นิวซีแลนด์... ตอนที่ ๓ รอบรั้วการศึกษา


ระบบการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์มีการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระบบที่โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาต้องรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการกันเองตามลำพัง ภายใต้กรอบแนวทาง เงื่อนไขและการจัดการด้านการเงินที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้

            ภายใต้บริบทพื้นฐานของประเทศนิวซีแลนด์ที่เกริ่นนำไว้ในเบื้องต้น ผนวกกับผลพวงของแรงกระตุ้นที่เกิดจากแนวโน้มในการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ การขยายฐานการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เครื่องมือและอุปกรณ์อันทันสมัยที่ใช้ผ่อนแรงการปฏิบัติภารกิจของทรัพยากรมนุษย์ ในแหล่งประกอบการต่างๆ ทำให้ตลาดจ้างแรงงานขยายความต้องการกำลังแรงงานที่สามารถปรับตนเองได้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมที่เคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว การจัดระบบการศึกษาในประเทศเล็กๆ ที่มีผู้คนประชากรไม่มากนัก และมีแกนนำของผู้บุกเบิกยุคแรกๆ ซึ่งเคยดำรงชีวิตอยู่ในประเทศที่มีความเจริญล้ำหน้าชาติหนึ่งของยุโรป จึงเป็นขอบข่ายการจัดการศึกษาที่น่าสนใจมิติหนึ่ง

            เริ่มจากระบบการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์มีการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระบบที่โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาต้องรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการกันเองตามลำพัง ภายใต้กรอบแนวทาง เงื่อนไขและการจัดการด้านการเงินที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติใน ค.ศ.๑๙๘๙ เป็นหน่วยงานกลาง ปฏิบัติภารกิจในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายการศึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลกลาง  จัดหาบริการด้านต่างๆในนามรัฐบาล จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้แก่สถาบันการศึกษา ติดตามการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาที่ได้รับการอนุมัติ จัดบริการด้านการศึกษาพิเศษ ประมวลผลสถิติและสารสนเทศด้านการศึกษา และติดตามประสิทธิภาพของระบบการศึกษาโดยรวม อำนาจในการบริหารของผู้ให้บริการด้านการศึกษา จึงเปลี่ยนจากรัฐบาลกลางไปสู่สถาบันการศึกษาระดับต่างๆ โดยในส่วนของภาครัฐมีการบริหารจัดการในรูปกรรมการบริหารหรือสภาของตน เอง จากคณะกรรมการที่มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งขึ้นมา

            แนวทางหลักในการบริหารจัดการ ประกอบด้วยการศึกษาระดับปฐมวัย เป็นการให้การศึกษาดูแลเอาใจใส่แก่เด็กเล็กและทารกก่อนจะเข้าโรงเรียน โดยมีรูปแบบการให้บริการอย่างหลากหลาย ทั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ศูนย์รับเลี้ยงเด็กและให้การศึกษา บริการให้การศึกษาตามบ้าน สถานดูแลเด็ก ฯลฯ ส่วนใหญ่ใช้สื่อภาษาอังกฤษ แต่ในบางแห่งจัดบรรยากาศให้เด็กได้เรียนภาษาเมารี  ภาษาชาวเกาะแปซิฟิค และภาษาอื่นๆ ในกรอบวัฒนธรรมดั้งเดิม การศึกษาระดับนี้รัฐบาลและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ให้ความสนใจสำหรับการเพิ่มคุณค่าแก่ประชากรเป็นพื้นฐาน และผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นความสำคัญ รวมทั้งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่การให้บริการในการศึกษาระดับปฐมวัย มิใช่กิจกรรมของรัฐหรือจัดให้มีโดยรัฐ บทบาทของรัฐจึงเป็นการพัฒนา แนวทางการจัดการหลักสูตรระดับชาติ  การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ และการสนับสนุนด้านการเงิน

            การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  เป็นการศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนจัดให้แก่เด็กอายุระหว่าง ๖ – ๑๖ ปี ตามปกติมีการเปิดเรียนในปลายเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนธันวาคม แบ่งออกเป็น ๔ ภาคเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนแบบหญิงล้วน ชายล้วนและแบบสหศึกษา ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ในระดับประถมศึกษา จะเริ่มต้นที่ชั้นปีที่ ๑ ถึงชั้นปีที่ ๘ โดยชั้นปีที่ ๗ และ ๘ บางแห่งมีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษา แต่บางแห่งแยกไปเปิดสอนเฉพาะในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น  ระดับมัธยมศึกษา  จัดการศึกษาในชั้นปีที่ ๙ ถึงปีที่ ๑๓ โดยทั่วไปนักเรียนจะมีอายุระหว่าง ๑๓ – ๑๗ ปี และส่วนใหญ่เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ที่เรียกกันหลายชื่อ อาทิ Secondary School , High School Colleges หรือ Area School  ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร มีเพียงบางครั้งเท่านั้น ที่ใช้ภาษาเมารีเป็นภาษาหลักในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเน้นการสืบทอดค่านิยมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเมารี  สำหรับอัตราเฉลี่ยของครูต่อนักเรียนในแต่ละชั้นจะอยู่ที่ ๑  :  ๘ ถึง ๑  :   ๒๒ ในปี ค.ศ.๒๐๐๑ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาสามารถเข้ารับการรับรองวุฒิการศึกษาระดับชาติได้ถึง ๔ ประเภท คือ (๑) ประกาศนียบัตรโรงเรียน(School Certificate) เทียบตามปกติในชั้นปีที่ ๑๑  (๒) ประกาศนียบัตรฟอร์มที่หก (Sixth Form Certificate)ในชั้นปีที่ ๑๒  (๓) ประกาศนียบัตรไฮเออร์สกูล (Higher School Certificate) ในชั้นปีที่ ๑๓ และ (๔) ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย(University Entrance) , Bursaries and Scholarship ในชั้นปีที่ ๑๓ ทั้งนี้ในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จะมีโรงเรียนการศึกษาพิเศษ และโรงเรียนที่สอนทางไปรษณีย์ให้บริการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอยู่ด้วย

            ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นลักษณะการศึกษาอบรมทุกด้านหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา โดยปัจจุบันนิวซีแลนด์มีสถาบันอุดมศึกษารวมทั้งสิ้น ๓๖ แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย ๘ แห่ง  สถาบันเทคโนโลยีและอุดมศึกษาเมารี ๓ แห่ง องค์กรให้การอบรมทางด้านอุตสาหกรรม ๔๖ แห่ง และหน่วยงานให้การอบรมเอกชน ที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานมาตรฐานวุฒิการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์    (New Zealand Qualifications Authority) ประมาณ ๘๔๐ แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษของเอกชนด้วย ลักษณะของสถาบันอุดมศึกษาจะมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใฝ่รู้ทุกกลุ่มอายุ เชื้อชาติ ความสามารถและภูมิหลังทางการศึกษา เปิดการเรียนการสอนหลากหลายระดับ  หลากหลายหลักสูตร ตั้งแต่เตรียมการเพื่อการศึกษาต่อไปจนถึงการศึกษาหลังระดับปริญญาและการวิจัยที่ไม่มีการแบ่งแยกประเภทหลักสูตร เน้นความสามารถของสถาบันในการเปิดสอนหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนดไว้ ขณะที่องค์กรฝึกอบรมด้านอุตสาหกรรม เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่แทนภาคอุตสาหกรรม ทักษะและคุณวุฒิการศึกษาของแต่ละภาคอุตสาหกรรมในระดับชาติ นอกจากนี้ยังจัดการฝึกอบรมในระหว่างการทำงานในหลักสูตรต่างๆ มากมาย

            สภาพบรรยากาศที่คณะผู้ศึกษาดูงานมีโอกาสสัมผัสพบเห็นและพูดคุยสนทนากับทั้งผู้บริหารสถานศึกษา คณุอาจารย์ บุคลากรฝ่ายสนับสนุน และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ปรากฏสาระสำคัญหลายประการอาทิ ในRutherford College โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นนำของเมือง Auckland : Mr.Cliff R. Edmeades ตำแหน่ง Principal และMr.Miriam Sprague  ตำแหน่ง Director International Students ได้ให้ข้อมูลที่เป็นแนวคิด ในการให้อิสระแก่นักเรียน สำหรับการเลือกศึกษาวิชาที่ตนเองสนใจ และมีความถนัดพื้นฐานเป็นเบื้องต้น การฝึกภาวะผู้นำ การอยู่ร่วมกันในสังคม การช่วยตนเอง มีการเชิญเด็กนักเรียนลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ที่คุณพ่อเป็นชาวไทยและคุณแม่เป็นชาวนิวซีแลนด์ที่หย่าร้างกันไปแล้ว และเด็กนักเรียนคนนี้เพิ่งเดินทางกลับจากการไปพักอาศัยกับคุณพ่อชาวไทยที่กรุงเทพฯ การซึมซับคุณค่าของเอกลักษณ์ไทย ปรากฏจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมในการพูดภาษาไทย ทักทายโดยการไหว้และกล่าวคำสวัสดี ทำให้พวกเราแอบนึกภูมิใจอยู่เงียบๆ Mr.Edmiadeo  ให้ข้อคิดว่า การให้การศึกษาแก่เด็ก ไม่ใช่การสอนหรือบอกวิชา แต่ต้องให้ความเป็นกันเอง เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของเด็ก ให้เด็กมีความไว้วางใจ เชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธา ก่อนที่จะชี้นำการปฏิบัติตน ให้ในสิ่งที่เด็กควรจะต้องการการชี้แนะ ต้องมีการวิเคราะห์สภาพความต้องการของเด็กแต่ละคน การให้เด็กเลือกที่จะเรียนรู้ ที่จะเป็นด้วยตนเอง ไม่ใช่เป็นการบังคับขณะที่บรรยากาศในการสนทนาอยู่ในห้องสมุด เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะมีความเป็นระเบียบ ใฝ่เรียนใฝ่รู้จากการค้นคว้า แสวงหาความรู้จากแหล่งค้นคว้าในห้องสมุดที่มีเอกสารมากมาย รวมทั้งจาก Internet

            สำหรับวิชาที่เป็นโครงสร้างสำคัญในหลักสูตร ไม่น่าจะแตกต่างจากของไทย เพราะมีวิชาหลักๆ ประกอบด้วย  วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์  สังคมศึกษา เทคโนโลยี ศิลปะ ทั้งนี้ในบางวิชามีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพของความเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคม และปลูกฝังความอ่อนโยนในพฤติกรรมให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นทางเลือกของการกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคตตามความถนัด ศักยภาพ และความต้องการของเด็กด้วยตนเอง มีวิชาเลือกเพิ่มเติมมากมาย พร้อมทั้งห้องปฏิบัติการ สื่ออุปกรณ์ทันสมัยภายใต้บรรยากาศสบายๆ หลากหลายรูปแบบ อาทิ ในสายศิลปะ มีทั้งการออกแบบงานศิลป์ ดนตรี การแสดง การเต้นรำ การปั้น  การวาดและเขียนภาพ ในสายภาษามีภาษาให้เลือกศึกษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ คือ ภาษาจีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ภาษาพื้นเมืองเมารี ในด้านเทคโนโลยีจะมีทั้งการใช้และควบคุมทางด้านอิเล็คทรอนิค เทคโนโลยีการสื่อสาร โครงสร้างและอุปกรณ์เครื่องกลเทคโนโลยีด้านการผลิต และการสร้างผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ทั้งนี้ในภาพรวมของวิธีการให้ความรู้และการศึกษาของเด็กในสถานศึกษาแห่งนี้ คือภาพแห่งความเป็นอิสระทางความคิดและการฝึกปฏิบัติค้นคว้า แสวงหาความรู้ที่ตนเองสนใจด้วยตนเอง  ครูผู้สอนเป็นเพียงมอบโครงงานให้คิด และทำทั้งเดี่ยวและกลุ่ม โดยคอยดูแลให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ ผลที่ปรากฏจากสายตา คือ ความพึงพอใจของเด็ก ซึ่งจะนำพาไปสู่องค์ความรู้ที่เป็นแก่นแท้ในความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง  และจะเป็นบันไดความรู้ที่ยั่งยืน อันสร้างสะสมอยู่ในตัวเด็กแต่ละคน และพร้อมที่จะเพิ่มพูนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความใฝ่ใจรักของเด็กเอง  โรงเรียนและครูมีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนและการแสวงหาด้านเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ

            เมื่อคณะของเราก้าวออกมาชมทัศนียภาพในยามเลิกเรียนของเด็กนักเรียนใน Rutherford College ส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างจากในเมืองไทย ถึงแม้จะแต่งชุดเครื่องแบบเป็นระเบียบเรียบร้อยกันทุกคน  แต่เมื่อโรงเรียนเลิกนั้น บทบาทนักเรียนจะสิ้นสุดลง บางคนจะมีชุดลำลองไปเที่ยวมาเปลี่ยน เพื่อไปทำกิจกรรมแห่งความสนุกสำราญตามวัยของกลุ่มตนอย่างต่อเนื่อง บางคนก็ขี่รถจักรยานกลับ บางคนก็เดินหยอกล้อกันไปเป็นกลุ่มๆ เพื่อขึ้นรถประจำทาง ขณะที่เรากำลังสังเกตพฤติกรรมของเด็กในโรงเรียนอย่างไม่จริงจังนัก พร้อมกับทอดสายตากวาดมองไปยังสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ ลานจอดวถ สนามบาสเก็ตบอล ท่านกลางแสงแดดอ่อนๆ ที่กระทบปรอยสายฝนเป็นละอองที่กระจายอยู่ทั่วไป สีเหลืองปนส้มที่คลุมอยู่บนร่างบุรุษผมสั้นเกรียนก็ปรากฏขึ้นกลางหมู่เด็กเยาวชนของโรงเรียนแห่งนี้ สะท้อนวูบเข้าสู่สายตาพวกเรา ทุกคนต่างหันหน้าไปสบตากัน ด้วยสีหน้าที่บ่งบอกความฉงนสนเทห์  ถึงแม้จะไม่มีใครเอ่ยปากออกมาทันทีทันใด  แต่ทุกคนน่าจะมีแววกังวลใจกับการปรากฏกายของร่างนี้ ใครคนหนึ่งในกลุ่มพวกเรา ซึ่งอดรนทนไม่ได้จึงสอบถามถึงที่ไปที่มาของบุคคลในชุดคลุมสีเหลืองผู้นั้นและก็ได้คำตอบจาก Ms.Spragued ว่าบุรุษดังกล่าวเป็นชาวกัมพูชาที่เข้ามาศึกษาในสาขาการบริหารธุรกิจร่วมกับเยาวชนอื่นๆ ในหลายๆเชื้อชาติ และเป็นนักบวชในนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา การนุ่งห่มจะละม้ายคล้ายคลึงพระสงฆ์ในพุทธศาสนาของไทย  ทันทีที่ได้รับคำตอบทุกคนในกลุ่มต่างถอนหายใจขึ้นเกือบพร้อมกันด้วยความโล่งอกโล่งใจ นึกว่าพระสงฆ์ไทยเสียแล้ว....

หมายเลขบันทึก: 342783เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท