ศิลปท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านต้องสูญหายไปเพราะอะไรกันแน่ ตอนที่ 5 เอกสารไม่อาจสอนทักษะได้


ต้องมองย้อนกลับมาที่ตนเองก่อนว่า ในวันนี้สมควรหรือยังที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ออกไป

ศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน

สูญหาย เพราะเหตุใดกันแน่

ตอนที่ 5 การหาคำตอบด้วยเอกสาร

ไม่อาจสอนทักษะการแสดงได้

ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          จากการสำรวจพบว่า ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านกำลังจะหมดไป ไม่มีบุคคลรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ ครูเพลงรุ่นเก่า ๆ ก็นับวันที่จะลาจากโลกนี้ไป ทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือ การเก็บรวบรวมเรื่องราวเก่า ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงเพลงพื้นบ้าน เช่น ประวัติความเป็นมาของศิลปะการแสดงแขนงนั้น ๆ  ประวัติบุคคลผู้ที่เคยเป็นนักแสดงและมีชื่อเสียงของในแต่ละจังหวัด  บทเพลงที่ใช้แสดง วิธีการเล่นเพลงพื้นบ้าน การแต่งกาย เครื่องดนตรีที่ใช้ และแกะคำร้องออกมาเป็นตัวโน๊ตเอาไว้ด้วย

          จากการศึกษาพบว่า เอกสารฉบับนี้จะช่วยเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องของเพลงพื้นบ้านและเป็นเอกสารสำคัญให้ผู้ที่มีความสนใจได้มาศึกษาหาความรู้ฝึกหัดร้องเพลงพื้นบ้านได้ต่อไป เพลงพื้นบ้านจะไม่มีวันสูญ เพราะว่าได้มีการบันทึกเป็นโน้ตสากลเอาไว้ทั้งหมดแล้ว

         

         

          ผมมีความรู้สึกว่า ผู้ที่ศึกษาเขาได้ใช้ความพยายามอย่างยากลำบากมาก เพราะกว่าที่จะได้ข้อมูลมาในแต่ละประเภทของเพลง การเดินทางไปพบตัวบุคคลในแต่ละบุคคลก็แสนที่จะลำบาก ยิ่งได้บทเพลงมาบันทึกเอาไว้ในรูปแบบของเอกสาร หรือในยุคนี้จัดเก็บไว้เป็นไฟล์ก็มิใช่ที่จะได้มาง่าย ๆ (คนเก่า ๆ เขาไม่ค่อยที่จะยอมให้ของเขามา) เรื่องของวิธีการแสดง การเล่นเพลง การแต่งกายก็นับว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน เรื่องของเครื่องดนตรีกับเพลงพื้นบ้านยังมีการถกเถียงกันอยู่บ้างว่า การแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทนี้ ใช้เครื่องดนตรีอะไร ทำไมจึงใช้เครื่องดนตรีประเภทนี้ ไม่เหมือนแต่เดิมเลย เรื่องนี้ผมขอแสดงความเห็นได้เลยว่า “ก็ในยุคก่อน ๆ เขาไม่มีเครื่องดนตรีเลย ก็แค่ปรบมือ เป่าปาก กระทุ้งเท้า ออกท่าทางก็ดูสนุกสนานแล้ว ต่อ ๆ มาใครมีเครื่องมืออะไรก็นำเอามาใช่ร่วมกับการแสดง จึงเกิดเป็น เพลงอีแซวประยุกต์ ลำตัดประยุกต์ เพลงทรงเครื่องขึ้น

          ผมมีความเชื่อว่า เมื่อได้ศึกษาจากเอกสารสามารถที่จะได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้ เป็นการบันทึกร่องรอยแต่ครั้งก่อนนำกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพในอดีตได้อีกครั้ง แต่เอกสารมิอาจที่จะแทนตัวบุคคล ทำหน้าที่สอนทักษะการแสดงให้กับคนรุ่นใหม่ได้ จะเห็นได้ว่าเอกสารที่เขียนเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านมีอยู่มากมายส่งผลให้ผู้เขียนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปในวงการศึกษา แต่ย้อนกลับไปดูอีกทีซิว่า เจ้าของเอกสารผู้นั้นได้สร้างคนเล่นเพลงที่เกิดจากตัวท่าน สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้จริง ๆ มีหรือไม่

          ยิ่งเป็นการทำวงเพลงระดับมืออาชีพด้วยแล้ว มันยากยิ่งกว่าสิ่งใด เพราะคุณจะต้องมีความพร้อมจริง ๆ มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองมาก ๆ มีความโดดเด่นจนเป็นที่ต้องการของผู้ชม (ยากมากกว่าฝึกหัดให้เล่นเป็นหลายสิบเท่า) ด้วยเหตุนี้คนทำงานเพลงพื้นบ้านตัวจริงจึงมีน้อย การทำงานแบบฉาบฉวย จับโน่นชนนี้ ปะติปะต่อพอให้เห็นเป็นตัวงานมีให้เห็นอีกมาก

          ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าบุคคลผู้ที่เป็นเจ้าของเอกสารทุกฉบับจะเป็นผู้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านไปในตัวด้วย ไปศึกษา ณ สถานที่ใดกับบุคคลใดก็ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านนั้นไปด้วยเลย เมื่อท่านศึกษาจบได้ข้อสรุปเป็นเอกสาร และตัวของท่านก็เล่นเพลงประเภทนั้น ๆ ได้ อาจจะประเภทเดียวหรือหลาย ๆ อย่างแบบที่ผมทำมาอย่างนี้ก็จะดี เพราะจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านโดยถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

          ในกรณีที่ท่านแกะคำร้องออกมาเป็นโน้ต ผมเห็นด้วยถ้าท่านจะนำเอาบทเพลงไปบันทึกเสียงลงในเทป/ซีดี วีซีดี ดีวีดี แต่ถ้าท่านแกะโน้ตเพื่อนำเอามาใช้ศึกษาเพลงพื้นบ้านเพื่อการแสดงอาชีพ ไม่น่าที่จะประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้เพราะเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว  ลำตัด ฯลฯ มีเพียงโครงสร้างของการร้องที่บังคับว่าจะต้องขึ้นต้นอย่างนี้ แต่เวลาร้องเนื้อร้องจะร้องแบบพูดธรรมดาก็ได้ ไปบังคับอีกทีตอนลงเพลงและลูกคู่ร้องรับ  ใน 3 ส่วนนี้ต่างหากที่แสดงความแตกต่างกันของเพลงพื้นบ้าน

          ผมขอยกตัวอย่าง การร้องเพลงอีแซวของครูเพลงรุ่นเก่า ๆ ที่มีอายุเลย 85 ปี (ผมบันทึกเสียงร้องลงในเทปคาสเสทเอาไว้) ร้องเกริ่นขึ้นต้นคล้าย ๆ กัน ร้องทำนองเพลงแตกต่างกันที่การบังคับเสียง บางท่านมีลูกเล่นดี บังคับให้มีเสียงสูง ต่ำ ลากเสียง โหนเสียง รวบคำ บางท่านร้องเสียงเหน่อ ๆ ร้องแบบพูดธรรมดา ตอนลงเพลงก็มีการทอดสียงแต่ลูกเอื้อนไม่เหมือนกัน ลูกคู่รับลงเพลง 3 คำสุดท้าย ผมเคยถามป้าอ้น จันสว่าง ครูเพลงผู้ที่สอนผมมา ท่านบอกว่า “ฝึกมากับครูอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้นตามครูที่สอนมา”  ถามป้าทรัพย์ อุบล ผู้ที่เคยสอนเพลงฉ่อยให้ผม ท่านบอกว่า “สุดแล้วแต่ใครจะเล่นคำได้สละสลวยเพียงใด” นั่นแสดงว่าเพลงพื้นบ้านไม่มีกรอบบังคับตายตัวเหมือนอย่างที่นักวิชาการมากำหนดโครงสร้างหรือผังบังคับคำกลอนในยุคนี้ เมื่อมีการร้องตามโน้ตก็จะออกมาด้วยเสียงและลีลาการร้องที่เหมือนกันทุกอย่าง แต่เท่าที่มองเห็นภาพจริง ก็ยังคงฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกันแบบ คำต่อคำ

          ครูเพลง คือ ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุด ครูเป็นต้นแบบให้ลูกศิษย์เดินตามสอนกันเป็นคำ ๆ สอนกันเป็นคน ๆ จนร้องเป็น เล่นได้จึงนำมารวมวงเล่นในเรื่องราวเดียวกัน เขียนเป็นเรื่องยาว ๆ  เรียกว่า เพลงตับ

         เสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งคือ การร้องด้นกลอนสด ความสามารถในการหยิบเอาสิ่งที่ตามองเห็นมาร้องได้อย่างฉับพลัน ซึ่งตรงนี้ถ้าเขียนเป็นตัวโน๊ตทำไม่ได้ เพราะมันเลยขั้นที่จะต้องฝึกตามสัญลักษณ์ทางดนตรี แต่เป็นการร้องโดยมองในอากาศก็เห็นฉันทลักษณ์ลอยมาให้หยิบจับเอามาร้องได้เลย ในอีกมุมมองหนึ่ง ผมเคยเห็นท่านวิทยากรออกมาบรรยายเรื่องการสืบสานเพลงพื้นบ้านผ่านสื่อโทรทัศน์ ท่านจะร้องเพลงพื้นบ้านโชว์สัก 1 บท ยังต้องก้มหน้าอ่านบทร้องที่ท่านเขียนมาทั้งหมดแบบติด ๆ ขัด ๆ อยู่เลย

        

         การที่ยังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน การที่ยังมีความรู้ไม่ถึงขั้นที่จะถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ การที่ยังมองไม่ออกว่าอะไรคือของจริงแท้และอะไรคือภาพลวง การที่ไม่เคยเป็นนักแสดงบนเวทีกับครูเพลงรุ่นเก่ามาก่อนเลย  การที่ยังไม่มีผู้จ้างวานเรียกหาไปแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างเงินกับความสุขที่ได้ชมการแสดง อาจจะต้องมองย้อนกลับมาที่ตนเองก่อนว่า ในวันนี้สมควรหรือยังที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ออกไป แบบถูก ๆ ผิด ๆ ไม่สมบูรณ์  เมื่อผลผลิตไม่สามารถที่ยืนระยะยาวได้ก็เท่ากับว่า เกิดความว่างเปล่า ไม่มีตัวตนหรือความเป็นรูปธรรมให้เห็น อีกไม่นานก็หายไปจากกลิ่นไอของภูมิปัญญาท้องถิ่นจนหมดสิ้น จึงต้องพบกับคำว่า “เพลงพื้นบ้านจะต้องสูญหายไปทีละอย่างสองอย่างจนในที่สุด..............”

 

หมายเลขบันทึก: 341326เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท