การจัดการความรู้อย่างเป็นมิตร งานได้ผล คนเป็นสุข


หามา พัฒนา รักษาไว้ ให้ทำงาน มีบรรยากาศที่เป็นมิตร ไม่ใช่เป็นพิษ

การจัดการความรู้อย่างเป็นมิตร งานได้ผล คนเป็นสุข

การจัดการความรู้ที่พบอยู่ในประเทศไทยส่วนหนึ่งก็เป็นการทำเพื่อให้มีผลงานนำเสนอ หรือรับการตรวจประเมินซึ่งขาดการเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้จริงในการพัฒนาหน่วยงาน แก้ปัญหาของหน่วยงาน สนในที่ความรู้ที่ได้มากกว่าวิธีการที่ได้มาซึ่งความรู้ หรืออาจเปรียบเทียบได้กับ สนใจปลาที่จับมาได้ มากกว่า  วิธีการจับปลา  นอกจากนี้  ควรสนไปที่คนจับปลาว่ามีความสุขดีอยู่หรือไม่ สุขภาพดีไหม จับปลาแล้วได้คิดสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆในการจับปลา ถนอมปลาหรือไม่ จับปลาแล้วขายได้ในราคาที่ยุติธรรม ถูกกดราคาเกินไปหรือไม่ จับปลาอย่างมีจริยธรรม เช่นไม่จับปลาตัวเล็ก ไม่จับในฤดูวางไข่    เป็นต้น   จึงนำไปสู่การจัดการความรู้ ที่เชื่อมโยงกับการบริการทรัพยากรมนุษย์  ครอบคลุมตั้งแต่การ   “ หามา พัฒนา รักษาไว้  ให้ทำงาน ” ที่ต้องเชื่อมโยงต่อไปถึงเป้าหมาย และภารกิจขององค์กร ตามแผนผัง

Figure 1

 

 

1.เป้าหมาย นโยบายขององค์กร

 2.ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก ความเสี่ยงที่สำคัญ เช่นการจ่ายยาผิด  รักษาผิดพลาดต่างๆ ข้อร้องเรียนด้านต่างๆ

3.สมรรถนะ ที่กำหนดไว้(Competency in JD.)

4.ความผูกผันต่อองค์กร

 ก่อนอื่นคงต้องมีการจัดการความรู้ที่ถูกต้อง     มีสัมมาทิฐิก่อนว่าทำไปเพื่ออะไร   ทำเพื่อพัฒนาองค์กร และบุคลากรเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร  และบุคลากรมีความสุข  โดยอาศัยการเปิดพื้นที่รับฟัง มีพื้นที่ในการแสดงออก และรับฟังซึ่งกันและกันที่มีความปลอดภัย  เช่น  มีความปลอดภัยที่เสนอความคิดเห็นต่างๆ ได้อย่างอิสระถึงแม้อาจไม่ถูกใจหัวหน้า   เพื่อนรวมงานได้ มีความรู้สึกกว่าเป็นฝ่ายเดียวกันถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า   แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก  ไว้วางใจกันหรือที่เรียกว่า ภาวะปกติจะเอื้อให้ เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าในภาวะที่หวาดระแวงกัน  รู้สึกเป็นปฏิปักษ์กัน   หรือที่เรียกว่า ภาวะปกป้อง (Defensive Mode)    มีการสื่อสารอย่างเป็นมิตรมากขึ้น หรือสุนทรียสนทนา (Dialogue)

การจัดการความรู้ใน โมเดลปลาทู  หัวปลาทูก็คือ ทิศทาง ยุทธศาสตร์ นโยบายขององค์กร ต้องสื่อสารไปสู่บุคลากรในองค์กรอย่างทั่วถึง และไม่เกิดการบิดเบือน  ในหลายๆองค์กรให้หัวหน้าสูงสุด หรือ CEOได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าทุกคนเพื่อรับทราบยุทธศาสตร์  นโยบายขององค์กรโดยตรงประจำปี  หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ   เช่นมีการกำหนดนโยบายใหม่เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อองค์กรแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนต่างๆในองค์กร  เช่นการปรับค่าตอบแทน   ระบบการทำงาน ปรับเปลี่ยนเป้าหมายประจำปี  เป็นต้น

การจัดการความรู้ที่ควบคู่ไปกับเครื่องมือหลักของการพัฒนาบุคลกร (Human Resource Development: HRD ) ได้แก่  การกำหนด Competency ทั้ง Core Competency  และ Functional Competencyโดยกำหนดเป็นข้อกำหนดในการทำงาน (Job Description )ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญที่พบว่ามีการแยกส่วนทำเพื่อส่ง ไม่ได้ทำเพื่อใช้และเชื่อมโยงกับงานประจำ  อาจพบตั้งแต่ Job Description ที่แยกส่วนกับ Competency  หรือมีการเชื่อมโยงกันแต่มีการประเมินที่ไม่เอื้อในการพัฒนาเช่น  ประเมินแบบจับผิด   หรือผ่านเกณฑ์ก็จบ   ไม่พัฒนาในส่วนขาดอย่างเหมาะสม   อบรมพัฒนาแบบเหมาโหล เหมากลุ่ม ไม่ได้มีแผนพัฒนารายบุคคล  (Individual Development Plan: IDP)  หรือถึงมีการลงข้อมูลแบบตามๆ กัน     ไม่มีการพัฒนาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Group) ระบบพี่เลี้ยง (Mentor)  ไปจนถึงการนั่งล้อมวงสนทนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเป็นมิตร  มีความสุขที่ได้รับการพัฒนาส่วนขาดตามผลการประเมินสมรรถนะ  (Competency  Gap ) แทนการถูกพัฒนาส่วนขาดแบบถูกกดดัน เหมือนถูกลงโทษ

การจัดการความรู้ที่ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังความเสี่ยง ตัวชี้วัดต่างๆ หรือที่เรียกว่า ข้อมูลคุณภาพ (Quality Data)   มีการนำข้อมูลมาใช้ในการกำหนดแผนการพัฒนาบุคลากรทั้งรายบุคคล และรายกลุ่ม แต่ก็มีจุดอ่อนที่ใช้ในเชิงลบ และจับผิด  เป็นเรื่องท้าทายที่จะสื่อสาร และนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาบุคลากร จัดการความรู้อย่างเชิงบวก   มีบรรยากาศที่เป็นมิตร  ไม่ใช่เป็นพิษ   รู้สึกเป็นเจ้าของรวมกันในการแก้ไขปัญหา (Sense of Belonging)อย่างมีความหวัง ไม่ท้อแท้ (Sense of Hope)  เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในการติดตามผลการพัฒนา(sense of Control )   เช่น เกิดการจ่ายยาผิดให้ผู้ป่วยในร.พ.แห่งหนึ่ง   ทุกวิชาชีพในรพ. แพทย์ เภสัช พยาบาล ฯลฯ ก็ต้องนำข้อมูลที่พบมาพูดคุยกันเพื่อค้นหาสาเหตุ แนวทางแก้ไขอย่างเป็นมิตร ไม่โยนความผิด หาคนผิดแบบเดิมๆ     มีความหวังในการแก้ไข เป็นเจ้าของเรื่องรวมกันเพื่อให้มีการจ่ายยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย  และรวมกันติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ถ้าเกิดผิดพลาดซ้ำอีก ก็ไม่ท้อถอย ก็ต้องมารวมทีมกันเพื่อวิเคราะห์  และทดลองแนทางใหม่ๆต่อไป

ในประเด็นสุดท้ายก็คือความผูกผัน(Engagement) ที่มีต่อกันของทีมงาน ต่อองค์กร   ย่อมจะมีมากขึ้นถ้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาการทำงาน   ช่วยเหลือกันมีการสื่อสารกันอย่างเป็นมิตรรู้สึกเป็นฝ่ายเดียวกัน  พวกเดียวกัน  ไม่แยกอาณาจักรย่อยๆ ในองค์กร    อยู่รวมกันอย่างมีความหมาย มีเป้าหมายรวมกันที่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่  เช่น เครือข่ายบริการสุขภาพที่ให้บริการคนในพื้นที่อย่างคุณภาพ และส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง     เป็นสถาบันการศึกษาที่พัฒนาเยาวชนทั้งด้านวิชาการ และคุณธรรม    เป็นสถานประกอบการที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และดูแลสิ่งแวดล้อม  เป็นต้น

 

                                                                                                           น.พ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน

                                                                                                             19  กุมภาพันธ์   2553

หมายเลขบันทึก: 338296เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2010 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบจัง "มีบรรยากาศที่เป็นมิตร ไม่ใช่เป็นพิษ " ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ แล้วอย่าเผลอพ่นพิษใส่ใครนะค่ะ

รู้สึกดี...มีใจสู้กับตัวเอง..ขอบคุณท่าน อ่านแล้วสะกิดใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท