นิทานหรือเรื่องเล่า มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเป็นคนดีหรือไม่


เมื่อครั้งผมสนทนากับคุณอดิศร พวงชมภู เจ้าของบริษัทสยามแฮนดส (เสื้อแตงโม) ท่านถามผมว่า "ปืนเรียนปริญญาโทสาขาอะไร" ผมตอบว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" ท่านถามว่า "ปืนรู้ไหม สื่อการศึกษาอะไรใช้ดีที่สุด" ผมคิดอยู่นานจึงตอบว่า "ไม่ทราบ" ท่านกล่าวว่า "นิทาน หรือ เรื่องเล่า เป็นสิ่งที่ใช้ดี ลองนึกถึงเรื่องการโกหก ทุกคนก็จะนึกถึงนิทานเรื่อง "เด็กเลี้ยงแกะ" หรือ หากนึกถึงประเด็นโจรกลับใจ หลายๆ คนก็จะนึกถึง "องคุลีมาล" หรือนึกถึงการให้ การสร้างทานบารมี หลายๆ คนก็จะนึกถึง "พระเวสสันดร" นั่นคือกุศโลบาย นั่นคือการสร้างสิ่งมีชีวิตให้วิ่งอยู่ในสมองของเรา คอยตอบโจทย์ของชีวิตเมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับเรื่องเล่าที่เคยได้ยิน อย่างเพลงเพื่อชีวิตที่เนื้อหาเพลงมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า เช่น บัวลอย เราฟังดูแล้วก็คิดว่า "เออ บัวลอยนี้เป็นคนดี" ทุกครั้งที่คุณแอ๊ดตะโกนออกมาในเพลงว่า "บัวลอยยยยย!!!!!" ผู้คนที่ได้ยินก็จะคิดว่า บัวลอยเป็นคนดี แล้วก็มองหาว่ามีใครรอบตัวมีคุณสมบัติเหมือนบัวลอยบ้าง

...

...

          ผมเคยอ่านไดอารี่ของท่านพุทธทาส ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ตอนหนึ่งท่านบันทึกไว้ว่า "ถ้าชาวบ้านอยากได้พระดีดี เมื่อมีลูกหลานหลายคนก็ควรแบ่งคนเก่งๆ มาบวชเรียนเป็นพระบ้าง เมื่อโต เมื่อเป็นเจ้าอาวาส ประชาชนก็จะได้มีพระดีดีไว้กราบ" กรณีบัวลอยกับกรณีบันทึกของท่านพุทธทาสมีสิ่งที่เหมือนกันคือ  ทุกคนอยากได้สิ่งดีดี อยากได้พระดีดี อยากได้เพื่อนดีดี แต่เมื่อถึงเวลาเสียสละ ถึงเวลาแสดงตนว่าเป็นคนดี หลายๆ คนกลับมองซ้ายมองขวา

...

...

          ในวันหยุดที่ผ่านมาผมเปิดโทรทัศน์ดูช่อง 7 เห็นละครเรื่องปลาบู่ทอง นางเอื้อยนางเอกของเรื่องที่เป็นคนดี โดนนางอ้ายใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงจนต้องตกระกำลำบากแทบเอาชีวิตไม่รอด บ่ายๆ ผมไปดูภาพยนต์เรื่อง ขงจื้อ ท่านขงจื้อเป็นผู้มีคุณธรรมและปัญญาสูง ผู้ปกครองรัฐส่งเสริมจนมีอำนาใหญ่โต แถมมีผลงานหลายอย่างเป็นที่ประจักษ์ แต่สุดท้ายก็ถูกเกมส์การเมืองเล่นงานจนต้องออกพเนจรพาลูกศิษย์ออกไปลำบาก

          เหล่านี้คือตัวอย่างของคนดี คนดีที่ทำดีจนตัวเองลำบาก ผมว่าในภาพยนต์หรือละครไทยหลายเรื่องก็มีเนื้อหาทำนองนี้ ซึ่งแม้สุดท้ายหรือตอนจบ ธรรมะจะชนะอธรรม แต่จากภาพหรือเรื่องเล่าต่างๆ ที่สื่อให้เห็นถึงอุปสรรคหรือชะตากรรมของคนดี ก็อาจเป็นเหตุให้ผู้รับสารซึมซับและถามตัวเองว่า "ถ้าเป็นคนดีแล้วมันต้องลำบากขนาดนั้น จะเป็นคนดีไหวไหม" 

          ผลสำรวจล่าสุดของ สำนักวิจัยเอแบคโพล พบว่า คนไทยร้อยละ 84.5 มองว่า การทุจริตคอรัปชันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ และ ร้อยละ 51.2 ตอบว่า ยอมรับได้ที่รัฐบาลทุจริตคอรัปชัน ผมตกใจอย่างยิ่งกับผลการสำรวจนี้ ความคิดหนึ่งที่แว๊บขึ้นมาในสมองทันทีที่ได้รับทราบข้อมูลก็คือ คำว่า "ยอมรับได้" ที่ประชาชนยอมรับการคอรัปชันจากภาครัฐนั้น มาจากการที่คนบางส่วนเห็นผิดเป็นชอบ รัฐบาลทุจริตบ้างตนเองได้บ้าง อย่างนั้นก็ยอมรับได้ หรือว่า ยอมรับในกรณีเกรงกลัวอิทธิพล เกรงความเดือดร้อนจะมาถึงตัว หากเราเป็นคนดีแล้วไปขัดผลประโยชน์พวกโลภมาก ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจว่าการยอมรับการคอรัปชั่นจะมาจากสาเหตุไหน แต่ที่แน่ๆ คือ หากค่านิยมแบบนี้ยังมีอยู่ในเมืองไทย ก็แน่นอนจริงๆ ที่เมืองไทยจะต้องมีคอรัปชั่น

 

          ซึ่งในอนาคตกับความฝันของคนในยุคนี้ ที่อยากจะเห็นเมืองไทยใสสะอาด ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าหลายๆ ท่านเล่านิทานอะไรให้คนรุ่นหลังฟัง แล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนรุ่นหลังจะเก็บเอาคุณลักษณะของตัวละครตัวไหนไปไว้ในใจ หรือจะเก็บเอาเหตุการณ์ไหนในเรื่องเล่าไปเป็นเหตุการณ์สอนใจ แล้วผมก็ไม่ทราบเหมือนกันอีกว่า เรื่องเล่าต่างๆ ที่หลายๆ คนได้พยายามปลูกฝังลงไปในจิตสำนึกของเด็ก มันจะตอบโจทย์สภาพสังคมในยุคของเค้ารึป่าว หรือกลายเป็นสร้างโจทย์ใหม่

 

          ผมถามเพื่อนคนหนึ่งที่ไปดูขงจื้อมา ผมถามว่าชอบขงจื้อมั้ย เค้าตอบว่าชอบ ผมถามต่อว่า อยากให้คนอย่างขงจื้อมาบริหารบ้านเมืองมั้ย เค้าตอบอยาก ผมถามต่อว่า แล้วอยากเป็นขงจื้อมั้ย เค้าตอบ ไม่อยาก เพราะมันชีวิตมันลำบากเกิน

 


..........
..........
..........
..........
..........

 

นะครับ แล้วคุณจะเล่าเรื่องอะไรให้ลูกคุณฟัง

...

หมายเลขบันทึก: 339871เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ในแง่ที่ถูกถามว่า สื่อการศึกษาอะไรใช้ดีที่สุด แล้วคำตอบคือนิทาน นั้น

มันอาจแปลว่า นิทาน ทำให้เด็กๆ เกิดความคิด ความจำได้ดีนั้น อาจถูกต้อง

เพราะเนื้อหาที่สนุกสนาน ทำให้เด็กเกิดการจดจำได้ง่าย

แต่ถ้าถามว่าอะไรที่จะมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติของเด็ก

ในเมื่อคนที่เล่าเรื่องเด็กเลี้ยงแกะให้เด็กฟัง ยังโกหกใครต่อใครให้เด็กได้เห็น/ได้เรียนรู้ออกบ่อยๆ

เด็กคงเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเห็นจนชินตาเหล่านี้เสียมากกว่านิทาน

เล่าเรื่องพ่อของลูกค่ะ

อิอิ

ปุจฉา : นิทานหรือเรื่องเล่า มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเป็นคนดีหรือไม่

วิสัชนา : มี

ตอบ คุณ Ninko

ใช่แล้วครับ ทุกวันนี้นอกจากจะต้องสอนให้เป็นคนดีแล้ว ยังต้องสอนแข่งกับ จอนนี่ วอร์เกอร์ ด้วย

...

ตอบ คุณ สุดสายป่าน

นิทานเรื่องนี้มีเนื้อหาอย่างไรครับ

...

ตอบ คุณ ttechno

ขอบคุณครับพี่

ปืน...ทำให้พี่นึกถึง คำสอนของพ่อ ที่เน้นย้ำไว้สั้นๆว่า

"อย่าเคยชินกับการคอรัปชั่นในบ้านเมืองเรา"

^^".....พี่อาจเล่านิทานไม่เก่ง...

แต่ยามท้อๆ....พี่จะเปิดอ่านนิทานที่เขียนจากเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง

มีชื่อหน้าปกว่า..."พ่อหลวงของปวงชน"

ป.ล.สำนวนการเขียนพัฒนาขึ้นมากเลยค่ะ น้องชาย ^__^

อ่านแล้ว...ไม่รู้สึกฝืนแม้แต่น้อย

ขอบคุณครับพี่แอ๊ว ผมยังต้องพัฒนาอีกเยอะ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท