เรียนรู้ระบบกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาจากกรณีบริษัท เอ็นรอน



          ตอนนี้ผมกำลังคลั่งใคล้กระบวนทัศน์ใหม่ของระบบกำกับดูแล (governance)    ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผมจะต้องเน้นที่ระบบกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาตามหน้าที่ของประธาน กกอ.   เพราะผม “ดมกลิ่น” ได้ว่า เรากำลังทำงานแบบตกยุค ผิดกระบวนทัศน์    แต่ “ดมกลิ่น” ได้เท่านั้นไม่พอ ต้องหาหลักฐานและเหตุผลมาประกอบได้ด้วย    รวมทั้งต้องคิดระบบใหม่ขึ้นมาใช้ให้ได้ผลด้วย 

          Good Governance ที่พูดๆ กัน ไม่ใช่เรื่องที่จะทำตามที่ฝรั่งโง่ๆ พยายามบอกเราสมัยปี ๒๕๔๐ ตอนที่เราเพลี่ยงพล้ำเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ   แต่ต้องคิด และมีวิธีปฏิบัติซับซ้อนกว่านั้นมาก

          มิฉนั้นกรณีบริษัท เอ็นรอน ล้ม ในปี ๒๕๔๔ ก็จะไม่เกิดขึ้น   มันเกิดขึ้นเพราะระบบ governance ตามไม่ทันลูกเล่นของฝ่ายจัดการของบริษัท

          ปัญหาของระบบกำกับดูแลคือ ตามไม่ทันลูกเล่น (เรียกในอีกภาษาหนึ่งว่า ความริเริ่มสร้างสรรค์ – creativity) ของฝ่ายจัดการในกิจการต่างๆ  

          ผมสรุปสอนตัวเองจากการอ่านหนังสือ What the Dog Saw โดย Malcolm Gladwell ในบทที่ชื่อว่า Open Secrets : Enron, Intelligence and the Perils of Too Much Information ในวันเสาร์ที่ ๖ ก.พ. ๕๓

          คุณ Malcolm Gladwell ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของการตรวจสอบหรือกำกับกิจการต่างๆ ในปัจจุบัน แตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง   เขายกตัวอย่างการต่อสู้กันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยการล้วงความลับเพื่อแก้ปัญหาที่เป็น puzzle   เขาอธิบายว่า puzzle เป็น puzzle เพราะขาดข้อมูล   จึงต้องแก้โดยหาข้อมูลมาไข puzzle นั้น  

          แต่เวลานี้การตรวจสอบหรือกำกับกิจการต่างๆ ไม่ได้เผชิญปัญหาขาดข้อมูล   แต่กลับเผชิญปัญหาข้อมูลมากล้น จนหาความหมายได้ยาก หรือเลือกเชื่อได้ยาก   ที่เรียกว่า mystery

         กรณีบริษัท เอ็นรอน นั้น มี นศ. ๖ คนจาก Cornell University Business School ไปค้นคว้าเป็นกรณีศึกษา (term project) ในปี ๒๕๔๑   และสรุปว่า บริษัท เอ็นรอน ใช้กลยุทธธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง   และน่าจะได้กระทำการ manipulate รายรับ   และสรุปในบรรทัดสุดท้ายว่าแนะนำผู้ถือหุ้นให้ขาย   ตอนนั้นหุ้นของ บริษัท เอ็นรอน ราคา ๔๘ เหรียญ และขึ้นเป็นเกือบ ๒ เท่าในอีก ๒ ปีต่อมา   ทั้งที่รายงานของ นศ. กลุ่มนี้หนา ๒๓ หน้าอยู่บน เว็บไซต์ ของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ ตั้งแต่ นศ. ทำรายงานเสร็จ   

 
          ทั้งๆ ที่สังคมอเมริกันเขาเปิดเผยข้อมูลขนาดนี้ และมีระบบวิจัยบอกความจริงแก่สังคมขนาดนี้   ระบบกำกับดูแลบริษัทธุรกิจของเขายังตามไม่ทันลูกเล่นของฝ่ายจัดการ

          จึงเป็นภาระและความท้าทาย ที่เราจะต้องช่วยกันออกแบบระบบกำกับดูแลระบบอุดมศึกษาไทย ให้ตามลูกเล่นของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยทัน   หรือให้ป้องกันการกระทำที่ก่อผลเสียหายต่อ “ผู้บริโภค”   หรือทำให้คุณภาพของอุดมศึกษาตกต่ำ   เพื่อช่วยกันรักษาผลประโยชน์สาธารณะให้จงได้ 

          หรือที่จริงแล้ว เราต้องออกแบบกำกับระบบอุดมศึกษา ที่ให้การสนับสนุน ให้ผลประโยชน์แก่สถาบัน/หลักสูตร ที่รับผิดชอบต่อสังคม ก่อคุณประโยชน์แก่สังคม   และหาทางลดหรือปิดโอกาสการมีสถาบัน/หลักสูตร ที่ทำอันตรายต่อสังคม  

 

 

วิจารณ์ พานิช
๖ ก.พ. ๕๓
                         
                

หมายเลขบันทึก: 341307เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ อยากเห็นระบบที่กำกับดูแล(การประเมิน)ที่แท้จริงไม่ใช่ระบบเกรงใจฝ่ายอธิการบดีที่สภามหาวิทยาลัยเลือกมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท