๒๘.บันทึกข้อมูลและถ่ายทอดด้วยขนาดภาพ


การถ่ายภาพเพื่อบันทึกปรากฏการณ์ให้ได้ข้อมูลที่ดีหลายมิติวิธีหนึ่งก็คือ การบันทึกและแสดงด้วยขนาดของภาพ ซึ่งถ้าหากเป็นการใช้การถ่ายภาพเป็นเครื่องมือและวิธีการหนึ่งสำหรับเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลในงานวิจัย ตลอดจนกิจกรรมทางวิชาการและการทำงานข้อมูลเชิงสารคดี ถึงแม้นักวิจัยและนักถ่ายภาพเชิงสารคดีจะสามารถเข้าถึงได้มุมเดียว แต่ก็ควรถ่ายภาพเพื่อบันทึกและแสดงรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ๓ ประเด็น ซึ่งจะสามารถทำได้ผ่านการเลือกขนาดภาพที่เหมาะสมเป็นเบื้องต้น ๓ ขนาด ดังนี้

                             

                             ภาพ ๑ ผู้เขียนสอนให้กลุ่มนักศึกษานานาชาติ หลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการการศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาทักษะการถ่ายภาพให้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจจากการศึกษาดูงานภาคสนาม เพื่อเป็นโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศไทยให้ดีที่สุด

การบันทึกและเก็บข้อมูลพื้นฐานด้วย ๓ ขนาดภาพ

(๑) ภาพมุมกว้างเพื่อเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมและแสดงภาพรวม : เป็นภาพเพื่อแสดงที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์และปรากฏการณ์ที่ศึกษา ทำหน้าที่บอกเล่าและแสดงข้อมูลทั่วไป บริบท สภาพแวดล้อม โดยใช้ภาพมุมกว้าง หรือ LS : Long Shot หรือบางคนเรียกว่าขนาดมุมภาพ ELS : Extreme Long Shot, BS : Big Shot
(๒) ภาพเฉพาะสิ่งที่ศึกษา : เป็นภาพเพื่อแสดงกิจกรรมที่เป็นศูนย์กลาง ประธานของเหตุการณ์ หรือสาระหลักของปรากฏการณ์นั้น โดยดึงภาพเข้ามาเป็นภาพขนาดกลาง MS : Medium Shot และเลือกสิ่งที่จะบันทึกภาพ จากสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของปรากฏการณ์ เหตุการณ์ และกิจกรรมนั้นๆ
(๓) ภาพขยายรายละเอียดจำเพาะจุด : เป็นภาพเพื่อแสดงรายละเอียดให้เห็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและมีข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลเพื่อแสดงตนในรายละเอียดของสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของปรากฏการณ์อย่างชัดเจนและทำให้เห็นความเป็นทั้งหมดของปรากฏการณ์นั้นๆได้อย่างครบถ้วน ซึ่งการถ่ายภาพเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลในลักษณะดังกล่าว สามารถใช้ขนาดภาพถ่ายใกล้ หรือใกล้มาก CU-Close-up, ECU-Extreme Close-up

หากเป็นการทำวิจัย ทำรายงานกิจกรรม รวมทั้งทำสารคดี การถ่ายภาพเพื่อบันทึกและเก็บข้อมูลสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้อย่างน้อย ๓ ภาพในลักษณะดังกล่าว ก็จะมีข้อมูลสำคัญที่รอบด้านเพื่อวิเคราะห์ แปรผล นำเสนอรายงาน และเขียนนำเสนอได้อย่างครอบคลุม ๓ มิติของสิ่งที่ศึกษา จากนั้น ก็จะสามารถขยายรายละเอียดทางด้านต่างๆ ตามเงื่อนไขที่จะทำได้

  ตัวอย่าง  

                              

                              ภาพที่ ๒  ขนาดภาพลำดับแรก ภาพขนาดมุมกว้าง ELS : Extreme Long Shot บันทึกและแสดงที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ข้อมูลบริบท ข้อมูลสภาพทั่วไป

                              

                              ภาพที่ ๓  ขนาดภาพลำดับที่ ๒ ภาพขนาดมุมกว้าง MS : Medium Shot บันทึกและแสดงตัวปรากฏการณ์หลักที่เป็นศูนย์กลางหรือเป็นประธานของเหตุการณ์ เป็น Theme หลักของเหตุการณ์และปรากฏการณ์ที่ศึกษา

                             

                             

                              ภาพที่ ๔,๕  ขนาดภาพที่ ๓ ภาพมุมใกล้หรือใกล้มาก CS : Close-up Shot, ECS : Extreme Close-up Shot บันทึกและแสดงรายละเอียดของตัวปรากฏการณ์หลักที่เป็นศูนย์กลางหรือเป็นประธานของเหตุการณ์ 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  บทเรียนนอกตำราเพื่อความรู้สาธารณะ : คลินิควิจัยและเวทีเรียนรู้ออนไลน์การวิจัยชุมชน 

 ปัจกทุีมีความเป็นพุทธะและมีศักยภาพแห่งการเรียนรู้เป็นพื้นฐานของมนุษย์อยู่ทุกคน ดังนั้น ในสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมวิถีแห่งปัญญา ทุกคนจึงเป็นนักวิจัย สร้างความรู้ ใช้ความรู้สร้างความเป็นจริง เพื่อทำหน้าที่พลเมืองร่วมสร้างสุขภาวะสังคมตามกำลังของตนได้ทุกคน ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตด้วยการเรียนรู้และพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งๆขึ้นได้ตลอดชีวิต ภาพถ่ายและการถ่ายภาพเพื่อการวิจัยนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะรวบรวมเครื่องมือที่ง่ายและยืดหยุ่นเข้าหาคนทั่วไป เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนให้ทำบทบาทดังกล่าวในสังคมได้ด้วยตนเองเพื่อก่อเกิดสิ่งดีในสังคมมากยิ่งๆขึ้น 

หมายเลขบันทึก: 341778เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

ภาพงามจังค่ะอาจารย์

ภาพสุดท้ายให้ความรู้สึกน่าค้นหาดีนะคะ

ว่าเมล็ดภายในเปลือกนั้น รูปร่างควรเป็นฉันใด

มีกุหลาบมาฝากด้วยค่ะ

สวยงามเสมอครับ นี่ชุดไหมกระมังเนี่ย หมาดๆเลยใช่ไหมครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ส่วนมากก็จะดูด้านความงดงามของภาพถ่ายเป็นสำคัญ

และก็นึกถึงแค่เพียงเหตุการณ์เรื่องราวต่าง ๆ ในชุดภาพถ่ายนั้น ๆ เป็นหลัก

  • มาขอเรียนรู้ครับอาจารย์ "การถ่ายภาพบันทึกปรากฏการณ์ให้ได้ข้อมูลที่ดีหลายมิติวิธีหนึ่งก็คือ การบันทึกและแสดงด้วยขนาดของภาพ" ตัวเองชอบถ่ายภาพ..แต่ที่ผ่านมาทำได้แค่ถ่ายเอาเพลินๆเท่านั้น ต่อไปการบันทึกเหตุการณ์หรือข้อมูลต่างๆ คงจะทำได้ดีขึ้นครับ
  • ขอบคุณครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ : ส่วนใหญ่คนก็จะสัมผัสกับแหล่งประสบการณ์จากภาพถ่ายในลักษณะอย่างที่พระคุณเจ้าว่าเลยละครับ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะมันเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมไทยและหาคนชวนให้ดูเพื่อสร้างการเรียนรู้ไปด้วยได้น้อย เหมือนอย่างที่ทั้งเด็ก เยาวชน และคนทั่วไปที่สามารถมีทั้งกล้องและมือถืออยู่มากมายในปัจจุบันนี้ที่ถ่ายรูปได้เลยนะครับที่เครื่องมือเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก แต่เราก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ไปเพื่อเพิ่มพูนพลังความรู้ทั้งให้แก่ตนเองและแก่สังคมได้อย่างที่ควรจะเกิดขึ้นมากๆ เรื่องอย่างในบันทึกนี้จึงคิดว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กันน่ะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ : ผมนั้นชอบเข้าไปและอ่านเรื่องราวที่อาจารย์เขียนครับ เรื่องศิลปะการถ่ายภาพของอาจารย์ รวมทั้งวิธีคิด วิธีมอง และความเป็น ในการจัดองค์ประกอบศิลปะ ทำให้ภาพถ่ายของอาจารย์เป็นการเก็บบันทึกข้อมูลที่แตกต่างจากท่วไปโดยไม่ได้ตั้งใจนะครับ โดยเฉพาะความสามารถนำมาผสมผสานการเดินเรื่องด้วยการเขียนนำเสนอความคิด อาจารย์ทำได้ดีครับ แนวการใช้ภาพถ่ายทำเป็นหนังสือบันทึกและเล่าเรื่องที่นอกเหนือจากรูปแบบสูจิบัตรกับหนังสือรวบรวมภาพจำพวก Catalogue และ Gallery แล้วนั้น เท่าที่ผมรู้จักก็จะมี... แนว Subjects Pictorial แนว Photos Story, Photos Novella, Photos Essay, Conceptual Photos, Photos Poetry ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีแนวคิดและแง่มุมการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป อย่างของอาจารย์นี่เหมาะที่จะเป็น Photo Story ครับ และบางครั้งก็เป็น Documentary Photo ฝีมืออย่างอาจารย์นี่สร้างสรรค์และพลิกแพลงเพื่อทำอะไรได้อีกเยอะแน่ๆเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท