การแสดงศิลปนิพนธ์แนวอนุรักษ์ ๒๕๕๒ ของนักศึกษาปริญญาตรีปีที่ ๒ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยนาฏศิลป


เกาะเวทีโจ๋ไทย หัวใจนาฏศิลป์

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7026 ข่าวสดรายวัน


เกาะเวทีโจ๋ไทย หัวใจนาฏศิลป์


คอลัมน์ สดจากเยาวชน





"ผมชอบนาฏศิลป์ไทย และอยากสืบสานตรงนี้ไว้ ผมเรียนที่นี่มาตั้งแต่ม.1 จนถึงปี 4 นี่ก็ 10 ปีแล้วที่อยู่กับนาฏศิลป์มา"

คำพูดบ่งบอกถึงหัวใจที่รักนาฏศิลป์ไทยของ "อาร์ม" ว่าที่ ร.ต.จตุพร ภักดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนาฏศิลป ที่วันนี้ใกล้สำเร็จการศึกษาการแสดงศิลปนิพนธ์แนวอนุรักษ์ปีการศึกษา 2552 ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยนาฏศิลปครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเวทีแสดงความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาตลอดระยะเวลา 10 ปีของเขาและเพื่อนๆ ร่วมสาขาอีก 14 คน

บรรยากาศภายในงานอบอวลด้วยเสียงดนตรีสากลและวงปี่พาทย์ท่ามกลางสวนเขียวขจี ภายในวิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา ขณะที่ภายในห้องแต่งตัวออกจะดูเคร่งเครียดเล็กน้อย เพราะนักศึกษาทั้ง 15 คนต่างขมีขมันแต่งองค์ทรงเครื่อง มุ่งมั่นและทำสมาธิเตรียมพร้อมขึ้นแสดง

การแสดงทั้งหมดที่คัดเลือกมาล้วนเป็นชุดที่หาชมยาก ซึ่งทั้ง 15 นักศึกษาต้องการรื้อฟื้นขึ้นมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก เริ่มต้นจาก เบิกโรงกิ่งไม้เงินทอง ต่อด้วย ฉุยฉายหนุมานแปลงเป็นทศกัณฐ์ สมิงพระรามเกี้ยวพระราชธิดา ฉุยฉายศูรปนขา กุเปรันรบทศกัณฐ์ ฉุยฉายยอพระกลิ่น หนุมานรบมัจฉานุ พระยาอนุชิตทรงเครื่อง สุวรรณหงส์ชมถ้ำเพชรพลอย และองคตสื่อสาร

นายนิวัฒน์ สุขประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป กล่าวว่า การเรียนการสอนของที่นี่ นอกเหนือจากในเชิงวิชาการแล้วนักเรียนจะต้องมีภาคปฏิบัติในเชิงศิลปนิพนธ์ เป็นการสร้างสรรค์ควบคู่กับการอนุรักษ์ เราพยายามเผยแพร่ให้เยาวชนรู้จักนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้มากขึ้น




อาร์ม กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกแสดงในตอนองคตสื่อสารว่า สิ่งหนึ่งที่มองเห็นเด่นชัดคือ บทบาทตัวละคร บทขององคตเหมาะกับตนเอง เพราะเป็นคนรูปร่างเล็ก คล่องแคล่วว่องไว น่าจะสื่อสารออกมาได้ดี การแสดงชุดนี้ยังเพิ่มลูกเล่นลีลาเพื่อเพิ่มสีสันให้การแสดง เช่น ลีลาการยักคอ

แม้ว่าที่ร้อยตรีคนนี้จะมุ่งมั่นสืบสานศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ และมีความฝันอยากสอนโขนให้น้องๆ เยาวชน แต่เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไปคนหนึ่ง

"ผมไปเที่ยว ดูหนัง เดินสยาม ซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น อย่างวันที่พวกผมไปอัดรายการโชว์รายการหนึ่งพวกผมเดินเข้าไปในตึก พี่ๆ เขายังไม่คิด ว่าพวกผมเรียนนาฏศิลป์ เพราะแต่ละคนแต่งตัวกันไปเต็มที่ แต่ก่อนผมสนใจการเต้น บีบอย แต่ติดที่ไม่มีเวลา เวลาว่างก็มีไปเรียนเต้นบ้าง แต่ถ้าเป็นการเต้นบีบอยน้องๆ ที่นี่ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่กว่าจะเต้นกันเยอะมาก แต่ผมขึ้นปี 4 แล้วไม่ค่อยมีเวลาเท่าน้องๆ

ผมคิดว่าเยาวชนไทยถึงแม้จะไปตามกระแสเกาหลี หรือกระแสต่างชาติ แต่ในใจก็ยังไม่ทิ้งความเป็นไทย ผมดูจากการเรียนที่นี่ มีเยาวชนหันมาสนใจและเรียนด้านนี้เยอะขึ้น อย่างตัวผมเองฟังเพลงได้ทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นไทย เกาหลี ญี่ปุ่น ฟังได้หมด ซีรีส์เกาหลีนี่เรียกว่าติดเลยก็ว่าได้"




มาถึง "ยักษ์" ว่าที่ ร.ต.พรรัตนะ ขันทอง หนุ่มร่างใหญ่สมชื่อ ซึ่งแสดงในชุดฉุยฉายหนุมานแปลงเป็นทศกัณฐ์ เล่าว่า เป็นการแสดงที่เป็นท่ายักษ์ผสมท่าลิง คือมีสองบุคลิกในตัวละครเดียว ผมว่ามันท้าทายดี ลีลาท่าทางยึดแบบฉบับตามที่ครูสอน ผมใส่ความตั้งใจอย่างเดียว

ยักษ์ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เล่าถึงการใช้ชีวิตประจำวันหลังถอดหัว โขนว่า "ผมไม่มีแฟชั่น ไม่เดินสยาม แต่งตัวสบายๆ ไม่ดูซีรีส์ เกาหลี อย่างมากก็ดูหนังจีน ผมฟังเพลงไทยลูกทุ่ง ลูกกรุงอย่างเดียว ผมคิดว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่นิยมต่างชาติมากกว่าไทย เพราะคิดว่าอินเทรนด์ ใส่กางเกงขาลีบ แต่ผมไม่ใส่ ใส่ถูกระเบียบของวิทยาลัยหมดทุกอย่าง ผมเปิดรับกระแส แต่ไม่ได้คลั่งไคล้มากมาย ไม่ตาม แต่ไม่ต่อต้าน แค่รับมาไว้"

"อยากเชิญชวนเพื่อนๆ ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย การแสดงนาฏศิลป์บ่งบอกความเป็นไทยรูปแบบหนึ่ง ความตั้งใจของผมคือการสอนและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมนาฏศิลป์ตามต่างจังหวัด หรือตามโรงเรียนที่ห่างไกล เพราะเป็นคนรักธรรมชาติด้วย" ยักษ์กล่าวทิ้งท้าย

มาที่ 2 สาวนาฏศิลป์กันบ้าง "เกด" และ "มด" น.ส. นงนภัส ขจรมาลี และ น.ส.กรกนก ทับจีน ในชุดการแสดงเบิกโรงกิ่งไม้เงินทอง เล่าว่า เราสองคนชอบ นาฏศิลป์มากค่ะ 10 ปีที่เรียนที่นี่มา ไม่มีวันไหนที่ไม่มีความสุข เด็กสมัยนี้ที่มาเรียนนาฏศิลป์ส่วนมากจะถูกพ่อแม่ให้มาเรียน แต่พวกเราสองคนตั้งใจและชอบจริงๆ ทุกครั้งที่ได้รำจะมีความสุขมาก การแสดงแต่ละครั้งให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม ใครบอกว่านาฏศิลป์น่าเบื่อ ไม่นะคะ ตอนนี้นาฏศิลป์ไม่ได้มีแค่รำอย่างเดียวแล้ว แต่จะมีการเล่นละคร มีร้อง มีเต้น มีอะไรหลายๆ อย่าง

"พวกเราใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป ไปเที่ยวบ้าง แต่ไม่ค่อยได้ใช้ของแบรนด์เนม ไม่ได้แต่งหน้าแต่งตา มาเรียนก็แค่ทาแป้ง มัดผม เหมือนเด็กม.ต้น พวกเราไม่ได้แต่งตัวตามแฟชั่น" 2 สาวกล่าว

"อยากฝากบอกน้องๆ เยาวชนรุ่นต่อไปว่า ศิลป วัฒนธรรมไทยเริ่มจะหายไปแล้ว ถ้าคนไทยเองไม่ช่วยกันรักษาแล้วใครจะมารักษา ต่างชาติยังชื่นชมวัฒนธรรมไทย แล้วทำไมเราเองไม่ชื่นชมในสิ่งที่ตัวเราเองมีอยู่ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีคุณค่ามาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า" นงนภัสกล่าว

"อยากเชิญชวนผู้ปกครองให้พาลูกหลานมาดูศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ อยากชวนเด็กๆ เข้ามาดูนาฏศิลป์ไทยให้มากๆ ถ้าพ่อแม่ปลูกฝังลูกๆ ตั้งแต่เด็ก เขาจะซึมซับและเกิดความรักในสิ่งที่เป็นของคนไทย ศิลปวัฒนธรรมไทยไม่ได้มีไว้เพื่อให้คนต่างชาติชื่นชอบหรือสนใจอย่างเดียว

"ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้จะอยู่ไม่ได้ หากไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและการอนุรักษ์จากคนไทยด้วยกันเอง" กรกนกทิ้งท้าย

หน้า 24

 
ที่มา  http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEl6TURJMU13PT0=&sectionid=TURNeE1RPT0=&

นักศึกษาปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง  คณะศิลปนาฏดุริยางค์ 

วิทยาลัยนาฏศิลป  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป  กระทรวงวัฒนธรรม

       นางสาวกรกนก              ทับจีน              ชุดเบิกโรงกิ่งไม้เงินทอง

       นางสาวนงนภัส             ขจรมาลี            ชุดเบิกโรงกิ่งไม้เงินทอง

       ว่าที่ร้อยตรี พรรัตนะ       ขันทอง              ชุดฉุยฉายหนุมานแปลงเป็นทศกัณฐ์

       นางสาวธนิษฐา             ชมศิลป์              ชุดสมิงพระรามเกี้ยวพระราชธิดา

       นางสาวจิตตินันท์          สุวิชาพาณิชย์       ชุดสมิงพระรามเกี้ยวพระราชธิดา

       นางสาวเพชรัชต์            วงศ์ยาฤทธิ์          ชุดฉุยฉายศูรปนขา

       ว่าที่ร้อยตรี วีรกร            ศุขศาสตร์            ชุดกุเปรันรบทศกัณฐ์

       ว่าที่ร้อยตรี เทวินทร์        นวลชื่น               ชุดกุเปรันรบทศกัณฐ์

       นางสาวปรารถนา            เหลาผา              ชุดฉุยฉายยอพระกลิ่น

       ว่าที่ร้อยตรี อนุชา           สีฟัก                   ชุดหนุมานรบมัจฉานุ

       ว่าที่ร้อตรี ธินวัฒน์          ไทยแท้               ชุดหนุมานรบมัจฉานุ

       ว่าที่ร้อยตรี คณศักดิ์        คชเสนีย์              ชุดพระยาอนุชิตทรงเครื่อง

       นางสาวนิภาภรณ์            รุ่งโรจน์               ชุดสุวรรณหงส์ชมถ้ำเพชรพลอย

       นางสาวรุ่งทิวา                พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์    ชุดสุวรรณหงส์ชมถ้ำเพชรพลอย

       ว่าที่ร้อยตรี จตุพร            ภักดี                   ชุดองคตสื่อสาร

       ศิลปินศิลปนิพนธ์คงอนุรักษ์                เกียรติศักดิ์ก้องชื่อลือเล่าขาน

นาฏศิลป์หกสิบหกประวัติการณ์                 ดั่งบัวบานสมประสงค์ตรงจินดา

       นงนภัส  เทวินทร์  จตุพร                   วีรกร  กรกนก  ธนิษฐา

จิตตินันท์  ธินวัฒน์  รุ่งทิวา                       ปรารถนา  อนุชา  นิภาภรณ์

       เพชรัชต์  พรรัตนะ  คณศักดิ์              ร่วมพิทักษ์ชูศาสตร์ศิลป์กว่าสิงขร

เสริมส่งสร้างวัฒนธรรมระบือจร                  ล้วนอมรรุ่งเรืองเฟื่องพัฒนา

       วิทยาการถ่ายทอดศาสตร์จนบังเกิด     ศิษย์ทูนเทิดพระคุณครูรู้ศึกษา

สรรพสิ่งมิ่งมงคลผลวัฒนา                        ก่อก้าวหน้าตลอดกาลนิรันทร์เทอญ

             ว่าที่ร้อยตรีจตุพร  ภักดี    ในนามนักศึกษาปริญญาตรีต่อเนื่อง

                    อ.เกษม  ทองอร่าม , อ.จรัญ  พูลลาภ  ปรับปรุง

 

หมายเลขบันทึก: 340529เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2010 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

*-*

ดีจัง

ที่ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย

*-*

ยินดีด้วยคะ พี่ๆเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องนาฎศิลปและเยาวชนทุกสถาบันเพราะสามารถเรียนจนจบหลักสูตรอย่างตั้งใจจริงไม่ละทิ้งกลางคันหรือไม่มีความตั้งใจแต่อยากจะเข้ามาเรียนเพื่อความโก้ หรู ด้วยคิดว่าเรียนง่าย แต่คิดผิดแต่กลับต้องขยัน อดทนมากกว่าคนเรียนสามัญธรรมดาเป็นหลายเท่าตัวแต่พวกพี่กลับสวนกระแสความยากในการเรียนแม้จะมีท้อบ้างเหนื่อยบ้างแต่กลับนำความลำบากความเหนื่อยล้ามาเป็นบทพิสูตรความสำเร็จ.................................................

........................ ยินดีกับความสำเร็จและยินดีที่มีรุ่นพี่ที่สามารถสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นไทยและแสดงถึงการเป็นเด็กนักเรียนนาฎศิลปได้อย่างเต็มภาคภูมิ...........................................

อยากทราบว่า การแสดงชุดสมิงพระรามเกี้ยวพระราชธิดานี้มีเป็น VCD ไหม อยากได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท