ม.ทักษิณ วิจัยค้นพบแนวทางการลดโลกร้อนด้วยโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลม


พลังงานลม

.ทักษิณ วิจัยค้นพบแนวทางการลดโลกร้อนด้วยโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลม

ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ประสบความสำเร็จในการศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลมตามแนวชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย มุ่งหาแนวทางในการแสวงหาพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานลม เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และเสาะแสวงหาแหล่งต้นกำเนิดพลังงานไฟฟ้า สำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จอมภพ แววศักดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพลังงานลมฯ  กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลมตามแนวชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นโครงการระยะที่ 2 หลังจากได้ประเมินศักยภาพของพลังงานลมเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ ภายใต้วงเงินงบประมาณสำหรับการทำวิจัยทั้งสองโครงการรวมกันประมาณ 10 ล้านบาท นอกจากนี้โครงการวิจัยดังกล่าวยังได้ศึกษาวิจัยร่วมกันกับคณะนักวิจัยจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผลการศึกษาวิจัยของโครงการฯ พบว่าแหล่งลมที่ระดับความสูง 80-100 เมตร ตามแนวชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลาและสุราษฎร์ธานี เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีกังหันลมสมัยใหม่และมีความคุ้มทุนในรูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) ผศ.ดร.จอมภพ  แววศักดิ์  ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการวิจัยนี้ได้อาศัยข้อมูลการตรวจวัดลมที่ระดับความสูง 20 เมตร 30 เมตร และ 40 เมตร จำนวน 18 สถานี ระยะเวลาครบรอบปี และเทคนิคการประมาณค่านอกช่วง รวมทั้งระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ WAsP 9.0 สำหรับการวิเคราะห์แหล่งทรัพยากรลมและโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลม ผลการวิจัยของโครงการชี้ชัดว่า พื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลของอำเภอหัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ขนอมและสิชลของจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด สทิงพระและจะนะของจังหวัดสงขลา และอำเภอไชยาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่แหล่งลมดี ซึ่งเป็นพื้นที่    นาข้าว โล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง รวมทั้งมีถนนและมีระบบจำหน่าย 33 กิโลโวลท์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รองรับ มีอัตราเร็วลมเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับความสูง 80-100 เมตร อยู่ในช่วง 5-8 เมตรต่อวินาที สามารถพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของกังหันลมแต่ละตัว 1-2 เมกกะวัตต์ได้ 69 คลัสเตอร์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกันประมาณ 1,300 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้หากโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลมกำลังการผลิตติดตั้งจำนวนดังกล่าวได้รับการพัฒนาจะสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ประมาณ 4,000 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 2.3 ล้านตัน/ปี ผลการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์พบว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในพื้นที่ดังกล่าวมีต้นทุนประมาณ 3.2 บาท/หน่วย โดยโครงการโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลมมีระยะเวลาคืนทุน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแหล่งลม ราคาที่ดิน ราคากังหันลม ค่าใช้จ่ายในการขยายเขตสำหรับการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่าย 33 กิโลโวลท์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้จากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยการตรวจวัดความดังของเสียงเนื่องจากการทำงานกังหันลมขนาด 0.25 เมกกะวัตต์ บริเวณอำเภอหัวไทรของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้มาตรฐาน IEC 61400-11 และการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่พบว่า เสียงดังที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของกังหันลมมีค่าอยู่ในช่วง 45-55 dB(A) ซึ่งมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานและมีเสียงดังน้อยกว่าแหล่งกำเนิดเสียงอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบกังหันลมดังกล่าว นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าฟาร์มกังหันลมซึ่งเป็นการอาศัยพลังงานลมที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้าลดภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้

คำสำคัญ (Tags): #ไหม ม.ทักษิณ
หมายเลขบันทึก: 342046เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท