แบบทุกข์ ๆ...


วันนี้ได้เห็นเหงื่อของพ่อและแม่ที่เดินทางมาออกโรงทานแล้วรู้สึกเศร้าใจอย่างไงไม่รู้

พ่อและแม่ของเราคงเหนื่อยมาก ท่านก็แก่มากแล้วอายุก็ล่วงวัยเข้าใกล้ 60

เมื่อวานนี้ (4 มีนาคม 2553) ท่านต้องขับรถออกมาจากบ้านตั้งแต่เวลาตีห้า และเดินทางมาถึงที่นี่ (นครราชสีมา) ก็เข้าใกล้เวลาบ่ายโมง

มาแล้วก็ไม่ได้หยุด ได้พัก ได้ท่องเที่ยวเหมือนกับคนอื่น ๆ ต้องทำงาน "งก งก งก" ทำโรงทานเพื่อให้คนอื่นนั้น "ได้กิน"

เมื่อวานเราเดินลงไปเยี่ยมตอนเกือบ ๆ สี่ทุ่ม แม่ก็พูดว่าวันนี้เดินทางมาแต่เช้าคงจะต้องพักไวหน่อย (พ่อและแม่คงเหนื่อยมาก)

และยิ่งวันนี้ (5 มีนาคม 2553) ก็ยังต้องลุกขึ้นมาทำขนมตั้งแต่ตีสี่เพื่อให้คนอื่นได้ "กิน" อีก

และเมื่อสักครูนี้ (14.00 น.) หลังจากที่สองคนตายายช่วยกันขนข้าวของขึ้นรถ ก็ต้องขับรถกลับบ้าน (อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร) ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะถึงในเวลาสักแค่ไหน

ก่อนลากันเมื่อกี๊ ได้สังเกตุดวงตาของแม่แล้วได้เห็นว่าขุ่นมัวลงไปมาก ผิวหน้าที่เคยตึงกลับหย่อนลงไปอย่างเห็นได้ชัด ร่างกายของแม่เราทรุดโทรมลงไปมากเลยน๊อ...

แล้วเราล่ะมานั่งทำบ้าอะไรอยู่ที่นี่ ไม่เห็นจะได้ช่วยพ่อช่วยแม่ทำอะไรสักอย่าง มีแต่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่า "สุขใจ สบายใจ" ทำไป ทำไป พ่อและแม่ก็ยัง "ลำบาก" เหมือนเดิม

ตัดภพ ตัดชาติ ชาติหน้าจะสบายเหรอ ต้องรอให้ตายก่อนไหมถึงจะได้เห็น

ไอ้เราทุกข์มันก็ไม่เท่าไหร่ แต่ที่มาอยู่แล้วอดทนทำไปไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา

ความทุกข์แล้วผันเปลี่ยนเป็นความท้อแท้และ "สิ้นหวัง" หมดพลังที่จะก้าวเดิน

พวกนักวิชาการพูดมาก ก็บอกว่าให้ทนไป ทนไป ก็เห็นแต่บอกแต่ให้เราทน แล้วพวกนั้นมันไม่เห็นจะมาทนกับเราสักที พอจะมาก็อ้างโน่น อ้างนี่ ติดงาน ติดการ

บอกคนอื่นให้อยู่ ดีนะ สุขนะ แต่พวกเขาไม่เห็นจะมาอยู่

มาก็มาเที่ยว มาเล่น มาโชว์ภูมิ อวดความรู้ แต่สุดท้ายก็กลับไปอยู่กับความอยากของตัวเอง

คนเราเดี๋ยวนี้รู้มาก อวดรู้ แต่ไม่รู้จักทำตามสิ่งที่ตนเองรู้

รู้จักแต่สอนคนอื่น "ทำตามอย่างที่ฉันสอน แต่อย่าทำตามอย่างที่ฉันทำ"

คนอื่นจะไปทำได้อย่างไร ก็ไม่เห็นคนที่พูดนั้นจะทำอะไรสักอย่าง

ทำไปเป็นเที่ยวอบรมธรรมะ สอนจริยธรรม แต่ตัวเองไม่เห็นทำตามอย่างที่พูด

มาปฏิบัติธรรมวันสองวัน สามสี่วัน อาทิตย์หนึ่งแล้วก็กลับไปเที่ยว ไปเล่นอีกหลายเดือน

มาวัดแล้วใจยังติดอยู่กับงาน มาอยู่อย่างนี้ก็สบาย

คนแถวนี้เขา "อยู่วัด" ไม่ได้มา "เที่ยววัด"

พวกมาเที่ยววัดชอบทำเป็นเคร่ง วันสองวัน หรือพอจบคอร์สแล้วก็ไปหลงระเริง เริงร่ายิ่งเสียกว่าก่อนที่จะมาเข้าวัด

หรือบางคนก็มาเที่ยวแจกเงิน แจกทอง อวดหน้า เอาหน้า พอตกเย็นก็ไปเริงร่าอยู่ในวงเหล้า

แต่คนที่ "อยู่" นี้ ไม่ได้ไปไหน ไม่มีทางไป เพราะเขาตัดใจ ไม่มีเยื่อใย ไม่เหลือความอาลัย อาวรณ์

คนในสังคมจึงมักหลงทางไปกับพวกที่ชอบมา "เที่ยววัด" เที่ยวไปเรื่อย "ลูบคลำธรรมะ" ลูบคลำศีล แล้วก็นำสิ่งที่ลูบแล้ว คลำแล้วไปเที่ยวบอก เที่ยวสอน เที่ยวบรรยายแล้วหา "ผลประโยชน์" ใส่ตัว

การต่อสู้ตามธรรมนั้นไม่ใช่ง่าย ๆ เหมือนกับอ่านหนังสือ ทดลอง เข้าคอร์สแล้วก็ไปสอบตามมหาวิทยาลัยล่าง ๆ

การต่อสู้นี้มันต้องสู้ด้วยชีวิต ต้องเจ็บ ต้องทุกข์ ต้องทน ใครไม่เจ็บ ไม่ทุกข์ ไม่ทน ก็ไม่ต้องมาเสนอหน้าว่าเคยมาปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงค่านิยมที่เห่อ ๆ เหมือนกับคอร์สสัมนาที่เขาทำกัน มากิน มาเที่ยว มาทำเป็นเคร่งโน่น เคร่งนี่ สร้างโน่น ปรับปรุงนี่ อะไรไม่ดี ก็เที่ยวเอาความรู้เข้ามาใส่

จะทำอะไรทีก็คิดมาก คิดเยอะ เพราะกลัวเสียหน้าตามอัตตาอันมากโข

ฉันเก่ง ฉันรู้ ฉันดี ฉันรวย ฉันจบโน่น ฉันทำงานนี่ ฉันมีคนนับหน้าถือตา จะไปเชื่อมากเดี๋ยวใครก็จะมาหาว่า "ฉันโง่"

ถ้าโง่ก็โง่ให้สุด ข้าศึกของปฏิบัติก็คือเจ้าเหตุและผลอันเป็น "มิจฉาทิฏฐิ"

เรียนมาก รู้มาก "โง่มาก" เพราะกิเลสมันมาก

นั่งสมาธิได้หน่อยก็เห็นผี เห็นเทวดา ได้ยง ได้ "ยานนนน" บางคนยังหลงว่าฉัน "บรรลุธรรม" ถ้ามันได้ง่ายแบบนั้นโลกคงไม่มีคนเกิดขึ้นมาเกลื่อนขนาดนี้

เอาละ เหนื่อยมามาก ทุกข์มามากแล้ว จะทุกข์อีกสักหน่อยจะเป็นไรไป ทุกข์ไป ทุกข์ไป อย่างมากก็แค่ "ตาย" เท่านั้น...

 

หมายเลขบันทึก: 342053เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นบทความที่วุ่นวายใจดีน่ะค่ะ

เขียนจากความรู้สึกได้ดี

เป็นกำลังใจให้ค่ะ

พระรูปหนึ่งท่านเคยสอนไว้เมื่ออาทิตย์ก่อนนี้ กอเพิ่งได้ฟังมาค่ะ

(ไม่รู้ว่าจะโดนด่าเหมือนในบันทึกมั้ย "ทำเป็นมาสอนธรรม" อิอิ กลัวอยู่ค่ะ)

แต่ฝากไว้เพราะได้ฟังแล้วก็ชอบค่ะ

มี 3 ข้อเป็นบทสรุปของธรรมที่พระพุทธเจ้าสรุปไว้

1. อย่าทำ

2. ควรทำ

3.ตั้งหลักให้ดี

1. อย่าทำ ก็หมายถึงที่พระพุทธเจ้าท่านห้าม แล้วเรายังทำกันอยู่ ก็คืออยู่ในศีลค่ะ ห้ามฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มุสา และเสพของมึนเมา แต่คนก็ยังทำ

2. ควรทำ หมายถึง สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราปฏิบัติ เช่นการเป็นฆราวาสที่ดีมีอะไรบ้าง แต่เราก็ไม่ทำ

3. ตั้งหลักให้ดี เมื่อเรารู้ว่าอะไรอย่าทำอะไรควรทำก็ควรจะตั้งหลักให้ดี เมื่อเริ่มก้าวแรกอย่างตั้งใจและหมั่นทบทวนอยู่ตลอดเวลา ว่าอย่าทำ ควรทำ แต่ละก้าวของเราก็จะเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องเร่งรีบ ล้มก็ลุกขึ้นมา

ขอบคุณน่ะค่ะ

ความเก่งของคนเก่ง ๆ ที่มาสอนธรรมะในสมัยนี้ ทำให้คนทั้งหลายอยู่จัก "ประวัติของพุทธศาสนา" อย่างลึกซึ้ง

คนเก่งมักจะบรรยายประวัติและหลักการของพุทธศาสนาได้อย่างวิจิตรตระการตา และคนเราเดี๋ยวก็นี้ก็มักจะหลงไหลแห่งความวิจิตรตระการตาทางวิชาการ

ความเลิศเลอ ความหรูหราทางคำพูด

การปฏิบัติ การกระทำที่เชื่อมโยงอะไรแปลก ๆ ใหม่ กลายเป็นความไฉไลที่ต้องศึกษา

นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องมือมาใช้อำนวยความสะดวกในการบรรยายธรรม บางครั้งจึงต้องนึกย้อนแล้วกลับไปลองคิดดูว่า ตอนพระพุทธเจ้าบรรยายธรรมนั้นท่านใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ LCD Projector ด้วยหรือไม่

กิจกรรมกลุ่มก็ดี การจัดคอร์สอบรมก็ดี มีอย่างมากมาย บางครั้ง บางแห่ง บางที ก็เลยกลายเป็นการอบรม "วิชาการทางธรรมะ" ไป

ในปัจจุบันมีนักวิชาการมาก พูดมาก ปฏิบัติน้อย พูดเก่ง และปฏิบัติเก่งเฉพาะที่ เฉพาะเวลา (ที่มีคนเห็น ถึงไม่เห็นก็ต้องโปรโมทให้รู้)

คนเราเดี๋ยวนี้จึงมีฝันในความเก่ง อยากปฏิบัติธรรมเก่ง ๆ เพื่อที่จะได้ย้อนภพ ย้อนชาติ เห็นผี เห็นเทวดา แล้วสมมติตนเองว่า "บรรลุธรรม"

คนเดี๋ยวนี้เก่ง เก่งจนสามารถตีความ "ธรรมวินัย" เข้าของตนเองได้ นิยามหลักการของธรรมะให้เข้ากับกิเลส ตัณหา และกามราคะของตัวเองได้

ธรรมะปลอม ๆ ที่ "Adap" ให้เข้ากับกิเลส ตัณหา และกามราคะ ของคนในยุคในสมัยนี้จึงมีเยอะ

อะไรที่ตามแผน ตามแผน ก็กลายเป็นเก่า ล้าสมัย คนรุ่นใหม่ใครเขาจะไปสนใจ ต้องประยุกต์ใช้ไปให้ได้ตาม "สังคม"

ธรรมะแนวใหม่เกิดขึ้นเยอะ ออกนอกลู่ นอกทาง เพราะคนที่นิยามนั้นปฏิบัติไม่ได้

เมื่อปฏิบัติไม่ได้ "มันทุกข์" ทุกข์แล้วก็ไม่สู้ อยากสบาย จึงไปร่าง ไปตีความ ไปบรรยาย เพื่อให้ตอบสนองความสบายของตนเองนั้น

เมื่อคนปฏิบัติแล้วสบาย สบายทางเนื้อ ทางหนัง ก็หลงไปว่าดี เพราะกิเลสมันชอบ ชอบสุข ชอบสบาย ทำไปย่อ ๆ หย่อน ๆ

หญ้าคาที่บุคคลกำไม่ดีแล้วบาดมือฉันใด บุคคลที่ตีความพระวินัยเข้าข้างตนเองนั้นไซร้ย่อมถูกกิเลส ตัณหา และกามราคะบาดใจได้ลึกเท่านั้น...

 

ได้อ่านแล้วเข้าใจคนทั้ง2ฝ่ายเลยนะคะเข้าใจว่าคนเป็นลูกเห็นพ่อแม่ลำบากแต่ช่วยไม่ได้มันก็ทุกข์มากที่เดียวไม่เบาเลยล่ะ และคนที่ออกโรงทานนั้นก็งานหนักมากเลยไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือขนมรู้เลยว่าหนักมาเพราะเคยมีประสบการณ์มาบ้างแต่ในความทุกข์กายนั้นมีความสุขใจมากกว่าเชียวเลยดูว่าความทุกข์กายนั้นดูด้อยไปอย่างถนัดตาที่เดียวเชื่อเถอะว่าท่านทั้ง2 เหน่อยแต่มีความสุขจริงๆนะคะ

เฮ้อ...! เมื่อต้องเห็นพ่อแม่ลำบากนั้นก็ทุกข์ ยิ่งเพราะด้วยเราเรียน เรารู้มาก ยิ่งอยู่กับสังคมมากก็ยิ่งทุกข์ ไม่ใช่เพราะใครมาทำให้เราทุกข์ แต่ก็ทุกข์เพราะเราไปรู้จากวิถีทางแห่งความพ้นทุกข์ที่ไม่แท้จริง

คนในสังคมมักบอก มักสอน และมักทำให้เราเชื่อว่าการพ้นจากความทุกข์นั้นก็คือการมีทรัพย์สิน เงินทอง มีของใช้หรูหรา งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

ดังนั้นหลายครั้งเราจึงคิดว่าถ้าไม่สามารถมอบเงินให้พ่อให้แม่ได้แล้วท่านจะไม่มี "ความสุข"

หลาย ๆ ครั้งที่เราต้องเห็นท่านเหนื่อยกาย แต่เราไม่เคยสังเกตุว่าท่าน "สบายใจ"

การที่ท่านต้องเดินทางไกลมาเพื่อทำบุญ ประกอบกุศลท่าน ถ้ามองเผิน ๆ เราก็ดูเหมือนว่าเราพาท่านมาลำบาก ต้องขับรถ ขับลา ต้องตื่นแต่เช้าและเข้านอนในเวลาดึก แต่ทว่าในช่วงเวลาแห่งวันนั้นท่านได้หลุดออกจากวงจรที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อน คือ วงจรแห่งการ "หาเงิน"

การเดินออกจากวงจรหา (Take Cycle) ออกมาสู่วงจรแห่งการให้ (Give cycle) นั้นย่อมต้องเหนื่อย ต้องสู้ ต้องทนเป็นของธรรมดา

ซึ่งมิต่างอะไรกับเราในตอนนี้ต้องอยู่ ต้องสู้ ต้องทน กับการก้าวเดินไปดูเหมือนไร้จุดหมายมองไม่เห็นแม้ "ปลายทาง"

มีแต่เพียงความเชื่อมั่นและศรัทธาว่า จุดที่เราจะก้าวไปนั่นเป็นจุดที่ดี จุดที่มี "ความสุขแท้"

การที่ใครสักคนจะกล้ากระโดดลงในแม่น้ำหรือแม้กระทั่งทะเลอันเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นั้น หลาย ๆ คนก็มักจะถามว่า "ฝั่งอยู่ที่ไหน" และไกลแค่ไหนหนอเราจะว่ายถึงขอบฝั่ง

หลาย ๆ คนเมื่อมองไกลไปสุดสายตาแล้วพบแต่เพียงเส้นโค้งของขอบฟ้า ก็มักจะต้องล่า ต้องถอย ใจคอต้องละห้อย ท้อถอยก่อนที่จะก้าวขากระโดดลงไป

หลาย ๆ คนกล้ากระโดดลงไป แต่ก็บอกว่าให้เรือลำน้อยค่อย ๆ แล่นตามประกบไปนะ เผื่อวันใดฉันเหนื่อย ฉันท้อ ฉันจะได้มีหนทางพอที่จะถอยและหนีขึ้นมาได้

หรือบางคนกระโดดลงไปแล้วก็เตรียมเครื่องช่วยชีวิตลงไปพร้อม กลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวทุกข์ ในบางครั้งเครื่องช่วยชีวิตเหล่านั้นก็กลายเป็นเครื่อง "ถ่วง" ของชีวิตไปโดยปริยาย

การสู้แบบกล้า ๆ กลัว ๆ แหยง ๆ เป็นการต่อสู้ที่รังแต่จะทำให้เกิดความท้อถอยภายในจิต ในใจ

การเดินทางบนสายแห่งธรรมนี้ต้องกล้าสู้ กล้าตาย เพราะสุดท้ายทุก ๆ คนย่อมหนีความตายไปไม่พ้น

จะสู้หรือไม่สู้สุดท้ายก็ต้องตาย อย่างมากก็สู้แค่ตายเท่านั้น...

 

ความกล้าเกิดจากใจที่เข็มแข็ง เกิดจากใจที่กล้าหาญ และที่สำคัญอาจจะต้องกล้าที่เผชิญกับสิ่งต่างๆที่อาจไม่คาดฝันว่าจะเจอ

บางคนโชคดีที่คิดว่าจะทำ และก็ได้ทำ

บางคนได้แต่คิด แต่ไม่มีโอกาสจะทำ

ทุกวันนี้คนเรามักอยู่กับวงจรหา

น้อยคนนักที่จะมีโอกาสอยู่ในวงจรให้

ถ้ามีโอกาสแล้วต้องรีบทำเสียก่อนที่โอกาสนั้นจะหมดไป

ขอบคุณที่เขียนให้เข้าใจได้ว่าโอกาสดีๆนั้นไม่มีให้คนได้ทำบ่อยๆหรอกนะ สู้ๆ

ในทุกวันนี้สภาพสังคมที่บีบคั้นทำให้เราต้องดิ้นรนเพื่อ "แสวงหา" การโหยหาต่อสิ่งต่าง ๆ นั้นทำให้จิตใจของเรานั้น "รุ่มร้อน" ความทุกข์ ความร้อนจึงเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่ก็ยังดีที่มีวันหนึ่งในรอบหนึ่งปีของใครหลายคน

แต่ก็ยังดีที่มีวันหนึ่งในรอบหนึ่งเดือนของใครอีกหลายคน

และก็ยังดีที่มีวันหนึ่งในรอบสัปดาห์หนึ่งของใครบางคนที่สามารถเดินออกจากกองไฟที่สุมไว้เพื่อสร้างความเร่าร้อนจากฤทธิ์แห่งความ "โหยหา" เดินออกไปสู่สายธาราที่อันฉ่ำเย็นด้วย "การให้ (Give)"

การให้ทานเป็นการกระทำที่นำความชุ่มเย็นมาสู่จิตใจ

และการให้ครั้งหนึ่งนั้นมิใช่เพียงแต่ได้ความเย็นเฉพาะเวลานั้น ความเย็นสามารถแทรกซึมเข้ามาในชีวิตตั้งแต่เราเริ่มคิดที่จะให้ ก่อนให้ ขณะที่ให้ และหลังจากที่ให้แล้วถ้าเราหวนคิดแล้ว "อิ่มใจ" เราก็จะมีความสุขจากการที่ได้ "ให้" ตลอดเวลา

แต่ทว่า การให้นั้นมิจำเป็นจะต้องไปที่วัดหรือต่อหน้าคณะสงฆ์เท่านั้น เราสามารถสร้างจิต สร้างใจของ "ผู้ให้" ให้เกิดขึ้นได้ในทุกวัน ทุกเวลา

ในวันนี้หากเราเป็นเจ้านายใคร ก็ขอให้เป็นเจ้านายที่ดี ถ้าหากเป็นลูกน้องก็ขอให้เป็นลูกน้องที่ดี เป็นเพื่อนร่วมงานก็ขอให้เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ทำหน้าที่ทุกหน้าที่ให้ดี เราก็สามารถ "ให้ความดี" นี้ ซึ่งกันและกัน

จิตใจของผู้ให้ย่อมเปี่ยมสุขเสมอทุกครั้งที่คิดจะให้ เพราะไม่ว่าจะให้สิ่งใด ให้ทาน หรือให้อภัย ย่อมนำความสุขใจมาถึงผู้ให้ได้ชั่วนิรันดร์

หากใครคิดที่จะเริ่มให้ในวันนี้ก็ยังไม่สาย เพราะตราบใดที่ชีวิตนี้ยังมีลมหายใจ เราสามารถ "ให้" ซึ่งกันและกันได้ตลอดเวลา...

ชอบคำพูดที่ว่า ทุกคน แสวงหา โหยหาทำให้จิตใจรุ่มร้อน เพราะนั่นมันน่าจะเรียกว่ากิเลสของมนุษย์ที่มีความต้อง ได้แล้วก็ยังไม่พอ ต้องมากกว่า ต้องมีกว่านี้ มีหมื่น ก็จะเอาแสน มีแสนก็จะเอาล้าน ไม่มีวันพอเพราะไม่เราไม่หยุดกิเลสเสียทีทำไมคนเราไม่คิดเอาคำที่ในหลวงที่ทรงดำรัส ว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียง แค่คำนี้ก็ครอบคลุมไปหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน สิ่งของ การงาน การเป็นอยู่ ถ้าทุกคนไม่โลภมาก คนที่มี ก็เอ็นดูคนที่มีน้อยกว่า เจ้านายที่ดีก็ต้องดูแลลูกน้อง ลูกน้องที่ดีก็ช่วยเหลือเจ้านายตามหน้าที่ พี่ที่ดีก็ควรดูแลน้อง น้องที่ดีก็ต้องเชื่อฟังและเคารพพี่ ไม่ใช่จะให้พี่ต้องช่วยทุกครั้งทุกเรื่องไม่พอใจก็ว่าให้ แบบนี้ก็ไม่ไหว คนเป็นพี่ก็อึดอัดใจ ลำบากใจ ทุกข์ใจ แค่คิดว่าช่วยน้องไม่ได้คนเป็นพี่ก็ทุกข์พอดูอยู่แล้ว แต่บางครั้งมาเจอคำพูดที่ฟังแล้วเศร้าใจอีก ก็ไม่แย่น่าดูนะ ถึงว่าคำพูดนั้นทำร้ายคนได้ไม่ยากเลย คำพูดเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท