การประชุมเชิงปฏิบัติการ WU KM รุ่น ๗ (๓)


เอา KM ไปใช้แล้วมีความสุข เพราะไม่โดดเดี่ยวในการทำงาน

ตอนที่ ๒

ผู้เข้าประชุมได้ฟังประสบการณ์การใช้ KM จากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

ส่วนส่งเสริมวิชาการ
คุณกรมาศ สงวนไทร หัวหน้าส่วนส่งเสริมวิชาการ แนะนำส่วนส่งเสริมวิชาการว่าเป็นจุดตรงกลางที่สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตร พัฒนานักศึกษา พัฒนาอาจารย์ และประกันคุณภาพการศึกษา ได้รู้จัก KM ตอนมาทำงานที่ มวล. เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว เข้าอบรมก็รู้ว่าเป็นเครื่องมือ ลปรร. แต่ยังไม่ได้ใช้ แต่ความจริงในระบบงานที่ทำอยู่ก็เหมือนใช้อยู่ตลอดเวลา ก่อนทำงานอะไรจะมาคุยกันก่อน เมื่อทำงานเสร็จก็มาคุยกันอีก แต่ตอนหลังได้เรียนรู้มากขึ้น

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
อาจารย์จงสุข คงเสน รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ เล่าว่าภารกิจของศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานสนับสนุน...เริ่มทำ KM เมื่อปีที่แล้ว คนในศูนย์มีส่วนร่วมใน KM ตั้งแต่ยุคแรกๆ เริ่มจริงๆ เมื่อปลายปี ๒๕๕๑ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เห็นความสำคัญ ได้เข้าไปร่วมประชุมหลายครั้งก็รู้สึกว่า KM ดี อยากให้คนในศูนย์รู้เรื่อง KM ๑๐๐% เริ่มจากการ set ทีม เล่าว่าเริ่มทำ KM อย่างไร....เริ่มง่ายๆ จากการหาความรู้ก่อน ขอความช่วยเหลือจากทีมหน่วยพัฒนาองค์กร (OD) set กิจกรรมให้ แล้วไปศึกษาจากหน่วยงานอื่น ดูจากแผนการจัดการความรู้ของหลายๆ แห่ง...ไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ที่คลองร้อยสาย เอาเรื่องการสร้าง service mind ที่ดี... ความรู้มีทั้งที่ได้จากคนนอกและคนใน

หลังจากนั้น KM ได้เข้าไปอยู่ในงานประจำ เช่น การทำคู่มือปฏิบัติงาน เข้ากลุ่มทำงานด้วยกัน การทำงานเรื่องต่างๆ เช่น การบริหารความเสี่ยงก็เชิญหน่วยตรวจสอบฯ ไปให้ความรู้

ผศ. ดิชิตชัย เมตตาริกานนท์ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์
ในฐานะผู้สอนวิชาการจัดการความรู้ บอกว่ารู้จัก KM จากการร่วมกิจกรรมกับหน่วย OD และการเข้าร่วมกับ UKM ๒ ครั้ง ต่อมาได้มาสอนวิชา KM อยากจะบอกว่าทุกคนใช้ KM อยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็น KM…ที่ใช้ๆ กันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของ KM...ในหนังชอบประโยคหนึ่งคือต้องไปดึงทักษะหรือความชำนาญ...ต้องเป็นสายงานเดียวกัน การนำ KM มาประยุกต์ใช้อย่านำมาทั้งหมด ให้นำมาปรับใช้

ตัวเองนำ KM มาใช้อย่างไรบ้าง ใช้ในการแสวงหาความรู้ ทั้ง share เช่น การสอนของตัวเอง สอนอย่างไรเด็กจึงจะไม่ง่วงนอน โทรศัพท์ไปถามที่อาจารย์ที่เคยสอน...การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ยึดเทคนิคของอาจารย์เดิม...ใช้ ICT ฐานข้อมูล ค้นความรู้ก็ใช่ KM แล้วส่วนหนึ่ง...การเอาความรู้ของคนอื่นไปใช้หรือแม้กระทั่งการเขียนตำรา อยากเขียนตำรา KM ต้องมีคนอ่าน ๓ คน...ปัญหาของ มวล.คือไม่สามารถจัดการความรู้ของคนในองค์กรได้

อยากให้มีการจัดการการใช้คนในองค์กร โดยเฉพาะในสายวิชาการ อาจารย์บางคนสอนแล้วนักศึกษาสนุกก็อยากรู้ว่าเขามีเทคนิคอะไร

ส่วนกิจการนักศึกษา
คุณมณเทียร สุขกุล เล่าว่าที่ปรึกษาหอพัก มีเจ้าหน้าที่ ๑๗ คน เป็นฝ่ายงานที่ใหญ่พอดู ภารกิจหลักอยู่ที่การดูแลชีวิตของนักศึกษา ๒๔ ชม. เข้าเวรเป็นกะ แนะนำและแก้ปัญหาให้นักศึกษา ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะเชื่อมโยงไปฝ่ายต่างๆ ภารกิจแบบนี้จึงเป็นที่มาของการคุยกันบ่อยๆ เรียก Case Conference ช่วงภาค ๓ มักจะเป็น case การสมัครหอพัก ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ต้องคอยใช้จิตวิทยาการปรึกษามาใช้ เรียนมาแล้วเอาไปใช้แต่บางทีก็ไม่เหมือนกัน จึงมาเล่ากันว่าทำอย่างไร มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้เทคนิคของเพื่อน...ปีที่แล้วนำเอากระบวนการสุนทรียสนทนาเข้ามาใช้

ปีที่แล้วมีนักศึกษาจะกระโดดหอ เมื่อนำมาพูดคุย นำไปสู่การพัฒนาบุคลากร...ปัญหายาเสพติด ก็มี KM ว่ามีวิธีการดูแลน้องอย่างไร นำไปสู่แผนงานการจัดการ จะดูแลเด็กอย่างไร

อีกบทบาทหนึ่งคือการส่งเสริมกิจกรรม จะมีกระบวนการไปสัมมนาอบรม ใช้กระบวนการเล่าเรื่องไปสัมมนากับเด็ก ให้คนมีประสบการณ์มาเล่าเรื่อง เด็กจะได้เรียนรู้ แล้วนำไปใช้จัดกิจกรรมในหอพัก

เอา KM ไปใช้แล้วมีความสุข เพราะไม่โดดเดี่ยวในการทำงาน เจอกันบ่อยแล้วมีการแลกเปลี่ยน อาจใช้การเล่าเรื่องหรือสุนทรียสนทนา...เรื่องการให้คำปรึกษารายกรณี มีระดับการทำงาน ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ เป็นเรื่องการพัฒนางาน มองว่าเราอยู่ระดับไหน เพื่อนใครอยู่ระดับ ๕ ก็ไปขอเรียนรู้

ส่วนส่งเสริมวิชาการ (อีกรอบ)
คุณกรมาศได้รับเสียงกระซิบจากคุณนิรันดร์ที่ทำหน้าที่จดบันทึกเนื้อหาอยู่ว่าที่พูดมายังไม่มีเนื้อเลย จึงขอเล่าต่อว่าการที่จะเอา KM มาใช้ ถ้าจะเดินไปบอกว่าต่อไปนี้จะเอามาใช้ก็คงไม่มีใครชอบ นั่งมองว่าการทำงานทุกวันก็เจอปัญหาทุกวัน ในส่วนงานมีเจ้าหน้าที่ ๑๑ คน เข้า KM ทีละคนสองคนก็พูดภาษาเดียวกันยากมาก เมื่อจะเอา KM มาใช้ ทุกคนก็รู้ว่า KM คืออะไร ได้รู้จักคำแปลกๆ เริ่มใช้เมื่อทุกคนรู้ KM เกินครึ่ง

ก่อนทำงานต้องคุยกันก่อน เมื่อสิ้นสุดการทำงานก็มาคุยกันอีก จุดวิกฤติเมื่อจัดการประชุม TQF งานหลักสูตรต้องจัดงานใหญ่ คิดว่าจะรู้ พอถึงเวลาทำงานจริงๆ ไม่ใช่ เจอวิกฤติเรื่องต้มน้ำ เสียบปลั๊กแล้วปลั๊กไม่ทำงาน น้ำไม่เดือด ทุกคนไม่สบายใจ พอรุ่งขึ้นมารวมตัวกัน พูดกันว่าจะพัฒนาอย่างไร นำไปสู่คู่มือการปฏิบัติงาน

อยากจะเขียนบล็อก ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยได้เรียนจากอาจารย์วัลลาและมีการเขียนบล็อก (อ่านที่นี่) แต่บางคนไม่ชอบเขียน ก็ต้องมีเทคนิคให้สรุปงานแล้วให้เอาขึ้นบล็อก การเขียนเป็นการฝึกสรุปให้เป็น เมื่อสอนก็มีเด็กหัวไวหัวช้า หลังจากนั้นวันพุธวันศุกร์จะชวนกันเขียน ตัวเองถูกบอกให้เข้าไปอ่านแล้วคอยชื่นชมลูกน้อง

แรกๆ ทำแบบมวยวัด แบบเรียนรู้ร่วมกัน.......บังเอิญมาเข้า UKM เห็นน้องอร (คุณจรวยพร รอบคอบ) เอาโปรแกรมไปโชว์ มาบอกธุรการว่าดี เลยได้ฤกษ์ ใช้เวลาตอนท้ายของการประชุมส่วนฯ ๑ ชม. เชิญเจ้าของเรื่องมา share ทำให้ลดงานธุรการลงได้

กลุ่มคณบดีก็ใช้การ ลปรร. ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์วัลลาให้เปลี่ยนห้องเปลี่ยนบรรยากาศการประชุม ต่อไปการประชุมคณบดีก็จะเป็นการ ลปรร....ในส่วนส่งเสริมวิชาการ มีการทำ R2R ขอให้ทุกคนคิดหัวข้อ R2R คนละเรื่องหรือคนที่ยังไม่ชำนาญก็ ๒ คนต่อเรื่อง อะไรก็ได้ที่เก็บข้อมูลมาแล้ววิเคราะห์

กิจกรรมมีการวาดภาพ ๑ ครั้ง/เดือน เชิญคนมาเล่าเรื่องการทำงาน ๑ ครั้ง ให้อ่านหนังสือแล้วมาเล่า ๑ ครั้ง เล่าว่ากิจกรรมเป็นอย่างไร วาดภาพแล้วได้อะไร จะค้นพบสิ่งที่ไม่เคยเจอ เมื่อเขาทำได้ดีพอมีคนชื่นชมเขาจะมีกำลังใจ...สิ่งที่เกิดขึ้นจุดแรกที่ตัวเรา ลองค่อยๆ แทรกซึมไป ทำผังทั้งเดือน อย่างน้องๆ ที่มาเข้า KM แล้วก็ให้ไปคิดกิจกรรมต่อ...ทำ KM แล้ว ความสามัคคีเกิดขึ้น อย่างเช่นวาดภาพด้วยกันแล้วเปิดเพลงเบาๆ ...มีความสุข ชุมชนก็จะเกิดขึ้นมาเอง

อาจารย์จงสุข บอกว่า KM ดีในแง่ที่ว่าคนถูกพัฒนาในเรื่อง ลปรร. การฟัง...เข้าไปในศูนย์บรรณฯ จะเห็นกิจกรรมต่างๆ ...การทำ KM มันได้จริงๆ แม้จะไม่เห็นผลชัดๆ มันแทรกอยู่ในงาน

อาจารย์ดิชิตชัย ให้กำลังใจว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัว เราต้องไปแสวงหา และควรเอา Tacit ในตัวเรามาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน

คุณกรมาศ เปิดเผยต่อว่าการที่เอา KM มาใช้นั้น ลึกๆ อยากปรับความสามารถของคนทำงานให้เท่าๆ กัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน พัฒนาการในส่วนฯ ดีขึ้นมาก มีการถามกันเรียนรู้จากกันตลอดเวลา

คุณมณเฑียรเชื่อว่า KM เป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่นำมาใช้ได้ทั้งพัฒนางานและพัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เชื่อว่าคนมีการเรียนรู้ได้ สิ่งที่ยากคือเราจะใช้หรือเปล่า

เริ่มต้นวันแรกของการประชุมด้วยบรรยากาศดีๆ เรามีเวลาให้ผู้เข้าประชุมพักผ่อนตามอัธยาศัยประมาณ ๑ ชม. ก่อนรับประทานอาหารเย็น ดิฉันใช้เวลาช่วงนี้เก็บภาพสวยๆ อีกเช่นเคย คราวนี้เอาภาพดอกไม้สวยมาฝาก

 

ดอกไม้สวยในบ่อแสนวิลล่าฯ

เรารับประทานอาหารเย็นที่ริมสระน้ำ ตอนที่เรายังอยู่ในห้องประชุม มีฝนตก พื้นจึงยังเปียกๆ อยู่บ้าง

 

บริเวณที่รับประทานอาหารเย็น

ค่ำนี้มีการร้องเพลงคาราโอเกะอีกเช่นเคย มีทั้งนักร้องเดี่ยวและนักร้องหมู่ (แต่ร้องเพลงเดี่ยว)

 

นักร้องของ มวล.

ดิฉันอยู่ร่วมงานได้ไม่ดึกนัก ขอแยกตัวกลับที่พักเพื่อเตรียมการสำหรับกิจกรรมในวันพรุ่งนี้ ได้โอกาสเก็บภาพที่พักยามค่ำไว้ด้วย (ดิฉันขอพักห้องเดิมที่เคยพักคราวที่แล้ว เพราะใกล้ Lobby และห้องประชุม)

 

บรรยากาศห้องพักผ่อนและสระว่ายน้ำยามค่ำ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 340931เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กิจกรรมดี ที่พักน่าอยู่ ขอบคุณเรื่องราวดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท