กระบวนการคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking Process)


กระบวนการคิดเกิด ทางพุทธธรรมเรียกว่า วิตักกะ / Tim Hurson กล่าวในหนังสือ Think Better ว่าการคิดแบบมีวิจารณญาณคือ การสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้

        การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อกระบวนการคิดของเราอยู่ตลอดเวลาและด้วยเหตุที่กระบวนการคิดเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนากระบวนการคิดให้มีแบบแผนที่ถูกต้อง มีเหตุผล อยู่บนฐานแห่งความเป็นจริงและเป็นกระบวนการคิดที่มีวิจารณญาณ

        พระพรหมคุณาภรณ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม เกี่ยวกับกระบวนการคิดว่าเป็นกระบวนการที่เกิดจากการรับรู้ ซึ่งการรับรู้เริ่มต้นด้วยประสาทสัมผัส(อายตนะ)ได้ประสบกับสิ่งเร้า(อารมณ์) จนเกิดการรับรู้ต่อสิ่งเร้า(วิญญาณ) ขั้นตอนเหล่านี้คือ กระบวนการรับรู้ ซึ่งภาษาบาลี เรียกว่า ผัสสะ เมื่อเกิดกระบวนการรับรู้ ก็จะมีความรู้สึกเกิดขึ้น เช่น รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกเฉยๆ ขั้นนี้ เรียกว่า เวทนา พร้อมกันนั้นก็จะเกิดการจำได้หมายรู้ต่อสิ่งเร้าว่าคืออะไร ซึ่งเรียกว่า สัญญา หลังจากนั้นกระบวนการคิดจึงเกิดขึ้น ทางพุทธธรรมเรียกขั้นตอนนี้ว่า วิตักกะ ตัวอย่างเช่น การเห็น สามารถเขียนแผนผังอธิบายการเกิดกระบวนการคิดได้ดังรูปที่ 1

      ตา      +     รูปร่าง       +      เห็น                       =      การรับรู้     --->

 (อายตนะ)       (อารมณ์)       (จักขุวิญญาณ)                        (ผัสสะ)

 

    --->     รู้สึกสุข/ทุกข์   --->   จำได้หมายรู้    --->   กระบวนการคิด

                  (เวทนา)                 (สัญญา)                   (วิตักกะ)

                                                                                                              

           จะเห็นได้ว่ากระบวนการคิดตามหลักพุทธธรรม เกิดจากการรับรู้อารมณ์ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งหกของมนุษย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แล้วอาศัยภูมิหลังหรือประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดในที่สุด

           ส่วนหลักของตะวันตกถือว่ากระบวนการคิดเป็นกลไกทางสมองที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมและคำพูดที่แสดงออก การเกิดกระบวนการคิดเริ่มจากการรับรู้สิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้น ซึ่งอาจมีที่มาจากปัญหาหรือประเด็นสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการคิดก็จะทำงาน เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านั้น ดังรูปที่ 2

 สิ่งเร้า/ตัวกระตุ้น  --->  การรับรู้   --->  ปัญหา / สงสัย   --->    กระบวนการคิด

    (Stimulus)         (Perception)          (Problem)              (Thinking Process)

           กระบวนการคิดเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล เกิดจากการทำงานของสมองแต่ละซีก สมองสองซีกเชื่อมโยงด้วย คอร์ปัส คาโลซัม (Corpus Callosum) ทำให้เกิดการทำงานอย่างผสมผสานทั้งซีกซ้ายและซีกขวาโดยอาศัยประสบการณ์ ทักษะการฝึกฝน ตลอดจนสภาพแวดล้อมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเปรียบเทียบ จำแนก หาเหตุผล ตลอดจนประเมินและตัดสินใจ

           แนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ของตะวันตกคล้ายกับหลักพุทธธรรม ต่างกันตรงที่การรับรู้ของทางตะวันตกเป็นผลจากการที่มนุษย์ได้ใช้อวัยวะรับสัมผัสซึ่งเรียกว่า เครื่องรับ (Sensory) เพียง 5 ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้นและผิวหนังโดยไม่นับรวมทางจิตเหมือนกับหลักพุทธธรรม ซึ่งการรับรู้ของมนุษย์เกิดจากการเห็นร้อยละ 75 จากการรับรู้ทั้งหมด ดังนั้นกระบวนการคิดของมนุษย์จึงเกิดจากการรับรู้สิ่งเร้าทางสายตาเป็นสำคัญ

กระบวนการคิดตามหลักพุทธธรรม

        การคิดที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ต้องอาศัยวิถีทางแห่งปัญญาอันเป็นปัจจัยภายในที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งหมายถึง การทำในใจโดยแยบคาย การคิดอย่างมีระเบียบ มีเหตุผล คิดตรงตามสภาวะและเหตุปัจจัย เป็นการคิดที่ถูกต้องโดยพระพรหมคุณาภรณ์ได้จำแนกออกเป็น 10 วิธี ดังนี้

        1. คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ คิดแบบอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท เพื่อหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุและส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ ตามลำดับ เช่น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เป็นต้น

        2. คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมัน โดยจำแนกรายละเอียดออกเป็นองค์ประกอบย่อย เป็นวิธีคิดแบบวิเคราะห์ เช่น หากจำแนกรายละเอียดของมนุษย์ออกเป็นส่วนประกอบย่อยๆจะพบว่าเป็นเพียงองค์ประกอบของขันธ์ห้า อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เท่านั้น

        3. คิดแบบสามัญลักษณ์  เป็นวิธีคิดแบบรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไปไม่เที่ยงแท้เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

        4. คิดแบบอริยสัจจ์ เป็นการคิดแก้ปัญหาแบบดับทุกข์ โดยพิจารณาตามหลักเหตุและผล สืบสาวจากผลไปสู่เหตุ แล้วแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตามหลักอริยสัจจ์สี่ คือ  ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

        5. คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ เป็นการคิดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการกับจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติและวัตถุประสงค์ทั้งในขั้นตอนย่อยและภาพรวม

         6. คิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก เป็นการหาทางออกโดยมองความจริงในทุกๆด้านทั้งข้อดีและข้อเสียโดยปราศจากอคติ เพื่อสร้างทางเลือกในการตัดสินใจคล้ายหลัก SWOT Analysis

         7. คิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม เพื่อแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งใดคือ สิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสิ่งใดเป็นสิ่งที่เติมแต่งเข้าไปเพื่อความโก้หรูในการสนองตัณหาของตน

         8. คิดแบบเร้าคุณธรรม คือ คิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี ยอมรับข้อเสียข้อบกพร่องได้ ต้อง พยายามค้นหาจุดเด่นและนำส่วนที่มีคุณค่าไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม

         9. คิดแบบอยู่กับปัจจุบัน คือ การตั้งสติระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หากเป็นเรื่องในอดีตหรือในอนาคต ถ้าการคิดอยู่บนฐานแห่งปัญญาแล้ว ถือได้ว่าเป็นการคิดแบบอยู่กับปัจจุบันเช่นกัน

       10. คิดแบบวิภัชชวาท ลักษณะสำคัญของการพูดและคิดแบบนี้ คือ การแสดงความจริง ในทุกแง่มุม ไม่กล่าวถึงเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงด้านเดียว

กระบวนการคิดแบบมีวิจารณญาณ

          กระบวนการคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เป็นการคิดเชิงระบบที่มีเหตุผลโดยผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ ถือเป็นวิธีการแสวงหาความจริง ความถูกต้องที่ดีที่สุด โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการเลือกใช้แนวคิดที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งTim Hurson ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Think Better ว่าการคิดแบบมีวิจารณญาณก็คือ การสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้นั่นเอง

          การคิดเชิงระบบจะทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์นอกเหนือจากที่ปรากฏสู่ภายนอก นักวิชาการชื่อ Michael C. Jackson ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Systems Thinking ว่าการเข้าใจกลไกการทำงานของระบบที่ซับซ้อนจะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบความคิดได้ ซึ่งแบบแผนทางความคิดและการเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพัฒนากระบวนการคิด ดังนั้น การคิดใหม่ทำใหม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แสวงหาข้อมูลที่ถูกต้องด้วยความรอบคอบ จะช่วยให้การวิเคราะห์ การประเมินผลและการปรับปรุงกระบวนการคิดไปสู่การคิดเชิงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เราเผชิญ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 341132เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทักษะการคิดนั้นมีประโยชน์มาก เมื่ออ่าแล้วผมเลยคิดถึงว่า เด็กนักเรียนของไทยนั้นยังขาดทักษะการคิดเช่นนี้อยู่มาก เพราะระบบการศึกษายังไม่ได้ลงมือกับการพัฒนาการคิดของเด็กอย่างเต็มที่ ทักษะการคิดหรือแนวคิด วิธีคิดของเด็กไทยในปัจจุบันจึงไม่มีความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองโดยยึดแนวคิดดั่งกล่าว เด็กไทยยังมีแนวคิดที่เป็นไปตามรสนิยม เท่านั้น

เป็นจริงอย่างที่คุณคุณาวุฒิ ภูสิลิตร์ ได้กล่าวเลยครับ เด็กไทยวันนี้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อกระแสทุนนิยมเลย โดยมากจึงตกเป็นเครื่องมือของกลไกการโฆษณา จึงต้องหมั่นคิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียมให้มากๆ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งใดคือ สิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ต่อตนและสิ่งใดเป็นสิ่งเติมแต่งเพื่อกิเลสตัณหา

ขอบคุณมากครับที่กรุณาแสดงความคิดเห็น ถ้ามีโอกาสโพสต์ผญาอีสานให้อ่านหน่อยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท