นิวซีแลนด์... ตอนที่ ๔ คุณภาพที่พัฒนาเป็นระบบ


การประกันคุณภาพระดับอุดมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ จะมุ่งเน้นคุณภาพของผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ที่ระบุไว้ในคุณวุฒิการศึกษา รวมทั้งระบบและกระบวนการที่ทำให้เกิดคุณภาพตามที่สถาบันฯนั้นๆ กำหนดไว้

            ในการศึกษาการประเมินผลโครงการสำหรับนักเรียนนานาชาติ ปี ค.ศ.๒๐๐๐ หรือ Programme for International Student Assessment ในชื่อย่อว่า  PISA ซึ่งกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่นักเรียนอายุ ๑๕ ปี พบว่านิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในหกประเทศที่นักเรียนมีผลงานความสามารถดีเลิศในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยมีการนำเอาระบบประกาศนียบัตรสัมฤทธิ์ผล ทางการศึกษาระดับชาติ (National Certificate of Educational Achievement หรือ NCEA)  มาใช้ทดแทนระบบการรับรองวุฒิการศึกษาเดิม ระหว่าง ค.ศ.๒๐๐๒ – ๒๐๐๔ ซึ่งนักเรียนจะสามารถขอรับ NCEA ในหลักสูตรและวิชาที่หลากหลายถึง ๓ ระดับ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ทั้งนี้ประกาศนียบัตรดังกล่าว จะสามารถนำไปสู่การเทียบเท่าคุณวุฒิของโรงเรียนระหว่างชาติได้ อาทิ NCEA ระดับ ๑ สามารถเทียบเท่าประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของประเทสอังกฤษ หรือระดับเกรด ๑๐ ของประเทศแคนนาดาและสหรัฐอเมริกา หรือวุมิการศึกษาชั้นปีที่ ๑๐ ในหลายรัฐของประเทศออสเตรเลีย หรือกรณีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือรับทุนการศึกษาใน NCEA ระดับ ๓ เทียบโดยรวมได้เท่ากับระดับ A ของประเทศอังกฤษ หรือวุฒิการศึกษาชั้นปีที่ ๑๒ ในหลายรัฐของประเทศออสเตรเลีย เช่น วุฒิบัตรการศึกษาไฮสคูลของรัฐนิวเซาท์เวลส์  นอกจากนี้วุฒิปริญญาตรีที่ได้รับจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ยังสามารถเทียบเท่าโดยรวมกับปริญญาตรี(Ordinary) ของประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับให้ใช้สมัครเข้าเรียนระดับสูงกว่าปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ตามมาตรฐานคะแนนในวิชาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ และยังมีประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการฝึกอบรม และการอาชีวศึกษาระหว่างประเทศออสเตรเลียและนิวซแลนด์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๘๘ ด้วย

            สำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาในภาพรวมนอกจากเป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการโดยตรงแล้ว ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย โดยในระบบโรงเรียนมี สำนักงานทบทวนการศึกษา (The Education Review Office หรือ   ERO) ทำหน้าที่ตรวจตราประกันคุณภาพการศึกษาในระบบโรงเรียน จัดทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษาและการดูแลเอาใจใส่นักเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งศูนย์เด็กปฐมวัย ซึ่งประกอบด้วยผลการตรวจสอบรายศูนย์/โรงเรียน ผลการประเมินในประเด็นทางการศึกษาระดับชาติ เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน  สำนักงานมาตรฐานวุฒิการศึกษาแห่งประเทศนิวซีแลนด์ (The New Zealand Qualifications Authority  หรือ NZQA) ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา การตรวจสอบ การบริหารการสอนระดับชาติและการอนุมัติหลักสูตร ที่จัดให้แก่นักเรียน นักศึกษานานาชาติในโรงเรียนนั้นๆ และสภาผู้ประกอบวิชาชีพครูแห่งประเทศนิวซีแลนด์ (The New Zealand Teachers Council) ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพครู ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและอนุมัติหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพ และกำหนดให้โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนอนุบาลทุกแห่ง ต้องจ้างครูเฉพาะผู้มีใบอนุญาตที่ยังไม่ขาดอายุ หรือจ้างครูให้สอนตรงตามใบอนุญาตที่จำกัดขอบข่ายการสอนไว้เป็นการเฉพาะ แต่เกณฑ์การขึ้นทะเบียนดังกล่าวนี้ ไม่ได้ครอบคลุมไปใช้บังคับสำหรับครูที่สอนในศูนย์เด็กปฐมวัยและสถาบันอุดมศึกษา แต่การประกันคุณภาพระดับอุดมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ จะมุ่งเน้นคุณภาพของผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ที่ระบุไว้ในคุณวุฒิการศึกษา รวมทั้งระบบและกระบวนการที่ทำให้เกิดคุณภาพตามที่สถาบันฯ นั้น ๆ กำหนดไว้ สำนักงานมาตรฐานวุฒิการศึกษาแห่งประเทศนิวซีแลนด์ (The New Zealand Qualifications Authority หรือ  NZQA) จะเป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนสถาบันการศึกษาเอกชน และเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการทำการอนุมัติให้เป็นสถาบันฝึกอบรมของรัฐ และยังทำหน้าที่รับรองและตรวจสอบสถาบันการศึกษาและองค์กรด้านการให้ความรู้หรือสถาบันที่ได้รับการอนุมัติหลักสูตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ รวมทั้งให้การรับรององค์กรฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรม (Industry Training Organization หรือ ITOs) ให้เป็นคณะผู้ประเมินสถานประกอบการ หลักสูตรและวุฒิการศึกษาตามที่ได้รับการรับรอง และในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี สำนักงาน NZQA จะมอบอำนาจในการอนุมัติและรับรองหลักสูตรของโพลีเทคนิคและสถาบันเทคโนโลยี ให้แก่สมาคมโพลีเทคนิคแห่งประเทศนิวซีแลนด์(Association of Polytechnics in New Zealand หรือ  APNZ) และคณะกรรมการหลักสูตรโพลีเทคนิค นอกจากนี้ NZQA ยังมอบอำนาจให้แก่สมาคมคอลเลจ ออฟ เอดูเคชั่นแห่งประเทศนิวซีแลนด์(Association of Colleges of Educational in New Zealand หรือ ACENZ) และคณะกรรมการดูแลสถาบันด้านการศึกษาด้วย

            คณะกรรมการรองอธิการบดีแห่งประเทศนิวซีแลนด์ (The New Zealand Vice-Chancellor’s Committee  หรือ  NZVCC) เป็นองค์คณะบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้การประกันคุณภาพแก่วุฒิการศึกษาในมหาวิทยาลัย  โดยผ่านคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรของมหาวิทยาลัย(Committee on University Academic Programmed หรือCUAP) โดยคณะกรรมการชุดรองอธิการนี้ จะทำหน้าที่ดำเนินการอนุมัติหลักสูตรระหว่างมหาวิทยาลัยและกระบวนการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ให้คำแนะนำ เสนอแนะในการพัฒนาวิชาการ ส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นขั้นตอนและอำนวยความสะดวกในการโอนหน่วยกิตระหว่างหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานตรวจสอบทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในประเทศนิวซีแลนด์(New Zealand Universities Academic Audit Unit หรือ NZUAAU) ซึ่งตั้งขึ้นโดย NZVCC ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย และพิจารณาสรรหาผู้เชี่ยวชาญนิวซีแลนด์ และชาวต่างชาติมาทำหน้าที่ในการสอน  ในภาพรวมของคุณภาพระดับอุดมศึกษา NZVCC   และ  NZQA  จะใช้เกณฑ์ร่วมกันในการอนุมัติและรับรองปริญญา

            ลักษณะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับต่างๆ ของ นิวซีแลนด์จะมีลักษณะเด่นหลายประการ กล่าวคือ ประการแรก การใช้หน่วยงานและคระกรรมการหลายระดับในการกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียน ประการที่สอง มีหน่วยงานกลางกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้สถาบัน/สถานศึกษา พัฒนาตนเองไปสู่เกณฑ์และการรับรองคุณภาพ ประการที่สาม มีสภาวิชาชีพครูกำกับดูแลครูอาจารย์ผู้สอน ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ให้ได้รับการตรวจสอบและพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยใช้การต่ออายุใบประกอบวิชาชีพเป็นเงื่อนไขเร่งรัดการพัฒนา ประการที่สี่ การตรวจสอบรายงานขึ้นทะเบียนและนำเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้เกิดการแข่งขัน เพื่อการเร่งพัฒนาคุณภาพ เพราะเป็นระบบของการประกาศผลความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้บริหาร รวมทั้งบุคลากรในสถาบัน อันถือเป็นการควบคุมเชิงกลยุทธ์ ประการที่ห้า การให้อิสระในการกำหนดเป้าหมาย หลักสูตรและยุทธศาสตร์ การดำเนินงานที่กำหนดเป็นเกณฑ์เฉพาะในบางสาขาหรือบางระดับ อาทิ ระดับอุดมศึกษา หรือสาขาการศึกษาหรือโพลีเทคนิค โดยมีหน่วยงานหรือคณะกรรมการเฉพาะทางดูแล ประการที่หก การกระจายและมอบอำนาจไปในระดับขอบข่าย สัดส่วนและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เหมาะสม และประการสุดท้าย การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการรับรองและประกันคุณภาพการศึกษาร่วมกับประเทศต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดคุณภาพการจัดการศึกษาที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทั้งนี้ในข้อสังเกตทั้ง ๗ ประการดังกล่าว จึงเป็นเสมือนการเสริมสร้างพัฒนาการด้านคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบ....

หมายเลขบันทึก: 342784เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท