอบให้มีคุณภาพมากขึ้น ตัวผมเห็นว่าเด็กๆควรจะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงในแง่ของการส่ง feed back จากการสอบกลับมาให้ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และทางคณะกรรมการ ซึ่งควรจะมีความรู้ในแง่การออกข้อสอบ และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ามาร่วมในกรรมการเพื่อทำให้ข้อสอบมีความสอดคล้องกับหลักสูตรมากที่สุด

ข้อสำคัญของการปรับปรุงนี้ นักเรียนและผู้ปกครองควรจะต้องตระหนักว่า มันจะไม่ใช่การปรับปรุงเพื่อทำให้นักเรียนทำข้อสอบได้มากขึ้น แต่เป็นการปรับปรุงให้ข้อสอบมีความสามารถในการวัดผลในแบบที่สอดรับกับจุดประสงค์ของการจัดสอบให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นธรรมกับนักเรียนจากทั่วทุกโรงเรียนในประเทศ

หมายเลขบันทึก: 342901เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

เห็นแล้วก็อดจะแสดงความคิดเห็นไม่ได้ ต้องขอแจมด้วยครับ ผมติดตามรายการต่างๆ เหมือนกันและก็เห็นด้วยกับอาจารย์ว่าสื่อ "ทำให้ O-Net ดูมีปัญหาเกินจริง" ปัญหามันกระหน่ำซ้ำเติมมากกว่าเดิมก็เพราะคนส่วนใหญ่ฟังแล้วก็เชื่อเลย (ไม่คิดต่อ ไม่คิดตาม) ผมได้ดูเรื่องเล่าเช้านี้ และ วู้ดดี้เกิดมาคุย (ช่วงแรก, ไม่ทราบว่าเขาสรุปว่าอย่างไร) และสงสัยว่าการเอาความจริงเพียงส่วนหนึ่งมาเสนอนั้นจะแก้ปัญหาได้หรือไม่? ถ้าผู้ใหญ่ยังไม่หันมาคุยกันอย่างมีเหตุผล เอาแต่ด่ากันไปด่ากันมา จะเอาชนะกันท่าเดียว และฝ่ายอื่นต้องตายตกไปให้หมด (เหมือนที่เห็นกันในทีวี) เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่าวิธีนี้เป็นเพียง "วิธีเดียว" ที่จะใช้สื่อสารกันในสังคมโดยไม่มองว่าทำไมฝั่งตรงข้ามถึงทำอย่างนั้น แล้วทำไมผลถึงออกมาแบบนี้ ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา การที่มีผู้ปกครองโทรไปด่ากรรมการก็พอจะสะท้อนปัญหาตรงนี้ได้พอสมควร

ถ้าเจตนาของข้อสอบคราวนี้คือการถามคำถามแบบวิเคราะห์ ถ้าผู้ปกครองและนักเรียนเห็นด้วยกับวิสัยทัศน์นี้ก็ต้องช่วยกันคิด ให้คำแนะนำแบบสร้างสรรค์ เพื่อให้แนวทางนี้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าและหวังว่ากรรมการเองก็จะรับฟัง ว่าไหมครับ?

อ.ชลครับ

ขอแนะนำตัวก่อน ผมชื่อบอย ตอนนี้เป็น อจ อยู่ที่ ม.ขอนแก่นครับ

อ่าน blog ตอนก่อนๆของ อจ เลยได้รู้ว่า อจ เรียนที่ EIPE ด้วย ซึ่งผมก็สนใจอยากลองสมัครเรียนเหมือนกัน

ไม่ทราบว่า พอจะ อีเมลไปปรึกษาได้มั๊ยฮะ

ของผม [email protected] ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท