นิวซีแลนด์.....ดินแดนแห่งคุณภาพ


ข้อเขียนเบิกโรงฉบับนี้ เป็นเพียงการเกริ่นนำเข้าสู่บรรยากาศในสาระเล็กๆ กึ่งวิชาการจางๆ มิได้มุ่งเจตนาให้เป็นข้อเขียนเชิงวิชาการ ที่ทำให้หนักสมองอย่างจริงจัง แต่ถือเป็นเพียงส่วนเสี้ยวแห่งวิถีการเดินทางที่มีทั้งความหลากหลาย บริบทวิถีชีวิตในสังคม

ตอนที่ ๑ เบิกโรงก่อนยาตรา....

            ย้อนหลังไปเมื่อ ๒ – ๓ เดือนก่อน ช่วงต่อเนื่องแห่งการเริ่มศักราชใหม่ในปี ๒๐๐๔ บรรยากาศทางวิชาการในมิติและทิศทางตามโครงสร้างใหม่ที่ สพบ. หรือ   “สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา” ในอดีต กำลังผันตนเองย่างก้าวไปสู่ความเป็น    สคบศ. ในชื่อเต็มว่า “สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา” ภายใต้การนำของผู้อำนวยการสถาบันฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ เบญจกาญจน์
มีการอนุมัติให้อาจารย์วีระชัย จิวะชาติ เป็นหัวแรงใหญ่รับผิดชอบสร้างหลักสูตร

            ผู้นำการบริหารสถานศึกษาระดับชาติขึ้น กิจกรรมต่างๆ ทางทฤษฎีของการสร้างหลักสูตรได้ดำเนินไปจนเกือบครบถ้วน เหลือเพียงช่วงหลังแห่งการปฏิบัติภารกิจที่ทีมงานยุคบุกเบิก เสนอข้อคิดความเห็นโดยสอดคล้องตรงกันว่า การจะสร้างหลักสูตรที่มีคุณค่าคู่ควรในระดับชาติ คงมิใช่เพียงรวบรวมข้อมูลจากตำหรับตำรา รับฟังความคิดเห็นนานาทรรศนะจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านร้อนหนาวมาด้วยประสบการณ์ในการดูแลบริหารกิจการสถานศึกษา รวมทั้งมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวงเท่านั้น แต่ควรเปิดโลกทัศน์ไปชะแง้แลดู ประเทศที่ลักษณะการบริหารจัดการมีคุณภาพ เป็นต้นแบบทางความคิดและการปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และสิบตาเห็นก็ไม่เท่าได้ไปสัมผัสในแหล่งอารยธรรม ถามไถ่หลักการ ปัญหา อุปสรรค ปัจจัยต่างๆ ให้เห็นถึงข้อเท็จและจริง ก่อนประกาศให้สังคมในแวดวงการศึกษาประจักษ์แก่สายตาว่า สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในบทบาทใหม่ สามารถประยุกต์สร้างสรรค์หลักสูตรพัฒนาคุณภาพทรัพยากรบุคคลในระดับบริหารได้อย่างมั่นใจ และพึงพอใจแก่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

            ข้อสรุปในจุดเริ่มต้นแห่งการศึกษาดูงาน เพื่อสร้างสีสรรและคุณค่าแห่งหลักสูตรระดับชาติฉบับนี้ จึงอุบัติขึ้นและไปลงเอยพุ่งเป้าหมายไปที่นิวซีแลนด์ ดินแดนบนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคใกล้ขั้วโลกใต้ อันเป็นเสมือนประเทศในฝันของผู้คนทั่ว ไปที่กล่าวขานกันว่า มีมนต์เสน่ห์แห่งความสวยงามระดับโลก มีวิถีการดำรงชีวิตของสังคมอย่างมีแบบแผน เป็นระบบระเบียบ ผู้คนสืบเชื้อสายความเป็นผู้ดีเก่ามาจากวัฒนธรรมต้นแบบของอังกฤษ ที่เป็นเจ้าของอาณานิคมแห่งนี้ อุบัติการณ์แห่งการศึกษาดูงาน ณ ประเทศนิวซีแลนด์ของทีมงานเฉพาะกิจชุดนี้ จึงดำเนินการขึ้น มีการเตรียมการอย่างพรักพร้อมเป็นระบบ โดยบุคคลที่เหน็ดเหนื่อยกับการติดต่อประสานงานทั้งในและนอกประเทศ ในกระบวนการต่างๆ คงจะหนีไม่พ้น อาจารย์กิตติเดชฯ ที่วิ่งวุ่นผมฟู ถึงแม้ว่า อาจารย์ณัฐพรฯ จะช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านเอกสารไปส่วนหนึ่งด้วยรอยยิ้มจางๆ เพราะหากยิ้มนานต้องเพิ่มปริมาณครีมหน้าเด้งขึ้นด้วย รวมทั้งสองสาว อาจารย์อรวรรณฯกับอาจารย์ประภาศรีฯ ซึ่งคอยลุ้นให้กำลังใจมาตลอด ทีมงานพบอุปสรรคขลุกขลักไปบ้างก่อนเดินทาง ๒ วัน  อันสืบเนื่องมาจากท่านดร.สมเกียรติ ชอบผล ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ หัวหน้าคณะในการเดินทางที่กำหนดไว้แต่เดิม เกิดติดราชการสำคัญของท่านรัฐมนตรี จนเกือบทำให้กำหนดการต่างๆ ต้องเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไป แต่เคราะห์ดีที่ท่านผู้อำนวยการฯที่เข้มแข็งปรับเปลี่ยนสถานการณ์ได้โดยฉับพลัน ในฐานะนักบริหารมืออาชีพ การสัญจรของชีวิตเก้ากะรัต จึงยาตราไปตามครรลองของเวลาในช่วง ๑๔-๒๓ มีนาคม ๒๕๔๗

            ข้อเขียนเบิกโรงฉบับนี้ เป็นเพียงการเกริ่นนำเข้าสู่บรรยากาศในสาระเล็กๆ กึ่งวิชาการจางๆ มิได้มุ่งเจตนาให้เป็นข้อเขียนเชิงวิชาการ ที่ทำให้หนักสมองอย่างจริงจัง แต่ถือเป็นเพียงส่วนเสี้ยวแห่งวิถีการเดินทางที่มีทั้งความหลากหลาย บริบทวิถีชีวิตในสังคมของผู้คนที่กล่าวขานกันว่า มีคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแห่งหนึ่งของโลก  ข้อคิดวิเคราะห์บางแง่มุมที่สอดแทรกสาระวิชาการ  จะกรุยทางเป็นเบื้องต้นไปสู่เอกสารวิชาการฉบับสมบูรณ์ ที่มีคุณค่าควรแก่ความสนใจสำหรับพี่น้องชาวสถาบันฯ ที่เป็นผลพวงการผลิตของหัวหน้ากอง บก.ดร.เวชฯ การเสาะแสวงหาข้อมูลแบบเจาะลึกอย่างละเอียดของอาจารย์ชัชรินทร์ฯ ในการดูแลอำนวยการของอาจารย์วีระชัยฯ ผู้มุ่งมั่นทางวิชาการเป็นสรณะ ลองติดตามอ่านกันต่อไปใน............  ”เบิ่งตามองบริบท”

หมายเลขบันทึก: 342776เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท