หลักสูตรภาคพิเศษ


หลักสูตรภาคพิเศษ : ธุรกิจหรือโอกาสทางการศึกษา

หลักสูตรภาคพิเศษ : ธุรกิจหรือโอกาสทางการศึกษา

การจัดการศึกษา มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาคน ชุมชนและสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็น มนุษย์ มีศักยภาพในการดำเนินวิถีชีวิตไปตามสภาพแวดล้อมและสังคมได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ปัจจุบันสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่งได้มีการปรับตัวไปตามกระแสสังคมที่เน้นทางด้านวัตถุนิยมมากขึ้น จัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนมากกว่าความต้องการของชุมชนหรือสังคม โดยการเปิดสอนในสาขาวิชาที่จบออกมาแล้วมีงานทำ มีรายได้สูงและเรียกเก็บค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก เช่น การเปิดหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งผู้เรียนและผู้สอนส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนต่างชาติมากกว่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังจัดทำเป็นโครงการ หลักสูตรภาคพิเศษ โดยจัดการเรียนการสอนนอกเวลาราชการในตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับผู้ที่มีงานทำแล้วโดยเฉพาะ ซึ่งเขาไม่สามารถมาเรียนได้ในเวลาราชการและมีความพร้อมที่จ่ายค่าเล่าเรียนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน แต่ในความจริงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสถาบันเปิดโครงการหลักสูตรภาคพิเศษ  เพื่อต้องการเงินรายได้มาใช้ดำเนินการบริหารจัดการสถาบัน เช่น ค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างและค่าตอบแทน ตามแนวคิดการเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับ ที่มีความพยายามจะเข้าใจกันว่า อาจารย์ต้องหาเงินรายได้เข้ามหาวิทยาลัยเยอะ ๆ เพื่อนำมาบริหารจัดการสถาบัน ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น คำถาม คือ ผู้สำเร็จการศึกษามีคุณภาพจริงหรือไม่ ???...  ในขณะเดียวกันหลักสูตรที่ไม่สามารถหาเงินได้ เพราะมีผู้สนใจเรียนน้อย เนื่องจากเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วตลาดไม่ต้องการ ไปทำมาหากินลำบาก เราจะทำอย่างไร เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา  การจัดการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่าได้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษย์ ชุมชนและสังคม มนุษย์ต้องหันไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือรัฐ เนื่องจากแนวทางการพัฒนาประเทศตามกระแสหลักการพัฒนาแบบตะวันตก การศึกษาสมัยใหม่แยกใจออกจากสมอง ไม่ได้เน้นในสาระของการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่มีปัญญา มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีการรับรู้ความดีงามและความจริง สถาบันต่าง ๆ ไม่อาจสอนให้มนุษย์เป็นคนดีได้ มุ่งเน้นแต่เพียงให้ผู้เรียนได้สำเร็จการศึกษาออกไปเพื่อประกอบอาชีพได้เป็นเกณฑ์เท่านั้น ระดับมาตรฐานของคุณธรรมและจริยธรรมลดลง เช่น การมีความสัมพันธ์กับลูกศิษย์เพื่อแลกเกรดที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างค่านิยมที่ผิดกับเยาวชนไทย ทำให้คนเห็นแก่ตัว ขาดความเมตตากรุณา ขาดความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นปรากฏการณ์ที่เราพบเห็นได้ในสังคมไทยปัจจุบัน มีบางสถาบันไปจัดการเรียนการสอนนอกมหาวิทยาลัยเหมือนร้านสะดวกซื้อ โดยการเช่าตึกหรืออาคารตามสถานที่ต่าง ๆ บางสถาบันก็สอนกันตาม โรงแรม ซึ่งเขาเอาไว้หลับนอนกัน พอหมดผู้เรียนหรือ ลูกค้า ก็ไปหาที่ใหม่ ในลักษณะเดียวกับ การทำไร่เลื่อนลอย ในส่วนผู้สอนหรือที่ใครเขาต่างเรียกกันว่า อาจารย์ (ครู) ซึ่งจัดเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็น ปูชนียบุคคล ที่ทรงคุณค่าแก่การเคารพยกย่องบูชา ท่านพุทธทาส บอกว่า ครู คือ ผู้ยกระดับจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ หมายถึง เป็นผู้ยกระดับจิตวิญญาณทั้งของตนเองและผู้อื่นให้ขึ้นถึงความเป็นมนุษย์ คือ เป็นผู้ที่มี จิตใจสูง เหนือความเป็นสัตว์เดรัจฉาน พวกเราได้ทำหน้าที่ของการเป็นครูที่ดีพอหรือยัง ในทำนองเดียวกันผู้สอนบางคนอาจทำตัวเป็นเพียง เซลแมน ที่เดินไปขายความรู้หรือใบปริญญาบัตรเท่านั้น เพื่อให้ได้เงินหรือรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท บางเดือนอาจได้นับแสนบาท โดยค่าตอบแทนการสอนมักขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เรียน ปกติในระดับปริญญาโท ประมาณ 1,500 2,000 บาทต่อชั่วโมง ปริญญาเอก ประมาณ 2,000 3,000 บาทต่อชั่วโมง สมมุติว่าสอนภาคเรียนละ 1 วิชา สอนวันละ 3 6 ชั่วโมง ๆ ละ 2,000 บาท จะได้รับเงินค่าตอบแทนประมาณ 6,000 12,000 บาทต่อวัน หรือประมาณ 30,000 60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากเปิดสอนถึง 2 แห่ง จะได้รับประมาณ 60,000 120,000 บาทต่อเดือน นักวิชาการที่มีชื่อเสียงดัง ๆ บางท่านอาจได้ค่าบรรยายพิเศษถึงชั่วโมงละ 10,000 บาท ลองคูณเข้าไปเถอะ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าเงินเดือนหลายเท่า ซึ่งเงินเดือนอาจารย์อยู่ที่ประมาณ 15,000 45,000 บาทต่อเดือน เท่านั้น อาจารย์หรือครูในฐานะผู้สอนได้ทำหน้าที่ของการศึกษาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกัน รัฐ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยดูแลปูชนียบุคคลเหล่านั้นอย่างไร ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ ชุมชนและสังคม ต้องทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่าง รายได้และคุณภาพ ต้องยกระดับมาตรฐานการศึกษาและคุณภาพทางวิชาการมิให้ตกต่ำลดลงไป มิเช่นนั้นสังคมไทยจะมีคนเรียกว่า ท่านด๊อกเตอร์ (ดร.) เต็มบ้านเต็มเมือง แต่ไม่สามารถทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ และอาจเกิดภาวะที่มีผู้รู้มากเกินไปจนกว่าสังคมจะรับได้ จนอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น การว่างงานหรือการทำงานต่ำกว่าระดับ เนื่องจากระดับการศึกษาของคนสูงเกินกว่าความจำเป็นของลักษณะงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีค่านิยมหรือให้คุณค่าหรือตีราคาที่ ใบปริญญาบัตร ซึ่งอาจารย์เนาวรัตน์ บอกว่า อยากได้ใบปริญญาให้ไปมหาวิทยาลัย อยากได้ความรู้ให้ไปสู่ชาวบ้าน สุดท้ายผู้เขียนไม่อยากเห็น การจัดการศึกษาเป็นธุรกิจ ลูกศิษย์เป็นลูกค้า อาจารย์เป็นเซลแมน  หรือในทำนองที่ว่า จ่ายครบ ! จบแน่ ! …”  จ่ายปุ๊บ ! รับปริญญาปั๊บ ! …”

หมายเลขบันทึก: 341933เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • มาอ่านบทความสะท้อนสังคมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท