147.สายลับ พ.27 บทที่ 1


พ.27สายลับพระปกเกล้าฯ   และ หัวหน้าวิทยุกระจายเสียงภาคไทยของ กองบัญชาการทหารสูงสุดพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่ม 2 ตอน"ชนะแน่คือหนี"

คำนำ

            ดังได้แถลงไว้ใน  ภาคหนึ่ง  ของ  "พ.27"  แล้วว่าเรื่องนี้เป็นชีวประวัติของข้าราชสำนักผู้หนึ่ง  ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพระราชวงศ์ ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทย  เมื่อ พ.ศ. 2475-76 เขาใช้ชื่อรหัสว่า "พ.27" อันเป็นผลให้เขาต้องหนีออกจากเมืองไทยไปผจญชีวิตยาวนานอยู่ต่างแดน  และได้เป็นบุคคลสำคัญในงานสงครามจิตวิทยาของฝ่ายสัมพันธมิตร   อังกฤษ--อเมริกา  ฯลฯ  ตลอด 4 ปี ของสงครามเอเชียบูรพา.  ฯลฯ.

          เนื่องจากเรื่องราวของ "พ.27"  จะต้องถูกรักษาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์  สำหรับการค้นคว้า  ศึกษาของอนุชนรุ่นต่อๆไปจึงจำเป็นต้องบันทึกรายละเอียดไว้บางตอนที่สำคัญในประวัติชีวิตอันสับสนอลเวง......ของ  "พ.27" จึงถูกแบ่งเป็นตอนๆ  คือ  "พ.27"ตอน  "ชนะแน่คือหนี"  และ  "พ.27"  ตอน "เกียรติศักดิ์รักของข้าฯ"

        ขณะนี้  "เกียรติศักดิ์รักของข้าฯ"  กำลังขึ้นแท่นตีพิมพ์เสร็จแล้วหลายยก  เพื่อรีบเสนอสนองความเมตตาปรานีของท่านผู้อ่านต่อไป

               ด้วยความเคารพอย่างสูง จากผู้เขียน....

                    " อ.ก.    รุ่งแสง "

           พ. 27 เป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ  ในรัชกาลที่ 7

      เมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่พสกนิกรไทยแล้ว  พระบาทสมเด็จพระปก-เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าอาจจะมีพระราชวงศ์บางองค์  คิดต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย  จึงทรงโปรดให้จัดตั้งหน่วยสอดส่อง ความประพฤติของบรรดาเจ้าชายทุกองค์ และทูล เกล้า ฯ ถวายรายงานการเคลื่อนไหว...แต่การณ์กลับปรากฎว่า  "  พ. 27 "  ได้พบแต่ปฏิกิริยาของพวกคณะปฏิวัติ  ทะเลาะวิวาท   เพื่อแย่งชิงอำนาจกันเอง  ทั้งยังสร้างความสะเทือน พระราชหฤทัยนานาประการ

     คอมมิวนิวส์ซึ่งเกาะกลุ่มกันอยู่แล้ว ก็ถูกส่งไปด้อมมองรอบๆวังไกลกังวล หัวหิน ซึ่ง  " พ.27 " ก็ได้ทำหน้าที่ช่วยทหารรักษาวัง ในมาตราการถวายอารักขา ฯ  จนมีพระราชหัตถ์เลขาทรง  บันทึกว่า  " กล้าและสามารถ  ควร ได้รับความชมเชย.  ปปร.

     บัดนี้ " พ.27" ได้เปิดเผยเรื่องราวที่ทูลเกล้าฯ ถวายซึ่งถือเป็นความลับสุดยอดใน  ยุคนั้น...เพื่อเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์...

      เขาต้องหนีการจับกุมของรัฐบาล (พระยาพหล พลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)ไปอยู่ต่างประเทศถึง 16 ปี  ผจญชีวิตอย่างโชกโชน...เป็นหัวหน้าวิทยุที่..ที่ยอดเยี่ยม..   ในบรรดาวิทยุกระจายเสียงทุกสถานี...ของประเทศพันธมิตร  ในสงครามโลกครั้งที่ 2

          ผมเห็นว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้ปัจจุบัน และจะนำไปสู่การเดินไปในอนาคตอย่างมีทิศทาง จึงขอนำเสนองานเขียน ของ อ.ก.รุ่งแสง ที่เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีในตำราเรียน สมควรที่คนรุ่นหลังจะได้รู้ เพื่อจะได้มีทิศทางที่ถูกต้อง ขอเชิญท่านผู้มีเกียรติทุกท่านเข้าไปค้นหาความจริงได้ใน สายลับ พ.27 บทที่1  ณ บัดนี้ครับ ขอขอบพระคุณ คนโคก เป็นอย่างสูงที่นำผมไปสู่ข้อมูลนี้

                                สายลับ พ.27

                                  ตอน

                          " ชนะแน่คือหนี"

                     #   ชนะแน่  แน่นั้น    คือหนี

           กิเลสหลายหลากมี          มากล้น

           กรรมชั่วมั่วกาลี             ละหมด  สิ้นแล

           ทางนิพพานพระค้น       พบด้วย "การหนี"

        

                                 -๑-

          เรื่องคอมมิวนิสต์ในบุษบันบุรี (ชื่อสมมุติจังหวัดใกล้หัวหิน) จะเป็นประการใดต่อไป  ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้สอบสวน  และก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับนายดำรง หรือพรรคพวกของเขา จากเจ้าหน้าที่วังไกลกังวลแต่อย่างใดทางผู้ว่าราชการจังหวัด "บุษบันบุรี" ก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก  เรื่องการจับกุมดำเนินคดี เป็นคอมมิวนิวต์  ก็เป็นหน้าที่ของท่านเจ้าเมืองอยู่แล้ว  เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ วารศัพท์  ข้าพเจ้าไม่ได้เขียนข่าวเรื่องเที่ยวสงกรานต์(๒๔๗๖)  เพราะไม่มีอะไรเป็นข่าว  ควรเสนอภาพชกมวยที่ถ่ายไว้ จึงไม่ได้นำลงพิมพ์ ส่วนรูป นายดำรงและสมุนขณะนั่งดูมวย ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่สุดของงานที่ข้าพเจ้าและผู้ช่วยไปปฏิบัตินั้น เราก็ไม่ส่งไปให้พวกเขา  เพราะเชื่อว่าในตอนบ่ายของวันที่ เราจาก"บุษบันบุรี" มา  นายดำรงและลูกน้องก็จะต้องได้รู้ความจริงตลอดแล้วว่า เราเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเขาหน้าที่สำคัญอันดับแรกซึ่งข้าพเจ้า พ.27ได้รับบัญชาสั่งจากท่านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ผู้สำเร็จราชการสำนักพระราชวังตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน  คือการสอดส่องความประพฤติของพระราชวงศ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...บรรดาเจ้าชายที่กำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์  ว่าจะทรงประกอบกิจกรรมอันใดที่ขัดต่อระบบประชาธิปไตย   ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย   คำสั่งในเรื่องนี้   เป็นพระราชกระแสดำรัสสั่ง  ซึ่งท่านผู้สำเร็จราชการสำนักพระราชวัง   ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ราชการที่7  ทรงเป็นห่วงว่าบรรดาเจ้านายที่ไม่พอพระทัยในระบอบการปกครองที่เปลี่ยนใหม่...อาจคิด...หรือทำการใดๆที่ผิดรัฐธรรมนูญ  ซึ่ง  พวกเจ้า  ต้องอยู่เหนือการเมือง   ถูกห้ามเล่นการเมืองจะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้   พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมี   พระราชประสงค์ให้พระราชวงศ์ก่อปฏิกิริยา  อันจะเป็นชนวนให้เกิด"ช่องว่าง"ระหว่างราชบัลลังก์กับประชาชน  เพราะระยะนั้นยุคที่ประชาชนถูกปลุกปั่นให้หลงเข้าใจว่า"ประชาธิปไตย ต้องเป็นศัตรูกับ"พวกเจ้า"   ใครที่จงรักภักดีต่อ"พระมหากษัตริย์  จะถูกประนาม รอยัลลิส ซึ่งหมายถึงพวกนิยมกษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์  ทั้งๆที่ประเทศสยามได้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบประเทศอังกฤษและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรปอยู่แล้ว...

           การสอดส่องความประพฤติของเจ้านายตามพระราชประสงค์นี้  ผู้สำเร็จราชการสำนักพระราชวังกำชับให้ข้าพเจ้าสนใจเป็นพิเศษ  และให้รายงานด่วน  เมื่อมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น  คำสั่งนี้ทำให้ข้าพเจ้าหนักใจอยู่บ้างเพราะอาจมีบางกรณีที่ไม่อยากเขียน ให้การฟ้องร้องขี้น...

          ผู้ใกล้ชิดยุคลบาทพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   ย่อมตระหนักว่าพระองค์ทรงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยขนานแท้ของอังกฤษ   ทรงมีพระราชปณิธานที่จะให้ประชากรไทยทั้งชาติ   ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับอารยชาติประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก   .. ใครก็ตามที่พยายามจะเปลี่ยนแปรประชาธิปไตยของไทยให้กลายรูปเป็นอื่น  เช่น เผด็จการ หรือ สังคมนิยมจัด หรือคอมมิวนิสต์   จึงเป็นการฝืนนิสัยรักความเป็นไทของชาวไทยอย่างรุนแรง  ซึ่งคนไทยจะไม่สมัครใจยินยอมเป็นอันขาด   เพราะสันติสุขจะไม่มีต่อไปในเมืองไทย.

          ระยะเวลา  ๘0 วัน   จากวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖   อันเป็นวันปิดสภาผู้แทนราษฎร   ตามข้อเสนอของพระยามโนปกรณ์--- นายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่  ๒0   มิถุนายน  ปีเดียวกัน  ซึ่งเป็นวันที่คณะ พระยาพหลฯ ทำการปฏิวัติซ้อน และล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์   แล้วเปิดสภาขึ้นอีกนั้นเป็นระยะแห่งความตึงเครียดอย่างยิ่ง ในการเมืองระบอบประชาธิปไตยสมัยต้นของประเทศสยาม  ทุกฝ่ายกำลังรอสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ด้วยความกระวนกระวาย  นั่นก็คือ ฝ่ายหนึ่งกำลังรอ  "จังหวะ" ที่จะลงมือ ทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล พระยาพหลฯ  อีกฝ่ายหนึ่งกำลังรอคอยความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งคาดหมายว่า จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ  สถานการณ์ทั่วๆไปดูเงียบสงบ  ความวุ่นวายในรัฐสภาก็ไม่มีแล้วแต่บรรยากาศในตอนนั้น  จะเปรียบก็เช่นกระแสคลื่นใต้น้ำ ที่พัดแรงจัดอยู่ใต้คลื่นท้องน้ำ    ส่วนพื้นผิวน้ำยังคงเลื่อนไหลไปเอื่อยๆจะเรียกว่าเป็น  ความสงบชั่วคราวก่อนจะเกิดพายุ( Lull before the storm)ก็ไม่ผิด....

              รายงานข่าวระหว่างนี้ขอหยิบยกมากล่าวโดยสรุป เพียงเพื่อ การดำเนินเรื่องให้ติดต่อกันไปเท่านั้น

              พ.อ.พระยาทรงสุรเดช   รองผู้บัญชาการทหารบก  กับ  ผู้บัญชาการทหารบก  คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เกิดแตกร้าวกันอย่างรุนแรงด้วยสาเหตุหลายประการส่วนใหญ่ได้แก่การที่พระยาทรงฯ ใช้อำนาจ ที่ล่วงล้ำก้ำเกิน....พระยาพหลฯ     รายงานข่าวของ "พ.27"  ครั้งนั้นมีเรื่องสองพระยาผู้เป็นเพื่อนรักชนิดกอดคอกันตาย... ได้เกิดวิวาทกันขึ้นอย่างรุนแรงที่ห้องครัวของตึกที่ พระยาพหลฯ พักอยู่ในวังปารุสกวัน   ขนาดถึงกับพระยาพหลฯ  ถือมีดหมูวิ่งไล่ฟัน  พระยาทรงฯ ด้วยความโกรธอย่างสุดขีด   พระยาทรงฯ  วิ่งหนีกันอุตลุต   เข้าห้องโน้นออกห้องนี้จนหลุดรอดออกไปได้   เมื่อพระยาพหลฯซึ่งอุ้ยอ้าย กว่า    วิ่งไล่ฟันเพื่อนไม่ทัน   ก็ตะโกนด่า   ตัดญาติ  ขาดมิตรกับพระยาทรงฯ

              นั่นเป็นปรากฏการณ์ของความแตกแยกระหว่าง  2  เสือ  ผู้ยิ่งใหญ่ในคณะก่อการณ์ฯ   ซึ่งแสดงความรู้สึกในใจให้ผู้อื่นประจักษ์ชัดเป็นครั้งแรกว่าคณะทหารได้งัดข้อกันเองแล้ว...  ต่อจากนั้นหมากรุกการเมืองก็เดินแต้มสลับซับซ้อน  โดยพวก   ขุน,  โคน,  ม้า, (พวกเบี้ยและเม็ดไม่เก๊ยว)กระโดดข้าม  เรือ  พี่น้อง  2  ลำ ( พลเรือโท พระยาราชวังสัน รัฐมนตรีกลาโหม    และ  นาวาโท  หลวงสินธุ์สงครามชัย..รักษาการณ์ผู้บัญชาการทหารเรือ)ไปได้อย่างสบาย   พระยาพหลฯ  และ  หลวงพิบูลสงคราม  ทำการปฏิวัติซ้อนยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ   พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรียื่นใบลาที่ได้เขียนเตรียมไว้แล้ว  และขอออกไปอยู่เมืองปีนังอันเป็นดินแดนที่ท่านใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่หลายปี..จนถึงแก่อสัญญกรรมที่นั่น....

                  เจ้าพระยาพิชัยญาติ   ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ไปเฝ้าพระปกเกล้าฯที่วังไกลกังวล   และรับสนองพระบรมราชโองการให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันที่  20  มิถุนายน  2476.

                   พ.อ. พระยาพหลฯ  ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา   พ.ท.หลวงพิบูลสงครามเป็นรัฐมนตรีพ.อ.พระสิทธิเรืองเดชพล  ก็ได้เป็นรัฐมนตรีชุดนี้ด้วย  (ซึ่งต่อมาได้ถูกประหารชีวิตพร้อมกับผู้ต้องหา  เป็นกบฏอีก  16  นาย  เมื่อ  พ.ศ. 2481)

                 อย่างไรก็ตาม  พระยาพหลฯ  ขอเป็นนายกรัฐมนตรี เพียง  15 วัน   อ้างว่าไม่มีความสามารถในด้านการเมือง  และเมื่อครบกำหนดนั้นก็ได้ขอลาออกจริงๆ   แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ทรงขอให้อยู่ต่อไปเพราะทรงเชื่อว่าถึงอย่างไร  พระยาพหลฯ ก็ยังมีความจงรักภักดีต่อพระองค์อยู่  ทั้งยังได้ทรงขอให้  รัฐสภาสนับสนุนพระราชประสงค์นี้ด้วยพระยาพหลฯ จึงคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป.....

                ความสำคัญของการปฏิวัติซ้อนครั้งนี้   คือผู้เป็นเจ้าของโครงการเศรษฐกิจปกเหลือง   ได้ถูกเรียกกลับเข้าเมืองไทยทันที   ครั้นแล้วรัฐบาลพระยาพหลฯก็ตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง   เพื่อทำการซักฟอก   กรรมการคณะนี้มี หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร    วรวรรณ (ต่อมา ได้เป็น พลตรี  กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)พระยานลราชสุวัจน์   ธรรมาภิรัตวรสภาบดี  (ทองดี   วนิคพันธ์) กรรมการศาลฎีกาพระยาศรีสังกร( ตาด   จารุรัตน์ )  กรรมการศาลฎีกา, เซอร์เรอเบิตโรเลลต์และ  นายอาร์กียอง  ที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงยุติธรรม  5 ท่าน ด้วยกัน......

                ผลของการซักฟอกปรากฎว่า    เจ้าของโครงการเศรษฐกิจปกเหลืองไม่เป็นคอมมิวนิสต์   และต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลพระยาพหลฯ  เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2476 ในวันเดียวกันพระยาทรงสุรเดช  ได้เดินทางออกจากเมืองไทยไปอยู่อินโดจีน   ต่อมาอีก เพียง  11  วัน  พระองค์เจ้าบวรเดช  ก็กรีธาทัพจากนครราสีมา     เข้าประชิดพระนคร   เพื่อโค่นรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์และเพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์...

               ขอรวบรัดตัดความ   ว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ   ที่พึ่งเข้าถือบังเหียนใหม่นี้ได้รับการวิพากวิจารณ์ว่า   อาจปล่อย ให้ประเทศชาติ ถูกชักพาเข้าไป"ค่ายคอมมิวนิวสต์"  ความไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคน ในคณะรัฐบาลพระยาพหลฯได้ถูก กล่าวขวัญอย่างเปิดเผยอยู่ทั่วไป  พร้อมกับกลิ่นไอของการปฏิวัติซ้อนซึ่งหน่วยงาน "พ.27" ได้สืบสาวข่าวนี้    และพบว่าภานในพระนครหลวงก็มีการจับกลุ่มคิดการจะโค่นล้มรัฐบาล พระยาพหลฯโดยมีนายทหารผู้ใหญ่ในหลายกองพันเข้าร่วมด้วย   ทั้งนี้ย่อมหมายความว่าจะมีการใช้กำลังทหารของชาติ เข้าแย่งชิงอำนาจในพวกเดียวกันอีก   ข่าวนี้ยังจะต้องสืบสาวราวเรื่องให้แน่ชัด   ก่อนที่จะทำรายงานขึ้นทูลกล่าวถวาย...

              วันที่  20  กันยายน  2476    ผู้สำเร็จราชการสำนักราชวังเรียกข้าพเจ้าไปพบ   และเล่าว่า   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับท่านว่า " เด็กของเจ้าคุณเก่งมาก  มีความสามารถรู้เรื่องราวต่างๆ ถูกต้องดี แต่ดูเหมือนจะรู้แต่เรื่องผิวๆเผินๆที่ลึกๆซึ้งๆ ดูจะไม่รู้.....

                ท่านผู้สำเร็จราชการฯ       เชิญพระราชกระแสมาเล่าแล้วถาม"มีเรื่องอะไรรึ...ที่ท่านรับสั่งว่า  ลึกๆซึ้งๆ ?"    "มีขอรับ"   ข้าพเจ้าตอบโต้โดยฉับพลัน  จนทำให้ท่านผู้ถามประหลาดใจขและรีบซักต่อ"เรื่องอะไร  ทำไมไม่รายงาน?"   "ขอให้กระผมเดินทางไปโคราชก่อน"ข้าพเจ้าตอบด้วยความมั่นใจว่า   เรื่องที่มีพระราชดำรัสถึงนั้น   ต้องเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้ดีอยู่แล้ว..."ไปทำไม   โคราช?"    ท่านผู้สำเร็จถามเสียงดัง "มีเรื่องอะไรที่นั่น รึ ?"ข้าพเจ้าไม่กล้าตอบ   เพราะมีความจำเป็นอยู่ข้อหนึ่ง    จึงได้แต่ยืนยัน"ขอให้ผมไปโคราช   ไปค้างเพียงคืนเดียวเท่านั้น  แล้วกระผมจะกลับมารายงานทุกสิ่งทุกอย่างของ  เรื่อง ลึกๆซึ้งๆ  ตามพระราชกระแส""มันเรื่องลึกลับอะไรกันนะ" ท่านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์...บ่นแต่ก็ไม่คาดคั้นต่อไป  เพียงแต่สั่งกำชับว่า"อยากไปก็ไป   แล้วต้องให้ได้เรื่องนะ" "พรุ่งนี้เช้า  กระผมจะออกเดินทาง"

พระยามโนปกรนิติธาดา

เจ้าพระยาพิชัยญาตื

พ.อ.เจ้าพระยาสุรเดช

กรมหมื่นพงษ์ประพันธ์

 

       อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับ มีไม่ต่ำกว่า 25 ตอน

 

หมายเลขบันทึก: 342774เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เรื่องราวชิงรักหักสวาทบ้านเมืองแบบนี้เป็นเรื่องที่พี่เองเคยได้ยินคุณแม่เล่าให้ฟัง ดูเหมือนว่าผู้ใหย่ทางแม่จะเป็นคนละฝ่ายกับผู้ใหญ่ทางคุณพ่อ ดังนั้นคุณแม่ก็จะแอบเล่าเวลาฟังเหมือนฟังนิยาย ยุคนั้นสงครามในร้อนระอุ พลิกผันตลอดเวลา แต่พี่ก็ชอบพ.27นะและเมื่อมาอ่านบทกลอนบันทึกนี้ทำให้เข้าใจว่าคนโบราณนั้นเขาศึกษาหลักธรรมคำสอนกันแน่นแฟ้นลึกซึ้งกว่าคนสมัยนี้นะคะ

                                  ตอน

                          " ชนะแน่คือหนี"

                     #   ชนะแน่  แน่นั้น    คือหนี

           กิเลสหลายหลากมี          มากล้น

           กรรมชั่วมั่วกาลี             ละหมด  สิ้นแล

           ทางนิพพานพระค้น       พบด้วย "การหนี"

สายลับ พ.27

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ ดีจังค่ะ ไม่เคยรู้เลย

จะติดตามตอนต่อไปนะคะ

สบายดีนะคะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาเป็นกำลังใจให้กันค่ะ
  • ช่วงนี้อากาศร้อนมาก ๆ นำภาพนี้มาฝากเผื่อจะคลายความร้อนได้บ้าง

คุณพี่ครับ P มีเวลาบันทึกไว้นะครับ ประวัติศาสตร์อย่างนี้น่าสนใจมาก

Pขอบคุณมากเย็นสบายดีจังเลย

ไม่เคยรู้ค่ะ

คงต้องติดตามอ่านอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ  ชนะแน่คือหนี...น่าติดตามมากครับ 

  • ขอบคุณทั้งสองท่านมาก P P
  • ผมจะพยายามลงให้เร็วขึ้นครับ

เชิญอ่านบทที่ 2 ได้ครับ

ตามมาติดตามอ่านค่ะ...ไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลย..ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน

อยากให้ลงคติพจน์ ของอก.รุ่งแสง บ้างนะคะ แบ่งปันสำหรับคนที่สนใจบทกลอน คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท